วิจารณ์ภาพยนตร์ Behind the Curve | รู้จักกับมนุษย์ผู้เชื่อว่าโลกใบนี้ “แบน”

วิจารณ์ภาพยนตร์ Behind the Curve | รู้จักกับมนุษย์ผู้เชื่อว่าโลกใบนี้ “แบน”

วิจารณ์ภาพยนตร์ Behind the Curve | รู้จักกับมนุษย์ผู้เชื่อว่าโลกใบนี้ “แบน”

เชื่อว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา ใครหลายคนคงจะเคยได้ยินถึงการมีอยู่ของ “ลัทธิโลกแบน” อยู่ไม่มากก็น้อย ผ่านทาง ข่าวสารบ้านเมือง หรือกลุ่มคนมีชื่อเสียงที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ความเชื่อ หรือแรงศรัทธาที่มีต่อโลกใบนี้ในแบบฉบับของตน ซึ่งส่วนมากมักจะนำไปสู่การผลลัพธ์ของ “เสียงหัวเราะเชิงเย้ยหยัน” ถึงความไม่มีสาระ และไร้แก่นสารของเรื่องเหล่านี้ เพราะมนุษย์ทุกคนเกิดมาบนรากฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีรูปทรงกลม โคจรรอบดวงอาทิตย์ และมีดาวบริวารเป็นดวงจันทร์ เราเชื่อมาแบบนั้นตลอดผ่านหลักฐาน ข้อพิสูจน์ และทฤษฏี ทางวิชาการหลายแขนง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การมาของ “ชาวโลกแบน” จะกลายเป็นเรื่องที่น่าตลกชวนขบขัน เพราะไม่ว่าจะในทางใดมันก็คือ “เรื่องเพ้อเจ้อ” อยู่ดี การมาของ “Behind the Curve” จึงน่าสนใจมาก ๆ ในหลายประการ อย่างแรก มันเป็นสารคดีที่พาเราไปทำความเข้าใจกับชาวโลกแบน (Flat Earther) ด้วย “มุมมองและตัวตน” ของพวกเขา มากกว่าจะไปเพ่งเล็งในสายตาของนักวิทยาศาสตร์หรือประชาชนคนทั่วไปที่เชื่อว่าโลกใบนี้กลมปกติ (ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอาจจะเห็นอยู่แล้วทั่วไปในอินเทอร์เน็ต) อย่างที่สอง พอมันเป็นสารคดีที่ลงไปคลุกวงในสังคมและชุมชนของ Flat Earther จริง ๆ เราก็พบว่า ประเด็นซับเซ็ตยิบย่อยในเรื่องมันเยอะมาก ๆ และไม่ได้พูดถึงกันแค่เรื่อง “โลกกลมหรือแบน” อีกต่อไปแล้ว และอย่างสุดท้าย สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ “ท่าที” ของผู้สร้างนี่แหละว่าทั้งหมดที่ทำไป ทั้งการร้อยเรียงฟุตเทจ หรือไปเก็บข้อมูลจากคนต่าง ๆ ท้ายสุดแล้วทัศนคติหรือความเชื่อของคนทำมันอยู่ตรงไหนระหว่าง “โลกกลม กับโลกแบน” Behind the Curve เลือกจะโฟกัสไปยัง Flat Earther ตัวท็อป ๆ ของวงการ เป็น Online Influencer ที่ทำคอนเทนต์นำเสนอความเชื่อโลกแบน สร้างสังคมขนาดย่อมในอินเทอร์เน็ต และขยายฐานชุมชนให้กว้างมากขึ้นไปเรื่อย ๆ (ส่วนมากจะเป็น Youtuber ที่ไลฟ์สดสนทนาเรื่องโลกแบนกัน) ความน่าสนใจปนตื่นตะลึงก็คือชุมชน Flat Earther มีความแข็งแรงและเติบโตขึ้นเร็วมาก ๆ มีการสนันสนุนที่จริงจังเป็นระบบ จัดตั้งองค์กรรวบรวมนักวิชาการด้านนี้ (ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีนักวิทยาศาสตร์) มารวมตัวกันเพื่อนำเสนอหรืออัพเดทฤษฎีใหม่ ๆ อยู่ตลอด มีทีมทดลองที่พยายามหาข้อแก้ต่างกับแนวคิดวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ว่าโลกกลมอยู่เรื่อย ๆ มันจึงไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่า “ความคิดโลกแบน” นั้นเกิดขึ้นมาจากไหน จากใคร แล้วทำไม (ซึ่งในสารคดีก็มีบอกนะ) แต่มันเป็นเรื่องของการต่อยอดและพัฒนาไปสู่จุดที่เหนือกว่าเก่าให้ได้ ซึ่งความสนุกก็คือทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบจนคนภายนอก (อย่างเรา ๆ) อาจคาดไม่ถึงเลยว่าพวกเขามีความ “เป็นมืออาชีพ” ในการสร้าง community กันมากขนาดนี้ (ง่าย ๆ คือพวกเขาจริงจังกับมันในระดับเป็นอาชีพอาชีพหนึ่งเลย) หนึ่งในซับเจ็กต์ที่ทีมงานไปลงพื้นที่สัมภาษณ์บอกว่า “พวกเขาคิดว่าพวกเราเป็นคนโง่ที่วัน ๆ เอาแต่อยู่ในห้องใต้ดินของแม่ แล้วก็เชื่อทุกอย่างที่ใครก็ตามบอกพวกเขา” ซึ่งในความจริงมันตรงกันข้าม Flat Earther เป็นการรวมตัวของคนที่เชื่อว่าโลกแบน แต่มันไม่ได้มีรูปแบบเป็นลัทธิที่มีศาสดาหรือผู้นำทางความคิดขับเคลื่อนผู้คน กลุ่มคนหรือสมาชิกในชุมชนแค่มารวมตัวแลกเปลี่ยนความคิดและความเชื่อร่วมกัน นำเสนอทฤษฎีหรือความเป็นไปได้ร่วมกัน เพื่อหาทางออกและข้อพิสูจน์ต่อศรัทธาของตัวเองเท่านั้น รูปแบบสังคมใน Flat Earther จึงไม่ได้ดูน่ากลัวหรือสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภัยร้ายหรือความรุนแรงนัก (อย่างน้อย ๆ ก็ตามที่สารคดีพยายามจะนำเสนอ) พวกเขาแค่มาสุมหัวระดมความคิด หรือไม่ก็ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างเงียบ ๆ ที่บ้าน อาจจะมีบ้างที่พยายามพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้กับชุมชนปะปนกันไปบนความเรียบร้อยและเป็นระบบ เราได้เห็นนักประดิษฐ์จำนวนหนึ่งที่สร้าง “มอเตอร์ไซค์โลกแบน” หรือ “โมเดลโลกแบน” ชิ้นแรกของโลก ซึ่งมันเป็นงานที่ละเอียด ถูกทำอย่างจริงจัง และสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย (ขายชาวโลกแบนกันเองนั่นแหละ) กระนั้น ทั้งหมดที่ว่ามา สิ่งที่สามารถสัมผัสได้ชัดเจนมาก ๆ คือพวกเขาทำมันด้วยใจรักและความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเพื่อความรู้สึกตัวเอง ชุมชน หรืออุดมการณ์ใด ๆ ก็ตาม กระนั้น Behind the Curve ก็ไม่ได้ทิ้งกลุ่มผู้ชม (ที่เชื่อว่าโลกกลม) ให้โดดเดี่ยวแต่อย่างใด ซับเจ็กต์จำนวนหนึ่งในสารคดีก็มีนักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการแต่ละด้านด้วยเช่นกัน พวกเขาถูกเชื้อเชิญมาให้พูดเรื่องฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และมุมมองที่มีต่อการทำงานของ Flat Earther ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งความตลกก็คือ “ภาษา” ของนักวิทยาศาสตร์ กับภาษาของชาวโลกแบนมันคุยกันไม่รู้เรื่อง (ดีนะที่สารคดีไม่มีฉากดีเบต ไม่งั้นปวดหัวตายแน่นอน) ฟากหนึ่งเชื่อในกลไกความเป็นไปของโลก เชื่อในค่าของตัวเลข ทฤษฎี และกฎต่าง ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์สร้างกันมาเป็นร้อย ๆ ปี ส่วนอีกฟาก พวก Flat Earther เชื่อว่าโครงสร้างเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อหลอก และ “ล้างสมอง” โดยกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการจัดระเบียบสังคมและความเป็นไปของโลก พวกเขาเชื่อว่าโลกที่มนุษย์อาศัยเป็น “ฉากฉากหนึ่ง” แบบในภาพยนตร์เรื่อง The Truman Show เป็นเซ็ตติ้งขนาดยักษ์ที่ถูกบงการ และดูแลความเรียบร้อยโดยมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจล้นฟ้าและอยู่เหนือการควบคุม พวกเขาเชื่อว่าหน่วยงานอย่าง NASA, CIA หรือแม้แต่องค์กร Freemason (ที่มักอยู่ในทฤษฏีสมคบคิดของใครหลาย ๆ คน) อยู่เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมดนี้ เพราะแบบนี้ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือวิชาการแขนงต่าง ๆ ที่มีมาหลายศตวรรษจึงเป็นเหมือน “เรือนจำ” ที่กักขังการเรียนรู้และเข้าใจโลกสำหรับพวกเขา รูปแบบการใช้ชีวิตของ Flat Earther จึงไม่ยึดหลักเหล่านี้มาเกี่ยวข้องเลย (พวกเขามองว่านักวิทยาศาสตร์เป็นผู้ไม่รู้เสียด้วยซ้ำ) แม้กระทั่งการทดลองพิสูจน์ว่าโลกแบนพวกเขาก็ใช้ความเป็นกายภาพทั่วไป หรือทฤษฎีที่ตั้งขึ้นมาเอง ทดลอง และหาข้อเท็จจริงแทน ซึ่งแน่นอนว่าในมุมของนักวิทยาศาสตร์ อะไร ๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ดูไม่สมเหตุสมผลเช่นเดียวกัน เพราะภาษาที่พวกเขาใช้ในชีวิตมันไปกันคนละทางเลย การทดลอง พิสูจน์ทฤษฎี เพื่อนำเอาข้อมูลมาหักล้างกับความเชื่อของมนุษย์ทั่วไปสำหรับ Flat Earther จึงเป็นเหมือน “การต่อสู้เพื่ออิสรภาพ” รูปแบบหนึ่งด้วย เป็นการต่อสู้เพื่อความเชื่อ ความศรัทธา และความถูกต้องของโลกในแบบฉบับพวกเขา เพราะในความรู้สึกของชาวโลกแบน การที่ผู้คนในสังคมยังถูกปลูกฝัง และป้อนความคิดที่ว่าโลกใบนี้กลมผ่านกลไกของคณิต หรือวิทยาศาสตร์ นั้นแปลว่าพวกเขายัง “เปลี่ยนแปลงโลกไม่สำเร็จ” ภารกิจ จึงจำเป็นต้องดำเนินต่อไปเพื่อที่ในวันหนึ่ง Flat Earther จะสามารถเอาชนะขีดจำกัดและกฎเกณฑ์ของโลกใบนี้ ที่สร้างกันมาหลายร้อยพันปีได้ ซึ่งสำหรับพวกเขามันเป็นเดิมพันที่สูง และต้องใช้เวลา แต่ถ้าไม่ทำตอนนี้ ไม่พัฒนาตอนนี้ ก็คงไม่มีวันเดินทางไปถึงจุดนั้นได้ (ซึ่งในบทสรุปของสารคดี การที่สุดท้ายพวกเขามีงานประชุมระดับนานาชาติก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่นะ แม้ว่าจะเป็นการประชุมในสเกลขนาดย่อมก็ตาม) ซึ่งมันก็นำมาสู่ส่วนน่าสนใจที่สุดของสารคดี (ซึ่งกล่าวไว้ตั้งแต่เริ่ม) นั่นคือ “มุมมองของผู้ทำ” ที่มีต่อชาวโลกแบน สิ่งที่ทำให้ Behind the Curve เปลี่ยนสถานะจากการเป็นสารคดี “บอกเล่าเรื่องราว” มาเป็นสารคดี “สร้างคำถามชวนขบคิด” คือท่าทีของผู้ทำที่เลือกจะนำเสนอประเด็น Flat Earther แบบก้ำ ๆ กึ่ง ๆ ระหว่างจะ “สนับสนุน” กับ “ต่อต้าน” เชิงเย้ยหยัน ซึ่งการเหยียบเรือสองแคมของผู้สร้างนี่แหละที่กลายเป็นความสนุกส่วนหนึ่งของเรื่อง มันมีกลิ่นความล้อเลียนปะปนไปกับความจริงใจใสซื่อ มีรสชาติของการเอาใจช่วยผสมรวมไปกับความขี้แซะอย่างร้ายกาจ ซึ่งปรากฏในหลาย ๆ ช่วงของการสัมภาษณ์ซับเจ็กต์ หรือการทดลองหาข้อพิสูจน์ ที่ฟากหนึ่งตัวสารคดีก็ทำหน้าที่ “บันทึกข้อมูล” อย่างตรงไปตรงมา แต่ในอีกแง่ด้วยวิธีลำดับและเล่าเรื่อง เราก็พอจะเห็นความแสบในตัวคนทำอยู่เหมือนกัน (โดยเฉพาะบทสรุปในตอนจบที่เข้าขั้นร้ายกาจเอาเรื่อง) ซึ่งเราว่าด้วยความเนียนเหล่านี้เองที่ทำให้สารคดีลงลึกไปสำรวจคนเหล่านี้ได้แบบใกล้ชิด วิธีปฏิบัติของคนถ่ายทำไม่ได้บุกเข้าไปโจมตีและคุกคามชาวโลกแบนแต่อย่างใด แต่มีความเป็นมิตรจริงใจ และกลมกลืนไปกับพวกเขาได้อย่างชาญฉลาด เพราะส่วนที่ทำให้เราตั้งคำถามถึงประเด็นทั้งหมด (ในหลาย ๆ มุมมอง) เกิดขึ้นจากวิธีการลำดับฟุตเทจเป็นส่วนใหญ่มากกว่า บรรยากาศตอนดู Behind the Curve จึงเป็นความรู้สึกที่น่ารัก อบอุ่น แต่ก็แฝงไว้ด้วยอารมณ์ตลกร้าย ๆ เอาไว้เช่นกัน - ซึ่งใครจะสัมผัสได้หรือไม่ก็คงเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลไป ใครสนใจสารคดีสนุก ๆ ดูได้เพลิน ๆ หรือต้องการทำความรู้จักกับชาวโลกแบนแบบใกล้ชิด สามารถดู Behind the Curve ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix ครับ แม้ว่ารูปแบบการนำเสนอจะมีความแสบสันต์จิกกัดอยู่บ้าง แต่พอประเด็นสำคัญคือการสำรวจไปยังตัวบุคคลและชุมชน (ไม่ใช่ประเด็นหรือข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อโลก) ก็ยังถือว่าเป็นสารคดีที่ให้ข้อมูลแบบ “เป็นกลาง” อยู่ ไม่ได้โน้มน้าว ไม่ได้ชักจูง และก็ไม่ได้ผลักไส สุดท้ายเราจะเชื่อเหมือนพวกเขาหรือไม่ ก็เป็นการตัดสินใจของตัวเราเองนั่นแหละ   เรื่อง: Kanin The Movie