ปี่กัน : ขุนนางตงฉินผู้กรีดอกควักหัวใจพิสูจน์ความซื่อสัตย์

ปี่กัน : ขุนนางตงฉินผู้กรีดอกควักหัวใจพิสูจน์ความซื่อสัตย์
ในพงศาวดารจีนมีเรื่องราวของขุนนางข้าราชการที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ยอมพลีชีพเพื่อทัดทานในสิ่งที่จักรพรรดิหรือฮ่องเต้ผู้ปกครองประเทศกระทำไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ตลอดประวัติศาสตร์หลายพันปีของจีน มีเรื่องราวของบุคคลผู้มีความซื่อตรง ยึดมั่นในหลักการเช่นนี้ปรากฏขึ้นมิน้อยทีเดียว และหนึ่งในบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีนยุคโบราณซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดผู้หนึ่งในเรื่องของความซื่อตรงสุจริตนั้นก็คือ ‘ปี่กัน’ ขุนนางคนสำคัญในช่วงปลายราชวงศ์ซาง (商朝) อันเป็นราชวงศ์โบราณในยุคบรรพกาลของจีนเมื่อกว่าสามพันปีที่แล้ว ปี่กัน (比干) ตามข้อมูลเท่าที่ปรากฏในประวัติศาสตร์นั้น มีแซ่เดิมว่าจื่อ (子) เป็นโอรสของเหวินติ่ง (文丁) กษัตริย์พระองค์ที่ 28 แห่งราชวงศ์ซาง ปี่กันจึงมีศักดิ์ฐานะเป็นองค์ชายเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ในสมัยซาง เมื่อตี้ซิน (帝辛) หรือซางโจ้วหวาง (商紂王) กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซางเสด็จขึ้นครองราชย์ ปี่กันก็มีศักดิ์ฐานะเป็นพระปิตุลา (พระเจ้าอา) ของซางโจ้วหวาง และเป็นขุนนางใหญ่คนสำคัญในราชสำนักซางด้วย ปี่กันเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาแต่เยาว์วัย เมื่อเติบใหญ่และได้รับราชการในราชสำนักซาง ก็ยึดมั่นในความซื่อตรง จนกลายเป็นเสาหลักคนสำคัญของราชสำนักซาง ปี่กัน : ขุนนางตงฉินผู้กรีดอกควักหัวใจพิสูจน์ความซื่อสัตย์

ภาพวาดปี่กัน สันนิษฐานว่าวาดในสมัยราชวงศ์หมิง-ชิง

ในรัชสมัยของซางโจ้วหวางนั้น ถือได้ว่าเป็นยุคที่มืดมนที่สุดยุคหนึ่งในสมัยราชวงศ์ซางและในประวัติศาสตร์จีน การเมืองการปกครองในรัชสมัยของพระองค์นั้นเต็มไปด้วยความโหดร้ายทารุณ กดขี่ขูดรีดราษฎร ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมอย่างมาก ซางโจ้วหวางเองก็มิค่อยใส่ใจกับการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ละวันเอาแต่เสวยสุขดื่มสุราเคล้านารีอยู่กับนางสนมคนโปรดอย่างนางต๋าจี่ (妲己) ตำนานบางแหล่งกล่าวว่า ซางโจ้วหวางถึงขนาดสร้างสระสุราและดงเนื้อ คือขุดสระขนาดใหญ่ภายในพระราชวัง แล้วเทสุราลงไปในสระแทนน้ำ จากนั้นก็นำเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ไปแขวนไว้กับกิ่งไม้บนต้นไม้รอบสระสุรานั้น วัน ๆ พระองค์จะสรงน้ำสุราในสระนั้นกับนางต๋าจี่อย่างสำราญพระทัย ไม่ใส่ใจในการบริหารราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ นางต๋าจี่ผู้นี้ยังมีตำนานเล่าขานว่า นางเป็นคนที่มีความคิดที่วิปริตเหี้ยมโหดไม่แพ้พระสวามีของนาง นางได้คิดหาวิธีการแปลกประหลาดในการลงโทษผู้คนหลากหลายประการ เช่น การลงโทษโดยให้นักโทษเดินอยู่บนคานทองแดงร้อน ๆ ซึ่งพื้นด้านล่างมีกองเพลิงลุกโชติช่วง ถ้าพลาดก็ตกลงไปถูกไฟคลอกตาย การจับนักโทษมัดติดกับเสาทองแดงที่ร้อนระอุ แล้วปล่อยให้ร่างของนักโทษถูกไหม้กับเสาทองแดงไปจนขาดใจตาย เป็นต้น ขุนนางจำนวนไม่น้อยที่มีใจเพื่อบ้านเมือง พยายามทูลทัดทานซางโจ้วหวาง ก็จะถูกประหารด้วยวิธีการเหล่านี้แทบทั้งสิ้น ปี่กันเมื่อเห็นสภาพเช่นนี้ก็อดรนทนไม่ได้ จึงกราบทูลทัดทานต่อซางโจ้วหวาง ว่าการที่พระองค์เอาแต่เสพสุรานารี หลงเชื่อคำยุยงของนางต๋าจี่เช่นนี้ จะทำให้บ้านเมืองถึงกาลวิบัติ ราชสมบัติที่บุรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซางทรงรักษาไว้มาอย่างยาวนานหลายร้อยปีจะมีอันตรายเป็นแน่ ซางโจ้วหวางพิโรธยิ่ง ในพงศาวดารสื่อจี้ (史记) ระบุว่าเมื่อซางโจ้วหวางไม่พอพระทัยที่ปี่กันมัก ‘ขัดพระทัย’ ของพระองค์อยู่เสมอ จึงทรงลงทัณฑ์ปี่กันด้วยการ ‘ผ่าอกควักหัวใจ’ ของปี่กันออกมา เป็นอันปิดฉากชีวิตขุนนางผู้ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินท่านนี้อย่างน่าเศร้า ในอีกไม่นานต่อมา จีฟา (姬发) เจ้าแคว้นโจว (周) รัฐศักดินาทางตะวันตกของราชวงศ์ซางก็ลุกฮือขึ้นก่อการกบฏต่อราชวงศ์ซาง ขุนนางและราษฎรทั้งหลายพากันสนับสนุนการลุกฮือของจีฟา จนทำให้จีฟาสามารถยาตราทัพรบชนะกองทัพราชวงศ์ซางหลายครั้ง จนเข้ายึดเมืองหลวงเจาเกอ (朝歌) ของราชวงศ์ซางได้ ซางโจ้วหวางจึงปลงพระชนม์พระองค์เองด้วยการเสด็จขึ้นไปบนหอลู่ไถ (鹿台) ในพระราชวัง แล้วจุดไฟด้านล่าง จากนั้นก็กระโดดลงในกองไฟ ราชวงศ์ซางก็ถึงกาลดับสูญนับแต่นั้น จีฟาได้สถาปนาพระองค์เป็นพระเจ้าโจวอู่หวาง (周武王) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โจว (周朝) ปกครองแผ่นดินจีนสืบต่อมา ชาวจีนรุ่นหลังให้ความเคารพต่อปี่กันอย่างมาก ในวรรณกรรมเทพนิยายอันเลื่องชื่อของจีนอย่างเฟิงเสินเหยี่ยนอี้ (封神演义) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ‘ห้องสิน’ ซึ่งอิงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ในรัชสมัยซางโจ้วหวางแห่งราชวงศ์ซางนั้น ก็มีปี่กันเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของเรื่อง และภายหลังจากที่เขาถึงแก่กรรมด้วยความซื่อสัตย์ เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเทพ ชาวจีนพากันเคารพบูชาปี่กันในฐานะเทพแห่งโชคลาภ (財神 ไฉเสิน หรือไฉ่ซิงเอี้ย) ในฝ่ายบุ๋น คู่กับจ้าวกงหมิง (赵公明) ซึ่งเป็นเทพโชคลาภ หรือไฉ่ซิงเอี้ยในฝ่ายบู๊ตามความเชื่อของชาวจีน ใน ‘ห้องสิน’ ฉบับภาษาไทย ซึ่งแปลในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวถึงวาระสุดท้ายของปี่กันเอาไว้อย่างน่าสลดใจว่า “ฝ่ายปิกัน (ปี่กัน) นั่งอยู่ในตึกคิดวิตกถึงการบ้านเมืองอยู่ พอขันทีเอาหนังสือไปแจ้งว่ารับสั่งให้หาในทันใดนั้น แต่ขันทีถือหนังสือวิ่งซ้ำกันออกไปถึงหกคนบอกว่ารับสั่งเร่งนัก ปิกันเห็นผิดประหลาด จึงถามขันทีว่าราชการร้อนรนอย่างไรหรือ จึงซ้ำกันมาถึงห้าคนหกคนดังนี้ จงบอกความแก่เราให้รู้ก่อนจึงจะไป ขันทีจึงบอกว่าข้าพเจ้าได้ยินว่านางขันกี (ต๋าจี่) ป่วยรากโลหิต จะเอาตับมังกรที่ในท้องของท่านต้มให้กิน ปิกันรู้ดังนั้นก็ตกใจนัก ครั้นจะว่าไม่ไปก็เกรงอาญาพระเจ้าติวอ๋อง (โจ้วหวาง) จึงว่ากับตำรวจให้นั่งอยู่ท่าสักหน่อยหนึ่ง แล้วก็ลุกเข้าไปในห้อง จึงเรียกนางเบ๋งภรรยามา แล้วบอกความว่าข้าจะจากไปเดี๋ยวนี้เห็นจะตาย จะไม่ได้กลับคืนมาเห็นหน้ากันต่อไปแล้ว เจ้าจงอยู่รักษาบุตรผู้คนบ้านเรือนต่อไปจงดีเถิด “นางเบ๋งได้ฟังผัวว่าดังนั้น ก็ร้องไห้แล้วว่า แต่ท่านทำราชการมาโดยสัตย์กตัญญูก็ช้านานแล้ว ไม่เคยได้ยินว่าดังนี้เลย ขอท่านจงหยุดอยู่ตรึกตรองดูให้ดีก่อน ปิกันจึงว่าบัดนี้มีรับสั่งเร่งเป็นการเร็วไม่รู้ที่จะคิดประการใด ปิจู๊ซึ่งเป็นบุตรชายจึงว่าแก่ปิกันผู้บิดาว่า เมื่ออาจารย์เกียงจูแหยมาพิเคราะห์ดูราศีท่านครั้งก่อนนั้นทายไว้ว่าเคราะห์ร้าย แล้วเขียนหนังสือบอกความรู้ไว้ว่า ถ้ามีเหตุการณ์ข้างหน้าอย่างไร ก็ให้ดูแก้ไขตามหนังสือนั้น ปิกันก็คิดขึ้นได้ มีความยินดีหยิบเอาหนังสือมาดูแล้วเขียนยันต์ลงที่กระดาษใส่ในน้ำกินเข้าไป แล้วก็ลุกเดินออกมาขึ้นขี่ม้าไปในวังด้วยขันที ครั้นมาถึงประตูพระราชวัง ก็ลงจากม้าจะเข้าไปเฝ้า บูเสงอ๋องวิ่งเข้ามาคำนับแล้วถามว่า ท่านจะเข้าไปเฝ้าด้วยราชการสิ่งไร ปิกันจึงบอกว่าขันทีไปหาเรามาบอกว่านางขันกีป่วย จะเอาตับมังกรในท้องเราทำยาให้นางขันกีกินแล้วก็เดินไป “บูเสงอ๋องได้ฟังปิกันบอกดังนั้นก็สงสัยนัก ก็เดินตามเข้ามาแอบฟังอยู่ริมพระที่นั่ง ปิกันเข้ามาถึงประตูชั้นห้า เห็นพระเจ้าติวอ๋องเสด็จอยู่บนพระที่นั่งลกไต๋ก็เข้าไปเฝ้า พระเจ้าติวอ๋องจึงตรัสว่า บัดนี้นางขันกีป่วยรากโลหิต จะต้องการตับมังกรต้มให้กินจึงจะหายโรค จะให้ไปหาตับมังกรที่ไหนก็ไม่มี เขาว่าจำเพาะมีอยู่แต่ที่ในท้องท่าน ท่านจงทำคุณแก่เรา จงให้ตับมังกรที่อยู่ในท้องของท่านนั้นแก่เราเถิด ปิกันจึงทูลว่า ตับมังกรจะได้มีในท้องข้าพเจ้าหามิได้ แต่ปีศาจมันแกล้งทูลจะให้ข้าพเจ้าตาย พระองค์หลงเชื่อไม่ตรึกตรองดูให้ดีก่อน เสียแรงข้าพเจ้ามีความกตัญญูต่อพระองค์ ตั้งใจทำราชการโดยสัตย์ ช่วยรักษาแผ่นดินให้เป็นสุขมาช้านาน บัดนี้ตัวข้าพเจ้าก็มิได้มีความผิด ก็เหมือนพระองค์จะแกล้งฆ่าข้าพเจ้าเสีย ข้าพเจ้าจะรู้ที่ไปพึ่งผู้ใดเล่า พระเจ้าติวอ๋องได้ฟังดังนั้นก็โกรธ จึงตรัสว่าเสียแรงเราทำนุบำรุงเลี้ยงท่านมา จนเป็นขุนนางผู้ใหญ่ถึงเพียงนี้ ท่านยังไม่มีความรักเรา แต่จะต้องการของท่านเท่านี้ยังขัดไม่ให้ ท่านนี้หาควรเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ไม่ ปิกันโกรธทูลว่า เมื่อพระองค์รักเมียมากกว่าชีวิตข้าพเจ้าแล้วจะทำกระไรได้ พระองค์จงอยู่ให้เป็นสุขเถิด ข้าพเจ้าขอถวายบังคมลาตายในวันนี้แล้ว ปิกันก็ไปเอากระบี่ที่ทหารมาแหวะท้องของตัวออก ตัดตับแลหัวใจออกโยนให้ แล้วเอาเสื้อปิดท้องเข้าไว้ เดชะด้วยคุณยันต์ของเกียงจูแหย (เจียงจื่อหยา หมายถึงเจียงไท่กง กุนซือและอำมาตย์คนสำคัญของโจวเหวินหวางและอู่หวาง ผู้ช่วยเหลือให้โจวอู่หวางรบชนะราชวงศ์ซาง สถาปนาราชวงศ์โจวสำเร็จ) ที่เข้าไปไว้นั้นจึงยังไม่ตาย ลุกขึ้นแล้วก็เดินออกมาพบขุนนาง แลผู้ใดจะทักถามอย่างไรก็มิได้พูดขึ้นขี่ม้ารีบจะไปบ้าน “พอมาถึงกลางทางที่สะพานมังกร พอพวกนางขันกีแปลงตัวเป็นผู้หญิงหิ้วตะกร้ายืนสกัดหน้าม้าไว้ แล้วถามว่าจะซื้อผักไม่มีหัวใจบ้างหรือ ปิกันได้ยินว่าเป็นคำตลาดจึงหยุดม้าไว้ แล้วถามว่าผักไม่มีหัวใจนั้นเป็นอย่างไรไม่รู้จัก หญิงนั้นจึงบอกว่าผักไม่มีหัวใจนั้น ก็เหมือนกันกับคนที่ไม่มีหัวใจ ปิกันจึงถามว่าคนไม่มีหัวใจนั้นจะเป็นอย่างไรเล่า หญิงนั้นก็บอกว่า ถ้าคนไม่มีหัวใจแล้วก็ตาย ปิกันได้ฟังดังนั้นก็ตัวสั่นพลัดลงจากหลังม้าลง โลหิตและไส้ไหลออกมา ปิกันตายในที่นั้น” ปี่กัน : ขุนนางตงฉินผู้กรีดอกควักหัวใจพิสูจน์ความซื่อสัตย์

ภาพพิมพ์แกะไม้รูปปี่กันกับราชครูเหวินจ้ง (ด้านซ้าย) กับซางโจ้วหวางและนางต๋าจี่ (ขวา) ตัวละครสำคัญในวรรณกรรมเรื่องห้องสิน

  ปี่กัน : ขุนนางตงฉินผู้กรีดอกควักหัวใจพิสูจน์ความซื่อสัตย์

ปี่กันในรูปลักษณ์ของเทพไฉ่ซิงเอี้ยฝ่ายบุ๋น

ในซีรีส์ฮ่องกงเรื่องเฟิงเสินปั่ง (封神榜) หรือในพากย์ไทยชื่อว่า ‘นาจาเทพจอมอิทธิฤทธิ์ (Gods of Honour)’ ซึ่งเดินเรื่องตามวรรณกรรมเฟิงเสิน หรือห้องสิน ก็มีปี่กันเป็นตัวละครสำคัญในเรื่อง และมีฉากที่ปี่กัน ‘กรีดอกควักหัวใจ’ ถวายต่อซางโจ้วหวาง เพื่อแสดงความซื่อสัตย์สุจริตของตนให้เป็นที่ประจักษ์เช่นกัน ปี่กัน : ขุนนางตงฉินผู้กรีดอกควักหัวใจพิสูจน์ความซื่อสัตย์

ปี่กันกรีดอกควักหัวใจ ในซีรีส์ ‘นาจาเทพจอมอิทธิฤทธิ์’

แหล่งข้อมูลอ้างอิง https://baike.baidu.com/item/%E6%AF%94%E5%B9%B2/474233 ประวัติปี่กันในเว็บไซต์ไป่ตู้ของจีน https://vajirayana.org/%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99 ห้องสินฉบับภาษาไทย ตอนที่ 26 และ 27 จากเว็บโครงการหอสมุดดิจิทัลวชิรญาณ เรื่อง: วรพงศ์ เกตุดิษฐ์