บาร์เธเลมี อองฟองแต็ง: ไม่มีเขา ไม่มีคลองสุเอซ โครงการที่แม้แต่นโปเลียนยังถอดใจ

บาร์เธเลมี อองฟองแต็ง: ไม่มีเขา ไม่มีคลองสุเอซ โครงการที่แม้แต่นโปเลียนยังถอดใจ
ปลาย ค.ศ. 1798 (พ.ศ. 2341) นโปเลียน โบนาปาร์ตตัดสินใจยกกองทัพฝรั่งเศสเข้ารุกอียิปต์และซีเรีย ซึ่ง ณ เวลานั้นเป็นดินแดนในปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน โดยอ้างเหตุผลในการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของฝรั่งเศสในแถบอียิปต์ ยึดเส้นทางเพื่อกีดกันทางการค้าต่ออังกฤษ และกล่าวอ้างว่าฝรั่งเศสจะเข้ามาพัฒนาภูมิภาคแถบนี้ด้วยการสร้างองค์กรกิจการทางวิทยาศาสตร์ (scientific enterprise)  ผลของการตัดสินใจของนโปเลียนนำมาซึ่งสงครามย่อย ๆ ระหว่างกองทัพฝรั่งเศส และกองทัพออตโตมันหลายครั้งในช่วง ค.ศ. 1798 - 1801 และแม้กองทัพฝรั่งเศสจะพบกับความพ่ายแพ้ แต่กิจการทางวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศสก็นำไปสู่การค้นพบศิลาโรเซตตา ศิลาโรเซตตา อันเป็นศิลาจารึกที่เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาภาษาอียิปต์โบราณ และจุดเริ่มต้นของแนวคิดคลั่งอียิปต์ (Egyptomania) อันเป็นจุดเริ่มต้นของวงวิชาการอียิปต์ศึกษา (Egyptology)  และอีกหนึ่งสิ่งที่นโปเลียนให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือการค้นพบเส้นทางสัญจรทางน้ำโบราณอายุกว่า 3,500 ปีที่เลิกใช้งานมาตั้งแต่ราว ค.ศ. 800 คลองดังกล่าวทอดตัวจากอ่าวสุเอซบริเวณทะเลแดงทางตอนใต้สู่ทะเลสาปน้ำเค็มทางตอนเหนือ จากนั้นก็เบนตัวไปทางตะวันตกสู่ปลายยอดของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์  เส้นทางนี้เป็นที่รู้จักในเวลาต่อมาคือ คลองแห่งฟาโรห์ (Canal of the Pharaohs) หรือในอีกชื่อหนึ่งคือคลองสุเอซโบราณ (Ancient Suez Canal) ค.ศ. 1804 นโปเลียนมีแนวคิดที่จะสร้างคลองเหนือ - ใต้เพื่อเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง โดยเปลี่ยนเส้นทางคลองสุเอซโบราณขึ้นไปทางเหนือ ทว่าวิศวกรของฝรั่งเศส ณ เวลานั้น คำนวณผิดพลาดว่าระดับของทะเลแดงอยู่สูงกว่าทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถึงราว 10 เมตร ดังนั้นการเชื่อมทะเลดังกล่าวจึงต้องมีการสร้างล็อกเพื่อปรับระดับน้ำในระหว่างการเดินทาง ซึ่งเมื่อประเมินแล้วไม่มีความคุ้มค่าทั้งในทางเวลา ทุน และผลกำไร โครงการขุดคลองเชื่อมทะเลดังกล่าวจึงพับโครงการไป และโลกคงไม่มีคลองขุดเชื่อมทะเลเส้นทางแรกไปอีกนาน หากไม่มีนักธุรกิจ นักการศาสนา และนักปฏิรูปสังคมนิยมที่ชื่อว่า บาร์เธเลมี โพรส์แปร์ อองฟองแต็ง (Barthélemy Prosper Enfantin) อองฟองแต็งเป็นชาวปารีสโดยกำเนิด เขาเกิดในครอบครัวนายธนาคาร เมื่อ ค.ศ. 1813 เขาจบการศึกษาจาก École Polytechnique (L’X) และเริ่มประกอบอาชีพค้าไวน์ใน ค.ศ. 1825 เขาได้พบกับ อองรี เดอ แซงต์ซิมง (Henri de Saint-Simon) นักการเมือง นักการศาสนา และนักปรัชญาตระกูลสังคมนิยมยูโทเปียซึ่งทำให้อองฟองแต็งหลงใหลกับแนวคิดของแซงต์ซิมงจนกลายเป็นหัวหอกเคลื่อนไหวปฏิรูปสังคมตามแนวทางของแซงต์ซิมงด้วยการเทศนาสั่งสอนจนมีผู้ติดตามถึง 40,000 คน  ใน ค.ศ. 1831 อองฟองแต็งเริ่มพัฒนาแนวคิดของแซงต์ซิมงให้ก้าวหน้ามากขึ้นโดยเฉพาะการเรียกร้องให้มีการเพิ่มสิทธิสตรีให้เท่าเทียมกับบุรุษ ซึ่งรวมถึงเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศที่สตรีควรได้รับการยอมรับในทุก ๆ เรื่องเทียบเท่าบุรุษ จนถูกมองว่าเป็นความคิดที่หัวรุนแรง แต่ทว่าความคิดดังกล่าวนี้ทำให้อองฟองแต็งสามารถรวบรวมสาวกได้มากพอจนสามารถสร้างชุมชนนิกายของตนเองที่เขตเมนิลมองตองต์ (Ménilmontant) ในกรุงปารีส การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ทำให้ชุมชนนิกายดังกล่าวถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลฝรั่งเศสว่าอาจเป็นภัยคุกคามต่อศีลธรรมอันดี มีข่าวลือว่าชุมชนนิกายนี้สนับสนุนการมั่วกาม (orgy) จนทำให้อองฟองแต็งต้องถูกจับกุมคุมขังหลายครั้งใน ค.ศ. 1832 ในปีต่อมา หลังได้รับการปล่อยตัว อองฟองแต็งเห็นว่าการเผยแพร่นิกายของเขาในฝรั่งเศสนั้นถูกจับตามองอย่างหนัก เขากับศาสนิกกลุ่มหนึ่งจึงเดินทางสู่เมืองอิสตันบูลและเริ่มเผยแพร่นิกายของเขาที่นั่น ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลออตโตมัน เพียงไม่นานนักอองฟองแต็งก็ได้รับคำขาดจากรัฐบาลออตโตมันให้ออกจากเมืองอิสตันบูลไปเสีย มิเช่นนั้นจะต้องถูกจับ  อองฟองแต็งกับพวกจึงเดินทางสู่อียิปต์ ซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้การดูแลของปาชาร์ มูฮัมมัด อาลี (Muhammad Ali Pasha of Egypt) ผู้ซึ่งพยายามพัฒนาอียิปต์ให้มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในทางอุตสาหกรรมแบบชาวตะวันตก อองฟองแต็งจึงได้รับอนุญาตให้สร้างวิทยาลัยสารพัดช่างตามแบบ École Polytechnique ที่อองฟองแต็งจบการศึกษามา  วิทยาลัยดังกล่าวถูกปาชาร์ อาลีคาดหวังว่าจะสามารถเป็นเครื่องมือพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้แก่อียิปต์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอองฟองแต็งและปาชาร์ อาลีแนบแน่นยิ่งขึ้น ในระหว่างนั้นเองอองฟองแต็งมีแนวคิดอยากรื้อฟื้นการขุดคลองเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดงของนโปเลียน ซึ่งในทางหนึ่งอองฟองแต็งมองว่าจะเป็นการช่วยพัฒนาการขนส่งทรัพยากรจากฝรั่งเศสมาสู่อียิปต์ ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนในการพัฒนาประเทศและทำกำไรให้บริษัทในเครือข่ายของเขาเป็นอย่างมาก  ในอีกทางหนึ่งอองฟองแต็งยังเชื่อในเชิงปรัชญาศาสนาว่า คลองคือสัญลักษณ์ขององคชาตของชาวตะวันตกที่แทรกเข้ามาสู่พื้นที่ของชาวบูรพาทิศอีกด้วย แต่แนวคิดดังกล่าวของอองฟองแต็งถูกปาชาร์ อาลีปฏิเสธ เพราะไม่มีข้อมูลที่หนักแน่นสนับสนุนว่าคุ้มค่ากับการลงทุน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องระดับน้ำทะเลที่แตกต่างกันมาก และปาชาร์ อาลียังมองว่าคลองดังกล่าวจะทำให้เขตแดนอำนาจของปาชาร์ถูกแบ่งแยก และสูญเสียสิทธิทางการปกครองไปในอนาคตได้ ปาชาร์ อาลีจึงเลือกจะส่งอองฟองแต็งและพวกไปพัฒนาเขื่อนทางตอนเหนือของกรุงไคโรแทน  การพัฒนาเขื่อนในครั้งนั้น อองฟองแต็งต้องเจอกับโรคระบาดจนศาสนิกของเขาต้องตายไปหลายคน เขาจึงตัดสินใจลาปาชาร์ อาลี เพื่อเดินทางกลับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1836 ทั้งที่งานพัฒนาเขื่อนยังไม่เสร็จสิ้น อองฟองแต็งแบกรับภาพความล้มเหลวจากอียิปต์ โดยเขามองว่าต้นเหตุของความล้มเหลวคือการไม่มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการเสนอให้พัฒนาโครงการขุดคลองเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง อองฟองแต็งจึงตั้งสมาคมศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองเชื่อมทะเลดังกล่าวที่บ้านของเขาขึ้นในชื่อ สมาคมศึกษาคลองสุเอซ (Société d'Études du Canal de Suez) โดยมีสมาชิกสมาคมรวบรวมจากพรรคพวกที่เรียนจบมาจาก École Polytechnique และเครือข่ายพ่อค้าวาณิช โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากปาชาร์ อาลี และปาชาร์ ลินองต์ (Louis Maurice Adolphe Linant de Bellefonds) ขุนนางอียิปต์ชาวฝรั่งเศสที่รับราชการเป็นวิศวกรให้แก่ราชสำนักอียิปต์  ใน ค.ศ. 1847 สมาคมฯ ตัดสินใจส่งคณะสำรวจ 3 กลุ่มเดินทางสู่อียิปต์ และคณะสำรวจนี้เองเป็นผู้ทำให้ความเข้าใจผิดเรื่องความต่างของระดับน้ำทะเลที่เป็นปัญหาหลักของการขุดคลองเชื่อมทะเลได้รับการพิสูจน์ว่าผิดพลาด โครงการขุดคลองเชื่อมทะเลทำท่าว่าจะเดินหน้าได้อีกครั้ง ทว่าการตายของปาชาร์ อาลี ใน ค.ศ. 1848 อียิปต์จึงสืบทอดอำนาจสู่ปาชาร์ อับบาส (Abbas Helmy I of Egypt) ผู้ซึ่งดำเนินนโยบายปิดกั้นชาติตะวันตก ทำให้โครงการถูกพับไปอีก 6 ปี จนกระทั่งปาชาร์ อับบาสถูกลอบสังหาร จนในปี ค.ศ. 1854 แฟร์ดินองด์ มารี เดอ แลสแซปส์ (Ferdinand Marie de Lesseps) นักการทูตชาวฝรั่งเศสและสมาชิกของสมาคมฯ สนับสนุนความคิดการขุดคลองเชื่อมทะเลขึ้นอีกครั้งด้วยการสนับสนุนของปาชาร์ ซาอิด (Mohamed Sa’id Pasha of Egyth) ผู้เป็นบุตรคนที่สี่ของปาชาร์ อาลี และยังมีศักดิ์เป็นลุงของปาชาร์ อับบาส แม้โครงการขุดคลองของ เดอ แลสแซปส์ และปาชาร์ ซาอิดจะถูกต่อต้านจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร ทว่ารอยจอบแรกของคลองสุเอซก็ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1859 ในทุกวันนี้เดอ แลสแซปส์ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของคลองสุเอซ คลองขุดด้วยมือมนุษย์ 1 ใน 2 คลองของโลก (อีกที่คือคลองปานามา ซึ่งก็เป็นเดอ แลสแซปส์เป็นผู้ริเริ่ม แม้ทำไม่สำเร็จและต้องผ่องถ่ายสู่มือของสหรัฐอเมริกาก็ตาม) เขาคือประธานคนแรกของบริษัทคลองสุเอซ (The Universal Company of the Maritime Canal of Suez)  อนุสาวรีย์ของเดอ แลสแซปส์ตั้งอยู่ ณ พอร์ท ซาอิด ผายมือต้อนรับนักเดินเรือเข้าสู่คลองสุเอซ เขาถูกจดจำในฐานะผู้สามารถเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดงเข้าด้วยกัน ลดระยะการเดินทางอ้อมแหลมกูดโฮปกว่า 8,900 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง 193.3 กิโลเมตร ลดระยะเวลาเดินทาง 1 สัปดาห์ เหลือเพียง 13 ชั่วโมง  ในเวลาที่เดอ แลสแซปส์สานต่องานของอองฟองแต็ง ตัวอองฟองแต็งเริ่มวางมือเพราะเขามีอายุมากเกินกว่าที่จะเดินทางมาคุมงานโครงการที่ตัวเขาใฝ่ฝัน บทบาทของอองฟองแต็ง ณ วันที่โครงการเดินหน้าก็คือเขาได้รับแต่งตั้งโดยเดอ แลสแซปส์ให้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทคลองสุเอซ และได้รับหุ้น 10% จากการดำเนินการของคลองสุเอซ ค.ศ. 1864 บาร์เธเลมี โพรส์แปร์ อองฟองแต็งเสียชีวิตที่กรุงปารีส 5 ปี ก่อนที่คลองสุเอซจะเปิดให้มีการเดินเรือครั้งแรก   ที่มา: Briney. A. (2019, 9 Sep.). Suez Canal History and Overview: Connecting the Red Sea with the Mediterranean. Britannica, The Editors of Encyclopaedia. (2021, 26 Mar.). Barthélemy-Prosper Enfantin. Encyclopedia Britannica Retrieved. https://www.britannica.com/biography/Barthelemy-Prosper-Enfantin. Burleigh, N. (2007). Mirage: Napoleon’s scientists and the unveiling of Egypt. Harper Collins. Fisher, W. B. and Smith, C. (n.d.). Suez Canal. Encyclopedia Britannica. Retrieved. https://www.britannica.com/topic/Suez-Canal. Karabell, Z. (2003). Parting the Desert: The Creation of the Suez Canal. Knopf.   เรื่อง: พิสิษฐิกุล แก้วงาม ภาพ: https://alchetron.com/Barthelemy-Prosper-Enfantin