เบบี้ ชาร์ค : เมื่อเพลงยอดฮิตเพื่อการศึกษา ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องทรมานนักโทษ

เบบี้ ชาร์ค : เมื่อเพลงยอดฮิตเพื่อการศึกษา ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องทรมานนักโทษ

เบบี้ ชาร์ค : เมื่อเพลงยอดฮิตเพื่อการศึกษา ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องทรมานนักโทษ

"Baby shark, doo, doo, doo, doo, doo, doo, Mommy shark, doo, doo, doo, doo, doo, doo, Daddy shark, doo, doo, doo, doo, doo, doo, Grandma shark, doo, doo, doo, doo, doo, doo, Grandpa shark, doo, doo, doo, doo, doo, doo, Let's go hunt, doo, doo, doo, doo, doo, doo…" 5 ตุลาคมที่ผ่านมา บันทึกของศาลแขวงโอคลาโฮมาเคาน์ตี้ ระบุว่า คริสโตเฟอร์ เฮนเดอร์ชอตต์ (Christopher Hendershott) หัวหน้าเจ้าหน้าที่คุมขัง พร้อมด้วยคริสเตียน ไมล์ส (Christian Miles) และเกรกอรี บัตเลอร์ (Gregory Butler) อดีตเจ้าหน้าที่คุมขังเรือนจำโอคลาโฮมาเคาน์ตี้ ถูกตั้งข้อหาทารุณกรรมนักโทษ ลงโทษทางร่างกายต่อผู้ต้องขัง และสมรู้ร่วมคิด เหตุเพราะนำเพลงฮิตติดหูเด็ก ๆ อย่าง “เบบี้ ชาร์ค” (Baby Shark) มาเปิดกรอกหูผู้ต้องขังและบังคับให้ยืนฟังตลอด 2 ชั่วโมง บันทึกของศาลระบุว่า ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมปี 2019 พวกเขาสามคนต่างร่วมกันก่อเหตุอย่างน้อย 5 ครั้ง กับผู้ต้องขัง 5 คน โดยใช้วิธีใส่กุญแจมือ และบังคับให้ผู้ต้องขังยืนไพล่หลังพิงกำแพง และฟังเพลงเบบี้ ชาร์คที่เปิดเสียงจนดังสนั่น นานกว่า 2 ชั่วโมง ภาพทั้งหมดมีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิด อดีตเจ้าหน้าที่คุมขัง ไมล์สและบัตเลอร์ ยอมรับว่า พวกเขาตั้งใจใช้เพลงนี้เป็นเครื่องมือในการลงโทษผู้ต้องขังจริง ทั้งสองยังเห็นว่าการใช้ดนตรีทรมาน นอกจากจะเป็นวิธีการที่ “ตลกดี” ก็ยังไม่มีบาดแผลทางร่างกายอะไรเกิดแก่นักโทษ ไมล์สและบัตเลอร์ มองว่าการลงโทษทางวินัยภายในสถานกักขังไม่มีประสิทธิผล และไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมของผู้ถูกคุมขังได้จริง การใช้วิธีนี้ในการสั่งสอนจึงอาจได้ผลมากกว่า งานนี้ฝั่งอัยการ เดวิด พราเทอร์ (David Prater) ถึงขนาดออกมาบอกว่า การกระทำของผู้ต้องหา (กลุ่มเจ้าหน้าที่คุมขัง) ทั้ง 3 เป็นการจงใจร่วมมือกระทำผิดในลักษณะที่ทั้งโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม แถมยังซ้ำเติมผู้ต้องขังที่มีความเครียดสะสมจากการถูกคุมขังอยู่แล้ว ให้ทุกข์ทรมานมากขึ้นโดยไม่มีเหตุผล รายงานจากบันทึกยังเผยว่า ผลกระทบจากการถูกบังคับให้ฟังเพลงเบบี้ ชาร์ค ทำให้ผู้ต้องขังอย่างน้อย 2 คนต้องเผชิญกับอาการนอนไม่หลับ เหตุเพราะถูกลากออกจากห้องขังมายืนฟังเพลงตอนตี 2 ตี 3 เหตุการณ์นี้จะว่าตลกก็แอบตลกดี แต่จะว่ามีนัยทางการใช้อำนาจ ที่ผู้คุมขังตัดสินใจลงโทษนอกตัวบทกฎหมายเองก็ได้ ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น อันที่จริงเพลงเบบี้ ชาร์ค เป็นเพลงประจำแคมป์ไฟที่ถูกใช้ร้องรำทำเพลงมานานมากแล้ว ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นคนแต่งเพลงนี้ขึ้นมา แต่เนื้อหาและทำนองถูกปรับแต่งโดยเจ้าหน้าที่ของแคมป์ไฟมาเรื่อย ๆ กระทั่งในปี 2011 เพลงนี้เป็นที่รู้จัก เพราะศิลปินชื่อ จอห์นนี อนลี (Johnny Only) นำมาปรับแต่งทำนอง และเนื้อร้องเป็นเวอร์ชันของตัวเองก่อนจะอัพลงช่องยูทูบ แต่ ณ ตอนนั้นเพลงเบบี้ ชาร์คก็ยังเป็นที่รู้จักกันในแวดวงของเหล่า DJ ประจำแคมป์ไฟ หรือเด็ก ๆ ที่ได้มีโอกาสเข้าไปทำกิจกรรมในค่ายเป็นส่วนใหญ่ ส่วน เบบี้ ชาร์ค เวอร์ชันที่กลายเป็นไวรัลระดับโลกนั้น เกิดขึ้นเพราะช่องยูทูบสัญชาติเกาหลีชื่อ Pinkfong ซึ่งเป็นแชแนลการศึกษาสำหรับเด็ก ตัดสินใจหยิบเพลงนี้มาปัดฝุ่นและเรียบเรียงเป็นหนึ่งในซีรีส์เพลงเกี่ยวกับสัตว์ (มีทั้งหมด 25 เพลง) เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ร้องและเต้นตาม อาจจะเรียกว่าเป็นเวอร์ชัน remix ก็ได้ เพราะในเวอร์ชันนี้ Pinkfong ได้ปรับแต่งใส่บีทแนว EDM ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในช่วงปี 2016 ลงไป เมื่อประกอบกับทำนองและเนื้อร้องติดหู ก็ทำให้มันเป็นที่นิยมในหมู่เด็ก ๆ อายุ 5-6 ขวบได้ไม่ยาก จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงเพลงสำหรับเด็ก โด่งดังขึ้นมาเพราะมีศิลปินคนดังมากมายนำไปร้องในช่วงปี 2016-2018 อย่างที่กล่าวไปว่า เพราะตัวเพลงมีองค์ประกอบเป็นจังหวะ ทำนอง และเนื้อเพลงที่ร้องวนซ้ำ ๆ จนทำให้เกิดอาการ earworm หรือ หลอนหู (อาการที่สมองในส่วนการจดจำของเรา เก็บเอาเนื้อเพลงและทำนองที่ได้ยินซ้ำ ๆ มาคิดวนเวียนอยู่ในหัว) โดยเฉพาะท่อน “Doo Doo Doo Doo Doo Doo” ที่หลายคนสลัดอย่างไรก็ไม่หลุด มันจึงเริ่มแผ่ขยายความนิยมไปในหลายประเทศทั่วโลก หากเป็นเพลงที่หลอนหูเพราะเราชื่นชอบก็แล้วไป แต่ถ้าหากมันหลอนเพราะใครบางคนพยายามยัดเยียดให้เราจำ ด้วยการเปิดให้ฟังซ้ำ ๆ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า กรณีนี้ไม่แปลกอะไรที่สมองของเหล่านักโทษจะถูกบังคับให้จดจำทำนองเพลงดังกล่าว จนเกิดอาการนอนไม่หลับ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เป็นการใช้อำนาจกดทับและสร้างความเสียหายทางจิตใจแก่เหล่าผู้ต้องขัง ก่อนหน้านี้ เพลงเบบี้ ชาร์ค ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความทรมานแก่เหล่าคนไร้บ้านใน เวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา เพราะในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา เคยมีข่าวว่าหน่วยงานรัฐบาลเปิดเพลงนี้ในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เพื่อบังคับให้เหล่าคนไร้บ้านเกิดความรำคาญ จนต้องอพยพไปนอนที่อื่น นี่ก็เป็นผลลัพธ์ที่น่ากลัวอีกด้านของสิ่งที่ดูไม่มีพิษมีภัย ออกไปทางน่ารักด้วยซ้ำ แต่หากถูกใช้โดยกลุ่มที่มีอำนาจมากกว่า ก็สามารถเป็นเครื่องมือในการคุกคามกลุ่มที่ไม่มีอำนาจต่อรองได้