บีเพิล: เศรษฐีออนไลน์จากการขายภาพ NFT ที่ใช้เวลาวาด 14 ปี ในราคา 2,000 กว่าล้านบาท

บีเพิล: เศรษฐีออนไลน์จากการขายภาพ NFT ที่ใช้เวลาวาด 14 ปี ในราคา 2,000 กว่าล้านบาท
ในโลกปัจจุบันที่ชีวิตผู้คนต่างขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยี เราต่างใช้ชีวิตประจำวันควบคู่ไปกับโลกเสมือนจริงอย่างโลกไซเบอร์ แต่เราอาจคาดไม่ถึงว่าเราจะสามารถทำเงินได้ถึง 69 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2,000 กว่าล้านบาท จากโลกออนไลน์ได้อย่างชายคนนี้ ‘ไมค์ วินเคิลแมนน์’ (Mike Winkelmann) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘บีเพิล’ (Beeple) คือชายผู้โด่งดังจากการขายภาพวาดดิจิทัล ‘Everydays: the First 5000 Days’ ที่เขารังสรรค์ขึ้นมาโดยใช้เวลาทั้งสิ้น 14 ปีในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลที่เรียกว่า NFT (Non-Fungible Token) ‘บีเพิล’ ชื่อในวงการที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตุ๊กตาตัวเก่าที่มีลักษณะคล้ายอีวอก (Ewok) คือใครกัน? นี่คือเรื่องราวของเขา   จากนักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เคว้งคว้าง สู่การเป็น ‘บีเพิล’ บีเพิลเกิดเมื่อปี 1981 เติบโตอยู่วิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เขาไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับสภาพแวดล้อมที่ห้อมล้อมไปด้วยศิลปะเลยแม้แต่น้อย แต่ในทางตรงกันข้าม เขาโตมากับครอบครัวที่คุณพ่อมีอาชีพเป็นวิศวกรไฟฟ้า และเป็นผู้สอนให้เขารู้จักเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่วนคุณแม่ทำงานอยู่ที่ศูนย์บ้านพักคนชราประจำท้องถิ่น ชีวิตวัยเรียนของบีเพิล เขาแทบไม่เคยเสียเงินไปกับการเข้าคอร์สเรียนเกี่ยวกับศิลปะ แต่เขาได้เรียนศิลปะแค่ปีแรกของไฮสคูลเท่านั้น พอจบไฮสคูลเขาเลือกที่จะศึกษาต่อและจบปริญญาตรีในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ Purdue University ช่างน่าเศร้าที่เส้นทางวัยเรียนของเขาช่างเคว้งคว้างนัก เพราะเขาพบว่าสิ่งที่เขาเรียนกลับไม่ใช่สิ่งที่ชีวิตเขาปรารถนา จนกระทั่งบีเพิลได้ริเริ่มทำหนังสั้นผ่านกล้องเว็บแคมคู่ใจ และได้เรียนรู้ดิจิทัลดีไซน์ก็ทำให้โลกของเขานั้นเปลี่ยนไป เขาได้สร้างผลงานการเคลื่อนไหวรูปทรงเรขาคณิตประกอบดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ด้วยฝีมือของเขาเอง และโพสต์ให้ผู้คนบนโลกได้เห็นในปี 2546 ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในเส้นทางศิลปะดิจิทัลของเขาเลยก็ว่าได้   ก้าวเล็ก ๆ ของไมค์ วินเคิลแมนน์ จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในตอนนั้น ทำให้บีเพิลได้ก้าวเข้าสู่วงการภาพดิจิทัล ซึ่งเขาก็ได้ผ่านการทำผลงานมาอย่างหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นหนังสั้น, คอนเสิร์ตเสมือนจริง หรือ VJ Loops และยังสามารถทำเงินได้จากการขายผลงานผ่าน NFT (Non-fungible Token) และในที่สุดจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปก็มาถึง เมื่อ ‘Everydays: the First 5000 Days’ ผลงานชิ้นโบแดงของเขาถูกประมูลไปด้วยราคาเกือบเจ็บสิบล้านเหรียญสหรัฐ   จากงาน 100 เหรียญ สู่ผลงานชิ้นเอก ราคา 69 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซของบีเพิลได้เริ่มก่อร่างในช่วงเวลากลางปี 2007 ซึ่งบีเพิลเองได้รับแรงบันดาลใจจาก ทอม จัดด์ (Tom Judd) ศิลปินชาวอังกฤษที่ในทุกวันจะลงมือสร้างผลงานจากการสเก็ตช์ภาพ โดยในวันแรกของเดือนพฤษภาคมปีนั้นเอง เขาได้เริ่มการทำโปรเจกต์ชิ้นใหญ่ที่ชื่อว่า ‘Everydays: the First 5000 Days’  ผ่านการตั้งปณิธานว่าเขาจะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในทุก ๆ วันโดยใช้เวลาทั้งสิ้น 14 ปี ผลงานชิ้นนี้เขาเลือกที่จะถ่ายทอดชีวิตของผู้คนที่ดำรงชีวิตอยู่ในยุคที่มีความโมเดิร์น ผู้คนต่างใช้ชีวิตอยู่กับความหลงใหลในเทคโนโลยี ซึ่งทุกวันที่บีเพิลรังสรรค์ผลงาน เขาเองก็พยายามที่จะสร้างผลงานที่แปลกใหม่และค้นหาเทคนิคใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด “ผลงานชิ้นนี้ของผมถูกออกแบบมาอย่างไร้กฎเกณฑ์ในแต่ละวัน ในช่วงเวลาก่อนเที่ยงคืน ผมต้องคิดว่าผมจะวาดอะไร การที่ผมต้องเริ่มต้นจากการที่ไม่มีอะไรเลยในแต่ละวัน ทำให้ผมรู้สึกว่าผมต้องต่อสู้กับอุปสรรค แต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนว่าผมก็ได้รับคำอวยพรจากพระเจ้าด้วย เพราะมันช่วยให้ผมไม่ต้องเผชิญหน้ากับความกลัว และไม่ต้องพบเจอกับภาวะที่หน้ากระดาษว่างเปล่า แต่ทว่าอีกด้านมันก็กลายเป็นความกดดันสำหรับผม เพราะผมจะต้องวาดงานให้ออกมาดีในระยะเวลาอันน้อยนิด หรือเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น”   สิ่งใดมีคนปรารถนา สิ่งนั้นย่อมมีคุณค่า “ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีคนปรารถนา สิ่งนั้นก็ย่อมมีคุณค่า” บีเพิลกล่าวถึงผลงานชิ้นโบแดงที่เขาสร้างสรรค์ขึ้น ‘Everydays: the First 5000 Days’ ในตอนแรกผลงานชิ้นนี้ถูกประมูลบน Christie’s (คริสตี้) ด้วยมูลค่าเริ่มต้นเพียง 100 เหรียญฯ เท่านั้น แต่ด้วยฐานผู้ติดตามบนอินสตาแกรมของบีเพิลที่มีจำนวนผู้ติดตามมากถึง 2 ล้านบัญชี ควบไปกับการที่ชิ้นงานของบีเพิลสามารถถ่ายทอดอารมณ์ของการเสียดสีวัฒนธรรมและการเมืองสมัยใหม่ และยังเป็นรูปแบบ NFT จึงทำให้เขาสามารถขาย ‘Everydays: the First 5000 Days’ ด้วยราคาประมูลสูงถึง 69,346,250 ล้านเหรียญฯ ได้ และติดโผ Top 3 ศิลปินที่สร้างเม็ดเงินจากการขายภาพวาดดิจิทัล โดยมูลค่าผลงานของเขาเป็นรองงานของเดวิด ฮอคนีย์ (David Hockney) ที่ผลงานถูกประมูลไปด้วยราคา 90 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018 และงานของเจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons) ที่ถูกประมูลไปด้วยราคา 91 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 เท่านั้น   ชีวิตที่พลิกผันจนได้ร่วมงานกับศิลปินและแบรนด์ใหญ่ระดับโลก ก่อนหน้านั้นบีเพิลได้สร้างสรรค์ผลงานไว้มากมายและหลากหลาย โดยปกติแล้วชิ้นงานส่วนใหญ่ของเขามักจะเป็นงานศิลปะที่ถูกถ่ายทอดผ่านชีวิตผู้คน, การเมืองในอเมริกา หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ๆ  เขาเริ่มขายภาพวาดดิจิทัลตั้งแต่ปี 2007 รวมถึงได้มีโอกาสทำงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะดิจิทัล อย่างเช่นการไปเป็นเบื้องหลังในการสร้างคอนเสิร์ตเสมือนจริงให้ศิลปินชื่อดังอย่าง Imagine Dragons, One Direction, Justin Bieber, Katy Perry, Eminem และ Nicki Minaj จนกระทั่งในปี 2020 บีเพิลได้มีโอกาสร่วมงานกับแบรนด์ลักชัวรีชื่อดังอย่าง ‘Louis Vuitton’ ที่ผลงานของเขาถูกนำไปใช้สำหรับเสื้อผ้า Ready-to-Wear ในคอลเลกชัน Fashion House Spring/Summer 2019 รวมถึงแบรนด์ดังอื่น ๆ อีกมากมายอย่าง Coca-Cola และ Nike อีกทั้งบีเพิลยังได้มีส่วนร่วมในการแสดงช่วงพักครึ่ง Super Bowl ในปี 2020 ในส่วนของสเตจ Jennifer Lopez อีกด้วย   เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งศิลปะร่วมสมัย บีเพิลทำให้โลกได้เห็นถึงการมีอยู่ของงานศิลปะที่ถูกสรรสร้างให้เข้ากับยุคสมัยผ่านการใช้เทคโนโลยีที่อยู่รอบตัวเรา อาจกล่าวได้ว่าศิลปะที่ผสมผสานกับโลกดิจิทัลอาจจะกลายเป็นอนาคตของโลกศิลปะสมัยใหม่เองก็ว่าได้ ดั่งประโยคที่บีเพิลเคยกล่าวไว้ “ผมมองว่าผลงานเหล่านี้คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการศิลปะ ตอนนี้ศิลปะที่เป็นงานดิจิทัลก็มีเส้นทางเป็นของตัวเองแล้วเช่นกัน” - ไมค์ วินเคิลแมนน์   เรื่อง: ชุลิตา วิไลเจริญตระกูล ที่มา: https://www.theverge.com/2021/3/11/22325054/beeple-christies-nft-sale-cost-everydays-69-million https://www.nytimes.com/2021/03/11/arts/design/nft-auction-christies-beeple.html https://www.forbes.com/sites/abrambrown/2021/03/11/beeple-art-sells-for-693-million-becoming-most-expensive-nft-ever/?sh=46b5d7632448 https://obpedia.com/beeple-net-worth/ https://www.christies.com/features/Monumental-collage-by-Beeple-is-first-purely-digital-artwork-NFT-to-come-to-auction-11510-7.aspx https://www.esquire.com/entertainment/a35500985/who-is-beeple-mike-winkelmann-nft-interview/ https://www.schoolofmotion.com/blog/beeple-louis-vuitton https://www.beeple-crap.com/everydays https://www.businessinsider.com/beeple-nft-mike-winkelmann-digital-art-christies-2021-3 https://time.com/5958756/story-behind-time-beeple-future-of-business-cover/ https://www.beeple-crap.com/resources https://www.newyorker.com/tech/annals-of-technology/how-beeple-crashed-the-art-world https://www.livedesignonline.com/concerts/super-bowl-liv-halftime-show-credits-list https://www.mic.com/p/who-is-beeple-why-did-his-nft-just-sell-for-69-million-65874594 https://www.schoolofmotion.com/blog/beeple-interview/ ภาพ: Instagram @beeple_crap Wikipedia