เบอร์นี แซนเดอร์ส: ‘The Old Man and the Meme’ คุณปู่ขวัญใจวัยรุ่นผู้ขโมยซีนโจ ไบเดน

เบอร์นี แซนเดอร์ส: ‘The Old Man and the Meme’ คุณปู่ขวัญใจวัยรุ่นผู้ขโมยซีนโจ ไบเดน
ท่ามกลางบุรุษและสตรีที่แต่งตัวกันอย่างภูมิฐานมาร่วมงานสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของโจ ไบเดน หน้าอาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2021 มีชายสูงวัยคนหนึ่งสวมหน้ากากอนามัยนั่งไขว่ห้างเอามือวางบนหน้าตักฟังผู้นำคนใหม่กล่าวสุนทรพจน์แบบเว้นระยะห่างอย่างเงียบ ๆ ตรงนั้น และทันทีที่ภาพนั้นปรากฏ คนอเมริกันและทั่วโลกที่ชมถ่ายทอดสดก็แทบลืมผู้นำอเมริกาไปชั่วขณะ เพราะหันมาโฟกัสกับชายคนดังกล่าว ชายผมขาวผู้ขโมยซีนในงานนี้คือ เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนต์ และอดีตผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แซนเดอร์สมาร่วมเป็นสักขีพยานในงานของไบเดน ด้วยชุดเรียบง่าย สวมเสื้อกันหนาวสำหรับเล่นสกีสีเทา และถุงมือผ้าผืนหนาสีน้ำตาลลายบ้าน ๆ สะดุดตา เขาแต่งตัวราวกับว่านั่งเล่นอยู่หน้าบ้าน ไม่ได้อยู่ในงานฉลองผู้นำประเทศคนใหม่   เปิดใจกลายเป็นมีม “ผมก็แค่นั่งอยู่ตรงนั้น พยายามทำร่างกายให้อบอุ่นไว้ พยายามให้ความสนใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น” แซนเดอร์สให้สัมภาษณ์ในรายการ Late Night with Seth Meyers หลังภาพของเขากลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียล เมื่อคนพากันนำไปตัดต่อเป็นมีม (Meme) หยอกล้อกันสนุกสนาน บางคนถึงขั้นสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานสามารถจับรูปของเบอร์นี ไปวางตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างในหนัง Forest Gump, ซีรีส์ Game of Thrones, บนรถไฟฟ้า หรือบนดวงจันทร์ เพิ่มความง่ายและหลากหลายให้กับมีมชิ้นนี้ “เขามีเสน่ห์ในแบบเบอร์นี แซนเดอร์ส คนดีคนเดิม คนที่ยังสวมถุงมือซึ่งได้มาจากผู้สนับสนุน และนั่งตรงนั้นราวกับว่า พิธีฉลองผู้นำประเทศคนใหม่ไม่ใช่แค่เรื่องเดียวที่เขาต้องทำในวันนั้น” นิก ซอห์นี นักศึกษามหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ผู้สร้างเว็บไซต์ดังกล่าวเผยถึงแรงบันดาลใจ ถุงมือที่เบอร์นีใส่เข้าร่วมงานใหญ่ของไบเดน เขาได้มาจากครูประถมคนหนึ่งในรัฐเวอร์มอนต์ ซึ่งถักให้เป็นของขวัญปลอบใจตอนแพ้เลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2016 ส่วนเสื้อกันหนาวที่สวมมาเป็นของ Burton แบรนด์เสื้อผ้าสกีท้องถิ่นของเวอร์มอนต์ ซึ่งลูกชายของเขาเคยทำงานอยู่ที่นั่น   อเมริกันไอดอล เบอร์นี แซนเดอร์ส แม้วัยจะย่าง 80 ปี แต่เขายังเป็นขวัญใจวัยรุ่น เนื่องจากเป็นคนหัวก้าวหน้า เป็น ‘อเมริกันไอดอล’ ตัวจริงของขบวนการฝ่ายซ้ายผู้สนับสนุนนโยบายสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบรัฐสวัสดิการ ต่อต้านนายทุนผูกขาด และมีเด็กยุคใหม่ให้การหนุนหลังจำนวนมาก จนสื่อบางสำนักเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า กองทัพเบอร์นี หนึ่งในขุนพลของเบอร์นี คือ อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ กอร์เตส หรือ AOC เด็กสาวที่เคยใช้ชีวิตปากกัดตีนถีบ ก่อนได้แรงบันดาลใจจากชายสูงวัยผู้นี้ จนตัดสินใจลงเลือกตั้ง และได้ชัยชนะ กลายเป็น ส.ส.หญิงอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกาเมื่อปี 2018 ขณะมีอายุเพียง 29 ปี “ฉันมีความเชื่อใจและมั่นใจในตัวท่านมาก ว่าท่านคือคนที่จะสู้กับการต่อสู้ในสิ่งที่ฉันเชื่อ และฉันขออยู่ข้างเดียวกับท่าน” AOC บอกกับเบอร์นี เพื่อสนับสนุนเขาเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2020   ปลุกความหวังฝ่ายซ้าย เบอร์นี แซนเดอร์ส ก้าวจากวุฒิสมาชิกที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักจนโด่งดังจากการลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 2 สมัยในปี 2016 และ 2020  แม้สุดท้ายเขาจะไม่ได้รับเลือกทั้ง 2 ครั้ง แต่นโยบายหาเสียงของเขาได้สั่นสะเทือนไปทั่วสหรัฐอเมริกา และปลุกขบวนการฝ่ายซ้ายให้กลับมามีความหวังในการเปลี่ยนแปลงประเทศสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง “ผมเป็นนักสังคมนิยม และทุกคนก็รับรู้เรื่องนั้น” เบอร์นีเปิดใจ “ลัทธิสังคมนิยมประชาธิปไตยหมายความว่า เราต้องสร้างเศรษฐกิจที่ทำงานเพื่อคนทุกหมู่เหล่า ไม่ใช่แค่พวกผู้มั่งคั่งร่ำรวย” นโยบายหาเสียงของเขา ได้แก่ การปลดหนี้การศึกษา และให้ชาวอเมริกันทุกคนเรียนฟรีจนถึงมหาวิทยาลัย, เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากชั่วโมงละ 7.25 เป็น 15 เหรียญสหรัฐ, สนับสนุนระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย, ขึ้นภาษีทั้งคนรวยและชนชั้นแรงงานตามฐานรายได้, ต่อต้านทุนผูกขาด รวมถึงบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในซิลิคอน แวลลีย์ (Silicon Valley) และทุ่มงบประมาณต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการควบคุมจำนวนประชากร และยกเลิกการพึ่งพาน้ำมัน หันมาใช้พลังงานสะอาดทั้งหมดภายใน 10 ปี (Green New Deal)  นโยบายเหล่านี้แม้จะถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง รวมถึงเสียงค้านจากเพื่อนร่วมพรรคเดโมแครต แต่ก็ได้รับเสียงสนับสนุนมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะจากชาวอเมริกันรากหญ้า และคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของเขา ความนิยมในตัวเบอร์นี เกือบทำให้เขาพลิกล็อกเอาชนะฮิลลารี คลินตัน ในการชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคลงสมัครประธานาธิบดีในปี 2016 โดยเบอร์นี พ่ายให้ฮิลลารี ไปที่คะแนน 43.13 ต่อ 55.23% ส่วนการเลือกตั้งปี 2020 เขาก้าวขึ้นเป็นตัวเต็ง และได้คะแนนมากที่สุดเป็นอันดับสองของพรรค รองจากโจ ไบเดน เพียงคนเดียวเท่านั้น   ลูกชาวยิวอพยพฐานะยากจน สำหรับเส้นทางชีวิตของเบอร์นี แซนเดอร์ส เขาเกิดวันที่ 8 กันยายน ปี 1941 ที่เขตบรูคลิน ในนครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ เป็นสมาชิกครอบครัวผู้อพยพชาวยิวจากโปแลนด์ บิดามีอาชีพเซลส์แมนขายสี ส่วนมารดาเป็นแม่บ้าน คอยเลี้ยงดูบุตรชายทั้ง 2 คน แลร์รี พี่ชายของเบอร์นี กล่าวถึงชีวิตในวัยเด็กของเขาและน้องชายว่า ทั้งคู่เติบโตมาในครอบครัวที่มีทั้งความรักและความปลอดภัย แต่ที่ขาดไป และทำให้พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยครั้งคือ ปัญหาด้านการเงิน “ผมคิดว่าสิ่งที่เบอร์นาร์ด (เบอร์นี) และผมได้มาจากเรื่องนั้นก็คือ ปัญหาทางการเงินไม่ใช่แค่ปัญหาทางการเงินเพียงอย่างเดียว มันฝังลึกลงไปในชีวิตของผู้คน และในระดับบุคคลแต่ละคนด้วย” แลร์รีกล่าว เบอร์นีเข้าเรียนชั้นประถมและมัธยมในโรงเรียนรัฐที่บรูคลิน และจบไฮสกูลที่ เจมส์ แมดิสัน โรงเรียนรัฐท้องถิ่นชื่อดัง ซึ่งมีศิษย์เก่าเป็นผู้มีชื่อเสียงหลายคน อาทิ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก อดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐฯ, ชัค ชูเมอร์ อดีตผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา และแคโรล คิง นักร้อง-นักแต่งเพลง อย่างไรก็ตาม เบอร์นีเคยพูดถึงตัวเองว่า เขาเป็นนักเรียนธรรมดา ๆ ที่ผลการเรียนไม่โดดเด่น เพราะยังไม่เจอสิ่งที่ชอบ โดยระหว่างเป็นนักเรียน เขายังเล่นกีฬา และเป็นทั้งนักวิ่งระยะไกล และนักบาสเกตบอลของโรงเรียน   ฝักใฝ่สังคมนิยม หลังจบมัธยม เบอร์นีเข้าศึกษาต่อที่ บรูคลิน คอลเลจ มหาวิทยาลัยรัฐท้องถิ่นที่ได้ฉายา “ฮาร์วาร์ดของคนยากไร้” เพราะเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ ที่มีภูมิทัศน์คล้ายฮาร์วาร์ด แต่ค่าเล่าเรียนถูกกว่า เบอร์นีเรียนที่ บรูคลิน คอลเลจ แค่ปีเดียว ก่อนย้ายไปเข้า ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ ชิคาโก ในปี 1961 และที่นั่นเองทำให้เขาได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองมากมาย รวมถึงการเดินขบวนครั้งใหญ่เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเชื้อชาติในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กับ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เมื่อปี 1963 และเป็นสมาชิกกลุ่มยุวชนของพรรคสังคมนิยมอเมริกา บุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของเบอร์นี มากที่สุด คือ ยูจีน เดบส์ ผู้ก่อตั้งพรรคสังคมนิยมอเมริกัน และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 5 สมัยในปลายศตวรรษที่ 19 โดยเบอร์นี กล่าวถึงชายผู้นี้ว่า “น่าจะเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุดที่ชนชั้นแรงงานอเมริกันเคยมีมา” อย่างไรก็ตาม หลังเรียนจบปริญญาตรีทางรัฐศาสตร์จาก ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ ชิคาโก ในปี 1964 เบอร์นีกลับมาใช้ชีวิตในนิวยอร์กอยู่พักใหญ่ ก่อนย้ายหนีเมืองใหญ่ไปใช้ชีวิตในชนบทที่เวอร์มอนต์ และทำงานเป็นนักเขียนอิสระ และช่างไม้ให้กลุ่มสหภาพของชุมชน   ไต่เต้าเข้าการเมือง เบอร์นีเริ่มเข้าสู่การเมืองด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนามในยุคสงครามเย็น เขาลงเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐเวอร์มอนต์ และ ส.ว.หลายสมัยแต่ยังไม่ชนะ จนกระทั่งปี 1981 จึงประสบความสำเร็จ ได้เป็นผู้สมัครอิสระที่ชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเบอร์ลิงตัน ของเวอร์มอนต์ จากนั้น เบอร์นีก็ค่อย ๆ ไต่เต้าอาชีพทางการเมืองด้วยการชนะเลือกตั้งเป็น ส.ส. หลายสมัย ก่อนก้าวไปเป็น ส.ว. ของรัฐเดียวกันครั้งแรกในปี 2006 และลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 2 สมัย แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ชีวิตส่วนตัวของเบอร์นี เขาผ่านการหย่าร้างมา 1 ครั้ง และมีลูกสาว 1 คน (เลวี) กับแฟนสาวอีกคนที่ไม่ได้แต่งงานกัน ก่อนมาพบรักกับเจน โอเมียรา ภริยาคนปัจจุบันที่แต่งงานกันตั้งแต่ปี 1988 โดยฝ่ายหญิงมีลูกติดมาจากสามีเก่า 3 คน   มาไกลเกินคาด แม้ชายสูงวัยจากเวอร์มอนต์ผู้นี้จะยังไปไม่ถึงดวงดาวตามเป้าหมายใหม่ในการก้าวไปลุ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่นับว่าเขามาไกลกว่าที่ใครหลายคนคาดไว้ เนื่องจากก่อนหน้านี้แทบไม่มีใครเชื่อว่า นโยบายซ้ายจัดของเบอร์นี จะได้รับความนิยมบนดินแดนมหาอำนาจทุนนิยมอย่างอเมริกา ความเคลื่อนไหวของเบอร์นี นอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจให้นักการเมืองรุ่นใหม่ ยังส่งผลต่อนโยบายและแนวทางของพรรคเดโมแครต ทำให้มีความเอียงซ้ายมากขึ้น กลยุทธ์หาเสียงของเขา เนื่องจากมีทุนน้อย เพราะไม่รับเงินบริจาคจากบริษัทห้างร้านขนาดใหญ่ ทำให้ต้องเน้นเคาะประตูบ้านเจาะฐานเสียงคนรากหญ้า และประชาสัมพันธ์ผ่านโลกออนไลน์ ทำให้ได้ใจเด็กรุ่นใหม่ และมักกลายเป็นไวรัล อย่างไรก็ตาม มีมล่าสุดของชายสูงวัยในพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจแตกต่างจากไวรัลที่ผ่านมา เพราะไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อหาเสียงทางการเมือง  แต่เป็นไวรัลของชายชรากับมีมฮา ๆ ที่ช่วยเยียวยาจิตใจผู้คนให้คลายเครียดจากวิกฤตโควิด-19 และปัญหารุมเร้าต่าง ๆ นานา ขณะเดียวกัน ทีมงานของเบอร์นี ยังสามารถเปลี่ยนกระแสไวรัลให้กลายเป็นประโยชน์กับสังคม ด้วยการนำมีมนี้มาสกรีนบนเสื้อเพื่อวางขาย และระดมรายได้ทั้งหมดเข้ากองทุน นำไปซื้ออาหารช่วยเหลือผู้ป่วยและคนพิการที่อดอยาก เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของเบอร์นี แซนเดอร์ส นักการเมืองหัวก้าวหน้า ผู้ต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมในสังคมมายาวนานกว่า 60 ปี   เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.nytimes.com/2021/01/21/us/politics/bernie-sanders-meme.html https://www.buzzfeed.com/larryfitzmaurice/bernie-sanders-responds-to-inauguration-memes https://www.boston25news.com/news/bernie-sanders-memes-go-viral/YFGDCUIXQ5BDBHRLHJ6UL7ERSE/?fbclid=IwAR0US9-Xtrj6gyuYwXk1ken7REj6nR01NXlz-5RFzEsWLTqbhvwUZFslJUQ https://www.theguardian.com/commentisfree/2019/oct/19/alexandria-ocasio-cortez-bernie-sanders-endorsement https://www.bbc.com/news/magazine-35364868 http://projects.vpr.org/becoming-bernie https://www.rollingstone.com/culture/culture-news/bernie-sanders-meme-inauguration-sweatshirt-charity-1117854/