การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 : การทลายเรือนจำเพื่อหมุดหมายของเสรีภาพและเท่าเทียม

การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 : การทลายเรือนจำเพื่อหมุดหมายของเสรีภาพและเท่าเทียม

พวกเขาไม่ได้กระด้างกระเดื่องหรือกำเริบ แต่นี่คือการปฏิวัติ

ทุกวันที่ 14 กรกฎาคมของทุกปี นับตั้งแต่ปี 1789 ฝรั่งเศสจะเรียกวันนี้ว่าวันบัสตีย์ (Bastille Day) หรือวันชาติฝรั่งเศส เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ สังคม และการเมืองของประเทศ จากการบุกไปยังเรือนจำบัสตีย์ที่เป็นสัญลักษณ์การกดขี่ของระบอบกษัตริย์ฝรั่งเศส ทำลายอาคารกับป้อมปราการจนราบ เพื่อแสดงให้เห็นอำนาจของประชาชนที่ไม่ยอมอยู่ภายใต้การทำตามใจชอบของชนชั้นปกครอง เหตุการณ์การพังคุกบัสตีย์ที่ถูกกล่าวขานจนถึงปัจจุบัน เกิดขึ้นในยุคที่ฝรั่งเศสอยู่ภายใต้การปกครองของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ช่วงเวลานั้นถือเป็นเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจสืบเนื่องจากรัชกาลก่อน ประเทศเป็นหนี้มหาศาลจากการเข้าร่วมสงครามบนผืนแผ่นดินอเมริกา และระบบทุนนิยมที่เริ่มไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อท้องพระคลังถังแตก รัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สั่งเก็บภาษีจากประชาชนสูงขึ้น ทั้งที่ชาวบ้านแทบไม่มีจะกิน ขนมปังที่เป็นอาหารหลักราคาสูงจนน่าใจหาย พืชผลเก็บเกี่ยวน้อยลงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งให้สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนโดยรวมย่ำแย่กว่าที่เคยเป็นมา ปารีสอันสวยงามเต็มไปด้วยโจรผู้ร้าย ประชาชนโกรธแค้นกับความเป็นอยู่แร้นแค้นไม่รู้จะไปลงกับใคร บางคนบุกปล้นจับเจ้าของร้านขนมปังมาแขวนคอ เพราะคิดว่าพวกเขากักตุนแป้งสาลี ภาษีก็เก็บแพงขึ้น ปัญญาชนที่ไม่มีบรรดาศักดิ์เรียกร้องให้รัฐบาลของกษัตริย์แก้ปัญหาปากท้อง เมื่อมีเสียงวิจารณ์เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นความกดดัน พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงต้องเปิดประชุมสภาฐานันดรที่ไม่ได้จัดมาเป็นร้อยปีเพื่อหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้น การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 : การทลายเรือนจำเพื่อหมุดหมายของเสรีภาพและเท่าเทียม การประชุมสภาฐานันดร ประกอบด้วยนักบวชหรือพระที่เป็นฐานันดรที่ 1 ฐานันดรที่ 2 คือเหล่าขุนนาง และฐานันดรที่ 3 เป็นสามัญชนหรือชนชั้นกระฎุมพี อย่างไรก็ตาม การประชุมไม่ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น เนื่องจากการโหวตมติหรือนโยบายใด ๆ ถูกโหวตตามฐานันดรไม่ใช่รายบุคคล ถึงแม้ที่ประชุมมีสมาชิกฐานันดรที่ 3 เยอะสุด แต่นับเป็น 1 โหวตอยู่ดี พวกเขาไม่มีวันชนะเพราะฐานันดร 1 กับ 2 คิดไปในทางเดียวกัน เหตุผลที่ชนชั้นสูงคิดเหมือนกันเป็นเพราะฐานันดรที่ 1 และ 2 ได้รับการงดเว้นหลายอย่าง โดยเฉพาะการไม่ต้องเสียภาษี พวกเขาไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงเพราะชีวิตสงบสุขอยู่แล้ว ต่างจากฐานันดรที่ 3 ที่ต้องแบกค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ประกอบกับแนวคิดยุคปรัชญาแสงสว่างที่เข้ามายังฝรั่งเศสมากขึ้นเรื่อย ๆ แนวคิดที่ว่าคนทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้สร้างความรู้สึกไม่ยุติธรรมแก่สามัญชน ตัวแทนจากฐานันดรที่ 3 เริ่มเอาใจออกหากรัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พวกเขาไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเองต้องทำงานหนักเลี้ยงพวกเจ้า พระ และขุนนางที่ไม่ต้องจ่ายภาษี เหล่านักกฎหมาย ปัญญาชน นักเขียน จึงพากันไปจัดตั้งสภาของตัวเองแทนชื่อ ‘สมัชชาแห่งชาติ’ หรือ ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ’ ที่สาบานร่วมกันในสนามเทนนิสว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นให้ได้ เพื่อเปลี่ยนระบอบการเมืองการปกครองเสียใหม่ ความคิดของชาวฝรั่งเศสแตกออกเป็นสองฝ่ายใหญ่ ๆ ฝ่ายหนึ่งคือคนที่เห็นชอบกับการปกครองเดิม เป็นกลุ่มขุนนางอนุรักษนิยมมองว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่จำเป็นต้องถูกโค่นล้ม ระบอบกษัตริย์จะปกครองฝรั่งเศสให้ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ กับอีกกลุ่มที่ต้องการการเมืองแนวใหม่ ต้องการร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการพร้อมกับกษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อเกิดความขัดแย้งทางความคิด ผู้มีอำนาจสั่งทหารให้จัดการชาวบ้านที่ก่อความวุ่นวาย เวลาเดียวกันนายทหารบางคนถูกจับขังคุกเพราะปฏิเสธคำสั่งยิงใส่ฝูงชน จุดแตกหักครั้งสำคัญพาไปสู่การปฏิวัติการเมืองการปกครองฝรั่งเศสส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เรียกกองทหารผู้จงรักภักดีที่อยู่ต่างเมืองและต่างประเทศกลับมาประจำการยังปารีส ควบคู่กับพระราชโองการปลด ฌาค แนแกร์ (Jacques Necker) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังในวันที่ 12 กรกฎาคม 1789 ด้วยพระองค์มองว่าชายคนนี้เห็นอกเห็นใจชาวบ้านมากเกินไป การกระทำของกษัตริย์สร้างความหวาดระแวงแก่ประชาชน ผู้คนเลยพากันออกมาเดินประท้วงทั่วปารีส การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 : การทลายเรือนจำเพื่อหมุดหมายของเสรีภาพและเท่าเทียม จากการเดินประท้วงของผู้ชุมนุมไร้อาวุธเริ่มพัฒนาสู่ความรุนแรงมากขึ้น เกิดการปะทะกันของกองทัพกับฝูงชน ประชาชนที่โกรธแค้นการใช้อำนาจของกลุ่มอนุรักษนิยมเริ่มบุกเข้าสถานที่ราชการ อาทิ การทำลายข้าวของสำนักงานศุลกากร เพราะมองว่าศุลกากรทำงานบกพร่องจนสินค้าในประเทศมีราคาสูงจนแทบซื้อไม่ไหว นอกจากนี้ เหล่าสมาชิกราชวงศ์ที่ลงมาคุมกองทัพทหารเกิดความหวาดระแวง กลัวว่าพลทหารเข้าร่วมกับฝ่ายประชาชน จึงโยกย้ายทหารจากหน่วยหนึ่งไปอีกหน่วยเป็นว่าเล่น ก่อให้เกิดความสับสนและสร้างความไม่มั่นใจให้กับเหล่าทหารใต้บังคับบัญชา หลังฝรั่งเศสเกิดความวุ่นวายต่อเนื่องหลายวัน เช้าวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 ประชาชนราวหนึ่งพันคนวางแผนบุกเข้าไปยังคุกบัสตีย์เพื่อชิงปืนคาบศิลา ปืนใหญ่ และดินปืน ที่ถูกเก็บไว้จำนวนมากมาใช้ในการปฏิวัติ ประกอบกับคุกแห่งนี้ถูกสร้างมาเป็นเวลานาน เป็นสัญลักษณ์จำไม่ลืมจากการใช้อำนาจตามใจตัวเองของกษัตริย์และเหล่าชั้นสูง เกิดการยิงใส่กันบริเวณทางเข้าเรือนจำ เหตุการณ์ชุลมุนในพื้นที่เรือนจำเริ่มตั้งแต่เช้ายาวถึงช่วงเย็น ฝ่ายทหารเฝ้าเรือนจำตัดสินใจยอมจำนน เพราะไม่อยากให้การต่อสู้ยืดเยื้อไปมากกว่านี้ ยอมเปิดประตูให้ชาวฝรั่งเศสกรูเข้าไปยังคุกบัสตีย์ ชาวบ้านที่โกรธแค้นตัดหัวผู้ดูแลคุกแห่รอบปารีส ปลดเปลื้องอดีตอันขื่นขมด้วยการทุบกำแพง ถอนอิฐออกทีละก้อน บางคนนำอิฐของเรือนจำไปขาย เพราะอิฐก้อนนี้คือสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ที่กษัตริย์ฝรั่งเศสพึงกระทำต่อคนใต้ปกครอง การบุกทลายคุกบัสตีย์วันที่ 14 กรกฎาคม 1789 ไม่ได้มีใจความสำคัญว่าจะปลดปล่อยคนในคุก เพราะตอนนั้นมีนักโทษเพียงไม่กี่คน นอกจากเรื่องดินปืนคือสัญลักษณ์บ่งบอกว่าชาวฝรั่งเศสไม่ต้องการเห็นการใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้ปกครองอีกต่อไป และรู้สึกอดสูกับการปกครองที่ไม่สนใจปากท้องความเป็นอยู่ของประชาชน การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 : การทลายเรือนจำเพื่อหมุดหมายของเสรีภาพและเท่าเทียม เหตุการณ์บุกเรือนจำสร้างความหวาดวิตกแก่กลุ่มขุนนางและราชวงศ์ ควบคู่กับปลดปล่อยกระแสการปฏิวัติให้กึกก้องไปทั่วแผ่นดิน จนท้ายที่สุดหลังจากความวุ่นวายจบลง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ สมัชชาแห่งชาติได้ประกาศว่า ทุกคนต่างมีสิทธิเท่าเทียมกันในการประกอบอาชีพ ยกเลิกสิทธิพิเศษของกลุ่มฐานันดรต่าง ๆ ยกเลิกการยกเว้นภาษีพระ จากนั้นประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองจนเกิดวลี “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” อันลือลั่นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 1789 ร่างรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกแห่งฝรั่งเศสเสร็จสมบูรณ์ในปี 1791 รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากการปฏิวัติอเมริกา ที่สามารถปลดแอกออกจากอังกฤษและร่างรัฐธรรมนูญ ฝรั่งเศสจึงเปลี่ยนจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการเมืองการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติปี 1789 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเส้นทางอันยาวนานของการเมืองฝรั่งเศส เราจะเห็นพัฒนาการของพวกเขาหลายต่อหลายครั้ง จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ช่วงเวลาหนึ่งฝรั่งเศสเข้าสู่ยุคการปกครองด้วยความหวาดกลัว เพราะรัฐบาลสั่งตัดหัวคนด้วยกิโยตินเป็นว่าเล่น แล้วถัดมาเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ แต่อยู่ได้ไม่นานก้าวสู่การปกครองแบบจักรวรรดิโดยนโปเลียน โบนาปาร์ต ที่ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 : การทลายเรือนจำเพื่อหมุดหมายของเสรีภาพและเท่าเทียม หลังความพ่ายแพ้ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ฝรั่งเศสกลับมาสู่ยุคฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ แต่ถูกประชาชนล้มเจ้าอีกครั้งเพื่อเปลี่ยนระบอบเป็นสาธารณรัฐ ต่อมาเกิดรัฐประหารพาประเทศกลับมาเป็นจักรวรรดิอีกครั้ง ทว่าถูกโค่นอีกรอบเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ สลับสับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เป็นเวลานานกว่า 231 ปี ที่ฝรั่งเศสมีระบบการปกครองและรัฐธรรมนูญมากกว่า 17 ครั้ง จนสุดท้ายได้ระบอบสาธารณรัฐที่มีเสถียรภาพมากพอและใช้ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แม้มีความวุ่นวายหลายยุคหลายสมัย อย่างน้อยประชาชนชาวฝรั่งเศสก็ได้ลองและได้เลือกระบอบการเมืองการปกครองด้วยตัวเอง พวกเขาได้แสดงความคิดเห็น ร่วมกันเลือก ร่วมกันโต้แย้งต่อสู้ทางความคิด แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการเมืองก้าวหน้า ทำให้ฝรั่งเศสถือเป็นเมืองต้นแบบ เป็นกรณีศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองให้กับอีกหลายประเทศบนโลก  

นับตั้งแต่วันที่คุกบัสตีย์แตก ผ่านมากว่า 231 ปี ฝรั่งเศสในตอนนี้ไม่เหมือนวันเก่าอีกต่อไป

  ที่มา สัญชัย สุวังบุตร. 2552. ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญสู่สาธารณรัฐ: ฝรั่งเศส ค.ศ. 1815-1970. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์ เกรียงศักดิ์ เจริญธนาวัฒน์. 2543. ระบบการเมืองการปกครองฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ: สยามศิลป์การพิมพ์ สภาวะยกเว้น: ปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล https://time.com/4402553/bastille-day-history-july-14/ https://www.britannica.com/topic/Bastille-Day https://www.history.com/topics/france/bastille-day   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์