แบร์นาร์ด อาร์โนลต์ วิศวกรก่อสร้าง สู่เจ้าของอาณาจักรสินค้าหรู LVMH

แบร์นาร์ด อาร์โนลต์ วิศวกรก่อสร้าง สู่เจ้าของอาณาจักรสินค้าหรู LVMH
โลกแฟชันระดับไฮเอนด์รู้จักเขาในบทบาทเจ้าของ LVMH จักรวาลแห่งสินค้าแบรนด์เนมรายใหญ่สุด วงการมหาเศรษฐีรู้จักเขาในฐานะมหาเศรษฐีอันดับ 4 ของโลกในปี 2019 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 7.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนแวดวงการกุศลรู้จักเขาในบทบาทคนใจบุญ ที่ล่าสุดบริจาคเงิน 200 ล้านยูโร หรือกว่า 7 พันล้านบาท ช่วยบูรณะมหาวิหารนอเทรอดามจากเหตุเพลิงไหม้ ทั้งหมดนี้ “เขา” จะเป็นใคร ถ้าไม่ใช่ แบร์นาร์ด อาร์โนลต์ อาร์โนลต์เป็นชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ปี 1949 ในครอบครัวผู้มีอันจะกิน หลังเรียนจบจาก Ecole Polytechnique เขาก็เริ่มต้นเส้นทางอาชีพวิศวกรโยธา ในบริษัทก่อสร้างของพ่อคือ Ferret-Savinel ถึงจะเป็นลูกเจ้าของ แต่อาร์โนลต์ก็ต้องแสดงความสามารถให้คนอื่นยอมรับ เขาพิสูจน์ตัวเองอยู่หลายปีจนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น และก้าวสู่ตำแหน่งประธานบริษัทในปี 1978 จุดเปลี่ยนในชีวิตวิศวกรหนุ่มเกิดขึ้นในปี 1984 เมื่อเขาตัดสินใจเข้าซื้อกิจการบริษัทโฮลดิง (ประกอบธุรกิจด้วยการถือหุ้นในบริษัทอื่น) ที่ชื่อ Financière Agache ดำเนินธุรกิจสินค้าหรู มีบริษัทสิ่งทอซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ Christian Dior, ห้างสรรพสินค้า Le Bon Marché ฯลฯ  อยู่ในความดูแล เขาปรับการบริหารองค์กรและวางกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อให้บริษัททำรายได้และเติบโต หนึ่งในนั้นคือการทำให้ Christian Dior เป็นเสาหลักของบริษัท และเขาก็ทำสำเร็จ บริษัท Christian Dior คือผู้ถือหุ้นใหญ่ของ LVMH Moët Hennessy - Louis Vuitton ซึ่งถือกำเนิดในปี 1987 จากการควบรวมสองกิจการเข้าด้วยกันคือ Louis Vuitton และ Moët Hennessy มีแบรนด์หรูทั้งที่เป็นแบรนด์แฟชัน, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, น้ำหอม, นาฬิกาและอัญมณี อยู่ในความดูแลร่วม 70 แบรนด์ อาทิ Louis Vuitton, Christian Dior, Celine, Bulgari, Givenchy, Rimowa, Fendi, Moët & Chandon, TAG Heuer โดยอาร์โนลต์ขึ้นเป็นประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ LVMH มาตั้งแต่ปี 1989 จนถึงทุกวันนี้ สินค้าหรูไม่ใช่แค่สินค้าในความหมายที่จับต้องและใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น แต่สำหรับอาร์โนลต์ นี่คือสิ่งที่บ่งบอกรสนิยมการใช้ชีวิต นิตยสาร Forbes เคยกล่าวถึงเขาไว้ว่า อาร์โนลต์คือหนึ่งใน “ผู้สร้างรสนิยม” (taste-maker) ได้มากที่สุดคนหนึ่งในวงการแฟชัน LVMH มีรายได้รวมในปี 2018 ราว 4.68 หมื่นล้านยูโร (คิดเป็นเงินไทยก็กว่า 1.67 ล้านล้านบาท) ส่วนไตรมาสแรกของปี 2019 ยอดรายได้ของบริษัทอยู่ที่กว่า 1.25 หมื่นล้านยูโร เฉพาะไตรมาสแรกของปีนี้ เอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) มาเบอร์หนึ่ง ด้วยสัดส่วนการสร้างรายได้ 35% รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา 22% ยุโรป (ไม่รวมฝรั่งเศส) 17% ฝรั่งเศส 8% ญี่ปุ่น 7% ซึ่งการเติบโตของเอเชียเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2018 สูงขึ้นถึง 17% ในบรรดารายได้รวม 3 เดือนแรกของปี 2019 กลุ่มแฟชันและเครื่องหนังทำรายได้ 5,111 ล้านยูโร รองลงมาเป็นร้านค้าปลีก (Sephora และ DFS) 3,510 ล้านยูโร น้ำหอมและเครื่องสำอาง 1,687 ล้านยูโร ไวน์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1,349 ล้านยูโร และ นาฬิกาและอัญมณี 1,046 ล้านยูโร ดูท่าจะโตไม่หยุด ฉุดก็ไม่อยู่ เพราะต้นเดือนเมษายนปี 2019 หุ้น LVMH สูงขึ้น 4.6% ขึ้นไปแตะ 344.95 ยูโร นับว่าสูงสุดนับตั้งแต่บริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 1989 แรงหนุนที่ทำให้ LVMH โตขนาดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของตลาดเอเชียซึ่งผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงขึ้นมาก ทั้งยังเกิดจากแรงส่งของกลุ่มมิลเลนเนียลและเจน Z ทั่วโลก ทำให้หลายแบรนด์ต้องปรับภาพลักษณ์และออกสินค้าใหม่ ๆ ให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์และความชอบของคนกลุ่มนี้มากขึ้น ขาดไม่ได้ คือวิธีการบริหารและวิสัยทัศน์ของ แบร์นาร์ด อาร์โนลต์ อาร์โนลต์ให้สัมภาษณ์ Forbes ไว้เมื่อปี 2017 ว่า บุคคลที่เขายกย่องนับถือมากที่สุดในวงการธุรกิจคือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ “เขาเป็นนักลงทุนระยะยาวที่มีไอเดียบรรเจิดมาก และทำตามตามไอเดียนั้นอย่างแน่วแน่” อาร์โนลต์กล่าวถึงมหาเศรษฐีชาวสหรัฐฯ ส่วนอีกคนที่เขายกย่องคือ สตีฟ จอบส์ เจ้าพ่อ “แอปเปิล” ด้วยเหตุผลว่า “สิ่งที่ทำให้ผมชื่นชมในตัวเขาก็คือความสามารถในการนำไอเดียมาปฏิบัติได้จริง เขาเอานวัตกรรมหลายอย่างมาสู่ตลาด และทั้งสองคนนี้ [บัฟเฟตต์และจอบส์] มีสิ่งร่วมกันคือเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มาก ๆ” อาร์โนลต์เป็นคนที่สนุกกับการเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นจริง เขาพยายามเชื่อมต่อตัวเองกับนวัตกรและดีไซเนอร์ เพื่อดูว่าพวกเขามีไอเดียเจ๋ง ๆ อะไรบ้าง และจะปรับมาสู่โหมดธุรกิจได้อย่างไร โดยที่ความคิดสร้างสรรค์นั้นยังคงอยู่ และถึงจะเป็นนักธุรกิจที่ตัวเลขรายได้เป็นเรื่องสำคัญ แต่สำหรับเขา นั่นอาจไม่ได้สำคัญไปกว่าการมองอะไรในระยะยาว “ผมบอกทีมเสมอว่าอย่ากังวลมากจนเกินไปนักเกี่ยวกับผลกำไร หากคุณทำงานได้ดี กำไรก็จะตามมา สิ่งที่ผมกังวลมากกว่าคือแบรนด์จะเป็นอย่างไรในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ไม่ใช่ผลกำไรในอีก 6 เดือนข้างหน้า “ในจักรวาลของสินค้าและแบรนด์ทั้งหลาย สำหรับผมแล้ว ความสำเร็จคือการผสมผสานอดีตและอนาคตเข้าด้วยกัน ทั้งรากเหง้า ประวัติศาสตร์ และความทันสมัย เมื่อผมเห็นสินค้าของแบรนด์เรา มันต้องไร้กาลเวลา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีความทันสมัย นั่นคือกุญแจความสำเร็จ” ดูเหมือนความสำเร็จจะเข้มข้นอยู่ในดีเอ็นเอของอาร์โนลต์ แต่เปล่าเลย...เขาก็เคยตัดสินใจผิดพลาดมาแล้วเหมือนกัน อาร์โนลต์เคยมีธุรกิจเครื่องสำอางอยู่ในความดูแลราว ๆ 5 ปี ก่อนจะขายทิ้งไปเมื่อ 17 ปีก่อน เพราะธุรกิจไปต่อลำบาก แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ตระหนักได้ว่านั่นคือการตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ เขาขายธุรกิจเร็วเกินไปเพราะไม่มีความอดทนมากพอ สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นบทเรียนราคาแพง ทำให้อาร์โนลต์เรียนรู้ว่าหากรักจะทำธุรกิจต้องเข้าใจมันให้ดีและต้องใจเย็น “อาจใช้เวลาหลายปีในโลกของความคิดสร้างสรรค์เพื่อทำให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อได้ ซึ่งตอนนี้ธุรกิจที่ผมขายมันเดินหน้าไปได้สวยทีเดียว” ขณะที่บางกรณี อาร์โนลต์ก็คิดไม่ถึงว่าจะไปได้ไกลกว่าที่คาด อย่าง Sephora ร้านค้าปลีกสินค้าความงามระดับไฮเอนด์ ที่เขาซื้อเข้ามาอยู่ใต้ร่ม LVMH เมื่อปี 1998 ซึ่งช่วงเวลานั้นมีเพียงไม่กี่สาขา แต่ตอนนี้มีราว 2,300 ร้าน ในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก “ความสำเร็จของ LVMH สร้างอยู่บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์, คุณภาพ, ความเป็นผู้ประกอบการ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ วิสัยทัศน์ระยะยาว ผมจำได้ถึงครั้งแรกที่ไปเยือนกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อปี 1991 ตอนนั้นผมไม่เห็นรถยนต์สักคัน มีแต่จักรยานเท่านั้น ตึกสูง ๆ ก็ไม่มี แต่เราก็ตัดสินใจเปิด Louis Vuitton สาขาแรกในจีน วันนี้ Louis Vuitton คือลักชัวรีแบรนด์อันดับหนึ่งในจีนและทั่วโลก... “ทุกวันนี้ อินเทอร์เน็ตทำให้โลกเล็กลงมาก เมื่อคุณเริ่มบางสิ่งวันนี้ คุณจำเป็นต้องเริ่มมันทั่วโลกในเวลาเดียวกันเพื่อให้ประสบความสำเร็จ อย่างการออกสินค้าก็จำเป็นต้องทำทั่วโลกเพื่อให้ประสบความสำเร็จ” ไม่แปลกใจหากวิธีคิดดังกล่าวจะทำให้ LVMH คืออาณาจักรสินค้าหรูที่ใหญ่สุดของโลกในปัจจุบัน และอีกประการหนึ่ง อาจเพราะอาร์โนลต์มีสัญชาตญาณนักไล่ล่าอยู่ในตัว “ผมเป็นคนชอบการแข่งขันมาก ๆ เพราะผมต้องการชนะ”   ที่มา https://www.lvmh.com/group/about-lvmh/governance/executive-committee/bernard-arnault/ https://heavy.com/news/2019/04/bernard-arnault/ https://www.businessoffashion.com/community/people/bernard-arnault https://www.forbes.com/profile/bernard-arnault/#1406a18766fa https://r.lvmh-static.com/uploads/2019/04/lvmh_ag-2019-va.pdf https://www.forbes.com/sites/luisakroll/2017/09/26/business-icon-bernard-arnault-reveals-his-most-important-mentor-biggest-mistake-in-qa/#2c6a96772ccc