สมิงสยาม ขุนนางชาวอยุธยาผู้กินเมืองในอาณาจักรยะไข่โบราณ

สมิงสยาม ขุนนางชาวอยุธยาผู้กินเมืองในอาณาจักรยะไข่โบราณ
ในประวัติศาสตร์สงครามระหว่างอยุธยากับพม่าในคริสตวรรษที่ 16 และ 18 มีชาวอยุธยาจำนวนมากถูกกวาดต้อนไปยังอาณาจักรพม่า มีไม่กี่คนเท่านั้นที่เราทราบชะตากรรม และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่เราไม่ทราบเรื่องราวหลังจากหายไปจากอยุธยา!    บางทีเราอาจไม่เคยคิดเลยก็ได้ว่าชาวอยุธยาจำนวนหนึ่งในจำนวนไม่น้อยนั้นเดินทางไปไกลถึงอาณาจักรยะไข่โบราณในอ่าวเบงกอล ตามที่มีการบันทึกเล่าไว้ในงานเขียนพื้นเมือง งานเขียนเรื่อง ธัญวดีอเยด่อโป่ง (Dhannyawaddy Ayaydawbon) หรือวรรณคดียอพระเกียรติราชายะไข่ เรียบเรียงแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1788 โดยพระสงฆ์ชาวยะไข่ฉายา “กวีสารภีสิริบวรอัคคมหาธรรมราชาธิราชคุรุ” รายงานว่า พระเจ้าบุเรงนองทรงยกทัพไปตีอาณาจักรอยุธยา หลังจากตีเมืองอยุธยาได้แล้วก็เทครัวชาวอยุธยาจำนวนหนึ่งกลับไปยังเมืองพะโค (หงสาวดี) ครั้งนั้นขุนนางชาวอยุธยาชื่อ “พระสมิง” นามเดิมบุญสมิง และน้องชายชื่อ “พระคุณชาย” ซึ่งเป็นขุนนางในพระเทียรราชาหรือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ค.ศ.1548-1569) เป็นหนึ่งในชาวอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนมายังเมืองพะโคด้วย  ต่อมาทั้งสองพี่น้องได้ชักชวนเชลยชาวอยุธยาจำนวนหนึ่งหลบหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์ยะไข่ ณ เมืองมเย่าก์อู (Myauk U) กษัตริย์ยะไข่คือ มินพะลอง (Min Hpa-laung) (ค.ศ.1572-1593) พระราชทานที่อยู่อาศัยให้ และมีรับสั่งให้เข้าไปรับใช้ในสังกัดของอำมาตย์มหาปิ่นหญ่าจ่อ (Maha Pyin-nya Kyaw) หลังจากที่เข้าไปสังกัดอำมาตย์ดังกล่าวเป็นเวลาประมาณ 5 เดือน กษัตริย์มีรับสั่งให้อำมาตย์เข้าเฝ้าถวายรายงาน มหาอำมาตย์ปิ่นหญ่าจ่อถวายรายงานเกี่ยวกับขุนนางชาวอยุธยาว่าเป็นผู้ไว้ใจได้ พระสมิงเป็นผู้ไม่คิดโลภมากและไม่คิดการตั้งตนเป็นใหญ่ ฝ่ายกษัตริย์ยะไข่ทรงพอพระทัยในขุนนางอยุธยาผู้นี้ จึงพระราชทานนางข้าหลวงของเจ้าหญิงแห่งเมืองธากา (ปัจจุบันคือเมืองธากาในบังคลาเทศ) ผู้มีนามว่า “มินโหญ่” ให้แก่พระสมิงและโปรดฯ ให้ไปกินหัวเมืองกั่นต่า พระเจ้าบุเรงนองทรงทราบว่าพระสมิงหนีเข้ามาอยู่ในยะไข่ จึงส่งคนให้นำราชสาส์นลับมาให้พระสมิง เพื่อหมายใช้ให้ขุนนางอยุธยาผู้นี้เป็นไส้ศึกในการชักศึกเข้าตียะไข่ แต่พระราชสาส์นของพระเจ้าบุเรงนองกลับถูกนำมาถวายกษัตริย์ยะไข่ ความในพระราชสาสน์มีว่า ทราบมาว่าพระสมิงเป็นขุนนางที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งตอนนี้ตีอยุธยาไว้ในอำนาจได้แล้ว เท่ากับว่าพระเจ้าบุเรงนองทรงเป็นกษัตริย์ปกครองทั้งเมืองพะโคและอยุธยา ดังนั้นหากพระสมิงสามารถคิดวางแผนเอายะไข่มาถวายได้สำเร็จแล้วไซร้ พระองค์จะให้กินเมืองพระพิษณุโลกเป็นรางวัล เมื่อมหาอำมาตย์ปิ่นหญ่าจ่อกราบทูลความดังกล่าว กษัตริย์ยะไข่กลับไม่ได้เรียกพระสมิงเข้ามาสอบปากคำเรื่องการลักลอบหนีเข้ามายังอาณาจักรยะไข่ในฐานะไส้ศึกหรือไม่ กษัตริย์ยะไข่และอำมาตย์ต่างทราบในน้ำใจของพระสมิงตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่เข้ามาอยู่ในอาณาจักรยะไข่ ข้อนี้เห็นได้ชัดว่าแม้แต่เจ้าเมืองกัมปิรุปิ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางเหนือของเมืองกั่นตา ใช้เวลาเดินเท้าประมาณเดือนหนึ่ง ก็เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับพระสมิง เพราะเชื่อมั่นในน้ำใจอันประเสริฐของพระสมิง เจ้าเมืองกัมปิรุปิยกธิดานามว่า “มารดุล” แด่พระสมิง และกษัตริย์ยะไข่ก็ทรงอวยยศให้พระสมิงขึ้นเป็น “สมิงสยาม” ในหนังสือ ประวัติกวียะไข่ ของ ทูน ชเหว่ ไข่ง์ (Htun Shwe Khaing) (ค.ศ.1991) กล่าวถึงเรื่องราวของพระสมิง ขุนนางชาวอยุธยาไว้โดยให้เครดิตว่า เป็นผู้ประพันธ์บทเพลงออกสำเนียงอยุธยาถวายแด่กษัตริย์ยะไข่ เพื่อใช้ขับในพระราชวัง บทเพลงของเขาเล่าเรื่องราวชะตากรรมของตัวเอง พร้อมกับบรรยายภาพความงดงามของพระราชวังหลวงเมืองมเย่าก์อู และยอพระเกียรติราชาแห่งยะไข่ พรรณนาเรื่องพระสมิงและคณะเดินทางข้ามป่าเขามายังอาณาจักรยะไข่ เหตุเพราะการสงครามระหว่างพะโคกับอยุธยา ราชธานีของยะไข่เป็นที่ประทับของกษัตริย์ที่สืบสายมาจากศากยวงศ์ งดงามประดุจปราสาทเวชยันต์ในสรวงสวรรค์ ระยิบระยับไปด้วยประกายเพชร พลอย มรกต ทับทิม ทำให้ผู้คนที่ได้ชมต่างลุ่มหลงในความงาม บ้านเมืองเนืองแน่นไปด้วยฝูงชนที่มีชีวิตอยู่อย่างสำราญใจเฉกเช่นการอยู่บนสรวงสรรค์ ผู้คนต่างแต่งกายด้วยอาภรณ์ที่งดงามราวกับเทพบุตรเทพธิดา พ่อแก่แม่เฒ่าเข้าวัดฟังธรรมภาวนารักษาศีลด้วยความศรัทธา และด้วยบุญญาบารมีของกษัตริย์ที่แผ่ปกบ้านเมืองทำให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข         บทเพลงของเขาได้รับการแปลโดยพระภิกษุอุตตมะแห่งเมืองกั่นต่าในแคว้นจิตตะกอง และได้รับการคัดลอกไว้ในใบลาน นอกจากนี้ ในงานเขียนพื้นเมืองยะไข่ฉบับเดียวกันนี้ ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ของอยุธยาและชาวอยุธยาในอาณาจักรยะไข่ มีข้อมูลว่า กษัตริย์แห่งตองอูส่งพระราชสาส์นมายังกษัตริย์ยะไข่คือ พระเจ้ามินหย่าส่าจี (Min Yaza Gyi/Min Razagri) (ค.ศ.1593-1612) เพื่อขอกองทัพยะไข่ไปช่วยตีเมืองพะโค ในการนี้ โปรด ฯ ให้เจ้าเมืองจีตองและเจ้าเมืองกะต่าเชิญพระราชสาส์นมาถวายแด่กษัตริย์ยะไข่ ในเนื้อความพระราชสาส์นกล่าวว่า “หากว่าฝ่ายยะไข่ช่วยตองอูตีเอาเมืองพะโคได้สำเร็จ จะยกพระธิดาพร้อมด้วยช้างเผือกเป็นบรรณาการถวาย” เมื่อได้อ่านพระราชสาส์นแล้ว กษัตริย์ยะไข่โปรด ฯ ให้จัดเตรียมทัพเพื่อไปช่วยตองอูทำศึก โดยเกณฑ์กองทัพจากแคว้นเบงกอล 12 หัวเมือง กองทัพชาวแต๊ะซึ่งนำโดย กอง ฮละ ผิ่ว (Kaung Hla Hpyu) กองทัพจากเมืองลินแกและเมืองมโหย่งจัดแบ่งกองกำลังเป็นทัพบกและทัพเรือ ยกมาด้วยความห้าวหาญ เมื่อกองทัพของกษัตริย์มินหย่าส่าจีตีเมืองสิเรียมได้แล้ว ก็ยกเข้าตั้งค่ายอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองพะโคเพื่อหมายล้อมเมืองไว้ ในขณะที่ทัพยะไข่ล้อมเมืองและเข้าตีเมืองพะโคนั้น กษัตริย์พะโคคือ พระเจ้านันทบุเรง เสด็จหนีออกจากเมืองพะโคไปยังเมืองตองอู ในเวลานี้กษัตริย์อยุธยาคือ พระนริศ (พระนเรศวร) ทรงกรีธาทัพเข้ามาและมุ่งเคลื่อนทัพไปยังเมืองตองอู ในระยะที่กองทัพอยุธยาล้อมเมืองตองอูอยู่นั้น ประสบกับปัญหาขาดแคลนเสบียงอาหาร จึงยกทัพกลับอยุธยา ในขณะที่กองทัพอยุธยาถอนทัพกลับนี้เอง กองทัพชาวแต๊ะที่มากับกองทัพยะไข่ได้ทีเข้าตีไล่ขนาบหลังกองทัพอยุธยา จนทัพเรือของอยุธยาแตกพ่าย  มีงานรายงานว่ากองทัพชาวแต๊ะยึดได้ปืนใหญ่ของฝ่ายอยุธยาชื่อ “พระยุทธสาร” และกองทัพยะไข่ยึดได้รูปปั้นสัมฤทธิ์ของอยุธยาที่มีอยู่ในเมืองพะโค นอกจากนี้ยังมีรูปพระรามและหนุมาน ซึ่งกองทัพยะไข่เข้าใจว่าเป็นเทวรูปที่ชาวอยุธยาเคารพนับถือ นำกลับไปยังเมืองยะไข่ ฝ่ายกษัตริย์ตองอูถวายพระธิดาในพระเจ้าช้างเผือกบุเรงนอง พระนามว่า “ฉิ่น  ดเว  ฮนอง” และเหล่านางข้าหลวงของเจ้าหญิงพระองค์ดังกล่าว จำนวน 300 นาง พร้อมด้วยบรรณาการอันประกอบด้วย  ช้าง ทอง เงิน ผ้าแพรพรรณต่าง ๆ ปืนใหญ่ และกระสุนดินปืน  กองทัพยะไข่กวาดต้อนชาวมอญและชาวอยุธยาในเมืองพะโค ได้จำนวนชาวมอญ 30,000 คน และชาวอยุธยาจำนวน 3,000 คน นำกลับไปเมืองยะไข่ กษัตริย์ยะโข่โปรดฯ ให้งะอิ่งก่าหรือ ฟิลิป  เดอ บริโต (Filipe de Brito) ชาวโปรตุเกส เป็นผู้กินเมืองท่าสิเรียม หลังจากที่กองทัพกลับถึงเมือง  ยะไข่แล้ว กำหนดให้จัดแบ่งกลุ่มชาวมอญและชาวอยุธยาเพื่อให้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทกษัตริย์ยะไข่  สำหรับชาวอยุธยาให้แยกกลุ่มพวกนาฏศิลป์ออกเป็น 1 กลุ่ม ส่วนจำนวนคนที่เหลือก็แบ่งเป็นกองกำลังชาวอยุธยาอีกจำนวน 8 กอง โดยพระราชทานที่ดินให้อาศัยอยู่ในเขต บแว ดา จูน  และ ต่อง ยิน จูน ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกิจฉปะและเขตเป่ จูน,  อู ยิจ ต่อง จูน, มะโย จูน, ยะมอง จูน ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกิจฉปะ ส่วนครัวมอญจัดเข้าอยู่ในกลุ่มควาญช้าง โดยพระราชทานที่ดินให้อยู่อาศัยในย่านงาสิ่นยายจูน นอกจากนี้ยังพระราชทานคณะละครชาวอยุธยาจำนวน 40 คน ให้เข้าไปสังกัดกลุ่มทหารวัยฉกรรจ์ด้วย บ่อยครั้งที่เอกสารเพื่อนบ้านมักเป็นจิ๊กซอว์ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์สามารถทราบข้อมูลอีกชุดหนึ่ง เพื่อนำมาต่อเติม เทียบเคียง หรือหาเรื่องใหม่ อันเนื่องจากข้อจำกัดของการรับรู้เรื่องราวของคนอยุธยาที่หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์คือการขาดแคลนหลักฐานชั้นต้น หากเราไม่สามารถเข้าถึงงานเขียนพื้นเมือง เราก็จะไม่ทราบเรื่องเล่าเกี่ยวกับชาวอยุธยาที่อพยพและถูกกวาดต้อนเทครัวไปยังอาณาจักรยะไข่ในอ่าวเบงกอล ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 และบางคนได้ฝากผลงานทิ้งไว้ เหมือนอย่างที่ “สมิงสยาม” ฝากบทเพลงสำเนียงอยุธยาไว้ในบรรณพิภพยะไข่ จนได้รับการจดจำและจดจารไว้ในงานเขียนพื้นเมืองยะไข่   เรื่อง: วทัญญู  ฟักทอง ภาพ: ภาพจิตรกรรมฝาผนังชน 101 ภาษา สมัยปลายคริสตศตวรรษที่ 18 ที่วัด Shwe Gu Kyaung, Pakokku Township, Pakokku District, Magway Division ประเทศพม่า ภาพแถวบนเรียงจากซ้ายสุดคือชาวพม่า ชาวมอญ ชาวกะแต (มณีปุระ) และชาวอยุธยา