ชัยชาญ ถาวรเวช: ผู้ที่อยากให้ศิลปากรรุ่นใหม่ไปไกลกว่าคำว่าสร้างสรรค์

ชัยชาญ ถาวรเวช: ผู้ที่อยากให้ศิลปากรรุ่นใหม่ไปไกลกว่าคำว่าสร้างสรรค์

สถาปนิกไม่ใช่แค่คนแต่งตัวโก้ ๆ เดินไปเดินมา แต่สถาปนิกจะต้องทำงานซ้ำแล้วซ้ำอีก

ในวันที่มหาวิทยาลัยทั้งหลายต่างต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของรอบด้าน The People มีโอกาสได้สนทนากับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น แนวทางการแก้ปัญหา และการวางแผนเพื่อก้าวสู่อนาคตอันใกล้ที่ทุกสิ่งหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านอยู่ตลอดเวลา ทั้งวิกฤตโควิด-19 การเรียนออนไลน์ รวมถึงหาคำตอบของคำว่า ‘ความเป็นศิลปากร’ ที่ใคร ๆ มักพูดถึงกันว่ามีความหมายว่าอย่างไรกันแน่ The People: อยากให้อาจารย์ชัยชาญช่วยแนะนำตัวเบื้องต้น ชัยชาญ: ชัยชาญ ถาวรเวช ตอนนี้เป็นอธิการบดีสมัยที่สอง ก่อนหน้านี้เป็นศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รุ่น 15 ถ้าเป็นศิลปากรก็รุ่น 46 จากนั้นได้ทุนไปเรียนต่ออเมริกา กลับมาก็มาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย ตอนนั้นเราเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงแถมยังเป็นศิษย์เก่าเลยลุยเต็มที่ และจุดสำคัญอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมฯ ของเราชนะเลิศได้ประกวดแบบอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ได้ลงมือทำจริง เราเห็นรุ่นพี่รุ่นน้องลงแรงช่วยกัน ทำให้งานก่อสร้างที่ตอนนั้นไม่ค่อยมีคนสนใจก็ได้รับความสนใจมากขึ้น ทุกวันนี้พอมีเด็กรุ่นเก่าที่จบไปแล้วบอกว่ายังใช้สิ่งที่เราสอนอยู่ก็รู้สึกภูมิใจมากจริง ๆ The People: จุดเริ่มต้นของการเป็นอธิการบดี? ชัยชาญ: เราสอนมาเรื่อย ๆ เป็นที่ปรึกษานักศึกษา กิจการนักศึกษา จัดนิทรรศการ ช่วยทุกคน ช่วยทุกภาควิชา พอเวลามีเลือกตั้งคณบดีเราก็เลยได้รับเลือก ตอนนั้นเรามีผลงานเด่น ๆ อย่างการเป็นประธานคณบดีสถาปัตยกรรมแห่งประเทศไทย ช่วยหางบประมาณ 200 ล้านบาท ให้กับคณะสถาปัตยกรรมฯ 9 มหาวิทยาลัย จัดตั้งโครงการพัฒนาอาจารย์ขาดแคลนกลุ่มสถาปัตยกรรมไทย กระตุ้นให้รัฐบาลตื่นตัวกับสายงานศิลปะตั้งแต่ยุคของคุณชวน หลีกภัย และมาสำเร็จในยุคของคุณชวลิต ยงใจยุทธ ที่ทำให้เราได้สอนนักเรียนที่สนใจ ผลิตเด็ก ๆ ออกสู่สังคมได้มากขึ้น พอหมดวาระคณบดี ก็ได้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน จังหวะนั้นเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 พอดี แต่เราก็ผ่านอุปสรรคนั้นมาได้ จากนั้นเป็นอาจารย์รักษาการคณบดีคณะไอซีที (เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) แรกเริ่มคณะมีเงินอยู่ที่ศูนย์บาท แต่สิบปีหลังจากเราทำและลงจากตำแหน่ง คณะมีเงินเก็บไว้ 80 ล้านบาท สาขานิเทศศาสตร์สร้างชื่อเสียงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นหนึ่งในคณะที่มีเด็กเลือกเรียนเยอะ เรียนจบอัตราตกงานต่ำ เราเอาหลักสูตรมาบูรณาการกันเพราะรู้ว่าศาสตร์บริสุทธิ์อย่างเดียวไม่มีทางใช้ได้เต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ เราเอาศิลปะที่เป็นรากฐานสำคัญของศิลปากรมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยี เกิดเป็นการออกแบบแอนิเมชัน เกม เว็บไซต์ เด็กต้องรู้ศิลปะ ไม่อย่างนั้นเสียชื่อศิลปากรหมด ส่วนนี้คงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ได้เป็นอธิการบดีศิลปากรเมื่อปี 2556 ช่วงที่เป็นอธิการบดีสมัยแรกก็พอมีเหตุการณ์ให้ตื่นเต้นบ้าง น้ำท่วม วิกฤตการเมือง สิ่งสำคัญที่สุดคือเราสามารถเอามหาวิทยาลัยศิลปากรเข้าเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับได้จากที่พยายามกันมานาน พอหมดวาระก็กลับไปสอนหนังสือต่อที่คณะไอซีทีเป็นอาจารย์พิเศษ พออธิการบดีท่านที่แล้วลาออก เราเลยได้กลับเข้ามาใหม่ คราวนี้หนักเลยเพราะเจอโควิด-19 ชัยชาญ ถาวรเวช: ผู้ที่อยากให้ศิลปากรรุ่นใหม่ไปไกลกว่าคำว่าสร้างสรรค์ The People: การระบาดของไวรัสโควิด-19 แรงกว่าต้มยำกุ้งหรือไม่ ชัยชาญ: หนักกว่าเยอะมาก กระทบหลายอย่างมาก ๆ ลองสมมุติว่ามนุษย์สามารถผลิตวัคซีนได้ในปีหน้า แต่อาจารย์คิดว่าอีกสองสามปีโลกถึงจะเข้าสู่สภาวะปกติ เศรษฐกิจที่ล้มหนักตอนนี้มันฟื้นยากมาก ต้องใช้เวลา The People: เมื่อวิกฤตโควิด-19 รุนแรงกว่าต้มยำกุ้ง อาจารย์ชัยชาญกับมหาวิทยาลัยศิลปากรมีวิธีจัดการหรือรับมือกับปัญหานี้อย่างไรบ้าง ชัยชาญ: โชคดีที่ตอนโควิด-19 หนัก ๆ ศิลปากรอยู่เทอมปลายพอดี เหลืออีกสัปดาห์เดียวก็ปิดเทอมแล้ว เราก็รีบปิดคอร์สเลยไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ ตอนนั้นทุกคนเข็ดขยาดกับการเรียนที่บ้านเพราะมีไม่กี่วิชาที่จะสอนออนไลน์แล้วได้ผลดี ต้องยอมรับว่าศิลปากรไม่สามารถถ่ายประสบการณ์ให้นักศึกษาผ่านออนไลน์ได้ทั้งหมด เราจะสอนนักศึกษาเรื่องการปั้นหุ่น การชี้จุดกล้ามเนื้อแบบออนไลน์ได้อย่างไร แต่ด้วยมาตรการของ อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม) และการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นสิ่งบังคับว่า เราไม่มีทางทำการเรียนการสอนแบบเดิมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ วิชาไหนที่มีคนเรียนเยอะ ๆ เราก็ปรับเป็นออนไลน์ วิชาไหนที่ต้องปฏิบัติ ต้องแบ่งกลุ่มกัน อาจารย์ก็จะเหนื่อยขึ้นหน่อยเพราะต้องสอนหลายกลุ่ม แต่ละคณะและภาควิชาต้องเลือกดูว่าแบบไหนเหมาะสมกับการเรียนการสอนของตัวเอง เอาออนไลน์กับการเข้าชั้นเรียนมาผสมกันในหนึ่งคอร์สก็ได้ อาจารย์ก็ต้องปรับตัว เด็กก็ต้องปรับตัว เมื่อสอนออนไลน์เราก็ต้องพยายามทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้เหมือนเดิม ไม่ใช่แค่ทำคลิปวิดีทัศน์อย่างเดียว แต่คุณต้องเพิ่มการโต้ตอบระหว่างผู้เรียนและผู้สอน แม้การทำงานจะยากขึ้น แต่มหาวิทยาลัยก็สนับสนุนทุกอย่าง ถ้ามีปัญหาอะไรมหาวิทยาลัยจะช่วยแก้ไข ส่วนเรื่องเงินทองเรามีมติของที่ประชุมอธิการบดี มีมติเยียวยานักศึกษาด้วยการให้ทุนการศึกษา 10 เปอร์เซ็นต์ นำมาจากรายได้ที่เราได้ทั้งหมด 300 กว่าล้านบาท ซื้ออินเทอร์เน็ตซิมให้เด็ก ๆ นักศึกษาต้องแจ้งความประสงค์ไปที่ศูนย์คอมฯ แล้วทางเราก็จะแจกซิม เราเป็นห่วงเรื่องอินเทอร์เน็ตมาก เราไม่ไว้ใจเน็ตของกระทรวงเพราะล่มบ่อยเหลือเกิน ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สิ่งที่ศิลปากรจะปฏิบัติไปตลอด ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเราก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ใคร ๆ ก็อยากกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่เราจะไม่ทิ้งความพิเศษของออนไลน์ เพราะมันก็มีข้อดีที่เอามาปรับใช้ได้ ชัยชาญ ถาวรเวช: ผู้ที่อยากให้ศิลปากรรุ่นใหม่ไปไกลกว่าคำว่าสร้างสรรค์ The People: ถึงจะหมดโควิด-19 อาจารย์ก็มองว่าการเรียนออนไลน์น่าจะยังคงอยู่? ชัยชาญ: อาจจะยังอยู่ แต่เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบไม่ใช่ใจความสำคัญหลัก ข้อดีของการเรียนออนไลน์คือจากเดิมที่เด็กขยันจะต้องจดเยอะมาก ส่วนเพื่อนก็จะต้องรอถ่ายเอกสารเลคเชอร์ก็ไม่ต้องทำแล้ว ออนไลน์สามารถย้อนกลับไปดูการสอนได้ ก่อนจะปรับการเรียนการสอนช่วงโควิด-19 มหาวิทยาลัยลงสำรวจและพบว่า 50 เปอร์เซ็นต์เป็นวิชาบรรยายและปฏิบัติคู่กัน ปฏิบัติ 31 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบรรยายแค่ 18 เปอร์เซ็นต์ แต่ทีนี้นักศึกษาไทยบางส่วนยังไม่เป็นผู้ใหญ่เท่าที่ควร ล่าสุดมีสอบออนไลน์ปรากฏว่าเด็กหายไปหนึ่งคนยังไม่เข้าห้องสอบ เราก็ต้องโทรไปหาคุณแม่ว่าลูกชายอยู่ไหน แม่บอกว่านอนอยู่ข้างบน เราก็ต้องให้คุณแม่ไปตามนักศึกษามาสอบ เขาก็ประทับใจที่คณะดูแลเด็ก ๆ ดี แต่ทุกอย่างมันต้องช่วยกันคนละครึ่งทาง The People: หากมองการทำงานของตัวเองตั้งแต่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คณบดี และก้าวสู่การเป็นอธิการบดี แต่ละอย่างมีความเหมือนหรือต่างกันมากแค่ไหน ชัยชาญ: ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย แรกเริ่มเรามีความฝันว่าอยากเป็นสถาปนิก ปริญญาตรีจนถึงปริญญาโทเราก็เรียนเพื่อเป็นสถาปนิก พอมาเป็นอาจารย์ก็รู้สึกว่าโชคดีที่ได้สอนนักศึกษาปีหนึ่ง พวกเขาเหมือนผ้าขาว เราก็พยายามถ่ายทอดความรู้ ปลูกฝังเขา เพราะสถาปนิกไม่ใช่แค่คนแต่งตัวโก้ ๆ เดินไปเดินมา แต่สถาปนิกจะต้องทำงานซ้ำแล้วซ้ำอีก แปลน ผัง พื้น ผนัง อาคารหลังหนึ่งจะเกิดจากการทำแล้วทำอีก ผ่านการดูแบบงานต่าง ๆ ในหนังสือหลายร้อยเล่ม แบบกว่าพันแบบผ่านตาเรากว่าจะได้อาคารสักหลัง เดี๋ยวนี้ง่ายขึ้นเพราะเราสามารถดูแปลนจากกูเกิ้ลได้ เมื่อก่อนเวลาทำโปรเจกต์ทีหนึ่งต้องหอบหนังสือกลับบ้านหลายสิบเล่ม อันนี้คือเสน่ห์ของการเป็นครูที่เราได้เห็น พอเป็นผู้บริหารเรามีงานต้องรับผิดชอบมากขึ้น ต้องดูแลงานบริการควบคู่กับการสอน เลยต้องเลิกเป็นสถาปนิกลงพื้นที่ เรารู้สึกผูกพันกับศิลปากรมาก รู้สึกอยากตอบแทนหรือทำประโยชน์อะไรให้กับที่นี่ เราก็ทุ่มเวลาไปกับตรงนี้ เผื่อเวลาเราจากไปแล้วคนจะได้นึกถึงเราในทางที่ดี เรื่องนี้คือสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าทำให้ผ่าน ๆ ไป ทำแบบขอไปที ความเจริญขององค์กรจะปรากฏชัดเจน เป็นสิ่งที่ศิลปากรสอนเราไว้ตั้งตอนเป็นนักศึกษาว่าทำอะไรต้องทำให้เต็มที่ ชัยชาญ ถาวรเวช: ผู้ที่อยากให้ศิลปากรรุ่นใหม่ไปไกลกว่าคำว่าสร้างสรรค์ The People: ศิลปากรตั้งแต่วันแรกที่รู้จักจนถึงตอนนี้ อะไรเปลี่ยนไป อะไรยังเหมือนเดิม ชัยชาญ: วันแรกที่เข้ามาเราก็เป็นเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง มหาวิทยาลัยมีตึกน้อยกว่านี้มาก ข้างหลัง ม. ยังมีดงกล้วยอยู่เลย แต่คนชอบบอกว่าศิลปากรมีความเป็นศิลปินมาก เวลาแข่งกีฬาตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงตอนนี้ก็ไม่ได้เอาแพ้-ชนะ แต่เอาสนุก คนดูก็จะเชียร์เราเพราะเราสนุก มันจะไปชนะเขาได้อย่างไร เพราะเด็กชอบนอนกันตอนตีสี่ ถ้าพระไม่ออกบิณฑบาตก็จะไม่ยอมนอนกัน มันมีเสน่ห์แบบแปลก ๆ ที่ทำให้คนชอบศิลปากร เรื่องบุคลิกก็อีกอย่าง ไม่ค่อยเหมือนชาวบ้าน แถมเดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ ถ้าคุณเอาเด็กสถาปัตยกรรมฯ หลายมหาวิทยาลัยมารวมกัน เราจะบอกได้ว่านี่คือสถาปัตย์ฯ ศิลปากร ถึงเด็กคณะนี้หลายที่จะผมยาวชอบแต่งตัวมอซอเหมือนกัน แต่การแสดงออกแตกต่าง พวกเด็กจิตรกรรมที่มักหอบรูปไปเรียน เดินผ่านเด็กที่นั่งอยู่ในสวนก็เห็นผลงานศิลปะ ซึมซัมความเป็นสีสันโดยไม่รู้ตัว ส่วนหนุ่มสาวมัณฑนศิลป์จะเป็นแชมป์ของการแต่งตัว หล่อเท่เยอะมาก สิ่งเหล่านี้ยังคงเหมือนเดิม นอกจากนี้ พวกงานกิจกรรมต่าง ๆ อย่าง เอสเอ็มเอ (Silpakorn Music Awards-SMA) งานกิ๊ฟ (Gift Festival) หรือเฟรชชี่เกมฝั่งทับแก้ว งานอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นสิ่งที่กล่อมเกลาให้คนเป็นศิลปากร มีอารมณ์สุนทรีย์ วิจารณ์งานเป็น มองออกว่าอะไรสวย อะไรไม่สวย และตอนนี้อาจนุ่มนวลกว่าเมื่อก่อนด้วยซ้ำ The People: ศิลปากรขึ้นชื่อเรื่องมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์ แต่นอกจากความสร้างสรรค์แล้ว ศิลปากรยังมีอะไรอีกบ้าง ชัยชาญ: ด้วยความเป็นศิลปากรเรามีครบอยู่แล้ว เราอยู่กันแบบพี่น้อง เป็นสังคมกลุ่มก้อนไปอยู่ที่ไหนคนก็ชอบ เราเติบโตมากับบรรยากาศของศิลปินซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างข้อไม่ดีคือไม่ค่อยมีวินัยเท่าที่ควร นัดสองโมงมาสักสี่โมง แต่สิ่งนี้ทุกมหาวิทยาลัยมีเหมือนกันหมด แต่สิ่งที่โดดเด่นคือเรามีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี จริงใจ รับผิดชอบในหน้าที่ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาอาจจะยังไม่พอสำหรับอนาคตอันใกล้ ผมว่าต้องมีทักษะอย่างอื่นที่จะก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างภาคภูมิ เช่น คุณต้องมีทักษะในการเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ซึมซับบรรยากาศที่มีอยู่ ไม่ใช่เรียนเพื่อให้ผ่านไปวัน ๆ แต่ต้องคิดให้ลึกซึ้ง แล้วเราจะเป็นอะไรก็ได้ แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ สถาปนิกชื่อดังของอเมริกายังพูดไว้ว่า “สถาปนิกต้องฝึกฝนตลอด บ้านแต่ละหลังสร้างจากประสบการณ์ที่เราได้พบเจอ เรียนรู้จากสิ่งที่ทำ มีวิจารณญาณที่ดี และแก้ปัญหาเป็น” เราจะได้พัฒนาผลงานตัวเองและสร้างนวัตกรรมใหม่ เอาความคิดความสร้างสรรค์สิ่งใหม่ไปประยุกต์ใช้กับสิ่งที่มีอยู่แล้วเพื่อเพิ่มมูลค่า จุดนี้ศิลปากรเราได้เปรียบอยู่แล้วเพราะเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีทั้งศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลปะ วัฒนธรรม เพียงแค่คุณต้องหัดเป็นนักคิดแล้วสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา ชัยชาญ ถาวรเวช: ผู้ที่อยากให้ศิลปากรรุ่นใหม่ไปไกลกว่าคำว่าสร้างสรรค์ The People: ทำไมการสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือการสร้างนวัตกรรมถึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ชัยชาญ: เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่แค่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ยังเป็นปลาเร็วกินปลาช้า เราจะช้าไม่ได้ ต้องแปลกใหม่ อังกฤษมีแล้ว ญี่ปุ่นมีแล้ว เช่น พวกมูจิที่ขายความเป็นญี่ปุ่นสไตล์มินิมัล เกาหลีใต้ใช้แล้วก็ได้ผลดีมาก เราเห็นอุตสาหกรรมเคป๊อปที่โด่งดังไปทั่วโลก คนไทยรู้จักแดจังกึม รู้จักแบล็กพิงก์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการคิดใหม่ควบคู่กับสิ่งที่มีอยู่แล้วทั้งนั้น บ้านเราก็มีบุพเพสันนิวาสที่เอาประวัติศาสตร์มาเสริมเติมแต่งเป็นนิยาย ทำเป็นละคร นำเสนอแง่มุมใหม่ ๆ ควบคู่กับเทคนิคที่มี มุมกล้องสวย การโคลสอัพ เพลงประกอบ ทั้งหมดส่งให้คนติดทั่วบ้านทั่วเมือง แถมยังเอาตัวละครมาขายได้อีก มันเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ ในสังคม เพิ่มมูลค่าจากความคิดสร้างสรรค์ The People: แสดงว่าวัฒนธรรมกระแสหลัก ป๊อปคัลเจอร์ สื่อบันเทิง และสิ่งรอบตัวล้วนเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์? ชัยชาญ: เราจะเห็นว่าในอดีตที่ผ่านมา ภาพยนตร์จากฮอลลีวูดหรือพรีเมียร์ลีก นับเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่ตะวันตกเอามาขายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สิ่งพวกนี้ล้วนเกิดจากการทำใหม่ คิดใหม่ ต่อยอด เรียกว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์  หรือ ครีเอทีฟ อีโค่ (Creative Economy) ประกอบด้วยวัฒนธรรมคู่กับอุตสาหกรรม เกิดเป็นศิลปะที่เป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมอย่างประวัติศาสตร์ศิลปะ การแสดง ดนตรี ภาพยนตร์ พวกนี้อยู่ในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งนั้น อย่างแกร็บ (Grab) ที่ไม่ต้องมีรถแท็กซี่ก็ทำกิจการรับส่งผู้โดยสารได้ หรือ แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ทำธุรกิจที่พักโดยไม่ต้องมีโรงแรม ฝรั่งทำกันมานานแล้ว คนเอเชียหรือคนไทยไม่ใช่ว่าสู้เขาไม่ได้ ผมว่าเราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้นก็แค่นั้น หลังจากเกิดโควิด-19 จะเห็นเลยว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่พึ่งหลักของประเทศล้มหมดเลย และเหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ประเทศไทยต้องมองหาช่องทางใหม่ เราต้องพยายามอีก รัฐบาลเองก็ต้องพยายามขยายวงให้กว้างขึ้นด้วย The People: แล้วศิลปากรภายใต้การบริหารของอาจารย์ชัยชาญเริ่มทำเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บ้างแล้วหรือยัง ชัยชาญ: ตอนนี้เรามีศิลปากรสร้างสรรค์ มีศิลปากรศิลปาการ ทางอาจารย์พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น เริ่มบูรณาการข้ามศาสตร์ นำนักศึกษาปีหนึ่งจากหลายคณะมาร่วมกันทำโปรเจกต์หนึ่งอย่าง และมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานปลายเทอม ผลที่ได้คือแต่ละกลุ่มมีความคิดแตกต่างกันเห็นได้ชัด กลุ่มที่มีนักศึกษาวิศวกรรมฯ มัณฑนศิลป์ ศึกษาฯ ไอซีที อักษรศาสตร์ เขาก็จะแบ่งงานกันทำตามความถนัด มันคือการบูรณาการ ทำให้ทุกคนเห็นว่าศาสตร์บางประเภทปล่อยไว้เฉย ๆ ไม่ได้อะไร แต่ถ้าเอามาผสมผสานจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ เราพยายามให้คนรู้ว่าศิลปากรในยุคปัจจุบันจบไปสามารถทำงานได้ดี บัณฑิตสามารถมีทางเลือกในอาชีพ สิ่งสำคัญคือไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามถ้าเรามีแพสชัน มีความสุข มันจะไปได้ดี แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ทำแล้วรู้สึกฝืน บังคับตัวเองมากเกินจนอึดอัดก็จะแย่ ถ้าบอกว่าพรุ่งนี้อยากตื่นแต่เช้าไปทำงาน รู้สึกสนุก ก็คงจะดีกว่า ชัยชาญ ถาวรเวช: ผู้ที่อยากให้ศิลปากรรุ่นใหม่ไปไกลกว่าคำว่าสร้างสรรค์ The People: ในยุคสมัยที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จะยังคงอัตลักษณ์ของความเป็นศิลปากรในสังคมปัจจุบันได้มากน้อยแค่ไหน ชัยชาญ: อัตลักษณ์ไหนที่ไม่ดีทิ้งไปบ้างก็ได้ ส่วนใหญ่ศิลปากรมักเข้ากับคนง่าย รู้เรื่องศิลปวัฒนธรรม ก็อยากให้เอาส่วนดีไปใช้ประโยชน์ อยากให้มีแนวใหม่ ๆ แต่ก็ยังคงอัตลักษณ์บางของศิลปากรไว้อยู่ เรื่องการรู้ภาษาทั้งการอ่านและการเขียนก็สำคัญ เวลาโพสต์เฟซบุ๊กก็ทำให้มันออกมาดี บางคนตั้งสเตตัสตั้งยาวแต่คนอ่านบางคนอ่านแค่สามบรรทัดรู้สึกไม่ชอบก็ด่าเขาแล้ว มันไม่ได้ ตอนนี้ที่น่ากลัวคือหลายบริษัทดูโปรไฟล์ผู้สมัครงานจากเฟซบุ๊กด้วย เราต้องระวังให้มาก The People: อยากฝากอะไรทิ้งท้ายถึงชาวศิลปากรบ้างไหม ชัยชาญ: สำหรับชาวศิลปากร เราต้องพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ ต่อยอดจากสิ่งที่เรามีอยู่ในตัวตนของเรา ตัวของศิลปากร อย่าไปคิดว่าการอยู่ที่ศิลปากรจะปล่อยให้ชีวิตชิลล์ ๆ สบาย ๆ เราต้องจริงจังกับมันเพราะความสำเร็จในชีวิตกำลังรอเราอยู่ จะต้องลงทุนตั้งแต่ยังหนุ่มสาว ในช่วงเวลาที่มีความตั้งใจเต็มเปี่ยม อยากให้ก้าวไปในเส้นทางที่ตัวเองเลือกและทำให้เต็มที่   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์ ภาพ: ดำรงฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม