กล้วยหอมจอมซน (Bananas in Pyjamas) กับเวทมนตร์ที่เสกให้เด็ก ๆ ลุกมาจดจ่อเฝ้าจอทีวี

กล้วยหอมจอมซน (Bananas in Pyjamas) กับเวทมนตร์ที่เสกให้เด็ก ๆ ลุกมาจดจ่อเฝ้าจอทีวี
“นายคิดเหมือนฉันคิดไหม B1 ?” “ฉันก็คิดเหมือนกันน่ะ B2”
ประโยคนี้มักจะมาพร้อมการส่งสายตาให้คู่สนทนาเป็นนัยว่า ‘เรารู้กัน’ ซึ่งเจ้าของประโยคสุดฮิตที่ว่าคือ B1 และ B2 ฝาแฝดกล้วยหอมในชุดนอนลายทาง จากเรื่อง ‘กล้วยหอมจอมซน’ (Bananas in Pyjamas) ซีรีส์และแอนิเมชันสัญชาติออสเตรเลียที่เริ่มออกอากาศทางช่อง ABC (the Australian Broadcasting Company) ในปี ค.ศ. 1992 ก่อนจะได้รับความนิยมทั้งในออสเตรเลียและประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ฮังการี รวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงปี 2000 ต้น ๆ ที่กล้วยหอมจอมซนได้โผล่มาทักทายเด็ก ๆ ทางช่อง 7 สี
ความมหัศจรรย์ของการ์ตูนเรื่องนี้คือการชวนเด็ก ๆ ลุกขึ้นมาจดจ่ออยู่หน้าจอทีวีเพื่อรอชมกล้วยหอมจอมซนตามเวลาฉาย โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียนช่วง 2-6 ขวบ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
แม้กล้วยหอมจอมซนจะลาจอไปหลายปี แต่เชื่อว่าประโยค “นายคิดเหมือนฉันคิดไหม B1 ?” และภาพกล้วยหอมในชุดนอนลายทางยังคงอยู่ในใจของผู้ใหญ่และวัยรุ่นหลายคนในยุคปัจจุบัน
  เริ่มจากเพลงกล่อมเด็ก ซีรีส์ การ์ตูน หรือภาพยนตร์ส่วนใหญ่มักจะสร้างขึ้นก่อนเพลงประกอบ ตรงข้ามกับกล้วยหอมจอมซนที่เพลงประกอบกลับเป็นต้นกำเนิดเรื่องราวสุดป่วนทั้งหมด โดยเพลงที่ว่านี้เริ่มต้นขึ้นบนเบาะหลังรถของแครี ไบลตัน (Carey Blyton) นักแต่งเพลงชาวอังกฤษ เมื่อประมาณปี 1969 หรือ 1970 ขณะที่ไบลตันและภรรยาขับรถกลับมาจากบ้านเพื่อนในเวลากลางคืน  แมทธิว ลูกชายวัยสี่ขวบของทั้งคู่งอแงไม่ยอมหลับ ไบลตันที่นั่งอยู่บนเบาะหลังกับแมทธิวจึงพยายามหาวิธีกล่อมลูก ด้วยการร้องเพลงจากหนังสือที่ตัวเองกำลังทำอยู่ นั่นก็คือ ‘Faber Book of Nursery Songs’ แม้ว่าในหนังสือมีถึง 91 เพลง ส่วนตัวเขาเองก็มีถ้อยคำและท่วงทำนองมากมายอยู่ในหัว แต่กลับไม่ช่วยให้แมทธิวหลับลงเลยแม้แต่น้อย ด้วยความสิ้นหวัง ไบลตันจึงแต่งเพลงที่ดูไร้สาระขึ้นมาแบบรีบ ๆ เรียกว่าเพลง ‘Bananas in Pyjamas’ กลายเป็นว่าเด็กน้อยแมทธิวชอบเพลงนี้มาก เขาร้องเพลงนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกระทั่งถึงบ้าน ก่อนเข้านอนภรรยาของไบลตันยืนกรานให้เขาจดเพลงนี้ไว้ “พอเช้ามาคุณก็จะจำไม่ได้ จดไว้เดี๋ยวนี้” เธอบอก ต้องขอบคุณภรรยาของไบลตันที่ทำให้เนื้อเพลง Bananas in Pyjamas ไม่หล่นหายไปในค่ำคืนนั้น เพราะต่อมาในช่วงปี 1970 - 1980 แผนกรายการสำหรับเด็กของช่อง ABC ได้ใช้เพลง Bananas in Pyjamas นี้ในรายการ ‘Playschool’ และ ‘Kindergarten’ พร้อมเริ่มแนวคิดที่จะนำนักแสดงมาสวมมาสคอตกล้วยหอมในชุดนอนลายทาง และมาสคอตหมีเท็ดดี้สำหรับแสดงสดในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วออสเตรเลีย ซึ่งไอเดียนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในเวลาต่อมา   B1 B2 และผองเพื่อนเท็ดดี้ กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1992 กล้วยหอมจอมซนเริ่มปรากฏตัวขึ้นในรายการทีวีโดยมีเพลง Bananas in Pajamas เป็นเพลงประกอบ ก่อนจะกลายเป็นที่นิยมของประเทศอื่น ๆ ทั้งซีรีส์ทางโทรทัศน์และสินค้าเกี่ยวกับกล้วยหอมจอมซนที่ถูกซื้อลิขสิทธิ์เผยแพร่ไปทั่วโลก เฮเลนา แฮร์ริส (Helena Harris) ผู้อยู่เบื้องหลังการนำกล้วยหอมจอมซนมาสู่จอแก้วกล่าวว่า เบื้องหลังของซีรีส์กล้วยหอมจอมซนเหมือนครอบครัวใหญ่ที่ค่อย ๆ สรรสร้างแต่ละตัวละครขึ้นมาจากไอเดียแสนเรียบง่ายและใกล้ตัว  ชื่อของเจ้าหมีเอมี่ (Amy) และเจ้าหมีมอร์แกน (Morgan) ก็มาจากชื่อลูกทั้งสองคนของเธอ ส่วนลูลู่ (Lulu) เป็นชื่อเพื่อนสนิทเอมี่ในเวลานั้น และเจ้าหนูประจำร้าน Rat in a Hat ผู้ขายของทุกอย่างนั้นมาจากไอเดียของช่างภาพในทีม “ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์การแสดงสำหรับเด็กชิ้นนี้” แฮร์ริสกล่าว “เรารู้ว่ากล้วยหอมจอมซนเป็นที่รักของเด็ก ๆ และคิดว่าเป็นเพราะเราไม่ได้พยายามจะทำให้เป็นอะไรมากไปกว่าซีรีส์สำหรับเด็กเล็ก และเราไม่ได้พยายามที่จะทำให้กล้วยหอมทั้งคู่ดูฉลาดหรืออะไรทำนองนั้น”  โครงเรื่องแรกของ Bananas in Pyjamas คือการโต้เถียงระหว่าง เจ้า B1 และ B2 เกี่ยวกับแก้วสีชมพูโดยอิงจากเรื่องราวของเอมี่ (Amy) และมอร์แกน (Morgan) ลูก ๆ ของแฮร์ริส “คุณมีเวลา 4 นาทีและ 20 วินาทีเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ต้องเป็นเชิงบวก โดยมีจุดเริ่มต้น เนื้อหากลางเรื่องและตอนจบ และต้องเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงสำหรับเด็ก ๆ วัยก่อนเรียน” แฮร์ริสกล่าว  แฮร์ริสและทีมงานหยิบยกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของเด็ก ๆ มาผสมผสานเป็นซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสองแฝดกล้วยหอม B1 และ B2 แสนซุกซนกับเพื่อน ๆ ชาวเท็ดดี้แบร์ที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน โดยหมีทั้งสามมีบุคลิกที่แตกต่างกันออกไป  ลูลู่ (Lulu) เป็นชาวฝรั่งเศสที่หลงใหลการเต้นบัลเลต์ เอมี่ (Amy) มักจะเดินทางอยู่เสมอ และมอร์แกน (Morgan) มักจะสำรวจสวนผีเสื้อหรือสร้างงานศิลปะ แถมยังมีเจ้าหนูในร้าน Rat in the Hat ผู้ขายทุกสิ่งที่ทุกคนต้องการ ตัวละครอื่น ๆ จึงแวะไปเยี่ยมเยือนอยู่บ่อย ๆ  หลังจากออกอากาศและได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก แฮร์ริสกลายเป็นผู้นำด้านรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เธอกวาดรางวัลมากมาย รวมทั้งรางวัล Helpmann Awards อันทรงเกียรติสำหรับรายการเด็กที่ดีที่สุดประจำปี ค.ศ. 2002 และตัวละครกล้วยหอมจอมซนยังได้ปรากฏตัวในขบวนพาเหรดของพิธีปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในปี ค.ศ. 2000 อีกด้วย   ลาจอไป แต่ยังอยู่ในความทรงจำ เกือบ 2 ทศวรรษที่กล้วยหอมจอมซนอยู่ในชุดมาสคอต ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบแอนิเมชันในปี 2011 โดยที่ยังฉายรูปแบบเดิมควบคู่ไปด้วย แต่สำหรับแฮร์ริส เธอยืนยันว่ายังชอบกล้วยหอมจอมซนเวอร์ชันซีรีส์ที่แสดงโดยคนสวมชุดกล้วยหอมมากกว่า  เช่นเดียวกับเคนเนธ แรดลีย์ (Kenneth Radley) หนึ่งในผู้แสดงเป็นคู่แฝดกล้วยหอมมองว่า เวทมนตร์ของกล้วยหอมจอมซนคล้ายจะเลือนหายไปเมื่อเปลี่ยนมาเป็นแอนิเมชัน และสำหรับเขา การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบดังกล่าวไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมชาติเอาซะเลย “แอนิเมชันมันไม่ค่อยเวิร์กมากเท่าไร เมื่อเทียบกับตอนเป็นซีรีส์”  แรดลีย์กล่าว แม้ชื่อเสียงของกล้วยหอมจอมซนทั้งในฐานะสื่อบันเทิงและสินค้าแสนน่ารักขวัญใจเด็ก ๆ จะโด่งดังไปหลายประเทศทั่วโลก แต่เงินทุนสำหรับการสร้างซีรีส์และแอนิเมชันสำหรับเด็กเรื่องนี้กลับไม่เพียงพอที่จะผลิตตอนต่อ ๆ ไปได้ กลายเป็นสาเหตุให้ต้องปิดฉากเรื่องราวของสองฝาแฝดกล้วยหอมในชุดนอนลายทางนี้ลง เหลือเพียงภาพจำอันแสนอบอุ่นและความรู้สึกผูกพันทิ้งไว้ให้หวนกลับไปคิดถึง
ความสำเร็จของกล้วยหอมจอมซนอาจมาจากการหยิบยกเรื่องราวของเด็ก ๆ มาเล่าด้วยความเข้าใจ โดยไม่ได้เป็นการสอนหรือเล่าจากมุมของผู้ใหญ่ซะทีเดียว เหล่าผู้ชมตัวน้อยจึงรู้สึกเหมือนเขามานั่งมองเรื่องราวของเพื่อนและหัวเราะไปด้วยกันซะมากกว่า
สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเวทมนตร์ที่สะกดให้เด็กจำนวนมากในยุคนั้นลุกมาตั้งตาคอยหน้าจอโทรทัศน์ เพื่อดูกล้วยหอมจอมซนและเหล่าหมีเท็ดดี้กับเรื่องราวสุดป่วนของพวกเขาก็เป็นได้...นายคิดเหมือนฉันคิดไหม B1 ?
ที่มา