Bangkok Breaking: ซีรีส์สะท้อนปัญหาสังคมที่ยังไปไม่ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง

Bangkok Breaking: ซีรีส์สะท้อนปัญหาสังคมที่ยังไปไม่ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง
/ บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์ Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง (2021) รับชมผ่านทาง Netflix / เปิดเรื่องมาด้วยภาพมุมสูงของกรุงเทพฯ ยามราตรี เมืองหลวงอันศิวิไลซ์ ศูนย์กลางความเจริญและแสงสี มหานครแห่งนี้คือความหวังในการหาเลี้ยงปากท้องของผู้คนมากมาย เช่นเดียวกับ ‘วันชัย’ (เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ) ที่กำลังเดินทางเข้ากรุงเพื่อหางานทำ โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลยว่า ภายใต้แสงไฟละลานตา ทุกซอกหลืบของกรุงเทพฯ คือแหล่งสะสมความเหลื่อมล้ำ และความเน่าเฟะของการบริหารประเทศอันไร้ประสิทธิภาพ  นี่แหละ ‘กรุงเทพฯ... ชีวิต(ไม่)ดีที่ลงตัว’  ซีรีส์ ‘Bangkok Breaking - มหานครเมืองลวง’ กำกับโดย ‘ก้องเกียรติ โขมศิริ’ และอำนวยการผลิตโดย ‘ปราบดา หยุ่น’ มุ่งสะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงและเมืองลวงที่ปล่อยให้ชีวิตของประชาชนพังทลายไปมากมาย รวมไปถึงบอกเล่าเรื่องของสื่อ อาสากู้ภัย ไปจนถึงนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจค้ายาและผลิตธนบัตรปลอม ปัญหาสังคมทุกอย่างในกรุงเทพฯ ถูกมัดรวมกันภายในซีรีส์จำนวน 6 ตอน นั่นทำให้ตัวเอกของเรื่องแตะปัญหาได้เพียงผิวเผิน และตัวบทไม่อาจก้าวข้ามไปสู่การพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอันเป็นต้นตอหลักของทุกปัญหาได้อย่างแท้จริง ซีรีส์ Bangkok Breaking จึงเป็นการตอกย้ำเรื่องราวเดิม ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำ และการทุจริต Bangkok Breaking: ซีรีส์สะท้อนปัญหาสังคมที่ยังไปไม่ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ซีรีส์ตอกย้ำปัญหาสังคมที่ไปไม่ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ในปี 2563 จำนวนประชากรในกรุงเทพฯ มีอยู่ราว 5.58 ล้านคน ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ยังไม่นับบุคคลที่ทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัด แต่เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ รวมถึงผู้ที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน และบุคคลที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย กระนั้นสิ่งหนึ่งที่นำพาทุกคนมารวมตัวกันที่มหานครแห่งนี้ก็คือ ‘ความหวัง’ ความหวังที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็มีเงินมากพอจะส่งกลับบ้าน แต่ขณะที่กรุงเทพฯ ถูกเติมเต็มด้วยความหวังของคนทั่วประเทศ สิ่งหนึ่งที่ซีรีส์ไม่ได้ขยี้คือการกระจุกตัวของความเจริญและความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ซึ่งรวมไปถึงโอกาสในการหารายได้ การเข้าถึงการศึกษา และการเข้าถึงบริการสาธารณะที่ไม่เท่ากัน โดยในอนาคต หากภาครัฐและผู้มีอำนาจยังไม่แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ ปัญหาของคนตัวเล็ก ๆ ย่อมพอกพูน และส่งผลกระทบถึงระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเศรษฐกิจ Bangkok Breaking: ซีรีส์สะท้อนปัญหาสังคมที่ยังไปไม่ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง จากการที่ซีรีส์ไม่เอ่ยถึงการทำงานของภาครัฐ แต่สะท้อนให้เห็นเพียงผลลัพธ์ที่สามารถมองเห็นได้เองในชีวิตประจำวัน ปัญหาธุรกิจมืดเบื้องหลังอาสากู้ภัยจึงถูกตัดจบเพียงระดับปัจเจกบุคคล คือบอสใหญ่อย่าง ‘เฮียวัฒน์’ (สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล) แม้กระทั่งเหตุผลของวันชัยและ ‘โจ้’ พี่ชายของวันชัยที่ต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ก็ไม่ถูกผลักไปเกินกว่า ‘การหางานเพื่อส่งเงินกลับบ้าน’ เช่นเดียวกับปัญหาการค้ายาเสพติดที่มักหนีไม่พ้นสาเหตุว่า คนที่ทำเป็น ‘คนไม่ดี’ ไม่ยอมทำมาหากินแบบสุจริต แต่ในทางกลับกัน เราต้องย้อนมองว่า สังคมเปิดโอกาสให้กับการทำมาหากินอย่างสุจริตมากเพียงใดในยุคที่เศรษฐกิจย่ำแย่ลงทุกวัน และผลตอบรับของการทำงานหนักนั้นคุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไปหรือไม่ รวมไปถึงกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่สามารถอุดรูโหว่ของปัญหาเหล่านี้ได้เสียที จากการแสดงที่ละเอียดในทุกบททุกซีนของเวียร์-ศุกลวัฒน์ ทำให้ถึงแม้วันชัยจะไม่สามารถนำผู้ชมไปขบคิดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างตรงไปตรงมา แต่สีหน้า แววตา และความลำบากที่วันชัยได้รับกลับสะท้อนให้เห็นถึง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ยืนอยู่ปลายปัญหาได้เป็นอย่างดี ส่วนอีกบทหนึ่งที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้คือ ‘แคต’ (ออม-สุชาร์ มานะยิ่ง) นักข่าวสายบันเทิงจากสำนักข่าวมติมวลชน ซึ่งเธอคือตัวละครหลักที่สะท้อนการทำงานของสื่อไปถึงโครงสร้างในองค์กร Bangkok Breaking: ซีรีส์สะท้อนปัญหาสังคมที่ยังไปไม่ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง สื่อกับการผลักเพดานต้านนายทุน เพราะองค์กรสื่อในปัจจุบันมีขาของความเป็นธุรกิจค้ำยันให้ตัวองค์กรอยู่รอดได้ การขายข่าวคุณภาพ และข่าวเพื่อธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการตอบแทนผู้สนับสนุน หรือการปล่อยข่าวที่สังคมสนใจเพื่อเรตติ้ง จึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องมีควบคู่กัน “คุณอยู่โต๊ะข่าวอะไรนะ” “โต๊ะบันเทิงค่ะ” “แล้วนี่มันบันเทิงไหม?” คลิปวันชัยบุกเข้าไปในกองเพลิงเพื่อช่วยเหลือเด็ก และคลิปที่ ‘ประทีป’ (สหจักร บุญธนกิจ) หัวหน้าอาสากู้ภัยมูลนิธิรวมพลังใจยึดโทรศัพท์นักข่าวอย่างแคตกลายเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลฯ อย่างกว้างขวาง วันต่อมา แคตในฐานะนักข่าวสายบันเทิงต้องรับความกดดันอย่างหนักจากหัวหน้าและบอร์ดบริหารอย่าง ‘อาทร’ ชายผู้เข้ามากุมบังเหียนมติมวลชน สื่อชั้นนำของประเทศ แต่สุดท้ายซีรีส์ได้เฉลยให้เราเห็นว่า การห้ามแคตขุดคุ้ยข่าวเบื้องหลังอาสากู้ภัย ก็เป็นเพราะอาทรอยู่ข้างเดียวกับนายทุนอย่างเฮียวัฒน์ เนื่องจากเขาเลือกให้ความสำคัญกับสื่อในฐานะธุรกิจมากกว่าสื่อเพื่อสังคม “พนักงานเหล่านั้นเหมือนเนื้อร้ายขององค์กร ผมเข้ามาเป็นศัลยแพทย์รักษาส่วนที่ดีเอาไว้ คุณ(แคต)ยังอยู่ในส่วนที่ดีนะ” อาทรพูดกับแคตเพื่อให้เธอยอมกลับไปทำข่าวบันเทิงเช่นเดิม การบริหารสื่อในขาธุรกิจและสื่อเพื่อสังคม ภายใต้จรรยาบรรณสื่อนั้นสามารถทำไปได้ควบคู่กัน ซึ่งอาทรก็เป็นตัวละครสีเทาที่สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในวงการสื่อได้เป็นอย่างดี ส่วนสิ่งที่แคตทำเปรียบเสมือนการดันเพดานคัดง้างกับอำนาจเบื้องบนขององค์กร หน้าที่ของเธอคือการเปิดโปงและเปิดเผยความจริงให้กับสังคมได้รับรู้อย่างกล้าหาญ “ฉันเชื่อว่าทุกคนเห็นเครือข่ายทุจริต รู้ว่ามันมีอยู่ในทุกระดับ แต่ทำไมพวกเรายังหลับหูหลับตาล่ะคะ ทำไมยังทำเหมือนว่าเป็นเรื่องปกติ ถึงเวลาแล้วหรือยัง พวกเรามากล้าอ้าปากเปิดโปงกันเถอะค่ะ อย่าให้ความชั่วเหล่านั้นแสวงหาผลประโยชน์จากพวกเราอย่างง่ายดายได้อีกต่อไปเลย” Bangkok Breaking - มหานครเมืองลวง ว่าด้วยเรื่องในเมืองหลวงของประเทศไทยเปิดตัวมาอย่างน่าสนใจ ทำให้ใครหลายคนคาดหวังจะเห็นวงการซีรีส์ไทยแตะไปถึงโครงสร้างอำนาจที่อยู่เบื้องหลังการทุจริตและคุณภาพชีวิตอันย่ำแย่ทั้งหลาย ซึ่งเนื้อหาที่ออกมายังคงพูดถึงปัญหาโดยรวม ไม่ได้เจาะลึกแต่อย่างใด แต่ถึงอย่างนั้นทางทีมผู้สร้างก็มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเสนอประเด็นทางสังคมให้ทั่วโลกได้ชม Bangkok Breaking: ซีรีส์สะท้อนปัญหาสังคมที่ยังไปไม่ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง Bangkok Breaking: ซีรีส์สะท้อนปัญหาสังคมที่ยังไปไม่ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง เบื้องหลังมหานครเมืองลวง “เราได้รับโจทย์มาจาก Netflix ว่าอยากนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับงานกู้ภัยในกรุงเทพฯ เพราะมันเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับชาวต่างชาติ อาจจะมีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นที่มีงานอาสากู้ภัย” ปราบดา หยุ่น (ผู้จัดและผู้อำนวยการสร้าง) เล่าถึงกระบวนการทำงานของซีรีส์เรื่องนี้ ซึ่งเริ่มจากการหาข้อมูลเกี่ยวกับงานกู้ภัย สัมภาษณ์คนที่ทำงานตามมูลนิธิ อ่านข่าว ดูคลิป เพื่อนำมาพัฒนาบท นอกจากนี้ยังมีการทำเวิร์กชอปร่วมกับอาสาสมัครกู้ภัย และระหว่างถ่ายทำมีเจ้าหน้าที่จาก 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมให้ความรู้ด้วย [caption id="attachment_37125" align="aligncenter" width="587"] Bangkok Breaking: ซีรีส์สะท้อนปัญหาสังคมที่ยังไปไม่ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ปราบดา หยุ่น ผู้จัดและผู้อำนวยการสร้าง[/caption] “ทาง Netflix เองก็ไม่ได้อยากมองกรุงเทพฯ ผ่านสายตาของคนต่างชาติ แต่อยากให้คนไทยได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ซีรีส์เรื่องนี้ให้ได้มากที่สุด และสำหรับเรา งานอาสากู้ภัยมีจุดเด่นอย่างหนึ่ง คือการที่ได้ไปพบเจอผู้คนหลากหลายรูปแบบ จึงเป็นอาชีพที่ได้เห็นมิติต่าง ๆ ของชีวิตผู้คนในกรุงเทพฯ ในหลากหลายแง่มุม” ส่วนผู้กำกับและเขียนบทอย่าง ก้องเกียรติ โขมศิริ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับตัวละครอย่างวันชัยและแคตว่า “เราอยากได้ภาพของ ‘Local Hero’ เป็นคนตัวเล็ก ๆ ที่ตัดสินใจลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างทั้ง ๆ ที่แทบจะไม่มีโอกาส หรือโดนปิดล้อมทุกทาง เป็นตัวแทนของคนต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ดังนั้นคุณเวียร์-ศุกลวัฒน์ เลยเป็นคำตอบ ภายนอกเขามีความแข็งแกร่ง และภายในมีความอ่อนโยน ซึ่งจะสอดคล้องกับทิศทางของเรื่อง [caption id="attachment_37126" align="aligncenter" width="592"] Bangkok Breaking: ซีรีส์สะท้อนปัญหาสังคมที่ยังไปไม่ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับและเขียนบท[/caption] “เราอยากได้นางเอกเป็นผู้หญิงที่น่ารัก มีความเป็นเด็ก ตัวเล็กแต่กัดไม่ปล่อยและไม่ยอมคน บทบาทนี้เลยมาตกที่น้องออม-สุชาร์ แต่เราต้องทำให้ภาพของออมออกมาแตกต่างจากบทบาทที่เคยเล่นมาในเรื่องก่อน ๆ ให้ดูเป็นนักข่าว มีความสู้คน มีความแข็งแกร่ง ก็เลยต้องเปลี่ยนลุคตั้งแต่ทรงผมที่ต้องตัดให้สั้นเพื่อความทะมัดทะแมง หรือวิธีการพูดจา ซึ่งเราได้ความอนุเคราะห์จาก ‘คุณฐปนีย์ เอียดศรีไชย’ ที่อนุญาตให้เราติดตามกองออกไปเวลาทำข่าว ทำให้น้องออมได้เห็นเคสจริง ๆ ว่าการทำงานมันจริงจังและดุเดือดมาก ไม่ใช่ภาพนักข่าวอย่างที่เราเคยเห็น” สำหรับงานด้านโปรดักชัน ฉาก แสง สี และเสียง คืออีกสิ่งหนึ่งที่ทีมงานผู้จัดทำภาคภูมิใจ หากใครที่อยากชมวิวเมืองอันงดงามของกรุงเทพฯ ยามราตรี และติดตามเรื่องราวภายใต้หน้ากากของอาสากู้ภัย รวมไปถึงตอกย้ำปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น และไม่ถูกแก้ไขเสียที Bangkok Breaking - มหานครเมืองลวง จะพาทุกท่านไปชมมุมมืดเหล่านั้น หากยังเห็นในชีวิตประจำวันไม่เพียงพอ เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: Netflix Thailand อ้างอิง: Bangkok Breaking - มหานครเมืองลวง (2021) รับชมผ่านทาง Netflix