นักลงทุนจากบัลติมอร์ ผู้สร้าง ผีถ้วยแก้ว บอร์ดเกมของเล่นมีสิทธิบัตร 

นักลงทุนจากบัลติมอร์ ผู้สร้าง ผีถ้วยแก้ว บอร์ดเกมของเล่นมีสิทธิบัตร 
"วีจา (Ouija) บอกกับผมว่า 'จงเตรียมตัวรับมือกับธุรกิจใหญ่' และด้วยคำแนะนำนี้เอง ผมจึงเรียกสถาปนิกมาวางแปลนเพื่อสร้างโรงงานที่มีกำลังการผลิตที่มากกว่าที่วางไว้ตอนต้นอย่างมากมาย" วิลเลียม ฟัลด์ (William Fuld) ผู้บริหารบริษัทที่ถือสิทธิบัตร "วีจา" (Ouija) กระดานพูดได้ หรือผีถ้วยแก้วแบบอเมริกัน อ้างถึงประสิทธิภาพสินค้าของตัวเอง (The New York Times ความเชื่อเรื่องผีมีแทรกอยู่ในแทบทุกวัฒนธรรม หลายวัฒนธรรมเชื่อว่าผีมีอำนาจบันดาลทั้งโชคลาภและภัยพิบัติ บ้างก็อยากจะสื่อสารกับคนตายเพื่อสอบถามถึงความเป็นไป (ไปดีแล้วรึเปล่า?) จึงมีความพยายามที่จะพัฒนาวิธีการสื่อสารกับผีขึ้นมา “กระดานพูดได้” หรือที่ไทยก็มีคล้าย ๆ กันเรียกว่า “ผีถ้วยแก้ว” ก็เป็นอีกสื่อกลางหนึ่งที่มนุษย์ใช้สื่อสารกับผี ซึ่งเชื่อกันว่ามีความเป็นกลางและน่าเชื่อถือ โดยมีพัฒนาการมาจากเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการสื่อสารกับผี จนกลายมาเป็นของเล่นที่มีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมและมีการ "จดสิทธิบัตร" เป็นเรื่องเป็นราว และได้ "สงคราม" มาช่วยทำให้มัน "ปอปปูลาร์" เมื่อคนไม่รู้ว่าจะสื่อสารกับคนที่รักได้อย่างไรก็ต้องใช้ "ผี" เป็นสื่อกลาง จนทำให้เจ้าของสิทธิบัตรผลิตแทบไม่ทัน การสื่อสารกับผีในเชิงอุตสาหกรรมเพิ่งมาเกิดเป็นรูปธรรมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยก่อนหน้านั้นความเชื่อเรื่องวิญญาณถือว่าเป็นเรื่องที่แพร่หลายในทุกกลุ่มชนทั้งตลาดล่างและตลาดบนในสังคมอเมริกัน ข้อมูลของ Smithsonian Mag บอกว่า แม้กระทั่ง แมรี ทอดด์ ลินคอล์น (Mary Todd Lincoln) ภรรยาประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น (ครองตำแหน่งระหว่างปี 1861-1865) ก็ยังจัดให้มีพิธีกรรมนั่งล้อมวงสื่อสารกับผี (Séance) ถึงในทำเนียบขาว หลังลูกชายวัย 11 ปี เสียชีวิต และช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองของสหรัฐฯ (ระยะเวลาเดียวกันกับที่ลินคอล์นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี) ก็เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากซึ่งส่งเสริมให้ความเชื่อและพิธีกรรมทางวิญญาณเป็นที่แพร่หลายในสหรัฐฯ เนื่องจากผู้คนขาดช่องทางที่จะสื่อสารกับญาติพี่น้องที่อยู่แนวหน้าหรือแนวหลัง จึงต้องอาศัย "วิญญาณ" เป็นผู้ช่วยแจ้งความเป็นตายร้ายดี การสื่อสารในช่วงแรก ๆ อาศัย “สัญญาณแปลก ๆ” ที่รับรู้ได้ เช่น เสียงต่าง ๆ คนกลางที่ต้องการสื่อสารจะใช้วิธีการตั้งคำถามชี้นำแล้วรอเสียงตอบรับจากวิญญาณ ซึ่งอาจส่งสัญญาณเป็นเสียงเคาะ เสียงกระทบกันของอะไรบางอย่าง หรือการที่จู่ ๆ ลมพัดแรงจนประตูปิด ผู้ที่เชื่อก็จะถือว่าเป็นสัญญาณจากวิญญาณได้เหมือนกัน  (ผู้ที่ได้รับเครดิตว่าเป็นสื่อกลางผีด้วยวิธีการนี้เป็นคนแรก ๆ ก็คือ สองพี่น้องฟ็อกซ์ มากาเร็ต และแคเทอรีน ที่มีชื่อเสียงขึ้นมาตั้งแต่ปี 1847 เมื่ออายุได้เพียง 14 และ 8 ปี ตามลำดับ ทำให้ผู้ใหญ่ไม่คิดว่า เด็ก ๆ อย่างพวกเธอจะคิดกลขึ้นมาหลอกชาวบ้านได้ แต่เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน และประสบกับปัญหาชีวิตต่าง ๆ นานา หันไปติดเหล้า และเสียสิทธิในการเลี้ยงดูลูก มากาเร็ตก็ออกมาสารภาพว่า ตอนแรกพวกเธอตั้งใจจะแกล้งแม่ที่งมงายเท่านั้น แต่เมื่อพวกเธอดังทั่วประเทศ และดังข้ามไปถึงยุโรปมันก็ยากจะหยุด และเสียงประหลาดจริง ๆ ก็เป็นเสียงที่พวกเธอทำขึ้นเองด้วยหลายวิธีการ รวมถึงการดีดนิ้วเท้า - Britannica จากเสียงประหลาด ที่ดูเหมือนไม่มีที่มาที่ไป ก็มีการพัฒนามาเป็นการสื่อสารที่ซับซ้อนให้วิญญาณสามารถแสดงความคิดเห็นได้หลากหลายยิ่งขึ้น จากที่ผู้สื่อสารต้องออกเสียงตัวอักษรทีละตัวแล้วรอเสียงตอบรับจากวิญญาณ ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้ไพ่หรือแผ่นกระดานอักษร และจากที่ต้องรอเสียงสัญญาณประหลาด ก็เปลี่ยนมาเป็นการให้วิญญาณขยับ “วัตถุ” ที่เป็นสื่อกลางแทน เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างลื่นไหลและรวดเร็วยิ่งขึ้น กระดานพูดได้ (talking board) จึงถือกำเนิดขึ้นมาด้วยการนี้    ในปี 1886 มีสื่อรายงานถึงปรากฏการณ์การใช้กระดานพูดได้อย่างแพร่หลายในโอไฮโอ โดยบนกระดานที่ใช้กันก็จะมีทั้งตัวเลข ตัวอักษร และอุปกรณ์ที่หน้าตาคล้ายหัวใจทำจากแผ่นกระดานมีล้อเลื่อนเพื่อเคลื่อนที่ไปยังตัวอักษรที่วิญญาณต้องการจะสื่อ (ตามทฤษฎีของคนที่เชื่อ) แต่ก็ไม่มีใครคิดอ้างว่าตนเป็นต้นคิดและนำไปจดสิทธิบัตรเพื่อแสวงกำไร  (คนสื่อสารกับผีมาเป็นพัน ๆ ปี และบางวัฒนธรรมก็มีวิธีการสื่อสารกับวิญญาณด้วยวิธีการคล้าย ๆ กัน แต่ไม่มีใครคิดว่ามันเป็นนวัตกรรมที่จะเอามาใช้ผูกขาดทางการค้า แนวคิดแบบนี้ต้องจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องในบริบททางสังคมแบบทุนนิยม อย่างเช่นสังคมอเมริกัน) ชาร์ลส์ เคนนาร์ด (Charles Kennard) จึงฉวยโอกาสสร้างธุรกิจจากความเชื่อที่กำลังแพร่หลาย ไปชวนมิตรสหาย อย่าง เอไลจาห์ บอนด์ (Elijah Bond) ทนายท้องถิ่น และ ผู้พันวอชิงตัน โบวี (Washington Bowie) ช่างสำรวจมาร่วมกันตั้งบริษัท เพื่อผลิตและผูกขาดกระดานพูดได้ แม้ว่าหุ้นส่วนทั้งหลายจะไม่เชื่อในเรื่องวิญญาณเลยก็ตาม  เครื่องหมายการค้าก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สินค้าของพวกเขามีความเฉพาะตัวต่างจากกระดานพูดได้แบบสามัญทั่วไป และพวกเขาตกลงใจกันที่จะใช้ชื่อว่า "วีจา" (Ouija) ซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อว่า ชื่อนี้มาจากคำว่า "ใช่" ในภาษาฝรั่งเศส (oui) ผสมกับคำว่าใช่ในภาษาเยอรมัน (ja) แต่จากการศึกษาของ โรเบิร์ต เมิร์ช (Robert Murch) นักประวัติศาสตร์ด้านผีถ้วยแก้วอเมริกันพบว่า ชื่อนี้ได้มาจาก เฮเลน ปีเตอร์ส น้องสะใภ้ของบอนด์ซึ่งเป็นคนที่ได้ชื่อว่ามีสัมผัสถึงวิญญาณ โดยใช้วิธีการนั่งล้อมวงถามวิญญาณตามสมัยนิยมว่ากระดานนี้ควรได้ชื่อว่าอะไร   ปีเตอร์สผู้สัมผัสวิญญาณจึงบอกว่า "Ouija" เมื่อถามว่ามันแปลว่าอะไร คำตอบก็คือ "โชคดี" ขณะเดียวกัน ปีเตอร์สก็ยอมรับว่า เธอสวมล็อกเก็ตที่มีรูปของผู้หญิงคนหนึ่ง เหนือศรีษะของรูปก็มีตัวอักษรเขียนไว้คลับคล้ายคลับคลาว่าจะอ่านว่า "Ouija" ซึ่งจริง ๆ น่าจะเป็นการอ่านผิด ชื่อจริง ๆ ของผู้หญิงคนนี้น่าจะเป็น Ouida นามปากกาของนักเขียนและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิสตรีที่ปีเตอร์สชื่นชมนั่นเอง  เมื่อได้ชื่อทางการค้ามาเป็นที่เรียบร้อย พวกเขาจึงไปยื่นเรื่องขอขึ้น "สิทธิบัตร" เงื่อนไขหนึ่งที่พวกเขาต้องพิสูจน์ให้เจ้าหน้าที่ทรัพย์สินทางปัญญาก็คือ สินค้าของพวกเขาสามารถใช้งานได้จริงอย่างที่โฆษณา บอนด์ในฐานะฝ่ายกฎหมายของทีมจึงพาปีเตอร์สไปด้วย แล้วจัดแสดงให้เจ้าหน้าที่เชื่อ โดยเจ้าหน้าที่รายนี้ขอให้กระดานพูดได้ต้นฉบับของพวกเขาบอกนามสกุลของเขาให้ได้ (ซึ่งเขาคงคิดว่าบอนด์และปีเตอร์สไม่รู้มาก่อน) ปรากฏว่า มันสามารถบอกได้แบบแม่นยำ ทำเอาเจ้าหน้าที่รายนี้ขนหัวลุก (แต่บอนด์เป็นทนายท้องถิ่น จึงมีความเป็นไปได้ที่เขาจะรู้ชื่อของเจ้าหน้ารายนี้อยู่ก่อนแล้ว) ปี 1891 บอนด์จึงได้สิทธิบัตรในกระดานพูดได้ที่ชื่อ “Ouija” มาสมปรารถนาในฐานะ "ของเล่น" หรือ "เกม" อย่างหนึ่ง แต่ในสิทธิบัตรก็ไม่ได้ระบุว่า เจ้าของเล่นหรืออุปกรณ์ชิ้นนี้ทำงานอย่างไร? แต่นั่นก็ไม่ทำให้ผู้ที่สนใจและเชื่อในเรื่องวิญญาณลังเลที่จะซื้อมัน Ouija ของพวกเขาขายดิบขายดีมาก จนมีการขยายโรงงานออกไปหลายแห่ง แต่ด้วยเหตุผลใดไม่แน่ชัด (อาจจะเป็นเพราะเรื่องของผลประโยชน์ หรือความขัดแย้งภายใน) สองผู้ก่อตั้งบริษัทที่มีบทบาทอย่างสูงทั้งเคนนาร์ด และบอนด์ ต่างออกจากบริษัทไป กลายเป็น วิลเลียม ฟัลด์ (William Fuld) ที่เดิมทีเข้ามาในบริษัทในฐานะลูกจ้าง ก่อนมาเป็นหุ้นส่วน ต้องมารับช่วงเป็นผู้บริหารใหญ่ จนเมื่อเขาเสียชีวิตเนื่องจากตกหลังคาโรงงานตาย (อาถรรพ์ผีถ้วยแก้ว?) ยังมีสื่อเข้าใจไปว่าเขานี่แหละบิดาแห่ง Ouija ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่  จากประวัติศาสตร์ยาวนานนับร้อยปี และมีการเปลี่ยนมือบริษัทผู้ถือสิทธิบัตรมาหลายเจ้า ตลอดระยะเวลาครึ่งแรกของชั่วอายุของ Ouija มันไม่ได้ถูกมองว่าเป็น "ของอาถรรพ์ชั่วร้าย" Ouija มักจะขายดีในช่วงที่สังคมเกิดความวุ่นวาย และสิ้นหวัง เช่นในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง และช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากคนขาดที่พึ่งทางใจ และไม่รู้จะหาคำตอบที่ตัวเองไม่รู้ได้อย่างไร จึงหันมาหาคำตอบจากกระดานพูดได้ และมันถูกทำการตลาดว่าเป็นของเล่นเพื่อความสนุกในครัวเรือน ไม่ต่างจากไพ่ที่เอามาใช้ดูหมอนั่นแหละ แต่แล้วมุมมองต่อ กระดานพูดได้ก็เปลี่ยนไป เมื่อหนังดังเรื่อง “The Exorcist” เผยแพร่ต่อชาวโลก ในปี 1973  อันเป็นเรื่องราวของ "เรแกน" สาวน้อยวัย 12 ปี ผู้สามารถสื่อสารกับวิญญาณ "กัปตันฮาวดี" ผ่านกระดานพูดได้ ก่อนที่เธอเองจะถูกปีศาจร้ายสิงร่าง มันเป็นหนังฮิตระดับโลกที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมเป็นอย่างมาก  จนกระดานพูดได้ที่ไร้พิษสง และอยู่กับสังคมอเมริกันมานานถูกมองว่าเป็น "ของอาถรรพ์" ที่อันตราย และไม่มีความเป็น "คริสเตียน" (แท้)  หลังจากนั้นหนังสยองขวัญอีกหลายเรื่องก็ดำเนินรอยตาม การผลิตซ้ำว่ากระดานพูดได้คือสื่อกลางกับโลกมนุษย์กับโลกแห่งความตายที่แสนอันตรายก็ค่อย ๆ กลายเป็นความเชื่อที่คนเชื่อถืออย่างจริงจังซึ่งถูกถ่ายทอดไปทั่วโลก ของเล่นในครัวเรือนที่ไร้พิษสง และเครื่องมือสื่อสารในยุคสงคราม (สมัยที่มือถือยังไม่มี) จึงถูกมองว่าเป็นของอันตรายขึ้นมาเสียอย่างนั้น (ผีถ้วยแก้วหรือผีเหรียญแบบไทยก็คงจะได้รับอิทธิพลจากหนังฝรั่งมากกว่าที่จะมีรากมาจากวัฒนธรรมไทยจริง ๆ)