สัมภาษณ์ ‘กอล์ฟ-พชร คำชำนาญ’ จากเด็กกรุงเทพฯ สู่นักสิทธิเพื่อมนุษยชน

สัมภาษณ์ ‘กอล์ฟ-พชร คำชำนาญ’ จากเด็กกรุงเทพฯ สู่นักสิทธิเพื่อมนุษยชน
“ถ้าคุณอยากได้ประชาธิปไตย บางกลอยก็คือเรื่องเดียวกัน” “เวลาคนกรุงเทพฯ กลับบ้าน เราอาจจะใช้เวลาอยู่บนถนนชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง แต่ไม่ว่าจะใช้เวลานานขนาดไหนยังไงเราก็ไปถึง ถึงอยู่ไกลข้ามจังหวัดเราก็เลือกที่จะขึ้นเครื่องกลับได้ แต่ทำไมชาวกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งไม่มีสิทธิแม้แต่จะได้กลับบ้าน คนบางกลอยใช้เวลาเดินทางกลับบ้านมา 25 ปีแล้ว และจนถึงตอนนี้ พวกเขาก็ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทางด้วยซ้ำ” นี่คือ คำกล่าวของกอล์ฟ-พชร คำชำนาญ คณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี นับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 ที่มีการจับกุมตัวชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยทั้งการโกนหัว ติดโซ่ตรวน และมัดมือไพล่หลัง นำมาสู่การจัดตั้งรวมกลุ่มภาคีเซฟบางกลอย และการเดินเท้ามายังทำเนียบรัฐบาลไทย โดยกอล์ฟเล่าว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจะปักหลักพักค้างแรมกันที่นี่ จนกว่าจะได้รับการตอบรับข้อเรียกร้องหลัก 2 ข้อนั่นคือ ยกเลิกคดีความและหมายจับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยทั้งหมด รวมถึงเป้าหมายสูงสุดคือ การกลับไปใช้ชีวิตที่ ‘ใจแผ่นดิน’ หรือบางกลอยบนตามเดิม กอล์ฟ-พชร ใส่เสื้อผ้าพื้นเมืองตามแบบพี่น้องชาวกะเหรี่ยง พร้อมหมวกแก๊ปสีขาวหนึ่งใบที่กลายเป็นเครื่องประดับคู่ใจชิ้นใหม่ ในวันที่เขาตัดสินใจโกนหัวเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ กอล์ฟเริ่มต้นเล่าย้อนไปถึงจุดเปลี่ยนที่ตัดสินใจก้าวเข้ามาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนว่า เดิมทีตนเองก็อยากเป็นนักข่าวตามที่เรียนมา แต่ความสนใจด้านสิทธิชุมชนนั้นเกิดจากการได้เรียนวิชา Community and Journalism ตอนนั้นเขาได้ลงพื้นที่เรียนรู้ด้านสิทธิชุมชนและพบว่า ทุกพื้นที่มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินทั้งหมด  ทำให้กอล์ฟเริ่มกลับมาทบทวนว่า จะทำอย่างไรเพื่อตอบโจทย์ความฝันของตัวเอง เพราะการเป็นนักข่าวอาจจะไม่เพียงพอแล้ว เขาจึงตั้งธงไว้ว่า จะลองไปทำงานกับ NGO สักปี และที่ที่กอล์ฟเลือกก็คือ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เพราะมีความสลับซับซ้อนของประเด็นเรื่องชาติพันธุ์อยู่ด้วย แต่การมาทำงานที่นี่ได้เปลี่ยนความคิดของกอล์ฟไปตลอดกาล เขาพบว่า ตัวเองเป็นเหยื่อของระบบการศึกษาไทยที่จำเรื่องของคนบนดอยได้เพียงว่า “ชาวบ้านเผาป่า ตัดไม้ ปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย” ในตอนนั้น แม้เขาจะไม่ได้เห็นด้วยกับการรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 แต่สิ่งหนึ่งที่กอล์ฟมองว่าถูกต้องก็คือ คำสั่งฉบับที่ 64/2557 หรือนโยบายทวงคืนผืนป่าที่หลายคนรู้จักกันดี ตอนนั้นเขามองเพียงแค่ว่า ดีเสียอีกที่ประเทศจะได้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นจากปัญหาเรื่องฝุ่นควันและภาวะโลกร้อน และคงไม่มีอะไรเลวร้ายกับทรัพยากรไปมากกว่าคน “จุดเปลี่ยนคือ การไปลงพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงครั้งแรก เราไปถึงตอนกลางคืนดึกมาก เคว้งมาก รู้สึกโกรธที่พี่ ๆ เขาปล่อยให้เรามาคนเดียว แล้วที่นั่นเป็นชุมชนชาติพันธุ์จริง ๆ เราไม่คุ้นชินกับภาษา เราฟังไม่รู้เรื่อง แม้เขาจะพูดภาษากลางก็เป็นสำเนียงที่ฟังไม่ถนัด กินอาหารกับเขาก็ไม่ได้ ตอนนั้นก็คิดนะว่า ทำไมเราต้องมาทำแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่เราทำงานอยู่กรุงเทพสบาย ๆ ก็ได้ อันนี้เป็นความรู้สึกของคืนนั้น “แต่พอตอนเช้าตื่นมาทุกอย่างเปลี่ยนเลย บรรยากาศฝนตกพรำ ๆ ชาวบ้านพาเราไปดูไร่หมุนเวียน เป็นไร่ที่มีขนาดใหญ่ ต้นข้าวเขียวขจี มีผักบางอย่างให้เก็บได้แล้ว ภาพวันนั้นเปลี่ยนความคิดเมื่อคืนไปเลย กลายเป็นเราอยากจะอยู่ต่อ ได้เห็นพิธีกรรมเลี้ยงผีไฟเป็นการแสดงออกถึงความเคารพธรรมชาติ เขาเคารพทุกอย่างแม้กระทั่งไฟ ขอบคุณไฟที่ทำให้มีข้าวกินเพราะการทำไร่หมุนเวียนต้องมีการเผาเศษซากพืชให้เป็นปุ๋ย เขาเลยรู้สึกว่า ต้องขอบคุณ เรามองว่า ในเมื่อพวกเขามีความนอบน้อมกับธรรมชาติ คนที่ทำลายป่าไม้ไม่มีทางจะแสดงออกความนอบน้อมได้ขนาดนี้ ความคิดเรื่องทวงคืนผืนป่าก็เปลี่ยนวันนั้นเลย เราต้องอยู่ต่อเพื่อเรื่องนี้ ทำให้เรื่องไร่หมุนเวียนเป็นเรื่องที่คนในสังคมยอมรับให้ได้” จากวันที่กอล์ฟไม่มีความรู้ความเข้าใจชุมชน มาถึงวันที่เขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อพี่น้องชาวบางกลอย กอล์ฟเล่าย้อนไปถึงวันที่มีการพบชิ้นส่วนกระดูกบิลลี่ พอละจี แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่ง-บางกลอย ในช่วงเวลาที่เขาและกลุ่มนักสิทธิชุมชนกำลังจัดประชุมร่วมกับเครือข่าวพี่น้องกะเหรี่ยงทั่วประเทศ ข่าวของบิลลี่ในวันนั้นสร้างความสะเทือนใจให้กับพี่น้องบางกลอยที่อยู่ในองค์ประชุม กอล์ฟตัดสินใจตั้งแต่ตอนนั้นว่า เขาต้องออกมาเป็นปากเป็นเสียงให้กับพี่น้อง กระทั่ง วันที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ถูกอพยพลงมาอยู่บริเวณบ้านโป่งลึก (บางกลอยล่าง) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เขาตัดสินใจเดินเท้ากลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดิน (บางกลอยบน) ชุมชนดั้งเดิมที่พวกเขาอาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กอล์ฟมองว่า เหตุการณ์นี้ต้องกลายเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน จากนั้นเขาและคณะทำงานในมูลนิธิก็เริ่มหารือกันว่า จะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือและเป็นกำลังหนุนให้ชาวบ้านได้บ้าง นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง ‘ภาคี #save บางกลอย’ รวมถึงการติดแฮชแท็ก #saveบางกลอย และ #ชาติพันธุ์ก็คือคน ในทวิตเตอร์จนขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ประเทศไทย ทำให้คนเมืองเริ่มรับรู้ถึงปัญหาของบางกลอยมากขึ้น “เหตุการณ์วันที่มีการจับกุมตัวพี่น้องคือ เราลงไปในนามคณะทำงานกับเจ้าหน้าที่ แต่ที่พวกเขาหายไปหมดเลย เราเริ่มใจไม่ดีชาวบ้านก็บอกว่า มีเจ้าหน้าที่ขึ้นมาเยอะมาก เราเลยไปดูที่บริเวณลานจอดเฮลิคอปเตอร์มีการขนถังน้ำมันขึ้นมา บินลำเลียงเจ้าหน้าที่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ประมาณ 80-100 คน พอช่วงบ่ายชาวบ้าน 13 คนเริ่มถูกลำเลียงลงมา เราที่อยู่ในพื้นที่ทำงานกับเขาไม่รู้จะทำยังไงแล้ว เลยกลับไปที่ศาลาพอละจี เราบอกพี่คนหนึ่งว่า พี่ช่วยเล่นกีตาร์แล้วร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาให้ฟังหน่อยได้ไหม นั่นคือสิ่งที่เราทำตอนกลางวัน จากนั้นเราแยกย้ายไปทำงานของตัวเอง กลับไปที่จุดจอด ฮ. อีกครั้ง กลับไปเรานิ่ง ไม่เถียง สังเกตการณ์ เก็บข้อมูลรอปล่อยออกมาทางสื่อพื่อเรายงานเหตุการณ์วันนั้น “ย้อนกลับไป ชาวบ้านถูกอพยพลงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ด้วยคำกล่าวจากหัวหน้าอุทยานในสมัยนั้นว่า ถ้าอยู่ไม่ได้ก็สามารถกลับขึ้นไปได้ แต่ตอนนี้ทดลองอยู่มา 25 ปีแล้ว มันควรพอแล้ว ถ้าคุณไม่มีความกล้าหาญพอที่จะชดเชยเยียวยาสิ่งที่เขาเสียโอกาสไป การเยียวยาที่คุณจะทำได้ง่ายที่สุดคือ ให้เขากลับบ้านไปที่ใจแผ่นดิน สำหรับเราไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่มากเกินไป มันคือสิทธิขั้นพื้นฐานมาก ๆ การที่คนกลุ่มนี้ไม่สามารถกลับบ้านได้คือ การเลือกปฏิบัติที่น่ารังเกียจ และคนในสังคมควรจะเข้าใจประเด็น” หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมชาวบ้านต้องพยายามกลับขึ้นไป ทั้ง ๆ ที่รัฐก็จัดสรรที่อยู่ที่ทำกินด้านล่างบริเวณบ้านโป่งลึก (บางกลอยล่าง) ให้แล้ว กอล์ฟอธิบายให้ฟังคร่าว ๆ ว่า หลัก ๆ เป็นเพราะที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ไม่สามารถใช้ทำกินได้ ดินบริเวณนั้นเป็นหินเป็นทราย ไม่มีความร่วนซุยแบบดินที่เหมาะแก่การทำไร่หมุนเวียน รวมถึงจำนวนแปลงที่ดินก็มีจำนวนไม่มากเพียงพอจะทำไร่หมุนเวียนได้ เพราะต้องเข้าใจก่อนว่า การทำไร่แต่ละครั้งต้องปล่อยพื้นที่บางส่วนให้ได้พักฟื้นหน้าดินก่อน แล้วจากนั้นจึงทำไร่บริเวณอื่นหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ บวกกับการให้คำมั่นสัญญาของหัวหน้าอุทยานคนเก่าเมื่อปี พ.ศ.2539 ที่บอกว่า หากลงมาแล้วไม่ดีก็สามารถย้ายกลับขึ้นไปได้ นี่จึงเป็นข้อตกลงที่เป็นธรรมกับชาวบ้าน หากแต่ความขัดแย้งกลับรุนแรงขึ้น เมื่อปีพ.ศ.2554 กับการเข้ามาของชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นชนวนความขัดแย้งอย่างรุนแรงเหตุการณ์ครั้งนั้นมีชื่อเรียกว่า ‘ยุทธการตะนาวศรี’ ในเอกสารระบุว่า ชาวบ้านเหล่านั้นเป็นภัยต่อความมั่นคง ทำให้เจ้าหน้าที่มีความชอบธรรมในการปฏิบัติการมากขึ้น ความยากลำบากของการกลับใจแผ่นดินจึงไม่ใช่แค่ด้วยระยะเวลา 25 ปี แต่ยังเต็มไปด้วยบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม “กรมอุทยานแห่งชาติมีเดิมพันที่สูงมากเพราะมีพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อย่างน้อย 4,000 ชุมชน ถ้าบางกลอยชนะ พื้นที่เหล่านั้นจะลุกขึ้นมาต่อสู้ นี่คือสิ่งที่กรมอุทยานฯ กลัวมาก สิ่งที่เขาเคยสถาปนาภายใต้กรมอุทยานจะเสื่อมถอยไป” ชาวบ้านบางส่วนที่ออกมาต่อสู้ครั้งนี้บอกว่า หากพวกเขาไม่ได้ชนะและไม่ได้กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด พวกเขายอมฆ่าตัวตายเสียดีกว่า เพราะความเจ็บปวดตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงชุมชนบางกลอยเท่านั้นแต่ยังขยายขอบเขตไปถึงชุมชนชาติพันธุ์อีกหลายร้อยหลายพันชุมชนด้วย ส่วนหนึ่งเกิดจากอคติทางชาติพันธุ์ของคนเมืองที่ไม่เข้าวิถีชุมชน กอล์ฟมองว่า ที่ผ่านมาเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐจะใช้ความรุนแรงอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนกับพวกเขา หากปราศจากซึ่งแรงสนับสนุนของคนเมืองที่ไปสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น “เราเห็นคนที่เรียกร้องให้ประชาธิปไตยที่ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องคนอยู่กับป่า มีการแสดงความเห็นว่า ให้พยายามผลักชาวบ้านออกไป สิ่งนี้แย่มากสำหรับคนที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าเข้าใจศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์จริง ๆ จะเห็นว่า พวกเขาถูกกดขี่อย่างมาก ทำไมเราถึงจะเรียกร้องแค่เรื่องตัวเองโดยไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มคนอื่น ๆ “การต่อสู้ของพี่น้องบางกลอยเป็นไปเพื่อการทลายบางอย่าง อย่างการจัดสรรทรัพยากรที่มีวิธีคิดแบบการปกครองรัฐอาณานิคม พยายามปกครองคนให้อยู่ภายใต้อาณัติไม่ต่างจากสังคมไทยโดยรวมในตอนนี้ ทุกคนรู้สึกอึดอัดกับสังคมไทยตอนนี้ แต่พี่น้องบางกลอยที่ถูกกดมามากขนาดนั้นจะต้องรู้สึกแบบไหน การต่อสู้นี้จึงไม่ใช่แค่บางกลอยชนะ แต่มันจะกลายเป็นหัวหอกที่ทะทุลวงทลายโครงสร้างศักดิ์สิทธิ์ให้ทลายลงมา ให้เห็นคนเท่ากันหมด มันคือเรื่องเดียวกัน เพียงแต่ต่างบริบท ต่างพื้นที่กัน ฉะนั้น การเซฟบางกลอยจึงเป็นเรื่องของทุกคน” เราถามกอล์ฟต่อไปถึงประเด็นการเผาป่าและสิ่งที่อยากฝากถึงคนเมือง แม้ตอนนี้หลายคนจะเริ่มเข้าใจวิถีป่าชุมชนแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เข้าใจการทำไร่หมุนเวียน รวมถึงปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่แทบทุกปีที่มักจะถูกปิดป้ายเสมอว่า ทั้งหมดคือฝีมือของกลุ่มชาวเขาชาวดอยที่ทำกันเป็นขบวนการทั้งชุมชน “การเผาป่าคือ การที่รัฐไม่ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของรัฐเอง ตอนนี้ (เดือนมีนาคม 2564) ยังไม่มีการเผาไร่หมุนเวียน แต่ฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือมาตั้งแต่เดือนธันวาคมแล้ว แบบนี้หมายความว่ายังไง แล้วเรื่องนี้มันเป็นเรื่องทางอุตุนิยมวิทยาล้วน ๆ สภาพอากาศกดต่ำลงมา ทำให้ควันทุกอย่างในพื้นที่แอ่งกระทะ จังหวัดเชียงใหม่ลอยขึ้นไปไม่ได้ การใช้ไฟในพื้นที่เป็นการใช้ไฟที่ชาญฉลาดที่สุดแล้ว ชาวบ้านจะเผาหน้าดินช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด เวลาประมาณบ่ายสองโมงเพื่อให้เกิดการเผาไหม้โดยเร็วที่สุด ควันน้อยที่สุด มีการทำแนวกันไฟ ควบคุมไฟ อากาศเปิดที่สุด ความกดอากาศขึ้นสูงที่สุด ควันที่ออกมาจากไร่หมุนเวียนลอยขึ้นฟ้า และเผาในที่ ๆ มีความสูงมากจากระดับน้ำทะเล มันไม่เมกเซนส์ที่จะลอยแล้วปลิวต่ำลงมา “คนที่พูดแบบนี้ คือคุณกำลังมองเขาด้วยกรอบแบบรัฐ เป็นผลผลิตของรัฐที่จะลดทอนให้คนอื่นต่ำกว่าคุณ สิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับคนที่มาเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมเป็นธรรม คุณเองนั่นแหละคือเหยื่อของรัฐ ผลผลิตของรัฐ คุณคิดในกรอบแบบรัฐเป๊ะเลย ไม่มีการตั้งคำถามเลยว่า สิ่งที่ถูกผลิตออกมาเป็นจริงหรือไม่ และสิ่งนี้กำลังทำร้ายเพื่อนร่วมสังคมคุณอยู่” “ตอนนี้คือ ช่วงเวลาที่คนเมืองและพี่น้องชาติพันธุ์ได้เข้าใกล้กันมากที่สุดแล้ว” เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องของคนกรุงเทพฯ คนเมือง คนดอย คนกะเหรี่ยง แต่การ #saveบางกลอย เป็นเรื่องของคนทุกคน การแบ่งแยกว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับฉัน หรือวิธีคิดทำนองว่า “ยังมีคนเมืองอีกมากที่ไม่มีที่ดินทำกิน” ลักษณะนี้นับว่า เป็นการมองความเป็นคนเมือง-คนชาติพันธุ์แยกขาดออกจากกัน จะบางกลอยหรือขบวนการเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพในตอนนี้ ทั้งหมดก็คือ การเรียกคืนความเป็นธรรมและความปกติให้กับสังคมทั้งสิ้น หากเราเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมเกิดขึ้นไม่ว่าจะมันจะแฝงฝังอยู่ในซอกหลืบใดของสังคมที่แสงส่องไปไม่ถึง นั่นคือ สิ่งที่เรียกว่ามนุษยธรรม นี่คือ การเรียกคืนความเท่าเทียมเพื่อให้ทุกคนได้ยืนอยู่ภายใต้ระนาบเดียวกันในสังคมอย่างเสมอหน้ากัน   เรื่องและภาพ: พิราภรณ์ วิทูรัตน์