พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ: เปิดใจตำรวจม็อบ “ตำรวจไม่มีสองมาตรฐาน"

พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ: เปิดใจตำรวจม็อบ “ตำรวจไม่มีสองมาตรฐาน"
ตำรวจเป็นใคร ถ้าไม่ใช่คู่ขัดแย้ง? สัมภาษณ์ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ “ตำรวจไม่มีสองมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลหรือฝ่ายเห็นต่าง เราใช้กฎหมายเดียวกัน” The People สัมภาษณ์ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) ตำรวจนักเจรจาในสถานการณ์การชุมนุมประท้วงของประชาชน โดยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ผ่านช่วงเวลาเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนที่จะมาถึงยุคการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารปี 2557 ของนิสิตนักศึกษาในขณะนั้น ซึ่งหลายคนที่เป็นแกนนำยังอยู่บนเวทีการเมืองจนถึงปัจจุบันนี้ ขณะที่การเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิตนักศึกษายุคล่าสุดปี 2563 มีการขยายตัวมากขึ้นหากเปรียบเทียบกับปี 2557 พ.ต.อ.อรรถวิทย์ หรือ ‘พี่วิทย์’ ตามคำเรียกของนักกิจกรรมหลายคน ยังคงทำหน้าที่เจรจากับผู้ชุมนุมในภาคสนาม อยู่ร่วมเหตุการณ์ต่าง ๆ และมีส่วนสำคัญในการคลี่คลายสถานการณ์ความตึงเครียดจากการเผชิญหน้าหลาย ๆ ครั้ง พ.ต.อ.อรรถวิทย์ เล่าชีวิตในวัยเด็กจากครอบครัวชาวนาที่ จ.ลำปาง ว่า “ผมเป็นคนต่างจังหวัดนะครับ บ้านเกิดอยู่ที่ จ.ลำปาง มีพี่น้อง 8 คน ผมเป็นคนที่ 7 เรียนอยู่ที่ อ.งาว แล้วพ่อแม่ส่งมาเรียนในตัวจังหวัดตั้งแต่ ป.1 พ่อเป็นชาวนา แม่ก็ค้าขาย เลี้ยงหมู ทำนามีโรงสีเล็ก ๆ พี่น้องส่วนใหญ่จะรับราชการ มีผมคนเดียวเป็นตำรวจ พี่น้องส่วนใหญ่จะเป็นครู "ส่วนเพื่อน ๆ ที่เรียนด้วยกันตอนเด็ก ๆ ก็มุ่งมั่นที่จะเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร ก็มาสอบเตรียมทหารกับเขา แต่ผมตกสายตา สายตาสั้นไปนิดนึง พอจบ มศ. 5 ก็มาสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สอบติดตั้งแต่ครั้งแรกที่สอบ เป็นนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 37” พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ: เปิดใจตำรวจม็อบ “ตำรวจไม่มีสองมาตรฐาน" สำหรับที่มาของการได้รับมอบหมายให้ประสานงานกับผู้ชุมนุมม็อบต่าง ๆ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ บอกว่า “เริ่มต้นจากปี 2555 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการ กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ชื่อย่อคือ รองผู้การ อคฝ. ตรงนั้นมีรุ่นพี่อยู่คนหนึ่งแนะนำว่า ถ้าอยู่ในนครบาล งานสอบสวน งานปราบปราม หรือแม้แต่งานสืบสวน ก็ไม่ต่างกัน “ถ้าจะทำงานให้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ให้มีโลโก้เป็นของตัวเอง ก็ไปคุมม็อบน่าจะดี เขาก็แนะนำผมอย่างนี้ ผมก็เลยดูแลเรื่องม็อบตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา ประกอบกับตอนนั้นมีม็อบ กปปส. แล้วก็มีการล้อมทำเนียบรัฐบาล มีการเคลื่อนไหวหลาย ๆ อย่าง "ก็มี ‘ท่านผู้การลือชัย สุดยอด’ เป็นผู้ให้ความรู้และแนะนำมา ผมก็สัมผัสกับม็อบตั้งแต่ตอนนั้นครับ ก็ได้รับมอบหมายงานนี้มาตลอด “ผมมองว่าเป็นงานบริการประชาชน ม็อบสะท้อนความเดือดร้อน ส่วนหนึ่งอาจจะเดือดร้อนเรื่องที่ทำมาหากิน ถูกรังแก หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องการเรียกร้องเรื่องปากท้อง ตรงนี้เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเค้าส่วนหนึ่ง เมื่อเขามาเรียกร้องแล้วได้รับการดูแลจากรัฐ เราได้เข้ามาดูแลส่วนนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี และจะมีม็อบอีกประเภทหนึ่ง ลักษณะคือม็อบการเมือง เขามาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ตรงนี้ถ้าจบได้ดี เราเข้าไปเจรจาให้เค้าพบทางออก เหมือนทำการบ้านมีโจทย์มาแต่ละครั้ง เราทำจบไป สำเร็จ ก็มีความสุขครับ” เมื่อถามถึงการเตรียมการเจรจากับผู้ชุมนุมซึ่งมีหลากหลายกลุ่ม พ.ต.อ.อรรถวิทย์ กล่าวว่า “ความหนักเบาอยู่ที่ปัจจัยหลายอย่าง ยิ่งปัจจุบันมีผู้เห็นต่างเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง ตรงนี้จะยากมากขึ้นเพราะระหว่างกลุ่ม 2 กลุ่มซึ่งเห็นต่างกันแล้ว ตำรวจเราเป็นผู้รักษากฎหมายและอยู่ตรงกลาง “โดยเบื้องต้นตำรวจไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง เราเป็นผู้ดูแลรักษาความสงบในขณะเดียวกันก็ต้องการให้เหตุการณ์เรียบร้อย แม้จะมีบุคคลที่มีความเห็นต่างหรือเรียกว่า ‘ม็อบชนม็อบ’ ซึ่งจะทำงานลำบาก ทำยังไงก็ได้ไม่ให้มีการกระทบกระทั่ง ไม่ให้มีการสูญเสีย อาจจะทำงานลำบากหรือดูแลค่อนข้างยาก “แต่เท่าที่ผ่านมาในรอบ 1 - 2 เดือน ม็อบไม่ได้ชนกันโดยตรง มีแต่เฉียด ๆ กันไป เต็มที่ก็คือวันที่ 13 ตุลา 63 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตอนนั้นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลอยู่อีกฝั่งถนน ฝ่ายเยาวชน (ปลดแอก) ก็อยู่อีกกลุ่มหนึ่ง “ตรงนี้ต้องใช้กำลังบล็อคทั้ง 2 ข้าง แต่ก็ผ่านไปด้วยดี ใกล้เวลาเขาก็แยกย้ายกันกลับ "กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลเขาก็กลับเพราะว่ามีการร้องขอ เราไปขอร้องเขาว่า ถ้าอยู่แล้วจะกระทบกระทั่งกัน เขาก็เชื่อฟังแล้วก็กลับ “แต่กลุ่มเยาวชนปลดแอก (คณะราษฎร) หรือกลุ่มที่อยู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เขาชุมนุมต่อเนื่องถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2563” พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ: เปิดใจตำรวจม็อบ “ตำรวจไม่มีสองมาตรฐาน" ตำรวจเป็นใครถ้าไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับผู้ชุมนุม เมื่อขอให้ชี้แจงข้อสงสัยนี้ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ อธิบายว่าในหลักการเราก็ไม่ใช่คู่กรณี ไม่ใช่คู่ขัดแย้งอยู่แล้ว ตรงนี้ท่านผบ.ตร. และ ท่าน ผบช.น. ก็พูดชัดเจนว่า เรามีหน้าที่ดูแลให้ทุกอย่างเรียบร้อยไม่มีเหตุแทรกซ้อน “ม็อบมาก็เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง เราต้องดูแลให้เค้าปลอดภัย ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่กระทบสิทธิของผู้อื่น การใช้รถใช้ถนน การสัญจรไปมา เป็นต้นว่าต้องไม่ปิดสถานที่ราชการ ตำรวจเราเนี่ยมีหน้าที่รักษาดูแลความปลอดภัยให้ทุกอย่างสงบเรียบร้อย ก็ชัดเจนว่า เราไม่ใช่คู่กรณี แต่เป็นผู้ดูแล เป็นอำนาจหน้าที่ของเราโดยตรงครับ” ... “แม้แต่ตำรวจเราเนี่ย มากันเยอะมาก ห่างบ้านห่างครอบครัวมา มากันแทบทุกจังหวัด ความลำบากของเค้านอกจากทำหน้าที่ปกติแล้ว ตอนนี้มาทำหน้าที่เสริมพิเศษคือแต่งชุดเวสมาดูแลประชาชน “ตรงนี้ตำรวจเราก็ลำบากกายไม่แพ้กันนะครับ การกินอยู่ก็อาจจะนอนวัดนอนโรงเรียนก็ลำบาก ตรงนี้ผมอยากให้เห็นตำรวจในส่วนนี้บ้างว่า นี่คือผู้ดูแลรักษาความเรียบร้อยจริง ๆ ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ลำบากทั้งดูแลประชาชนและลำบากทั้งความเป็นอยู่ของตัวเองด้วยนะตรงนี้ “สำหรับกรณีที่นิสิตนักศึกษาบอกว่า 'เราทุกคนคือแกนนำ' แบบนี้ตำรวจจะต้องเจรจากับใคร พ.ต.อ.อรรถวิทย์ บอกว่า “โดยธรรมชาติ ทุกอย่างต้องมีจ่าฝูง มีผู้นำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเขาจะลดบทบาทเขาลง อาจจะมาอยู่แถวสองแทน เปิดให้คนที่อยากแสดงความคิดเห็นได้ขึ้นพูดปราศรัย ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีคนนำอยู่แล้ว เป็นต้นว่า ต้องมีคนทวีตคนแรกว่าเราเจอกันที่ไหน อย่างไร “คำว่า ไม่มีแกนนำ หมายความว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะขึ้นพูด มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นได้เท่ากัน แต่ทิศทางที่จะไป ยุทธวิธีที่จะใช้ เริ่มต้นจากจุดไหนไปจุดไหน ต้องมีคนกำหนดมีแกน ตรงนี้เราก็พอรู้ว่าใครเป็นใคร ใครมีความสำคัญ แล้วก็ใครที่คนส่วนใหญ่ในกลุ่มนั้นจะเชื่อถือ “ตรงนี้ที่ว่าม็อบไม่มีแกนนำ เป็นไปไม่ได้ ต้องมี ทุกอย่างต้องมี leader นะครับ เพียงแต่ว่า เค้าอาจจะลดบทบาทลงไป “การเจรจา เราก็ไปคุยกับ leader ว่า ทิศทางควรจะเป็นแบบไหน เลิกกี่โมง ทำอะไรกี่โมง เดี๋ยวถึงเวลาเขาก็ประกาศเลิกของเค้าเอง ซึ่งมีคนไกด์ในกลุ่มเขาตรงนี้ต้องมี” ทุกครั้งที่ผู้ชุมนุมประกาศชัยชนะก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน แปลว่ามีฝ่ายไหนพ่ายแพ้หรือไม่ พล.ต.อ.อรรถวิทย์ มองว่า “ผมมองเป็นรูปแบบกิจกรรม เขาประกาศว่าเขาจะเดินจากจุดนี้ไปจุดนี้ไปยื่นหนังสือ เขาเดินได้ เขาไปถึงจุดหมายได้ แล้วเขาได้ยื่นหนังสือก็ถือว่าจบกิจกรรม เขาก็ถือว่าเป็นชัยชนะของเขา ซึ่งจริง ๆ ก็คือจบกิจกรรมในวันนั้น “ถ้าเรามองประเด็นข้อเรียกร้อง 2-3 ข้อ ถ้าจะเป็นชัยชนะที่แท้จริง น่าจะเป็นต้นว่านายกฯ ลาออก แต่ถ้าเป็นการประกาศชัยชนะรายวัน ก็คือประกาศว่ากิจกรรมในแต่ละวันนั้นจบลงแล้ว เพียงแต่เขาใช้คำว่า วันนี้เราชนะแล้ว เป็นอย่างนั้นครับ “ไม่ใช่การพ่ายแพ้การชนะอะไร คือผมเห็นว่าในรัฐสภาที่ผมเฝ้านั่งฟังมา 2 วันติด ผมรู้สึกดีใจที่เห็นในรัฐสภาพูดกันด้วยภาษาดอกไม้ คุยกันเข้าอกเข้าใจ หาทางออกให้ประเทศ แล้วคนเฝ้ามองทั้งประเทศรวมถึงเด็กนักเรียน แม้แต่ผู้เรียกร้องซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนเขาก็มองอยู่ด้วย ตรงนี้น่าจะเป็นทางออกที่น่าจะออกได้ “ผมเห็นเป็นครั้งแรกที่มีการเอาปัญหาข้างนอกเข้าไปพูดในสภาและหาทางออก ผมเชื่อว่าเป็นทิศทางที่ดี แล้วทุก ๆ อย่างจะจบด้วยดีนะครับ” พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ: เปิดใจตำรวจม็อบ “ตำรวจไม่มีสองมาตรฐาน" พ.ต.อ.อรรถวิทย์ ยืนยันการทำงานของตำรวจด้วยว่าไม่มีสองมาตรฐานและดำเนินคดีกับทุกฝ่ายด้วยกฎหมายเดียวกัน “ดำเนินคดีทุกฝ่าย แม้แต่ที่รามคำแหง หัวหมาก (กรณีกลุ่มคนที่สวมเสื้อสีเหลืองทำให้อีกฝ่ายได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563) ก็ดำเนินคดีอยู่ เราต้องหาคนกระทำผิดมาให้ได้ คือตำรวจมีหน้าที่รักษากฎหมายก็ต้องทำเต็มที่ ไม่ได้ละเว้นปฏิบัติแต่อย่างใดครับ ถ้าเราละเว้น เราผิดมาตรา 157 ทันทีครับ “ตำรวจไม่มีสองมาตรฐานนะครับ เราดูแลไม่ว่าจะมาสนับสนุน (รัฐบาล)หรือมาเห็นต่าง เราปฏิบัติเท่าเทียมกันใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะเหมือนกัน แม้แต่ พ.ร.ก. เราก็ใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน ตรงนี้จะเห็นได้ว่าเราดำเนินคดีในความผิดที่เหมือนกัน ไม่ได้ละเว้น “ตอนนี้การชุมนุมมีหลากหลายรวมถึงเรื่องคนข้ามเพศ ทุกคนมีสิทธิในทุก ๆ เรื่อง ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ต้องไม่กระทบสิทธิของคนอื่น แล้วก็ชุมนุมโดยสงบ ตำรวจเรารับได้ทุกเรื่อง แต่ขอให้ทำถูกกฎหมาย มีการแจ้งการชุมนุม ต้องทำให้ครบถ้วน แล้วทุกอย่างก็จะรันตามระบบเอง” เมื่อถามถึงเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงอันตรายและท้าทายมากที่สุดนับแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ตำรวจนักเจรจาผู้นี้กล่าวว่า “ผมว่าอาจจะไม่เหมาะที่จะตอบตอนนี้ ผมว่าเปิดกูเกิ้ลดูได้ว่า ม็อบ กปปส. เป็นยังไง ม็อบไหนเป็นยังไง ผมว่าเด็กทุกคน คนไทยทุกคนถ้าไปศึกษาประวัติศาสตร์ก็จะรู้ว่าตรงไหนเป็นยังไง เปรียบเทียบได้ “ตรงนี้ผมอาจจะตอบลำบาก ถ้าตอบไปปุ๊บ อาจจะดูไม่เป็นกลาง แต่เชื่อว่าทุกคนสามารถศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแต่ละม็อบได้ “ม็อบ ณ ปัจจุบันนี้ ผมเชื่อว่าเขามีอารยะอยู่พอสมควร พูดรู้เรื่อง อาจจะมีกลุ่มฮาร์ดคอร์อยู่บางกลุ่มตามประสาวัยรุ่นซึ่งอาจจะออกสุดโต่งไปบ้าง บางกลุ่มอาจจะเป็นการมาร่วมครั้งแรกของเค้า ไม่มีผู้มีประสบการณ์มาคอยแนะนำ บางครั้งอาจจะสุดโต่งไปบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมว่าถ้ามีเจตนาที่จะให้จบลงด้วยดี ทุกอย่างก็จะจบลงด้วยดี ผมเชื่อว่าทุกอย่างเจรจาหาทางออกได้ ตอนนี้รัฐสภามีทางออกแล้ว ถ้ามีการกระจายการรับรู้ทั่ว ๆ ไป ผมว่าบ้านเมืองเราไปรอดและมีทางออกที่ดีครับ”   ... “ในมุมของผมผมมีความสุขใจที่ได้ทำงานตรงนี้ การเจรจาการพูดคุยได้รับทราบปัญหา ได้รู้ว่าเขาเดือดร้อนยังไง และหาทางออกให้ดีที่สุด แล้วเขา (ผู้ชุมนุม) มีความสุขมีความพอใจที่จะได้กลับบ้าน กลับภูมิลำเนาของเขา แม้มีความขัดแย้งบางอย่าง ไม่มีใครได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องมีการได้บ้างเสียบ้าง แล้วถ้าเกิดไม่มีคนกลาง ไม่มีคนคอยประสาน มันก็จะจบยาก ทุกอย่างผมว่าไม่น่าจะมีความรุนแรง น่าจะจบบนโต๊ะเจรจาครับ” เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับลูก ๆ อย่างไรในฐานะคนเจนเนอเรชันต่อไปท่ามกลางสถานการณ์การเมืองเวลานี้ ขณะที่คุณพ่อเองทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ในฐานะคุณพ่อวัย 59 ปี บอกว่า “ลูก ๆ ทั้ง 3 คนแสดงความเป็นห่วงพ่อ ลูกเรียนจบทำงานแล้ว 1 คน ส่วนอีก 2 คนอยู่ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย เขาติดตามสถานการณ์การเมืองแต่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ได้แสดงความเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับฝ่ายไหน เวลาเลือกตั้งก็ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามปกติเขาดูจากนโยบายพรรคการเมือง “ส่วนเรื่องในครอบครัวทุกอย่างทำความเข้าใจได้ เพียงแต่หันหน้าเข้าหากันแล้วพูดกันอย่างตรงไปตรงมา แล้วก็ถอยให้กัน "ถ้าเราอยู่ใกล้กันเกินไป เราอาจจะไม่เห็นปัญหา แต่ถ้าเราถอยมาคนละก้าว เราก็จะเห็นปัญหานั้นและเห็นหน้าเห็นตากันชัดขึ้น แก้ไขทุกอย่างได้ชัดขึ้น ทุกอย่างอยู่ที่การสร้างความเข้าใจ เจรจากันไม่มีความรุนแรง ผมว่าจบได้ทุกอย่าง”