บาซิล บราวน์ : นักโบราณคดีผู้พลิกประวัติศาสตร์อังกฤษ แต่โลกกลับไม่ได้จารึกชื่อ

บาซิล บราวน์ : นักโบราณคดีผู้พลิกประวัติศาสตร์อังกฤษ แต่โลกกลับไม่ได้จารึกชื่อ
*มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ The Dig   “ผมอาจจะไม่ได้จบจากเคมบริดจ์ แต่ผมก็ขุดสิ่งที่อยู่ใต้นั้นขึ้นมาได้ เจคอบส์กับสปูนเนอร์ก็เหมือนกัน และจะไม่มีใครจำเรื่องนั้นได้” เจ้าของเสียงสนทนาเจือความขมขื่นนี้คือ บาซิล บราวน์ (Basil Brown) นักโบราณคดีชาวอังกฤษมากประสบการณ์ หากแต่ไร้ใบปริญญา เขาเอ่ยกับภรรยาเมื่อครั้งที่คิดจะล้มเลิกการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ของ Netflix เรื่อง ‘The Dig’ ผลงานการกำกับของไซมอน สโตน (Simon Stone) ส่วนผู้รับบทบาซิล บราวน์ ตัวเอกของเรื่องคือ เรล์ฟ ไฟนส์ (Ralph Fiennes) ที่เคยฝากผลงานอันน่าจดจำในภาพยนตร์เรื่อง Schindler’s List  และภาพยนตร์ Harry Potter ในบทบาทโวลเดอร์มอร์  ‘The Dig’ บอกเล่าเรื่องราวของนักโบราณคดีผู้ขุดค้นจนพบวัตถุโบราณที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์อังกฤษ แต่ชื่อของเขากลับไม่ได้ถูกจารึกในฐานะผู้ค้นพบจนกระทั่งบราวน์เสียชีวิตไปนานหลายปี แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะดัดแปลงจากนวนิยาย ‘The Dig’ ของ จอห์น เพรสตัน (John Preston) มาอีกที และมีหลายฉากที่ต่างไปจากหน้าประวัติศาสตร์จริงอย่างตัวละคร รอรี่ โลแม็กซ์ (Rory Lomax) ที่ไม่มีอยู่จริง หรือฉากดินถล่มระหว่างการขุดค้นของบราวน์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่แก่นของเรื่อง ‘The Dig’ ยังคงสะท้อนความหลงใหล ความมุมานะ และความสำเร็จอันเงียบงันของบาซิล บราวน์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญคนนี้   ชายผู้หลงใหลในโบราณคดี บาซิล บราวน์ตัวจริงเกิดในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1888 เขาเป็นลูกชายคนเดียวของชาวนาในมณฑลซัฟโฟล์ก  (Suffolk) เข้าเรียนในโรงเรียนเล็ก ๆ ใกล้หมู่บ้าน แต่บราวน์กลับรู้สึกว่าเขาไม่ได้ชอบวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนเท่าไร เพราะเขามักจะพยายามพิสูจน์ว่าครูของเขาสอนผิดแทบทุกครั้งที่มีโอกาส บราวน์ออกจากโรงเรียนตอนอายุ 12 และเริ่มศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งภาษา ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และธรณีวิทยา ซึ่งต่อมาการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเขา ได้กลายเป็นทั้งจุดเด่นและข้อจำกัดที่ทำให้คนมองว่าเขาเป็นนักโบราณคดีมือสมัครเล่น เพราะไม่มีใบปริญญามารองรับ ในปี 1923 บราวน์แต่งงานกับโดโรธี เมย์ (Dorothy May) แม้จะรับช่วงต่อดูแลฟาร์มของครอบครัว แต่เขายังคงสนใจศึกษาท้องฟ้ายามราตรีและขุดค้นลงไปสำรวจใต้ผืนดินซะมากกว่า บราวน์ใช้เวลาหลายปีไปกับการสำรวจพื้นที่ทางตอนเหนือของซัฟโฟล์ก เพื่อค้นหาศิลปวัตถุของชาวโรมัน จนกระทั่งปี 1934 ผลงานการขุดค้นที่ Calke Wood ทำให้บราวน์พบวัตถุโบราณ เช่น เตาเผาแบบโรมันสำหรับทำเครื่องปั้นดินเผา เป็นจุดเริ่มต้นให้บราวน์ได้รับความสนใจจากพิพิธภัณฑ์อิปสวิช และทำให้เขารู้จักกับ กาย เมย์นาร์ด (Guy Maynard) ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ผู้ซึ่งติดต่อทำสัญญาให้เขาทำงานร่วมกับทางพิพิธภัณฑ์จนกระทั่งเกษียณอายุ แม้จะได้ทำงานที่รัก แต่ค่าตอบแทนที่บราวน์ได้กลับไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต เขาจึงต้องทำงานขายประกันควบไปกับการเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจพิเศษ จนกระทั่งปี 1938 เมื่อสงครามโลกใกล้เข้ามา ขณะที่อนาคตของประเทศยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย แต่พิพิธภัณฑ์อิปสวิช กลับติดต่อบราวน์ให้ไปขุดหาอดีตจากเนินลึกลับบนที่ดินของอีดิธ พริตตี้ (Edith Pretty) ที่ซัตตันฮู (Sutton Hoo) ในมณฑลซัฟโฟล์ก (Suffolk) ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของลอนดอน    การค้นพบอันสั่นคลอนประวัติศาสตร์ บราวน์เริ่มการขุดค้นร่วมกับคนสวนของคุณนายพริตตี้อีก 2 คน ด้วยความที่เขาหลงใหลการให้ความรู้กับคนอื่น ๆ บราวน์จึงมักจะอนุญาตเด็ก ๆ ให้เข้ามาร่วมขุด หรือให้ช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างการขุดค้น แถมยังช่วยอธิบายให้เข้าใจถึงความสำคัญของชิ้นส่วนที่ขุดพบ และเบาะแสจากสีของดินที่เปลี่ยนแปลงไป บราวน์จึงคล้ายกับคุณลุงใจดีที่พาเด็ก ๆ ทัศนศึกษาอดีตผ่านเรื่องราวลึกลับที่ค่อย ๆ เผยออกมาให้เห็นใต้เนินดินอันเก่าแก่แห่งนี้ และแล้วในระหว่างที่พวกเขาเริ่มขุดชั้นหญ้าและทรายออก หมุดที่เป็นสนิมก็ปรากฏให้เห็นขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 1,000 ปี เมื่อเรื่องไปถึงหูชาร์ลส์ ฟิลลิปส์ (Charles Phillips) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ว่าซัตตันฮูได้กลายเป็นสถานที่ที่มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ ฟิลลิปส์จึงเข้ามารับช่วงการขุดค้นแทน ส่วนบราวน์ก็เกือบจะถอดใจถอนตัวออกจากการขุดค้น  แต่คุณนายพริตตี้ยังยืนยันที่จะจ้างบราวน์เพื่อทำงานร่วมกับทีมของฟิลลิปส์ต่อไป บวกกับภรรยาของเขาที่กล่าวว่า “ถ้าคุณไม่อยู่ต่อจนจบ โอกาสก็จะยิ่งน้อยลง คุณบอกฉันว่างานของคุณไม่เกี่ยวกับอดีตหรือปัจจุบัน แต่เพื่ออนาคต เพื่อให้คนรุ่นหลังรู้ว่าเขามาจากไหน สายใยที่ยึดโยงพวกเขากับบรรพบุรุษ คุณพูดแบบนั้นไม่ใช่หรือ จะมีเหตุผลอะไรที่พวกคุณไปเล่นขุดดินกัน ในขณะที่คนที่เหลือทั้งประเทศกำลังเตรียมตัวรับสงคราม เพราะมีความหมายบางอย่างใช่ไหม บางอย่างที่จะยืนยาวกว่าสงครามบ้าบอที่เรากำลังจะเจอ” นี่เป็นเหตุผลให้บราวน์หันไปคว้าจักรยานคันเก่า สองเท้าของเขาถีบจักรยานคู่ใจมุ่งไปยังบ้านของคุณนายพริตตี้ เพื่อกลับไปสานต่อการขุดค้น หลังจากการขุดค้นผ่านไปพักหนึ่ง ผิวดินเริ่มเผยให้เห็นซากเรือแองโกล-แซกซัน (Anglo-Saxon) และวัตถุโบราณอันทรงคุณค่าจำนวนมากที่ถูกฝังไว้ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 7 โดยมีทั้งรอยประทับเรือ 3 มิติและโครงร่างของเรือขนาด 27 เมตร ใช้ฝังศพชาวแองโกล-แซกซัน ในยุคกลางตอนต้น นับเป็นการค้นพบครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์อังกฤษ เพราะเป็นหลักฐานว่าศิลปะและวัฒนธรรมไม่ได้จางหายหรือหยุดชะงักไปในยุคกลาง ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นยุคมืดมาตลอด เหตุการณ์นี้สั่นคลอนประวัติศาสตร์อังกฤษและกระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจโบราณคดีมากยิ่งขึ้น   นักโบราณคดีที่ไม่ได้ถูกจารึกชื่อ หลังการขุดค้นสำเร็จ สมบัติดังกล่าวได้ถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์บริติชในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ซึ่งไม่มีการระบุชื่อของ บาซิล บราวน์ บนป้ายข้อมูล เช่นเดียวกับตอนท้ายของภาพยนตร์ ‘The Dig’ ที่ได้กล่าวถึงบทสรุปชีวิตของบราวน์และผลงานของเขาว่า  “สมบัติแห่งซัตตันฮูรอดพ้นจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกนำมาแสดงต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรกหลังจากที่อีดิธเสียชีวิตไปเก้าปี ไม่มีการกล่าวถึงบาซิล บราวน์ แต่การอุทิศตนอันโดดเด่นของบาซิล เพิ่งได้รับการยอมรับเมื่อไม่นานมานี้ ชื่อของเขาปรากฏอยู่ถัดจากชื่อของอีดิธ ในห้องจัดแสดงถาวรของพิพิธภัณฑ์บริติช” แม้ชื่อของบาซิล บราวน์ จะปรากฏให้เห็นเมื่อไม่นานมานี้ และเพิ่งจะเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนมากขึ้นผ่านภาพยนตร์และนวนิยายเรื่อง The Dig แต่ภาพชายผู้ใจดีที่สวมสูทผ้าเนื้อละเอียด ผูกเนคไท และสูบบุหรี่ ยังคงตราตรึงในหัวใจของเด็ก ๆ เพื่อนบ้านและผู้คนที่อยู่ในละแวกนั้นเสมอมา เพราะพวกเขาได้เห็นความทุ่มเทของบราวน์ตลอดการขุดค้น “เราตายและย่อยสลายไป เราไม่อยู่ยืนยง” คุณนายพริตตี้กล่าว “ผมว่าผมไม่เห็นด้วยนะ ตั้งแต่รอยฝ่ามือบนผนังถ้ำของมนุษย์คนแรก เราเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นเราจึงไม่ตายแล้วตายเลย” คำตอบของบราวน์ในเรื่อง The Dig นี้คงเป็นเฉกเช่นเดียวกับตัวเขาเองที่เป็นส่วนหนึ่งของการค้นพบและเรื่องราวประวัติศาสตร์อังกฤษที่ยังมีลมหายใจ แม้ว่าร่างของเขาจะดับสลายหายไปจากโลกใบนี้แล้วก็ตาม   ที่มา