เบน เว็บสเตอร์ นักแซ็กขี้เซา ผู้ลั่นหมัดชกใครก็ตามที่ปลุกเขาตื่น

เบน เว็บสเตอร์ นักแซ็กขี้เซา ผู้ลั่นหมัดชกใครก็ตามที่ปลุกเขาตื่น
ธรรมเนียมหนึ่งที่เป็นลักษณะพิเศษในแวดวงแจ๊ส คือนักดนตรีแจ๊สไม่เหมือนนักดนตรีคลาสสิกที่จะต้องแสดงดนตรีในคอนเสิร์ตฮอลล์เท่านั้น หากแจ๊สเติบโตมากับแวดวงไนท์คลับ กับการได้อยู่ใกล้ชิดกับนักดนตรีและผู้ฟังที่เป็นแฟนเฉพาะจำนวนหนึ่ง ดังนั้น เส้นทางการแสวงหาประสบการณ์ของนักดนตรีแจ๊ส จึงอยู่ที่งานแสดงเหล่านี้ที่นิยมเรียกกันว่า gig ในช่วงทศวรรษ 1960s กระแสดนตรีแจ๊สในอเมริกาตกต่ำลง เพราะการผลิบานของดนตรีร็อคแอนด์โรลล์ ทำให้มีนักดนตรีแจ๊สบางส่วนอพยพโยกย้ายไปเล่นดนตรีในยุโรป บางคนใช้ชีวิตอยู่นานนับปี บางคนตระเวนเล่นอยู่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ  บ่อยครั้งที่การแสดงสดในคลับเล็ก ๆ บางแห่งในยุโรป เป็นการแสดงที่ถ่ายทอดความงดงามของดนตรีได้อย่างไพเราะที่สุด เพราะนักดนตรีแจ๊สบรรเลงเพลงเดียวกันไม่เหมือนกันในแต่ละวันอยู่แล้ว ดังนั้น งานบันทึกการแสดงสดเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ไม่น้อย เช่นเดียวกันกับงานบันทึกเสียงของ เบน เว็บสเตอร์ (Ben Webster) หลายต่อหลายชุด เป็นบันทึกการแสดงสดในไนท์คลับชื่อดังแห่งหนึ่งในยุโรป เช่นที่ The Montmatre Jazzhus ในเมืองโคเปนฮาเกน เดนมาร์ก เป็นต้น ในห้วงเวลาที่เจ้าตัวตัดสินใจย้ายจากสหรัฐอเมริกาบ้านเกิด ไปพำนักอยู่ในยุโรปเป็นการถาวร  

เบน เว็บสเตอร์ นักแซ็กขี้เซา ผู้ลั่นหมัดชกใครก็ตามที่ปลุกเขาตื่น

  เบนจามิน ฟรานซิส เว็บสเตอร์ เกิดที่เมืองแคนซัสซิตี รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ.1909 และเสียชีวิตที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ฮอลแลนด์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ.1973 เขาเริ่มต้นด้วยการฝึกฝนไวโอลินมาได้ระยะหนึ่ง จากนั้นหันไปเล่นเปียโน โดยได้ พีท จอห์นสัน เพื่อนบ้านเป็นคนสอนเพลงบลูส์ให้  ไม่นานนัก เบนก็มีงานเล่นเปียโนประกอบหนังเงียบในเมืองอมาริลโล เท็กซัส คืนหนึ่ง เบน ได้พบกับ บัดด์ จอห์นสัน ซึ่งได้สาธิตวิธีการเล่นสเกลซีเมเจอร์บนเครื่องแซ็กโซโฟน เขายังได้พบกับ แฟรงกี ทรัมบาวร์ เจ้าของเพลง Singin' the Blues และไม่นานก็ได้เรียนรู้และเล่นแซ็กโซโฟนในวงดนตรีของตระกูลยัง (Young Family) ซึ่งที่นี่เบนได้เรียนรู้จาก เลสเตอร์ ยัง และพ่อของเขา หลังออกจากวงของยัง เบนผ่านงานในวงดนตรีหลายวง เริ่มจากการได้รับโทรเลขให้ไปร่วมงานกับ จีน แมคคอย ในตำแหน่งนักอัลโต แซ็กโซโฟน  (อย่างไรก็ตาม เบน เคยเล่าว่าเขาเปลี่ยนจากเครื่องขนาด ‘อัลโต’ มาเป็น ‘เทเนอร์’ เพราะรู้สึกว่าเทเนอร์แซ็ก มีสุ้มเสียงที่ใหญ่กว่าและเหมาะสมกับเขามากกว่า) เมื่อออกจากวงของ แมคคอย เบนได้งานเล่นในวง 12 ชิ้นของ แจ๊บ อัลเลน จากนั้น  เขาและสมาชิกอีก 4 คนในวงของอัลเลน ก็ย้ายไปเล่นกับ บลันช์ แคลโลเวย์ ที่ฟิลาเดลเฟีย ซึ่งที่วงนี้ จอห์นนี ฮอดเจส ได้ฟังเขาเล่นเป็นครั้งแรก จากนั้นไม่นาน เบน เกิดอาการคิดถึงบ้าน เขาจึงกลับไป แคนซัส และได้งานเล่นดนตรีในวงของ เบนนี โมเทน ในปี ค.ศ.1932 ซึ่งที่นี่ เบน ได้มีโอกาสโซโลเพลง Lafayette และ Moten Swing จนกลายเป็นที่รู้จัก ปีต่อมา เขาผ่านไปทำงานกับวงของ แอนดี เคิร์ก  จนกระทั่งได้รู้จักกับ เฟล็ทเชอร์ เฮนเดอร์สัน (Fletcher Henderson) นักเปียโนผิวสี เจ้าของวงดนตรีบิ๊กแบนด์ชื่อดัง และเป็นที่รวมของสุดยอดนักดนตรีแห่งยุค (เป็นที่ทราบกันดีว่า อะเรนจ์เมนต์ทั้งหลายของวงนี้ ได้กลายมาเป็นวัตถุดิบชั้นดีของ เบนนี กูดแมน ที่สร้างแรงกระเพื่อมอย่างหนักในแก่วงดนตรีเพลงในยุคทศวรรษ 1930s) ต่อมาในช่วงวัยกลาง ๆ 20 เบนได้งานเล่นดนตรีในวงของ เฮนเดอร์สัน ซึ่งเขาพูดถึงประสบการณ์ครั้งนั้นว่า "นั่นเป็นที่ที่ผมกลัวแทบตาย ... เป็นดนตรีที่ยากที่สุดในโลก มันคล้าย ๆ กับการไปโรงเรียน" พร้อมพูดถึงนักดนตรีรุ่นใหญ่ที่ได้รู้จักว่า "ผมไม่เคยลืมว่าผมได้ฟัง ฮอว์ก (โคลแมน ฮอว์กินส์) (จอห์นนี) ฮอดเจส และ (เบนนี คาร์เทอร์)  ผมศึกษาจาก 3 คนนี้" "แต่ผมคิดว่าผมได้พัฒนาสุ้มเสียงของตัวเองจริง ๆ ในปี ค.ศ.1938 ตอนนั้นผมอยู่กับ สตัฟฟ์ สมิธ ผมมีแผ่นของฮอว์กจำนวนหนึ่ง  และมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงอยู่กับผมตลอดเวลา เมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ผมก็ฟังฮอว์ก " วันหนี่งมีคนเดินมาบอกผมว่า เบน คุณเลิกทำอย่างนั้นได้แล้วล่ะ  ผมถามเขาว่า เขาหมายความว่าอย่างไร เขาบอกสุ้มเสียงของผมเหมือนฮอว์กอย่างมากแล้วในตอนนี้" จากนั้นในปี ค.ศ.1939 เบน ได้ร่วมงานในวง ดุ๊ก เอลลิงตัน (Duke Ellington) และกลายเป็นนักเล่นเทเนอร์แซ็กหลักของวง แฮร์รี คาร์นีย์ นักบาริโทนแซ็กโซโฟน ในวงของเอลลิงตัน เคยกล่าวถึงเบนว่า "เบน นำชีวิตใหม่มาให้แก่เซ็คชั่น ซึ่งได้ดำเนินไปเช่นนี้อีกยาวนาน เขาได้รับและได้ให้แรงบันดาลใจแก่เรา ยามที่เราทำงานด้วยกัน" หลังจากนั้นไม่นาน ดุ๊ก เอลลิงตัน ได้เซ็นสัญญาอัดเสียงกับสังกัด อาร์ซีเอ ซึ่งมีผลผลิตออกมาจำนวนมาก โดยเบนอยู่กับ เอลลิงตัน เป็นเวลา 3 ปีจึงมีส่วนในการสร้างมาสเตอร์พีซ อย่าง All Too Soon, Cottontail, Conga Brava, Just a-Sittin' and a-Rockin' และ What Am I Here For? คืนหนึ่งเมื่อได้รับอนุญาตให้เล่นเปียโน เบน เล่นนานเกินไปจนเกิดปากเสียงกับ เอลลิงตัน หัวหน้าวง และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เบนตัดสินใจออกจากวงโดยทันที ในปี ค.ศ.1944 หลังจากทำงานในวงของ เรย์มอนด์ สก็อตต์, จอห์น เคอร์บี, ซิด แคทเล็ทท์ และ สตัฟฟ์ สมิธ เบนเริ่มต้นทำวงดนตรีของตนเองในนิวยอร์ค จากนั้นกลับไปเล่นกับ ดุ๊ก เอลลิงตัน อีกราว 1 ปี ก่อนไปเป็นสมาชิกวง "แจ๊ส แอท เดอะ ฟิลฮาร์มอนิก" ที่ก่อตั้งโดย นอร์แมน แกรนซ์ (Norman Granz) โพรดิวเซอร์ผู้ก่อตั้งสังกัด เวิร์ฟ หลังจากผ่านประสบการณ์เล่นดนตรีในนิวยอร์คและชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ในที่สุด เบน เว็บสเตอร์ ตัดสินใจย้ายไปยุโรปในปี ค.ศ.1964 และใช้ชีวิตเล่นดนตรีที่นั่นตราบวันสุดท้ายของชีวิต เช่นเดียวกับ โคลแมน ฮอว์กินส์ (Coleman Hawkins) นักแซ็กโซโฟนที่เขาได้รับอิทธิพลมาซึ่งมีงานบันทึกเสียงจำนวนมาก  เบน เว็บสเตอร์ มีผลงานที่น่าสนใจ อาทิ Ben Webster and Associates (Verve 835254-2), The Soul of Ben Webster (Verve 2-314-527474-2), Ben Webster/Buck Clayton" (Sackville SKCD2-2037), Ben Webster/Oscar Peterson (Verve 829167-2) และ See you at the Fair (GRP GRD- 121) นอกจากนี้ แฟนเพลงยังสามารถหาฟังเสียงแซ็กโซโฟนของเขาได้ จากผลงานของศิลปิน อย่าง บิลลี ฮอลิเดย์, เอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์ และ คาร์เมน แมคเร ฯลฯ ไม่ผิดนัก หากจะบอกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของนักเทเนอร์แซ็กโซโฟนระดับแนวหน้า ที่มีส่วนยกระดับให้ "เทเนอร์" มีบทบาทอย่างโดดเด่นในวงการแจ๊ส ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า โคลแมน ฮอว์กินส์ และ เลสเตอร์ ยัง ในช่วงทศวรรษ 1930s คนกลุ่มนี้ ทำให้เครื่องดนตรีที่สร้างสรรค์และจดสิทธิบัตร โดย อดอล์ฟ แซ็ก (Adolphe Sax) เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเกือบจะ “ม้วนเสื่อ” และ “ล้มละลาย” ไปจากวงดนตรีคลาสสิกอยู่แล้ว ได้กลับมาปรากฏอย่างโดดเด่นและมีบทบาทสำคัญเหนือความคาดหมาย เพราะดนตรีแจ๊สโดยแท้  

เบน เว็บสเตอร์ นักแซ็กขี้เซา ผู้ลั่นหมัดชกใครก็ตามที่ปลุกเขาตื่น

  อย่างไรก็ตาม นอกจากความสามารถอันยิ่งยวดแล้ว เบน เว็บสเตอร์ ยังมีชื่อในด้านลบเช่นกัน บางทีเขาแสดงออกถึงความก้าวร้าว โดยเฉพาะช่วงที่ดื่มจัด ทั้งนี้ โจฮัน แวน คูเคน นักสร้างหนังชาวดัทช์  ซึ่งเป็นเพื่อนของเบนสมัยที่เขาใช้ชีวิตในฮอลแลนด์ ช่วงปลายทศวรรษ 1960s และเคยผลิตหนังสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเบน พยายามสะท้อนภาพในแง่ดีว่า เบนเคยต่อสู้กับแอลกอฮอลิสม์มาบ้างแล้ว ดุ๊ก เอลลิงตัน หัวหน้าเก่าของเบน รู้ดีว่า นักเทเนอร์แซ็กโซโฟนคนนี้มีธรรมชาติด้านก้าวร้าวอยู่ในตัว ซึ่งมักแสดงออกมาในบางครั้ง ดังนั้น คนคู่นี้จึงมักมีปากเสียงกันเสมอ ดังที่ เมอร์เซอร์ เอลลิงตัน ลูกชายของดุ๊ก กล่าวว่า ทั้งคู่อยู่ในห้องเดียวกันได้ไม่เกิน 5 นาที เป็นต้องทะเลาะกัน ! นอกจากนี้ มีเสียงร่ำลือว่า เบน มีนิสัยนอนขี้เซา และจะชกต่อยใครก็ตามที่ปลุกเขาขึ้นมา จิม ฮอลล์ (Jim Hall) นักกีตาร์ระดับตำนาน ยืนยันถึงเรื่องนี้ว่า ครั้งหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1950s ตอนนั้น เบน พักอยู่กับแม่และยายของเขาที่นครลอสแองเจลิส  หากเบนกำลังนอนอยู่ ตอนที่ จิม ฮอลล์ มาถึงบ้าน แม่หรือยายของเขาจะค่อย ๆ คืบไปหา พร้อมเรียกปลุกด้วยคำพูดว่า "เบน มิสเตอร์ฮอลล์มาถึงแล้ว ได้เวลาไปทำงานแล้ว" จากนั้นทั้งคู่จะรีบกระโดดออกมาอย่างน้อย 2 ฟุต เพื่อให้พ้นจากหมัดของเขาที่เหวี่ยงออกมาโดยอัตโนมัติ นิสัยประหลาดอีกอย่างหนึ่งของเบน ก็คือเมื่อใดก็ตามที่มีคนเอ่ยชื่อของนักดนตรีที่เขารักและเสียชีวิตไปแล้วให้ได้ยิน เช่น อาร์ต เททัม และ แฟทส์ วอลเลอร์ เบนก็จะเริ่มต้นอาการร้องไห้คร่ำครวญขึ้นมาทันที จิม ฮอลล์ เคยเล่าว่า "เขา (เบน) เริ่มเล่าให้ฟังว่า เททัม เป็นคนอย่างไร เขาชอบพูดถึงคนยิ่งใหญ่ที่เขารู้จัก และได้จากโลกไปแล้ว จากนั้นสิ่งที่ตามมาที่ผมรู้เลยก็คือ เขาจะร้องไห้เสมอ" เช่นเดียวกับคำบอกเล่าของ จอห์น เคนดอล ผู้จัดการร้านขายแผ่นเสียงมือสองชื่อ โดเบลล์ ในย่านแชริง ครอสส์ ของนครลอนดอน ที่มักได้ยิน เบน เว็บสเตอร์ ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในบริเวณชั้นใต้ดินของร้าน ทุกครั้งที่เขาแวะมายังลอนดอน และลงไปฟังแผ่นของเททัม และวอลเลอร์ "พวกเขาไม่น่าตายเลย" เบนร่ำไห้พลางยกมือปาดน้ำตาบนใบหน้า ขณะฟังเพลงของคนทั้งสอง นอกจากนี้ยังมีข่าวความไม่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับตัวเขาอยู่บ้าง เช่น รับงานแสดง 2 เฟสติวัลในวันเดียวกัน งานหนึ่งที่ฟินแลนด์ และอีกงานทางตอนใต้ของฝรั่งเศส หรือกรณีของเวลาแสดง ขณะที่นักดนตรีแจ๊สมักเดินทางมาแสดงก่อนกำหนด แต่เบนมักจะมาสายเสมอ อย่างน้อย 2-3 วัน แต่เมื่อไปถึงแล้ว เขาก็จะเล่นอย่างเต็มที่ทีเดียว ถึงแม้ เบน เว็บสเตอร์ จะมีนิสัยประหลาดอย่างไร แต่สำหรับแวดวงแจ๊สในยุโรป เขาเป็นนักแซ็กโซโฟนที่ยังมีคนรักและระลึกถึงมาตราบจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะชาวเดนมาร์กที่จดจำเขาได้ ด้วยรางวัล เบน เว็บสเตอร์ ไพรซ์ (Ben Webster Prize) ซึ่งราชวงศ์เดนมาร์กพระราชทานให้แก่นักดนตรีฝีมือดีทุก ๆ ปี "เราสูญเสียทำนองและจังหวะ โทนนุ่ม ๆ และตัวโน้ตอันอ่อนโยน เราสูญเสียการแสดงออกถึงความรัก" เอิร์ล ไฮน์ส นักเปียโนอาวุโส เอ่ยแสดงความอาลัยต่อนักแซ็กโซโฟนคนนี้วันที่ทราบข่าวการจากไปของเขา