เบื้องหลัง Attack on Titan อะนิเมะ และมังงะ เรื่องเยี่ยมแห่งศตวรรษที่ 21

เบื้องหลัง Attack on Titan อะนิเมะ และมังงะ เรื่องเยี่ยมแห่งศตวรรษที่ 21

Attack on Titan อะนิเมะ และมังงะ เรื่องเยี่ยมแห่งศตวรรษที่ 21 ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก นอกจากเรื่องความสนุกแล้ว เนื้อหายังมีแง่มุมที่น่าสนใจ

(ระวังมีสปอยล์!!)   แรงดีไม่มีตกจริง ๆ สำหรับเรื่อง Attack on Titan (進撃の巨人) แถมยังดูจะแรงขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วยเพราะไปโด่งดังในนานาประเทศทั่วโลก เรียกว่าดังข้ามกำแพงทั้ง 3 ชั้น ข้ามทะเล ข้ามมหาสมุทร ข้ามเชื้อชาติ กันเลยทีเดียว  เรื่องนี้ตีพิมพ์รายสัปดาห์ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ Bessatsu Shōnen Magazine (別冊少年マガジン) ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 จนกระทั่งปัจจุบันที่กำลังจะจบแล้ว และมีการพิมพ์รวมเล่มเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด 33 เล่มด้วยกัน (ณ ปัจจุบัน) และมีซีรีส์อนิเมะจบไปแล้ว 3 seasons และกำลังออกอากาศ season 4 อยู่ ผู้เขียนเรื่องนี้คือ อิซะยะมะ ฮะจิเมะ (諫山創) วางโครงเรื่องไว้อย่างชาญฉลาด กล่าวถึงดินแดนแห่งหนึ่งที่มนุษย์ต้องใช้ชีวิตหลบอยู่ในกำแพง 3 ชั้นที่ปกป้องมนุษยชาติจากโลกภายนอก เพราะเชื่อกันว่านอกกำแพงนั้นมนุษย์ถูก ‘ไททัน’ จับกินจนสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปหมดแล้ว  ก่อนจะหักมุมครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยพล็อตอันซับซ้อนมาก จนแฟน ๆ ทั่วโลกติดหนึบกับเรื่องนี้ มีการใช้ Intertextuality (ภาษาไทยแปลว่า สหบท หรือ สัมพันธบท) ที่เป็นการอ้างอิงพล็อตต่าง ๆ หลายพล็อตที่อิซะยะมะคาดเดาว่าผู้อ่าน-ผู้ชมจะสามารถหาความเชื่อมโยงได้จากจินตนาการของตัวเองหรือจากตัวอย่างในโลกแห่งความเป็นจริง ทำให้ผู้อ่าน-ผู้ชมจำนวนมาก ‘อิน’ ไปกับเนื้อเรื่องอย่างถอนตัวไม่ขึ้น แฟน ๆ นักอ่านบางส่วนสามารถตีความ Intertextuality ได้ว่า เรื่องนี้อ้างอิงจากตำนานเทพปกรณัมของชาวนอร์ส (Norse Mythology) เพราะมีการกล่าวถึงไททันทั้ง 9 ซึ่งในตำนานของชาวนอร์สจะพูดถึงดินแดนแห่งเผ่าพันธุ์ทั้ง 9, มีการกล่าวถึงว่าผู้สืบทอดพลังไททันทั้ง 9 จะมีอายุขัยเพียง 13 ปี ซึ่งเลข 13 เป็นเลขอัปมงคลเพราะเทพโลกิ (Loki) ที่ไม่ได้รับเชิญดันโผล่ไปร่วมงานเลี้ยง ทำให้โลกิกลายเป็นเทพองค์ที่ 13 และก่อให้เกิดหายนะในงาน ตามตำนานของนอร์ส ซึ่งมีผลไปถึงขั้นเป็นหนึ่งในต้นธารความเชื่อเรื่องโชคลางเกี่ยวกับเลข 13 ในอารยธรรมตะวันตกเลยก็ว่าได้, แล้วยังมีตำนานเรื่อง ยูมีร์ พริตซ์ (Ymir Fritz) มนุษย์คนแรกที่ได้รับพลังไททันก็ยังมีชื่อไปซ้ำกับ อีเมอร์ (Ymir) ยักษ์ตนแรกที่ให้กำเนิดยักษ์ทั้งมวลในตำนานของนอร์ส อีกต่างหาก ในขณะเดียวกัน แฟน ๆ อีกกลุ่มหนึ่งกลับมองชะตากรรมของชาวเอลเดีย (Eldians) ที่ตกเป็นเหยื่อถูกชาวมาร์เลย์ (Marleyans) กดขี่ข่มเหงมาอย่างยาวนานว่าคล้ายกับชะตากรรมของชาวยิวที่ถูกพวกนาซีเยอรมันข่มเหงรังแกอย่างน่าอนาถในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะลักษณะของความเกลียดชังที่ชาวมาร์เลย์มีต่อชาวเอลเดียนั้นคล้ายกับความเกลียดชังที่พวกนาซีมีต่อชาวยิวอย่างมาก แต่ในเอเชียกลับมีแฟน ๆ อีกกลุ่มตีความ Intertextuality ในเรื่องว่าคล้ายกับประวัติศาสตร์ของฮ่องกง โดยมองว่ากำแพงนั้นคืออำนาจของอังกฤษที่คุ้มครองฮ่องกงมาตลอดประมาณร้อยปี จนในที่สุดกำแพงก็ถูกทำลายลงด้วยเวลาประมาณร้อยปีเช่นกันในเรื่อง Attack on Titan และกำแพงนี้ถูกทำลายโดย ‘ยักษ์ใหญ่สีแดง’ ซึ่งในเรื่อง Attack on Titan หมายถึงไททันมหึมา แต่แฟน ๆ ตีความ ‘ยักษ์ใหญ่สีแดง’ ว่าหมายถึงจีนแผ่นดินใหญ่ที่เข้ามาคุกคามชีวิตของชาวเอลเดียที่อยู่กันอย่างมีความสุขมาตลอดร้อยปี นั่นเอง ถึงขั้นมีผู้ประท้วงชาวฮ่องกงทำมาสคอตไททันมหึมาว่าเป็นตัวแทนของจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยซ้ำไป แต่ไม่ว่าจะตีความ Intertextuality กันออกมาอย่างไรก็ตาม แฟน ๆ ทั่วโลกล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าเรื่องนี้ ชะตากรรมของชาวเอลเดียนั้นน่าเห็นใจจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวเอลเดียในกำแพงบนเกาะพาราดี หรือชาวเอลเดียในค่ายกักกันของมาร์เลย์ ก็ล้วนเป็นเหยื่อด้วยกันทั้งสิ้น แต่ความเจ็บปวดของผู้คนแต่ละยุคสมัยรวมทั้งความเจ็บปวดจากสงคราม มันไม่ได้กัดกินเพียงคนในยุคเดียวกันเท่านั้น มันยังส่งผลเสียถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ราวกับเชื้อร้ายที่แฝงอยู่ในพันธุกรรมที่ถ่ายทอดไปชั่วลูกชั่วหลาน รอวันที่จะแพร่เชื้อแห่งความเกลียดชังนั้นอีกครั้ง