"อายูคาวะ มาโดกะ" ทำไมนักอ่านการ์ตูนถึงหลงรักนางเอก "ถนนสายนี้เปรี้ยว"

"อายูคาวะ มาโดกะ" ทำไมนักอ่านการ์ตูนถึงหลงรักนางเอก "ถนนสายนี้เปรี้ยว"

ทำไมนักอ่านการ์ตูนถึงหลงรักนางเอก "ถนนสายนี้เปรี้ยว" การ์ตูนโดย "อายูคาวะ มาโดกะ"

นักอ่านสุภาพสตรีอาจจะไม่ค่อยรู้จักเรื่องนี้ แต่มั่นใจว่านักอ่านสุภาพบุรุษต้องรู้จักเรื่องนี้แน่นอน เพราะเป็นการ์ตูนรัก “อมตะ” แห่งยุค 80s โดย Kimagure Orange Road (きまぐれオレンジ☆ロード) นี้ตีพิมพ์รายสัปดาห์ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ Weekly Jump (週刊少年ジャンプ) ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี ค. ศ. 1984-1987 และมีการพิมพ์รวมเล่มเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด 18 เล่มด้วยกัน เรื่องนี้มีแอนิเมะที่ภาพสวยมาก และเพลงเพราะมาก ได้กลิ่นอายยุค 80s มาก ๆ  Kimagure Orange Road เป็นเรื่องราวของพระเอก คาสึงะ เคียวสุเกะ (Kasuga Kyōsuke) พระเอกที่ไม่ได้หล่ออะไรเป็นพิเศษ ไม่เก่ง ไม่เด่นอะไรเลย แถมออกแนวซื่อบื้อ แต่มีข้อดีคือ “มีพลังจิต” แต่ช้าก่อน! เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้พลังจิตปราบปีศาจ หรือใช้พลังจิตต่อสู้กับใครแต่อย่างใด กลับกลายเป็นเรื่องรักวุ่น ๆ ของวัยรุ่นอายุช่วง Teenagers แบบรักสามเส้าระหว่างพระเอก และนางเอกทั้ง 2 คนคือ อายูคาวะ มาโดกะ (Ayukawa Madoka) กับ ฮิยามะ ฮิคารุ (Hiyama Hikaru) โดยในตอนเริ่มเรื่องเลย เคียวสุเกะและมาโดกะอายุ 15 ปี ส่วนฮิคารุอายุ 13 ปี เรื่องนี้มีเสน่ห์ที่อธิบายไม่ถูก คือมีฉาก service ล่อแหลมน้อยมากเมื่อเทียบกับการ์ตูนรักหลาย ๆ เรื่องในปัจจุบัน, ไม่มีฉากบู๊แอ็คชัน, ไม่มีพล็อตสืบสวน, ไม่มีจอมมาร, ไม่มีสงคราม, ไม่มีตัวละครผู้ร้าย, ไม่มี conflict อะไรที่ซับซ้อนเลย แต่ความซับซ้อนกลับไปวางไว้ที่สัมพันธภาพระหว่างตัวละครแทน Weekly Jump เป็นนิตยสารการ์ตูนสำหรับ “วัยรุ่นผู้ชาย” หรือที่เรียกว่า Shōnen Manga (少年漫画) คือการ์ตูนสำหรับเด็กวัยรุ่นผู้ชายอายุประมาณ 12-20 ปี โดยกฎเหล็กของนิตยสาร Weekly Jump ในการเลือกเรื่องมาตีพิมพ์เลยก็คือต้องมีหัวใจสำคัญ 3 ประการดังนี้ 1) Yūjō (友情): ต้องแสดงให้เห็น "มิตรภาพของตัวละคร" 2) Doryoku (努力): ต้องแสดงให้เห็น "ความวิริยะอุตสาหะของตัวละคร" 3) Shōri (勝利): ต้องแสดงให้เห็น "ชัยชนะ" ที่ได้มาจากความวิริยะอุตสาหะ ดังนั้นเรื่อง Kimagure Orange Road ก็ไม่ได้หลุดไปจากกฎ 3 ข้อนี้ คือตลอดเรื่องจะเน้นมากถึงสัมพันธภาพของตัวละคร ทั้งพระเอกและนางเอกทั้ง 2 คน พระเอกรักมาโดกะ แต่ก็กลัวทำร้ายจิตใจฮิคารุที่มารักตัวเอง เลยอีรุงตุงนังกันไปหมด รวมทั้งสัมพันธภาพของตัวละครคู่รอง ๆ ลงไปและตัวละครเพื่อน ๆ ของพระเอกและนางเอก, ตัวละครหลักทั้ง 3 คนยังต้องใช้ความพยายามในการเข้าใจจิตใจตัวเองเพื่อเติบโตจากวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่, และได้ชัยชนะจากความพยายามคือการเข้าใจตัวเองและเติบโตขึ้นอย่างมีวุฒิภาวะนั่นเอง ฉากหลังของเรื่องนี้คือยุค 80s-90s ซึ่งทั้งที่ญี่ปุ่นและไทยยังไม่ได้เป็นสังคมเปิดกว้างอย่างปัจจุบันนี้ เวลารักใครชอบใครสักคน โดยเฉพาะ “รักเพื่อน” จะเป็นสิ่งที่อึดอัดใจมาก อยากบอกรัก แต่ก็ทำไม่ได้ กลัวเสียเพื่อน กลัวว่าบอกไปแล้วสัมพันธภาพจะเปลี่ยนไป กลัวบอกไปแล้วเขาจะไม่คุยกับเราอีก เขาจะห่างเหินจากเราไป กลัว ฯลฯ ไปหมดทุกอย่าง แต่ก็อยากบอกให้เธอรู้ว่ารักนะ แต่ก็ไม่กล้าบอก อ๊ากกกก ทำไงดีวะ! (ลองนึกถึงภาพยนตร์ไทยเรื่อง “เพื่อนสนิท” ของ GTH ดู) Internet ก็ยังไม่มี โทรศัพท์มือถือก็ยังไม่มี แค่จะติดต่อกันยังลำบาก อย่าว่าแต่จะจีบกันเลย สภาพแบบที่ว่ามันทำให้หลายๆ คู่ที่ลึกๆ ก็รักกันอยู่ กลับต้องลงเอยกลายเป็นแค่เพื่อนกันไป เพราะไม่กล้าแสดงความรู้สึกออกมา และต้องไปแต่งงานกับคนอื่นที่ไม่ได้รักไปเสียได้ ซึ่งการ์ตูนเรื่องนี้บรรยายสภาพในยุคนั้นได้ชัดเจนมาก ทั้งภาพ ฉาก และเพลงประกอบ คือละมุนละไมสุดๆ ใครที่ชอบอ่านความซับซ้อนทางจิตใจของมนุษย์ก็น่าจะชอบเรื่องนี้กัน   ทำไมผู้อ่านถึงรัก อายูคาวะ มาโดกะ กันอย่างมาก? 1.มาโดกะเปิดตัวฉากแรกเป็นสาวหวาน สวย แสนดี น่ารัก ให้หมวกสีแดงเป็นของขวัญกับพระเอก เปิดตัวมาแบบโลกสีชมพูมาก เหมือนว่าพระเอกเราสมหวังในรักแน่นอน แต่พอพระเอกไปเจอมาโดกะที่โรงเรียน นางกลายเป็นเด็กเลว สูบบุหรี่ หนีเรียน ใช้ความรุนแรง ฯลฯ จนแบบ เฮ้ย นี่คือคนคนเดียวกันจริงเหรอวะ? ทำให้ตัวละครมาโดกะดูสวยลึกลับ น่าค้นหามาก 2.ปี 80s-90s นั้น ทั้งในญี่ปุ่นและไทย ยังไม่ได้มีแนวคิดเรื่องสิทธิสตรีที่เข้มข้นเท่าปัจจุบัน ผู้หญิงญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในยุคนั้นก็ยังทำตัวเป็นช้างเท้าหลัง เรียนจบแล้วแต่งงาน เลี้ยงลูก ปรนนิบัติสามี (พระเอกยังด่านางเอกที่สูบบุหรี่ว่า สูบแล้วไม่ดีเวลาคลอดลูกนะ นี่คือค่านิยมญี่ปุ่นในยุคนั้นเลยว่าผู้หญิงต้องแต่งงานอยู่บ้านเลี้ยงลูก) แต่มาโดกะนางแหกทุกขนบของญี่ปุ่น นางโดดเรียน สูบบุหรี่ในโรงเรียน บู๊เก่ง ต่อสู้กับกุ๊ยได้ เก่งกีฬาทุกประเภทระดับอัจฉริยะ เล่นดนตรีได้หลายประเภท (ในแอนิเมะก็เป่าแซกโซโฟนซึ่งโคตรจะไม่ผู้หญิง) นางยังรู้จักจิตใจตัวเองค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเด็กผู้หญิงวัย 15 ด้วยกัน มีวุฒิภาวะสูงมาก เป็นที่พึ่งของเพื่อน ๆ และรุ่นน้องอย่างฮิคารุได้ด้วย ไม่ง้อเพศชายอีกต่างหาก ไม่ได้กังวลเรื่องหาแฟนด้วย นับว่าเป็นผู้หญิงล้ำสมัยโคตร ๆ สำหรับญี่ปุ่นในยุคนั้นเลย 3.มาโดกะได้รับการออกแบบให้สวยมาก สวยแบบจับใจ ไม่ได้สวยผาดแบบสวยเด่นเด้ง แต่สวยพิศ คือเสพเนื้อเรื่องไปพร้อม ๆ กับเสน่ห์ของมาโดกะ แล้วจะค่อย ๆ หลงรักนางแบบถอนตัวไม่ขึ้นเลย โดยเฉพาะญี่ปุ่นยุคที่เริ่มฮิตการย้อมผมทอง แม้แต่ดีไซน์นางเอกการ์ตูนหลายตัวก็ต้องออกมาเป็นผมทอง แต่มาโดกะนางมาแนวผมยาวดำขลับเป็นประกายราวกับหลุดออกมาจากโฆษณาแชมพู ทำให้นางมีเสน่ห์แบบเอเชียสุด ๆ 4.มาโดกะไม่เคยคิดแย่งพระเอกมาจากฮิคารุ แม้ว่าลึก ๆ จะมีหลายตอนที่พระเอกก็แสดงออกทางอ้อมให้รู้ว่ารักมาโดกะ แต่จนแล้วจนรอดมาโดกะก็ไม่เคยคิดจะแย่งพระเอกมาจากฮิคารุเลย ซึ่งเนื้อเรื่องแนวนี้สำหรับคนยุคปัจจุบันอาจจะรำคาญมาโดกะ แต่มันก็คือความงดงามของสัมพันธภาพในเรื่องนั่นเอง 5.ความละมุนละไมของเนื้อเรื่องเอง ทำให้ผู้อ่านหลงมาโดกะ เพราะตลอดทั้งเรื่องบทปูทางให้มาโดกะเปล่งประกายแห่งความเป็นนางเอก ทั้งการเคลื่อนไหว, เพลงที่นางบรรเลง, ความเท่, ความคิด, ความเป็นผู้นำ นางเกิดมาเพื่อเป็นนางเอกจริง ๆ 6.นางเอกอีกคนคือฮิคารุ ก็ช่วยเติมเสน่ห์ให้ตัวละครมาโดกะ เพราะฮิคารุเปิดหน้าโต้ง ๆ บอกรักพระเอกทุกเมื่อเชื่อวัน ตามตื๊อ ตามจีบแบบขายโปรสุดขีด จนบางครั้งก็น่ารำคาญ ขณะที่มาโดกะจะไม่เคยขายโปรแบบนั้น แต่จะแอบแสดงออกทางอ้อมลึก ๆ แทน ดูเท่ ดูคูล ฉลาด สมาร์ทมาก ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วสามารถมองได้ว่า ฮิคารุคือด้านสว่างของผู้หญิงคือเปิดเผยหมดทุกสิ่ง ขณะที่มาโดกะคือด้านมืดของผู้หญิงคือลึกลับปิดบังน่าค้นหา เป็นหยินหยางของสตรีเพศนั่นเอง เลยยิ่งทำให้มาโดกะดูลึกลับน่าค้นใจเธอเป็นอย่างมาก แม้ว่าเนื้อเรื่องหลักจะจบไปตั้งแต่ปี ค. ศ. 1987 แต่เรื่องนี้ก็ยังคงครองใจแฟน ๆ โดยเฉพาะตัวละครมาโดกะนี้จะยังคงครองใจนักอ่านไปอีกตราบนานเท่านาน “ผมดำยาวสลวย มีวุฒิภาวะ เก่งกล้า ไม่ง้อผู้ชาย และลึกลับ” คือเสน่ห์ของเธอคนนี้