ออเดรย์ ถัง: อัจฉริยะไอทีสู่รัฐมนตรีดิจิทัล ผู้พาไต้หวันฝ่าวิกฤติโควิด-19

ออเดรย์ ถัง: อัจฉริยะไอทีสู่รัฐมนตรีดิจิทัล ผู้พาไต้หวันฝ่าวิกฤติโควิด-19

ออเดรย์ ถัง: อัจฉริยะไอทีสู่รัฐมนตรีดิจิทัล ผู้พาไต้หวันฝ่าวิกฤติโควิด-19

กระทรวงดิจิทัลบางประเทศ อาจตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลและควบคุมกิจกรรมบนโลกอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก แต่ที่ไต้หวันกลับต่างออกไป เพราะที่นั่น กระทรวงดิจิทัลเน้นส่งเสริมให้คนใช้เสรีภาพบนโลกออนไลน์ ช่วยกันพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยมี ออเดรย์ ถัง อัจฉริยะไอที ซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูลเต็มที่ เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่อยู่ในนั้น   ออเดรย์ ถัง ได้รับการทาบทามจาก ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ให้มาคุมกระทรวงสำคัญของโลกยุคดิจิทัลตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 35 ปี ทำให้กลายเป็นรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดตลอดกาลของไต้หวันทันที   ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ถังมีบทบาทสำคัญในการนำเทคโนโลยีที่เชี่ยวชาญมาบริหารจัดการแก้ไขวิกฤต จนไต้หวันได้รับการยกย่องให้เป็นชาติแรก ๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาด   แจ้งข่าวรับมือว่องไว   เทคโนโลยีแรกที่เข้ามามีบทบาทสำคัญคือ PTT หรือแพลตฟอร์มเพื่อการสนทนาแบบเปิดกว้าง ที่ทุกคนสามารถเข้ามาแจ้งข้อมูลข่าวสารได้อย่างอิสระ   ทันทีที่นายแพทย์หลี่เหวินเหลียง เป็นคนแรกที่โพสต์ข้อความเตือนสาธารณชนให้ทราบถึงการอุบัติของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ของจีน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2019   วันต่อมาข่าวนี้มีการแชร์บน PTT และทันทีที่ระบบตรวจสอบคัดกรองยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง อีกวันต่อมา (1 มกราคม 2020) รัฐบาลไต้หวันเริ่มใช้มาตรการควบคุมโรคทันที โดยนำประสบการณ์จากการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) เมื่อปี 2003 มาปรับใช้   เมื่อการควบคุมต้นตอของการระบาดเริ่มขึ้นแล้ว ต่อมาจึงเป็นการแจกจ่ายกระจายหน้ากากให้ประชาชนใช้ป้องกันตนเอง   บอกพิกัดแจกหน้ากากอย่างเป็นธรรม   ถังร่วมมือกับชุมชนแฮกเกอร์พลเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มนักพัฒนาซอฟแวร์ และระบบไอทีเพื่อสังคม พัฒนาแอปพลิเคชันแผนที่บอกพิกัดร้านขายยาที่มีสต็อกหน้ากากอนามัยพร้อมแจกจ่าย โดยรัฐบาลยอมเปิดเผยข้อมูลสต็อกเหล่านี้ให้ทุกฝ่ายเข้าถึงได้ ขณะที่แฮกเกอร์พลเมืองนำข้อมูลดังกล่าวไปใส่ในแอปฯ ให้ผู้ใช้งานรับทราบได้แบบเรียลไทม์   แผนที่บอกพิกัดหน้ากากอนามัยนี้ นอกจากจะช่วยให้ชาวไต้หวันไม่ต้องแตกตื่น แห่กันไปตามร้านขายยาเพื่อแย่งชิงหน้ากากกันแล้ว ยังโชว์ความโปร่งใสและเป็นธรรมของรัฐในการกระจายอุปกรณ์ป้องกันโรค เนื่องจากทุกคนมีสิทธิได้รับหน้ากากอนามัยภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า   บีบีซี รายงานว่า แอป “แผนที่พิกัดหน้ากาก” มีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านคน   นอกจากนี้การรับมือข่าวปลอม หรือข้อมูลเท็จด้วยอารมณ์ขัน ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ โดยรัฐบาลไต้หวันใช้เทคโนโลยีที่มีระบบคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การจับประเด็น และชี้แจงตอบโต้เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว   ชี้แจงข้อมูลด้วยอารมณ์ขัน   ส่วนการตอบโต้ด้วยอารมณ์ขัน มีข้อดีตรงที่เพิ่มโอกาสให้กลายเป็นไวรัล ซึ่งจะทำให้ข้อมูลเผยแพร่ไปได้ง่ายและรวดเร็วกว่าการชี้แจงด้วยลีลาท่าทีจริงจังขึงขังจนเกินไป   หนึ่งในตัวอย่าง คือ การตอบโต้ข่าวลือที่ว่า หน้ากากอนามัยทำมาจากกระดาษชำระ ด้วยการใช้มีมการ์ตูนรูปนายกฯ ไต้หวัน ยืนหันก้นส่ายไปมาลงคู่กับตารางเปรียบเทียบวัสดุที่มาของใช้ทั้ง 2 ประเภท ซึ่งการชี้แจงด้วยมีมครั้งนี้ กลายเป็นไวรัล กลบข่าวลือเรื่องหน้ากากอนามัยกระดาษชำระได้อย่างทันท่วงที   ถังสรุปบทเรียนความสำเร็จในการจัดการวิกฤติครั้งนี้ไว้ 3 คำสั้น ๆ คือ ต้องรวดเร็ว, เป็นธรรม และสนุกสนาน   ผลของการใช้มาตรการที่กล่าวมาทำให้ไต้หวัน ซึ่งมีประชากรกว่า 23 ล้านคน สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างยอดเยี่ยม แม้จะอยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางการระบาดในเมืองอู่ฮั่นก็ตาม   นับถึงวันที่ 1 มกราคม 2021 ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมรวมกัน 799 คน และเสียชีวิตเพียง 7 ราย ทั้งหมดนี้ทำได้โดยไม่ต้องพึ่งมาตรการล็อกดาวน์ และแน่นอน อังเดรย์ ถัง คือผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังความสำเร็จ   อังเดรย์ ถัง ถือเป็นไอดอลของชาวไต้หวันรุ่นใหม่ เพราะเป็นคนที่มีประวัติไม่ธรรมดา   เด็กอัจฉริยะหัวใจพิการ   เธอเกิดวันที่ 18 เมษายน 1981 และเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ทำให้ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ตนเองให้นิ่ง เพื่อรักษาระดับการเต้นของหัวใจให้คงที่ และเป็นที่มาให้เธอศึกษาปรัชญาลัทธิเต๋าอย่างลึกซึ้ง เพื่อฝึกสมาธิ และกำหนดลมหายใจ จนกลายเป็นคนสุขุมเยือกเย็น   พ่อและแม่ของถังเคยทำงานด้านสื่อมวลชน โดยบิดาจัดเป็นหนอนหนังสือ และมีแนวคิดยึดหลักความเสมอภาคของมนุษย์ทุกคน เขามักปฏิบัติกับลูกเหมือนเป็นผู้ใหญ่วัยเดียวกัน   ถังเริ่มพูดคุยเชิงปรัชญากับบิดาตั้งแต่ยังอยู่ชั้นประถม และพ่อยังอนุญาตให้เธออ่านหนังสือปรัชญา และคณิตศาสตร์ที่เก็บสะสมไว้ ซึ่งสิ่งแวดล้อมเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ถังพัฒนาสติปัญญาได้เร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกัน   สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ถังมีไอคิวถึง 180 แต่เธอมักปฏิเสธเรื่องนี้ และพูดติดตลกว่า ผู้สื่อข่าวอาจสับสนระหว่างไอคิวกับความสูง เพราะเธอมีส่วนสูง 180 ซม.เช่นกัน   เรียนนอกระบบจากอินเทอร์เน็ต   ด้วยความอัจฉริยะเกินตัว ทำให้ถังไม่มีความสุขกับการเข้าเรียนตามหลักสูตรภาคบังคับของรัฐบาล และต้องย้ายโรงเรียนอยู่บ่อยครั้ง (อนุบาลย้าย 2 ครั้ง, ประถม 5 ครั้ง)   นอกจากนี้ เธอยังมักถูกเพื่อนร่วมชั้นกลั่นแกล้ง เคยถูกทำร้ายจนหมดสติ เนื้อตัวฟกช้ำ จนไม่อยากไปโรงเรียน และสุดท้ายจึงตัดสินใจลาออกมาหาความรู้ทางอินเทอร์เน็ตด้วยตนเองตั้งแต่ยังไม่จบชั้นมัธยมต้น   ด้วยความที่พูดได้หลายภาษา รวมถึงฝรั่งเศส และเยอรมัน เพราะเคยไปเรียนที่ยุโรปกับมารดามา 1 ปี ทำให้การเรียนรู้ด้วยตนเองของเธอไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากสามารถค้นคว้าข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตได้กว้างขวางกว่าคนทั่วไป   ถังสนใจคณิตศาสตร์ชั้นสูง และอ่านวรรณกรรมคลาสสิก เนื่องจากเป็นผลงานในยุคที่ยังไม่มีลิขสิทธิ์ ทำให้เข้าถึงได้ฟรี จนต่อมาส่งผลให้เธอกลายเป็นโปรแกรมเมอร์ที่สนับสนุนซอฟแวร์ฟรี หรือโอเพนซอร์ส, โอเพนดาต้าสำหรับทุกคน   แปลงเพศเพื่อเรียนรู้ชีวิต   ถังก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัพของตนเอง เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ตั้งแต่อายุ 15 ปี จากนั้นพอมีอายุ 25 ปี เธอตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง พร้อมเปิดใจว่า การแปลงเพศให้ประสบการณ์อันมีค่าแก่เธอในเรื่องความบอบบางของชีวิต   ปี 2014 ถังได้รับว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาของบริษัทแอปเปิล ในซิลิคอนแวลลีย์ และได้ร่วมพัฒนาเอไอชั้นสูงกับแอปเปิลหลายโครงการ รวมถึงระบบผู้ช่วยส่วนตัวเสมือนจริงอย่าง Siri   ต่อมาในวัย 33 ปี เธอตัดสินใจหันหลังให้โลกธุรกิจ และไปโฟกัสที่งานเพื่อสังคม โดยปีเดียวกัน เธอเข้าร่วมการประท้วง “ดอกทานตะวัน” ต่อต้านรัฐบาลพรรคชาตินิยมก๊กมินตั๋ง ที่พยายามทำข้อตกลงการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา   กลุ่มผู้ประท้วงบุกยึดอาคารรัฐสภานานเกือบ 1 เดือน และถังเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยการวางระบบเทคนิคเพื่อถ่ายทอดสดภาพบรรยากาศการประท้วงด้านในออกมาสู่สายตาชาวโลก จนสุดท้ายพรรคก๊กมินตั๋ง ต้องลงจากอำนาจ และแพ้การเลือกตั้งปี 2016 ให้กับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของ ไช่อิงเหวิน   นำการเมืองใหม่สู่ไต้หวัน   ออเดรย์ ถัง รับงานรัฐมนตรีดิจิทัลในรัฐบาลไช่อิงเหวิน ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์การเมืองมาก่อน แต่เธอเชื่อเสมอว่า การเมืองยุคใหม่ต้องเป็นประชาธิปไตยที่โปร่งใส และเปิดให้พลเมืองมีส่วนร่วมให้มากที่สุด   เธอเข้าไปเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในรัฐบาลไต้หวัน โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชน และความสำเร็จในการรับมือโควิด-19 ที่ผ่านมา คือ เครื่องยืนยันว่า เธอกำลังมาถูกทาง   ถังทวีตข้อความส่งถึง โจ ไบเดน และคามาลา แฮร์ริส หลังทั้งคู่ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ว่า “รัฐบาลทั่วโลกสามารถเริ่มต้นได้ด้วยหลักการง่าย ๆ ข้อเดียว: จงเชื่อใจประชาชนให้มากขึ้น”   เพราะความเชื่อใจจะนำไปสู่การรับฟัง และร่วมมือกันพาชาติฝ่าวิกฤติต่าง ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในไต้หวันที่ผ่านมา   เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล   ข้อมูลอ้างอิง:   https://www.wired.com/.../how-taiwans-unlikely-digital.../ https://opinion.inquirer.net/.../learning-from-the-taiwan... https://variety.com/.../audrey-tang-taiwan-digital.../ https://www.nippon.com/.../digital-minister-audrey-tang... https://apnews.com/.../cabinets-open-government...   #ThePeople #Politics #ออเดรย์ถัง #ไต้หวัน #ChosenbyThePeople2020