อารีรัตน์ บุตรศรีภูมิ นักกายภาพบำบัดที่ต้อง “รอด” ไปด้วยกัน ทั้งคนไข้และตัวเอง

อารีรัตน์ บุตรศรีภูมิ นักกายภาพบำบัดที่ต้อง “รอด” ไปด้วยกัน ทั้งคนไข้และตัวเอง
คลินิกเราเพิ่งเริ่ม หลังจากเปิดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มาถึงเดือนมกราคมปีนี้ ก็เป็นเดือนที่หนักสำหรับการเริ่มทำธุรกิจ เพราะการมาเปิดคลินิกกายภาพบำบัดที่นครชัยศรี เป็นการออกจากพื้นที่ปลอดภัย และมาเริ่มตั้งฐานคนไข้รายใหม่เลย ทำให้เดือนมกราคมจำนวนคนไข้ยังไม่มาก ทำได้แค่ประคองตัว พอมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น มีคนไข้รู้จักมากขึ้น เริ่มมีคนไข้รายใหม่โทรเข้ามา และมารักษาที่คลินิก รวมถึงมีการแนะนำกันปากต่อปาก เราเริ่มเห็นแสงสว่าง แต่พอมาเดือนมีนาคม โควิด-19 ระบาด เหมือนเราต้องมาเริ่มใหม่อีกครั้ง อาจจะเป็นจุดที่ต่ำกว่าเดิมด้วยซ้ำ” อารีรัตน์ บุตรศรีภูมิ นักกายภาพบำบัด วัย 33 ปี เจ้าของ “อารี คลินิกกายภาพบำบัด” เล่าให้ฟังถึงการเปิดคลินิกของเธอ ที่ดูเหมือนเส้นทางจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อโควิด-19 กลายเป็นอุปสรรคขวากหนามสำคัญที่ขวางกั้นอยู่ตรงหน้า ทั้งในแง่ธุรกิจและในแง่ความปลอดภัย เพราะ “นักกายภาพบำบัด” เป็นอาชีพที่ต้องสัมผัสร่างกายของคนไข้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การรักษาและคำแนะนำได้อย่างถูกต้องที่สุด ปีที่ผ่านมา อารีรัตน์ตัดสินใจออกมาเปิดคลินิกด้วยตัวเอง หลังจากก่อนหน้านี้ทำงานที่คลินิกกายภาพบำบัดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มานานหลายปี แม้จะมีคนไข้ที่มารักษาต่อเดือนเป็นจำนวนมาก แต่ความต้องการความมั่นคงและความท้าทายคือสิ่งผลักดันให้เธอก้าวออกมา ที่สำคัญ อารีรัตน์เลือกพื้นที่นครชัยศรี จ.นครปฐม เพราะแม้จะห่างไกลความสะดวกของกลุ่มผู้มารักษาเดิมของเธอ แต่ความต้องการอยู่ใกล้บ้านเพื่อดูแลพ่อแม่ที่นับวันจะอายุมากขึ้น ทำให้ตัดสินใจเลือกที่นี่ แม้จะเหมือนกับการเริ่มนับหนึ่งใหม่ก็ตาม มหาบัณฑิตสาวจากคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า แรก ๆ ก็หวั่นใจว่าจะมีคนไข้หรือเปล่า เพราะส่วนมากคนไข้เดิมของเธออยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งนั้น ถึงจะมีคนให้กำลังใจว่าสั่งสมประสบการณ์ด้านนี้มานับสิบปีแล้ว แต่เธอก็อดกังวลใจไม่ได้ เพราะการมาเริ่มต้นใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย และพื้นที่นี้คนก็อาจยังไม่เข้าใจเรื่องการทำกายภาพบำบัดเท่าที่กรุงเทพฯ แต่ก็นับว่าโชคดีที่ยังมีคนไข้เก่า ๆ ที่มั่นใจในการรักษาของเธอตามมารักษาบ้าง แม้ว่าจะต้องเดินทางไกลกว่าเดิมก็ตาม “เราเก็บหอมรอมริบ และใช้เงินเก็บทั้งชีวิตมาลงกับตรงนี้ เพราะอยากสร้างอนาคตที่มั่นคง แม้จะต้องเผชิญกับเรื่องราวระหว่างทางมากมายกว่าจะเป็นคลินิกในฝัน ถ้าจะว่าไป ความชื่นใจตอนทุกอย่างเริ่มต้นยังอยู่ในความทรงจำของเราชัดเจนมาก” หลังจากใช้เวลาก่อร่างสร้างฝันอยู่นานหลายเดือน ในที่สุด อารี คลินิกกายภาพบำบัด ก็เปิดให้บริการในเดือนมกราคมปีนี้ อารีรัตน์เล่าว่า เดือนนั้นเป็นเดือนที่สาหัสที่สุด เพราะคนยังไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ แม้ที่ตั้งจะอยู่ริมถนนใหญ่ที่ผู้คนผ่านไปมาพลุกพล่าน แต่การที่ใครจะตัดสินใจมารักษาต้องขึ้นกับความมั่นใจ เธออาจเป็นที่รู้จักอยู่บ้างในกรุงเทพฯ แต่กับที่นี่เธอคือคนใหม่ อารีรัตน์ค่อย ๆ รักษาคนไข้ที่มอบความไว้ใจให้เธอมากขึ้น กระทั่งคนไข้เริ่มทวีจำนวน คลินิกของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักในแถบนครชัยศรี… กระทั่งโควิด-19 เข้ามาเยือนประเทศไทย อารีรัตน์ บุตรศรีภูมิ นักกายภาพบำบัดที่ต้อง “รอด” ไปด้วยกัน ทั้งคนไข้และตัวเอง “เราเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เราเข้าใจว่าโรคนี้เป็นอย่างไร แต่ความกังวลที่สุดคือ ถ้าเราเป็น หรืออย่าแต่ว่าเป็นเลย แค่อยู่ในเกณฑ์ต้องสงสัย เราก็ต้องปิดคลินิกเพื่อกักตัว แล้วคลินิกที่เพิ่งตั้งขึ้นมาจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ยังไม่นับค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่ต้องเดินไปข้างหน้า แล้วยังไม่นับถึงคนไข้ที่อาจจะหมดความมั่นใจในตัวเรา” เมื่อถามว่ากลัวหรือไม่ เพราะการทำกายภาพบำบัดนั้นเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอยู่ใกล้ผู้มารักษา รวมถึงการสัมผัสอย่างใกล้ชิด “กลัวค่ะ..”  เธอยอมรับแบบตรง ๆ แล้วบอกเพิ่มเติมว่า “แต่เราก็ระวังตัวอย่างเต็มที่ และความกลัวไม่ใช่แค่กลัวตัวเองจะติดเท่านั้น แต่กลัวว่าจะแพร่เชื้อให้คนที่มารักษาหรือไม่ เพราะตั้งแต่เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา เอาจริง ๆ ทั้งคนไข้ทั้งเราต่างก็ต้องระวังกันและกัน”  ช่วงที่ผ่านมา มีคนไข้จำนวนหนึ่งที่ขอเลื่อนการรักษาออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ทำให้จำนวนคนไข้ของคลินิกลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด แต่อารีรัตน์ก็เข้าใจเป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนไข้บางรายที่ต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่อง เมื่อคลินิกยังจำเป็นต้องเปิดดำเนินการ มาตรการป้องกันตัวอย่างเข้มข้นจึงเริ่มขึ้น ทั้งการไม่รับคนไข้ walk-in ใครที่จะมารับการรักษาต้องโทรศัพท์นัดหมายเท่านั้น เพื่อจะได้สอบถามถึงอาการ “ไม่ใช่ว่าเราจะปฏิเสธคนไข้ แต่ช่วงนี้เราจำเป็นต้องระมัดระวัง ใครที่โทรมาแต่อาจจะยังไม่พร้อมมารักษา เราก็จะให้คำแนะนำเบื้องต้น และพร้อมให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้อง เราบอกกับทุกคนว่าสามารถโทรมาสอบถามได้เลย และหากทุกอย่างดีขึ้น ก็จะโทรกลับไปสอบถามว่ายังต้องการมารักษาอยู่หรือไม่” อารีรัตน์ให้เหตุผล ส่วนคนไข้ที่ยังต้องมารักษา เธอจะโทรไปถามทุกครั้งก่อนจะถึงวันนัดว่า ช่วงนี้หรือวันที่ผ่าน ๆ มา อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือสถานที่เสี่ยงหรือไม่ หากไม่มั่นใจ ก็จะขออนุญาตเลื่อนคนไข้ออกไปก่อน ซึ่งคนไข้ก็เข้าใจ นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือให้คนไข้และญาติที่มาส่งสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง และขณะที่รักษาคนไข้ ก็จะให้คนไข้สวมหน้ากากอนามัย เช่นเดียวกับอารีรัตน์ที่ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเช่นกัน ส่วนเก้าอี้นั่งรอก็ต้องจัดให้เหลือน้อยที่สุดและห่างที่สุด และเวลานัดก็จะพยายามนัดให้เว้นช่วงระหว่างกันมากที่สุด เพื่อเลี่ยงไม่ให้คนไข้แต่ละเคสมาเจอกัน “การรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ ทำให้เราต้องลงทุนและลงแรงมากขึ้น แต่ก็เพื่อความปลอดภัยของทั้งเราและผู้มารับการรักษา เราวางเจลแอลกอฮอล์ไว้ให้ เมื่อทุกคนเข้ามาต้องล้างมือทุกครั้ง หากไม่มีหน้ากากอนามัยเราก็มีจัดเตรียมไว้ให้ ทั้งหมดเพื่อความปลอดภัยของทุกคน” [caption id="attachment_21358" align="aligncenter" width="720"] อารีรัตน์ บุตรศรีภูมิ นักกายภาพบำบัดที่ต้อง “รอด” ไปด้วยกัน ทั้งคนไข้และตัวเอง อารีรัตน์ขณะทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชิ้นทุกวันในคลินิก[/caption] ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อารีรัตน์ต้องตื่นเช้าเพื่อไปให้ถึงคลินิกเช้ากว่าปกติ เพื่อไปทำความสะอาดใหม่ทุก ๆ วัน จากแต่เดิมก็ทำอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ต้องเพิ่มขั้นตอนและความละเอียดมากขึ้น เช่น การถูด้วยน้ำยาทำความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อ เช็ดแอลกอฮอล์ทุกจุด เมื่อรักษาคนไข้แต่ละรายเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องทำความสะอาดห้อง อุปกรณ์รักษา รวมถึงอุปกรณ์ออกกำลังกาย ด้านผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าห่มต้องเปลี่ยนใหม่ทุกครั้ง ส่วนเตียงรักษาก็เป็นเตียงที่ไม่ต้องใช้ผ้าปู สามารถเช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อทำความสะอาด “ยอมรับว่าเหนื่อยขึ้นมาก มีทั้งแรงกดดันที่เราต้องรอดในสถานการณ์แบบนี้ และต้องทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐาน อีกอย่าง โจทย์ที่สำคัญคือทำให้คนไข้และเราปลอดภัย เพราะถ้าเราปลอดภัย แต่คนไข้ไม่ปลอดภัย ก็ไม่มีความหมาย หรือคนไข้ปลอดภัย แต่เราติดเชื้อ เราก็จะไม่สามารถไปรักษาคนอื่นต่อได้ แล้วถ้าวันหนึ่งมีประกาศให้เราต้องปิด เราก็พร้อมที่จะปิด หากจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น” ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมานาน การมาถึงของโควิด-19 คือชนวนที่ทำให้ทุกภาคส่วนทรุดลงอย่างรวดเร็ว อารีรัตน์บอกว่าวิกฤตครั้งนี้หนักมาก แต่ก็คุยกับครอบครัวว่าหากผ่านตรงนี้ไปได้ ในอนาคตก็ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวอีกต่อไป “วันหนึ่งในอนาคต เรามองย้อนกลับมา เราจะคิดเลยว่าคงไม่มีอะไรที่หนักไปกว่านี้ และในวันนี้เราต้องผ่านไปให้ได้ แม้จะลำบากแค่ไหนก็ตาม” เธอยังให้กำลังใจกับทุกคนที่เผชิญสถานการณ์ครั้งนี้ว่า “ขอให้ทุกคนสู้ไปด้วยกัน เพราะที่สุดแล้วหากทุกคนร่วมมือกัน ทุกอย่างจะผ่านพ้นไปด้วยดี”   เรื่อง: กรรณะ