เบโทเฟน: 250 ปี คีตกวีโลกไม่ลืม บทเพลงจากนโปเลียนสู่ชัยชนะสงครามโลกครั้งที่สอง

เบโทเฟน: 250 ปี คีตกวีโลกไม่ลืม บทเพลงจากนโปเลียนสู่ชัยชนะสงครามโลกครั้งที่สอง
เทพเจ้าและเทพปกรณัม (1) เมื่อพูดถึงนักแต่งเพลงหรือ คีตกวี (composer) ของวงการดนตรีคลาสสิกแล้ว ชื่อต้น ๆ ที่ทุกคนนึกถึงคงหนีไม่พ้น เบโทเฟน (Ludwig van Beethoven, ถอดเสียง ลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน) แล้วสิ่งที่ชื่อเบโทเฟนอาจพาให้เราได้นึกถึงต่อไปก็คงเป็นเพลงที่มีชื่อเสียงหลายบท เช่น เพลงที่หลายคนน่าจะต้องเคยผ่านหูมาบ้างอย่าง ซิมโฟนีหมายเลข 5 ที่เปิดด้วยโน้ต 4 ตัว “แท้ม แท้ม แท้ม แถ่มมมม” หรืออย่างทำนองเพลง Ode to Joy (ในเมืองไทยเคยเป็นเพลงประกอบโฆษณาเบียร์ยี่ห้อหนึ่ง) เป็นต้น รวมไปถึงเรื่องเล่าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องว่าเขาคือนักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่ที่ต้องทุกข์ทรมานกับชะตากรรมอันเลวร้ายเพราะหูกำลังค่อย ๆ หนวกลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถได้ยินเสียงเพลงของตัวเอง และสี่โน้ตอันโด่งดังนั่นก็เป็นดั่งเสียงโชคชะตามาเคาะประตู หรืออย่างเรื่องที่เขาเคยบูชา นโปเลียน โบนาปาร์ต ว่าเป็นยอดวีรบุรุษจนถึงกับเขียนซิมโฟนีอุทิศให้ แต่แล้วก็อกหักเมื่อนโปเลียนเถลิงอำนาจตั้งตัวเป็นจักรพรรดิ เขาก็ขีดฆ่าคำอุทิศออกไปจากโน้ตเพลงด้วยความชิงชัง เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นตำนานเล่าขาน ที่บ้างก็ถูกเชื่อกันต่อมายาวนาน บ้างก็ยังคงเป็นประเด็นถกเถียง และการที่เบโทเฟนมีชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลังจากเสียชีวิต ด้วยเหตุผลสารพัดตั้งแต่ผลงานคุณภาพสูงที่ทิ้งไว้กับวงการ (บางชิ้นได้รับการยกย่องว่าได้ “ปฏิวัติ” แนวคิดทางดนตรี) การถูกพูดถึงโดยบุคคลสำคัญต่าง ๆ ทั้งในและนอกวงการดนตรี รวมถึงการที่เพลงของเขาที่ปรากฏอยู่ในเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ จนถึง ณ จุดหนึ่ง เบโทเฟนถูกยกสถานะเป็นเหมือนวีรบรุษ (hero) เป็นเทพเจ้าผู้ซึ่งมีตำนานประกอบราวกับเป็นเทพปกรณัม หากใครมีโอกาสได้เข้าไปในโรงแสดงดนตรี Boston Symphony Hall ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา จะเห็นว่าสูงขึ้นไป สิ่งที่รายล้อมที่นั่งคนดูคือสารพัดรูปปั้นประติมากรรมเทพเจ้ากรีกต่าง ๆ ราวกับเป็นที่ประชุมเทพ และที่ตรงกลาง ลอยเด่นเหนือพื้นที่แสดง คือชื่อ “BEETHOVEN” ราวกับเป็นองค์ประธานของที่ชุมนุมเทพเจ้า ซึ่งหากพินิจด้วยจิตฝักใฝ่เทวนิยาย จะมองว่าการแสดงดนตรีบนเวทีนั้นเป็นดั่งพิธีกรรมบวงสรวงบูชามหาเทพเบโทเฟน ก็คงจะไม่เกินเลยไปนัก ตัวอย่างดังว่าแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของเบโทเฟนที่เป็นรูปธรรม มองเห็น จับต้องได้ มิใช่เพียงเขาเล่าต่อ ๆ กันมาหรือท่องตามแบบเรียนมาว่าสำคัญ แต่หลายคนก็คงสงสัยว่าทำไมเขาจึงกลายมาเป็นบุคคลสำคัญขนาดนั้น ในปี 2020 ซึ่งเป็นโอกาสฉลอง 250 ปีชาตกาลของเบโฟน ชื่อของเขายิ่งถูกโหมขึ้นมาโดยวงดนตรีคลาสสิกทั่วโลก (อันยังมาซึ่งทั้งเสียงเห็นชอบและเสียงต่อต้าน) ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอชวนท่านผู้อ่านมาทบทวน/เรียนรู้เรื่องราวคร่าว ๆ เกี่ยวกับบุรุษผู้นี้ โดยเฉพาะในส่วนไฮไลท์สำคัญ ๆ ของชีวิตที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจและควรหยิบยกมาเล่าในพื้นที่จำกัดนี้ [อนึ่ง ต้องขอหมายเหตุไว้ว่า ชีวประวัติของเบโทเฟนนั้นถูกเขียนขึ้นมาโดยนักประวัติศาสตร์หลายคนที่อาจมีความเห็นในบางประเด็นหรือตีความหลักฐานบางชิ้นไม่เหมือนกัน เนื้อหาต่อไปนี้จึงเป็นการเรียบเรียงและย่อส่วนข้อมูลจาก “บาง” มุมมองเท่านั้น]   โลกรอบตัว วันเกิด และวัยเด็ก ในปี 1770 โลกยุโรปกับเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลง การปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังเริ่มต้น ส่วนเมฆหมอกแห่งการปฏิวัติทางการเมืองครั้งสำคัญต่าง ๆ (อาทิ ปฏิวัติอเมริกา 1776 และ ปฏิวัติฝรั่งเศส 1789) ก็กำลังลอยคลุ้งอยู่ในอากาศพร้อมจะกลั่นตัว ในปีนี้ กัปตันเจมส์ คุก กำลังเก็บตัวอย่างพืชอยู่ใกล้ ๆ เกาะออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเวลาไม่นานนักก่อนดาวหางเล็กเซลล์ (Lexell’s Comet) จะเคลื่อนผ่านโลกมาให้เห็น และเป็นปีที่มีการผลิตยางลบดินสอออกมาขายในอังกฤษ นอกจากนี้ยังเป็นปีเกิดของกวี วิลเลียม เวิร์ดสเวิร์ธ (William Wordsworth) และนักปรัชญา เฮเกิล (G.W.F. Hegel) รวมถึงเป็นหนึ่งปีหลังปีเกิดของมหาบุรุษนาม นโปเลียน โบนาปาร์ต เป็นปีนี้เองที่เราเชื่อว่า “น่าจะ” เป็นปีเกิดของ เบโทเฟน ที่บอกว่า “น่าจะ” ก็เป็นเพราะเอกสารราชการที่บันทึกการเกิดนั้นไม่แน่ชัด หนำซ้ำตัวเบโทเฟนเองยังเข้าใจอายุตัวเองผิดเสียด้วย! เขาเชื่อว่าตัวเองเกิดปี 1772 แทนที่จะเป็น 1770 (ในหนังสือชีวประวัติโดย Maynard Solomon มีเล่าเรื่องนี้เอาไว้ในบทแรก) เพราะตอนที่เห็นเอกสารบันทึกวันเกิด เจ้าตัวก็ยังนึกเถียงว่าน่าจะเป็นของพี่ชายที่เกิดก่อนและตายไปก่อน (ชื่อ Ludwig Maria) ส่วนวันเกิดก็สันนิษฐานกันว่าเป็นวัน 16 ธันวาคม ซึ่งทราบมาจากการพิจารณาเอกสารพิธีศีลจุ่มลงวันที่ 17 ธันวาคม (ซึ่งโดยธรรมเนียมคือทำพิธีในหนึ่งวันหลังเกิด) เบโทเฟนเกิดที่เมืองบอนน์ ทั้งปู่และพ่อเป็นนักดนตรีราชสำนัก ปู่ของเขา (ชื่อ Ludwig van Beethoven เหมือนกัน) เชื่อกันว่าน่าจะอพยพมาจากเมืองเมเคอเลิน (Mechelen) ในตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเบลเยียม) ส่วนความหมายของชื่อสกุล Beethoven นั้น ก็มีทฤษฎีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ที่เป็นกระแสหลักในปัจจุบันคือ การสมาสระหว่าง “Beet” แปลว่า บีตรูท กับ “hoven” (พหูพจน์ของ hof) แปลว่า สวน รวม ๆ กันแล้ว ก็น่าจะแปลว่า สวนบีตรูท (ซึ่งเมื่อพิจารณาว่าบรรพบุรุษน่าจะเป็นชาวนาด้วยแล้ว ก็ทำให้หลายฝ่ายรู้สึกรับได้กับทฤษฎีนี้) ส่วน “van” นั้นหมายถึง “มาจาก” หลายท่านอาจจะคุ้น ๆ กับคำเยอรมัน “von” ซึ่งมีความหมายเดียวกัน แต่มี von มักใช้กับเชื้อเจ้าขุนมูลนาย ในขณะที่ van ไม่ใช่ และด้วยการที่ van หมายถึงมาจากสถานที่ไหนสักแห่ง อีกทฤษฎีที่น่าเชื่อขึ้นมาก็คือ Beethoven อาจจะหมายถึง “Bettenhoven” ที่เป็นเขตเมืองหนึ่งในเบลเยียม Ludwig (ต่อไปนี้ขอสะกดแบบไทย ๆ ว่า ลุดวิก) เป็นลูกคนที่สองในบรรดาพี่น้อง 7 คน ซึ่งมีเพียงลุดวิกกับน้องชายอีกสองคนที่มีชีวิตรอดเติบโตมา และด้วยความที่เป็นลูกชายคนโต จึงมีหน้าที่เป็นเหมือนหัวเรือของบ้านที่ต้องดูแลครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิดาที่ติดเหล้า บิดา (Johann van Beethoven) นั้นจับลูกเรียนดนตรีตั้งแต่เด็กและสอนด้วยตัวเอง หวังอยากให้ลูกเป็นเด็กมหัศจรรย์ตามแบบโมซาร์ต เพราะฉะนั้นจึงสอนดนตรีแบบเคี่ยวเข็ญ บางครั้งถึงขั้นลงไม้ลงมือ ต่อมาจึงเริ่มส่งไปเรียนกับครูคนอื่น พออายุ 8 ขวบในปี 1778 ลุดวิกก็ได้ออกแสดงคอนเสิร์ตต่อหน้าสาธารณะเป็นครั้งแรกในฐานะเด็กอายุ 6 ขวบ ด้วยฝีมือการโกงอายุโดยบิดา (ซึ่งทฤษฎีเรื่องเบโทเฟนเข้าใจอายุตัวเองผิด บ้างก็ว่าอาจมาจากพ่อด้วยที่อยากให้ลูกมีสถานะเป็นเด็กอัจฉริยะ) จนกระทั่งราวปี 1780 หลังจากเจอครูมาจำนวนหนึ่ง เขาก็ได้มาพบกับ เนเฟอ (Christian Gottlob Neefe) นักออร์แกนราชสำนักผู้ซึ่งได้กลายมาเป็นครูคนสำคัญของเขา และต่อมาเขาก็ติดตามไปเป็นผู้ช่วยเนเฟอในงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นเนเฟอนี้เองที่นักประวัติศาสตร์หลายคนตั้งให้เป็นคนที่มีส่วนสำคัญที่ผลักดันเบโทเฟนให้เป็นผู้มีจิตวิญญาณแห่งยุคภูมิธรรมเรืองปัญญา (Enlightenment) ด้วยความที่เนเฟอเองมีใจใฝ่ปรัชญาและอยู่ในแวดวงของนักคิดและปัญญาชนสมัยนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่าเบโทเฟนน่าจะได้อิทธิพลทางความคิดเชิงปรัชญามาจากเนเฟอและคนในแวดวงอยู่บ้าง (ซึ่งประเด็นนี้มักจะถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายจุดยืนทางการเมืองของเบโทเฟนเมื่อต้องพูดถึงดนตรีในยุคหลังปฏิวัติฝรั่งเศส)   รับจิตวิญญาณแห่งโมซาร์ตผ่านมือของไฮเดิน สองไอคอนทางดนตรีที่เป็นเหมือนรุ่นพี่และมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยเดียวกับเบโทเฟน คือ ไฮเดิน (Franz Joseph Haydn, 1732-1809) และ โมซาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart, 1756-1791) เมื่อรวมกับ เบโทเฟน แล้ว ก็กลายเป็นสามเสาหลัก (คนรุ่นหลังบ้างก็เรียกกันไปว่าเป็น Holy Trinity) ของสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ในยุคต่อมาเรียกว่า “สำนักเวียนนาที่หนึ่ง” (The First Viennese School) ในปี 1787 หลังจากที่มีผลงานเพลงตีพิมพ์มาแล้ว เบโทเฟนออกเดินทางไปเวียนนาเพื่อพบโมซาร์ตโดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากราชสำนัก แต่ทั้งสองเคยพบกันไหม? เป็นสิ่งที่เราไม่แน่ใจ บ้างก็ว่าได้เจอ บ้างก็ว่าไม่ได้เจอ ไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่ที่แน่ ๆ เบโทเฟนได้อยู่ที่เวียนนาเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนจะได้ยินข่าวว่ามารดาป่วยหนักจึงเดินทางกลับบอนน์ และเมื่อมารดาเสียชีวิตในอีกไม่นานต่อมา เขาจึงต้องอยู่ช่วยเหลือครอบครัวอีกสักพัก พอถึงปี 1790 ไฮเดิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่เขาเคารพนับถือ เดินทางผ่านมาที่บอนน์ ทั้งสองก็มีโอกาสได้พบกัน ต่อมาเบโทเฟนก็ได้เดินทางไปเรียนกับไฮเดินในปี 1792 (โมซาร์ตเสียชีวิตปี 1791) ท่านเคานต์วอลด์ชไตน์ อีกหนึ่งผู้สนับสนุนของเบโทเฟน เขียนข้อความอำลาการเดินทางให้เขาซึ่งแปลความได้ว่า “You shall receive the spirits of Mozart from the hands of Haydn.” และก็เป็นที่เวียนนานี้เองที่เขามีโอกาสได้ร่ำเรียนวิชากับไฮเดินบ้าง รวมถึงในเรียนกับครูคนอื่น ๆ อีก อาทิ อัลเบร็กสแบร์เกอร์ (Johann Albrechtsberger,1736-1809) และ ซาลิเอรี (Antonio Salieri, 1750-1825, ผู้ซึ่งเราอาจรู้จักในฐานะตัวละครคู่ปรับของโมซาร์ตในละครและภาพยนตร์เรื่อง Amadeus ซึ่งต้องขอย้ำว่ามีความเป็นเรื่องแต่งอยู่สูง) และก็เป็นที่เวียนนานี้เองที่เขาได้ขยับขยายที่ทางของตัวเอง ออกแสดง สร้างผลงาน สร้างชื่อเสียง และได้ออกทัวร์คอนเสิร์ตไปยังหลายเมืองรอบ ๆ จนงานออร์เคสตราขนาดใหญ่ คือ ซิมโฟนี (เพลงขนาดยาวสำหรับออร์เคสตราเต็มวง แบบแผนมาตรฐานขณะนั้นคือประกอบไปด้วย 4 ท่อน) หมายเลข 1 ได้ออกแสดงที่เวียนนาในปี 1801 [caption id="attachment_29501" align="aligncenter" width="944"] เบโทเฟน: 250 ปี คีตกวีโลกไม่ลืม บทเพลงจากนโปเลียนสู่ชัยชนะสงครามโลกครั้งที่สอง Illustration of German musical composer Ludwig van Beethoven (1770-1827), sitting in room, by Eichstadt. (Photo by Time Life Pictures/Mansell/The LIFE Picture Collection via Getty Images)[/caption] เขาหูแว่ว หรือเสียงนั้นแผ่วเกิน? “เป็นที่น่าละอายเหลือเกิน เมื่อคนข้าง ๆ ฉันบอกว่าแว่วเสียงขลุ่ยมาจากไกล ๆ แต่ฉันกลับไม่ได้ยิน หรือเมื่ออีกคนบอกว่าแว่วเสียงเมษบาลร้องเพลงมาจากไกล ๆ แล้วฉันก็ไม่ได้ยินอีก” ผลงานของเบโทเฟนนั้นถูกแบ่งเอาไว้เป็น 3 ช่วงหรือ 3 ยุค (period) ตามสไตล์การประพันธ์งาน โดยที่ช่วงแรกก็คือนับตั้งแต่งานชิ้นแรกมาจนถึงปี 1802 ซึ่งเป็นงานที่มีอิทธิพลสำเนียงดนตรีของไฮเดินและโมซาร์ต ผสมผสานกับแนวโน้มของการหนีออกจากขนบ พอเข้าปี 1802 ที่เราเรียกกันว่าเป็นยุคที่สอง (Middle Period) นี้ก็เป็นปีที่เขาเขียนบันทึกสำคัญชิ้นหนึ่งที่บันทึกความทุกข์ทรมานและความกลัวใหญ่หลวงที่บังเกิดแก่ชีวิตเขา ซึ่งก็คือการที่เขารู้สึกว่าการได้ยินของเขาเริ่มมีปัญหา! เป็นข้อเขียนถึงน้องชายที่ไม่ได้ส่ง เขียนขณะพำนักอยู่ที่เมืองไฮลิเกนชตัดท์ ต่อมาเราเรียกบันทึกชิ้นนี้ว่า Heiligenstadt Testament จากการสืบหลักฐาน พบว่าเบโทเฟนเริ่มมีอาการได้ยินเสียงแปลก ๆ ในหูข้างหนึ่งในราวปี 1798 ต่อมาพัฒนามาเป็นสองข้าง แรก ๆ เขาก็เก็บเรื่องนี้เป็นความลับเพราะคิดว่าเป็นเรื่องน่าละอายในฐานะนักแต่งเพลง ต่อมาจนไม่นานต่อมาเขาก็เริ่มสารภาพกับเพื่อนใกล้ตัวถึงอาการที่เกิดขึ้น จนกระทั่งหูเขาบอดเกือบสนิทเมื่อในปี 1819 สำหรับสาเหตุของอาการนี้เรายังไม่ทราบแน่ชัด ทฤษฎีก็มีตั้งแต่โรคต่าง ๆ ไปจนถึงพิษตะกั่ว บ้างก็ว่าเขาเกิดอุบัติเหตุกระทบกระแทก การชันสูตรร่างของเขาหลังเสียชีวิตพบว่าหูด้านในของเขามีอาการบวมที่ทำให้เกิดแผลตามมา ซึ่งการตรวจร่างนั้นก็ทำให้เห็นอีกว่าอาจจะเป็นผลพวงมาจากความผิดปกติของระบบอื่น ๆ ในร่างกายด้วย เช่นพบว่าเขามีปัญหาที่ตับ คือตับแข็งและมีขนาดหดเล็ก อาจจะมีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์หรือตับอักเสบ ไปถึงตับอ่อนมีขนาดเล็ก ม้ามโต ท้องบวม และปัญหาที่ไต (น่าจะมาจาการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด หรือไม่ก็โรคเบาหวาน) เบโทเฟนได้รับคำแนะนำถึงสารพัดวิธีที่แพทย์สมัยนั้นได้ทดลองนำมาให้ใช้ มีตั้งแต่การเอาสำลีจุ่มน้ำมันอัลมอนด์แล้วยัดเข้าไปในหู การอาบน้ำอุ่นด้วยน้ำจากแม่น้ำดานูบ การใช้ปลิง การใช้เปลือกไม้รัดแขน ไปจนถึงการใช้กระแสไฟฟ้าอ่อนผ่านเข้าไปในอวัยวะส่วนที่มีปัญหา แต่ทุกวิธีก็ไร้ผล   เบโทเฟนกับโบนาปาร์ต ไฟแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นส่งควันของมันลอยไปทั่วดินแดน เรียกได้ว่าเวียนนาในปีแรกของศตวรรษที่ 19 นั้นปกคลุมไปด้วยบรรยากาศของการปฏิวัติ ใจใฝ่หาเสมอภาพ-เสรีภาพ-ภราดรภาพ นั้นแทรกซึมอยู่ในงานศิลปะของศิลปินหลายคน ไม่เว้นแม้แต่ดนตรี สุ้มเสียงของดนตรีแบบเพลงมาร์ชกลายมามีบทบาทหลักในจังหวะนี้ ซึ่งในหลายโอกาสมันก็สื่อถึงจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติ เสียงเพลงมาร์ชอันประกอบขึ้นด้วยเสียงกลองและฉาบนั้นได้รับอิทธิพลจากการเข้ามาของดนตรีตุรกีจากจักรวรรดิออตโตมัน ในช่วงปีที่เบโทเฟนเกิด (1770) เสียงดนตรีแบบนี้เริ่มสร้างตัวเองให้มีที่ทางในเพลงออร์เคสตราแล้ว ดังที่เห็นได้จากงานจำนวนหนึ่งของโมซาร์ตและไฮเดินที่มีการใช้กลองและฉาบ ในปี 1802 อันเป็นจุดแบ่งยุคที่ 2 ของผลงานเบโทเฟนนั้น ถูกคนรุ่นหลังตั้งชื่อว่าเป็น “Heroic Period” (ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงจนถึงทุกวันนี้ถึงนิยามของคำว่า Heroic) ซึ่งหากกล่าวโดยคร่าว ๆ ลักษณะของงานแบบ Heroic นี้คือมีสุ้มเสียงใหญ่โตโอฬารเข้มแข็ง ขึงขัง และแม้ว่าอาจจะไม่ได้ใช้กลองและฉาบเป็นเครื่องดนตรีหลัก แต่ก็มีสุ้มเสียงสำเนียงดนตรีมาร์ชเจือปนอยู่ และเมื่อพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์แล้วก็พบว่า พัฒนาการทางดนตรีของเบโทเฟนเข้าสู่ช่วงนี้ พ้องกับการ “ขึ้นมา” โดดเด่นในฐานะฮีโรแห่งยุคสมัยของบุรุษคนหนึ่งผู้เกิดห่างจากเขาแค่ปีเดียว นั่นก็คือ นโปเลียน โบนาปาร์ต การได้คลุกคลีอยู่กับบรรดานักคิดตั้งแต่สมัยเรียนและเป็นผู้ช่วยเนเฟอ ไปจนถึงการได้เห็นความสามารถของจักรพรรดิโยเซฟที่สอง เห็นพลังแห่งยุคแสงสว่างและการปฏิวัติฝรั่งเศส ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่เบโทเฟนโอบรับพลังแห่งยุคปฏิวัติและแนวคิดแบบสาธารณรัฐซึ่งสะท้อนอุดมคติแบบโลกกรีกโรมัน และเมื่อนโปเลียนก้าวขึ้นมาเป็นกงสุลเอก จอมศึกผู้นี้ก็กลายเป็นดั่งตัวแทนผู้สืบทอดอุดมคติดังกล่าว ความยิ่งใหญ่ของนโปเลียนที่ปรากฏต่อโลกนั้นย้ำเตือนเบโทเฟนถึงมหาบุรุษคนก่อนหน้าที่เขาชื่นชม ซึ่งก็คือ จักรพรรดิโยเซฟที่ 2 (หลังจากการสวรรคตในปี 1790 เบโทเฟนก็ได้ประพันธ์ Cantata on the Death of Joseph II ซึ่งได้ปูรากฐานให้กับผลงานยุค Heroic อาทิ Symphony No. 3, “Eroica” และอุปรากร Fidelio) ซึ่งเป็นนโปเลียนนี่เองที่เป็นกลายมาเป็นอิทธิพลสำคัญในงานของเบโทเฟนในช่วงนี้ เรื่องราวเกี่ยวกับการขีดฆ่าชื่อนโปเลียนจากโน้ตเพลงในผลงานซิมโฟนีหมายเลข 3 ที่มีชื่อต่อท้ายว่า “Eroica” (แปลว่า Heroic) นั้นเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าของวงการดนตรีคลาสสิกที่โด่งดังมากที่สุด ใจความย่อ ๆ ก็คือ เดิมทีบนหน้าแรกของโน้ตเพลง เบโทเฟนได้ตั้งซิมโฟนีว่า “Bonaparte” แต่เมื่อนโปเลียนสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นจักรพรรดิในปี 1804 เขาก็ไม่พอใจเป็นอย่างมากถึงกับฉีกหน้าแรกของโน้ตทิ้งไป (ตามปากคำ Ferdinand Ries ซึ่งเป็นคนใกล้ตัวของเบโทเฟน และเป็นผู้นำข่าวการครองราชย์มาบอก) แต่เรื่องการขีดฆ่าชื่อนั้น นักประวัติศาสตร์ก็สืบเอาจากหลักฐานเท่าที่มีคือโน้ตหน้าแรกอันนั้น ซึ่งต้นฉบับจริง ๆ สาบสูญไป มีแต่ตัวก็อปปี้ตกทอดมา เราเห็นคำว่า Bonaparte เห็นรอยขีดฆ่า รอยลบ แต่การตีความหลักฐานว่ารอยลบขีดฆ่านั้นมาเนื่องด้วยเหตุอะไรก็ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ (ลักษณะของการจัด/ฆ่า/ลบ/เพิ่ม ข้อความบนโน้ตหน้าแรกนี้ Maynard Solomon ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดเช่นกัน) ซึ่งสุดท้ายเมื่อเพลงนี้ตีพิมพ์ในปี 1806 ซึ่งเป็นสองปีหลังจากเพลงประพันธ์เสร็จ ในหน้าแรกก็พิมพ์ชื่อว่า “Sinfonia Eroica” หรือที่แปลว่า “Heroic Symphony” พร้อมประโยคว่า “อุทิศแด่บุรุษผู้ยิ่งใหญ่” การสืบค้นประวัติต่าง ๆ ต่อจากนั้นทำให้นักประวัติศาสตร์แบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่เชื่อว่าเบโทเฟนปฏิเสธนโปเลียนตลอดไป กับฝ่ายที่เชื่อว่านโปเลียนนั้นทรงอิทธิพลกับเบโทเฟนไปตลอดชีวิต   เทพเจ้าและเทพปกรณัม (2) นโปเลียนในสายตาแห่งยุคสมัยนั้น มิได้เป็นเพียงจอมทัพผู้เก่งกล้า แต่เป็นดั่งตัวแทนของอุดมคติ เขาเป็นอีกคนที่ถูกยกสถานะให้เป็นเทพเจ้า เป็นทั้งเทพแห่งสงคราม เป็นพระเมสสิยาห์ และที่ดูจะน่าสนใจเป็นพิเศษคือการที่เขาถูกเปรียบเทียบกับ โพรมีธีอุส (Prometheus) หรือ ไททันผู้ขโมยไฟจากสวรรค์มาให้มนุษย์จนต้องถูกลงโทษด้วยการถูกจับขึงอยู่บนยอดผา มีนกแร้งมาจิกกินตับทุกวัน แล้วตับก็งอกใหม่ทุกวัน ให้ทรมานไม่มีที่สิ้นสุด (อ่านเวอร์ชันละครกรีกอันโด่งดังได้จากงาน Prometheus Bound ของ Aeschylus) การเปรียบเปรยนี้สามารถพบเห็นได้ในงานศิลปะร่วมสมัยกับเบโทเฟน อาทิ ในบทกวี Ode to Napolean ของไบรอน (Byron) ภาพเขียนที่สาบสูญ The Spiritual Form of Napolean ของเบลค (William Blake) ชื่อหรือบทกวี Il prometeo ของ วินเซนโซ มอนตี (Vincenzo Monti) เป็นบทกวีของมอนตีนี่เองนี่เป็นฐานให้กับการสร้างงานบัลเลต์เรื่อง The Creatures of Prometheus ของ ซัลวาโตเร วิกาโน (Salvatore Viganó) ประพันธ์ดนตรีโดยเบโทเฟน นี่คืองานบัลเลต์ชิ้นเดียวของเขา มีขนาดยาวประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งในท่อนสุดท้ายนี่เองที่ปรากฏทำนองชวนติดหูอันหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันว่า “Prometheus theme” ซึ่งเป็นทำนองที่เบโทเฟนเองนำไปใส่ไว้ในงานอื่น ๆ อีกหลายชิ้น อาทิ Piano Sonata No.12, เพลง Twelve Contradances, WoO 14 เพลง Variations and Fugue for Piano in Eb major, Op. 35 และที่สำคัญคือในท่อนสุดท้ายของ Symphony No. 3, “Eroica” ซึ่งน่าสันนิษฐานว่าทำนองโพรมีธีอุสนี้อาจเป็นสัญลักษณ์ของนโปเลียนก็เป็นได้ ณ ถึงจุดหนึ่ง ไม่ใช่เพียงนโปเลียนเท่านั้นที่ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นโพรมีธีอุส แต่เบโทเฟนเองก็ถูกเรียกขานโดยคนรุ่นหลังว่าเป็นโพรมีธีอุสเช่นเดียวกัน   โชคชะตาและชัยชนะ แม้ว่าจะทุกข์ทรมานกับความผิดปกติทางการได้ยิน แต่เขาก็มิได้ถูกขัดขวางจากการผลิตงานคุณภาพ เพราะงานที่ได้รับยกย่องว่าเลิศเลอในฐานะบทประพันธ์นั้นก็ถูกสร้างขึ้นในช่วงท้ายของชีวิตนี้ อย่างเช่นซิมโฟนีหมายเลข 5 ที่เริ่มต้นด้วย 4 โน้ตอันโด่งดัง “สั้น-สั้น-สั้น-ยาว” ซึ่งตำนานยอดนิยมว่าเป็นเสียง “โชคชะตามาเคาะประตู” ถึงอนาคตอันขมขื่นนั้น ดูจะมีที่มาจากบันทึกของ อันโทน ชินด์เลอร์ (Anton Schindler) ลูกศิษย์ผู้เขียนประวัติเบโทเฟน ซึ่งเป็นที่ถือกันในบรรดานักประวัติศาสตร์รุ่นหลังว่าไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากพบว่ามีข้อมูลเท็จจำนวนมาก แต่การอธิบายถึงเสียงโชคชะตาก็ยังได้รับความนิยมให้เล่าต่อมาถึงปัจจุบัน และทำให้เพลงนี้มีชื่อเล่นยังไม่เป็นทางการว่า “Fate Symphony” และสี่ตัวโน้ตนี้ก็ถูกเรียกเป็น “Fate motif” หรือโน้ตโมทีฟแห่งโชคชะตา แต่สัญลักษณ์แห่งชะตากรรมอันน่าขมขื่นก็เปลี่ยนแปรเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะได้ เมื่อบังเอิญในเวลาต่อมา จังหวะสั้น-ยาวเช่นนี้ไปพ้องกับรหัสมอร์สสำหรับตัวอักษร “V” ซึ่งพอเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายพันธมิตรก็ได้รับเอาสโลแกนแคมเปญ “V for Victory” ของ วินสตัน เชอร์ชิล มาใช้ และในช่วงสงครามนั้น สถานี BBC ก็จะกระจายเสียงโน้ตกลองที่ตีเป็นจังหวะ “สั้น-สั้น-สั้น-ยาว” จนทำให้เพลงนี้กลายเป็นที่รู้จักว่า “Victory Symphony” ชะตากรรมและชัยชนะได้ผนวกรวมตัวกันในงานชิ้นสุดท้ายคือซิมโฟนีหมายเลข 9 (1822-24) ที่ได้รับการยกย่องว่าเปิดประตูใหม่ให้กับการประพันธ์ซิมโฟนี ได้แก่การใช้นักร้องเดี่ยว 4 คน และวงร้องประสานเสียง ในท่อนสุดท้ายของเพลง ซึ่งเนื้อเพลงนั้นคือ Ode to Joy บทกวีของ ชิลเลอร์ (Friedich Schiller) ซึ่งเป็นกลอนเบาสมอง ตั้งใจเป็นเพียงเนื้อเพลงร้องเล่นในวงเหล้า (drinking song) ประพันธ์ขึ้นมาตั้งแต่ปี 1785 แต่กลอนบทนี้ก็เป็นที่นิยมถูกร้องไปทั่วเยอรมัน ซึ่งตัวชิลเลอร์ในภายหลังก็ออกตัวว่าเป็นงานที่ไม่ค่อยดีนักและเจ้าตัวก็ไม่ค่อยชอบเอาเสียเลย อย่างไรก็ตามเบโทเฟนก็ได้นำเอาบางส่วนของบทกวีมาเลือกใช้ พร้อมกับประพันธ์บางส่วนเข้าไปเอง กลายเป็นเพลงที่มีเนื้อหาส่งเสริมภราดรภาพ เฉลิมฉลองมิตรภาพของมนุษย์ด้วยใจชื่นบาน ซึ่งก็ด้วยทำนองที่เรียบง่ายติดหูของท่อน Ode to Joy ผนวกกับความยิ่งใหญ่ แปลกใหม่ ความเข้มข้นเชิงเนื้อหาดนตรี และเทคนิคในการประพันธ์ ยิ่งทำให้เพลงนี้ครองบัลลังก์เพลงอมตะที่ทั่วโลกยังคงรู้จัก แม้ว่าเสียงตอบรับและวิจารณ์เพลงนี้ในวงการดนตรีจะแตกออกเป็นสองฝ่ายก็ตาม ปัจจัยส่งเสริมความอมตะของเพลงมิได้มีเพียงแค่นั้น เพราะเพลง Ode to Joy ถูกนำไปใช้กับหลายสิ่ง/เหตุการณ์/สถานการณ์ แทบนับไม่ถ้วน ตั้งแต่การเป็นเพลงสวด เพลงชาติ เพลงเฉลิมฉลอง เพลงประท้วง ไปจนถึงถูกใช้เป็นเครื่องมือของนาซี เราเห็นเพลงนี้เป็นส่วนประกอบของการปฏิวัติต่อต้านเผด็จการปิโนเชต์ในชิลี การประท้วงของนักศึกษาจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ไปจนถึงการแสดงเพลงนี้ฉลองภราดรภาพและเสรีภาพของมนุษย์เนื่องในโอกาสการทลายกำแพงเบอร์ลิน (เปลี่ยนเนื้อร้องเป็น Ode to Freedom) ในแง่นี้ ซิมโฟนีหมายเลข 9 จึงเป็นทั้งหลักชัยและหลักไมล์ของเบโทเฟน เพราะนักแต่งเพลงหลายคนหลังจากนั้น ก็อาศัยอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของอิทธิพลซิมโฟนีหมายเลข 9 มีทั้งผู้ที่พยายามจะโอบรับเอาจิตวิญญาณของมัน และผู้ต้องการจะหลบหนีไปจากมัน [caption id="attachment_29500" align="aligncenter" width="858"] เบโทเฟน: 250 ปี คีตกวีโลกไม่ลืม บทเพลงจากนโปเลียนสู่ชัยชนะสงครามโลกครั้งที่สอง German composer Ludwig van Beethoven (1770 - 1827) conducting one of his three 'Rasumowsky' string quartets, circa 1810. Drawn by the artist Borckmann. (Photo by Rischgitz/Getty Images)[/caption] ชีวิตหลังความตาย เบโทเฟนเสียชีวิตในปี 1827 มีซิมโฟนีหมายเลข 9 เป็นซิมโฟนีสมบูรณ์ชิ้นสุดท้าย ส่วนหมายเลข 10 นั้นหลงเหลือเป็นโครงร่าง ซึ่งนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงหลายคนหลังจากนั้นก็ประพันธ์ซิมโฟนีเอาไว้ได้ 9 ชิ้นก่อนเสียชีวิต ทำให้เกิดเป็นความเชื่อโชคลางถึง “อาถรรพ์ซิมโฟนีหมายเลข 9” ซึ่งมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า นักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่อีกคนคือ มาห์เลอร์ (Gustav Mahler) เชื่อจริงจังถึงขนาดไม่ยอมตั้งชื่องานสำหรับออร์เคสตราชิ้นที่เก้าของตัวเองว่า Symphony No. 9 แต่สุดท้าย เมื่อเชื่อว่าใช้กลลวงตัวเลขเอาชนะคำสาปได้ หลังเขียน Symphony No. 9 จบ เขาก็เสียชีวิตไปจริง ๆ เบโทเฟนถูกยกให้เป็นมหาบุรุษผ่านการพูดถึง การวิจารณ์ การถือผลงานของเขาเป็นแม่แบบของการแต่งเพลง อิทธิพลดนตรีของเบโทเฟนยืนยงคงกระพันตลอดมาในประวัติศาสตร์ดนตรีคลาสสิกทั้งในฝั่งนักแต่งเพลง นักเล่น และผู้ฟัง เบโทเฟนได้ถูกเพิ่มสถานะความยิ่งใหญ่เมื่อวาทยกร ฮันส์ ฟอน บือโลว์ (Hans von Bülow) ได้จัดกลุ่ม “สาม B ผู้ยิ่งใหญ่” (The Three Bs) ได้แก่ บาค, เบโทเฟน, บรามส์ ทำให้เกิด Holy Trinity อีกหนึ่งทีม (นอกจาก First Viennese School) ที่มีเบโทเฟนเป็น “หนึ่งในสามผู้ยิ่งใหญ่” ด้วยอีกครั้ง นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังเป็นที่น่าสนใจว่า ในโลกยุคใหม่ ประวัติศาสตร์สำคัญของเทคโนโลยีบันทึกเสียงยังมีผลงานของเบโทเฟนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ได้แก่ การวางจำหน่ายแผ่น LP ครั้งแรกของ RCA Victor ในปี 1931 ซึ่งก็คือแผ่นเพลงเพลงซิมโฟนีหมายเลข 5 นั่นเอง ส่วนในอีก 50 ต่อมา ว่ากันว่าวาทยกรชื่อดัง คารายาน (Herbert von Karajan) เป็นผู้แนะนำว่าเทคโนโลยีใหม่คือ แผ่นซีดี นั้นควรสามารถบรรจุซิมโฟนีหมายเลข 9 ที่มีความยาว 74 นาทีได้ เช่นนั้นเอง แผ่นซีดีรุ่นแรกของ Sony จึงถูกออกแบบมาดังว่า นอกจากนี้ แผ่นเสียง The Voyager Golden Record ที่ถูกส่งขึ้นไปกับยานอวกาศ Voyager ในปี 1977 นั้นก็ยังบันทึกเสียงเพลงบางส่วนของซิมโฟนีหมายเลข 5 และสตริงควอร์เต็ตหมายเลข 13 ด้วย เผื่อว่าจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษยชาติบนดาวโลก 250 ปีผ่านไป ในโลกปัจจุบัน เสียงเพลงของเบโทเฟนยังคงส่งเสียงทั้งแผ่วทั้งกึกก้อง มันดังอยู่ในชั้นเรียน อยู่ในห้องซ้อมดนตรี อยู่ในโรงแสดงคอนเสิร์ต อยู่ในลำโพงเครื่องเสียง อยู่ในหูฟัง หรืออาจจะอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร และ ณ ขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้ แน่นอนว่าจะต้องมีมนุษย์อีกหลายคนที่กำลังบรรเลงเพลงของเบโทเฟนอยู่ในหลาย ๆ แห่ง หลาย ๆ มุมของโลก   อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม John Clubbe, Beethoven: The Relentless Revolutionary Stephen Rumph, Beethoven After Napoleon: Political Romanticism in the Late Works Maynard Solomon, Beethoven Jan Swafford, Beethoven: Anguish and Triumph Marcus Weeks: Biographic Beethoven   เรื่อง: ธนพล เศตะพราหมณ์