บิลล์ บาวเวอร์แมน ได้ไอเดียทำรองเท้าไนกี้จากเครื่องทำขนมของเมีย จนพัฒนาเป็นรองเท้ามาราธอนที่เร็วที่สุดในโลก

บิลล์ บาวเวอร์แมน ได้ไอเดียทำรองเท้าไนกี้จากเครื่องทำขนมของเมีย จนพัฒนาเป็นรองเท้ามาราธอนที่เร็วที่สุดในโลก
1:59:40 ชั่วโมง คือระยะเวลาของระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ที่ เอเลียด คิปโชเก (Eliud Kipchoge) นักวิ่งชาวเคนยา ทลายขีดจำกัดของมนุษย์ในการวิ่งมาราธอนด้วยระยะเวลาที่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง หนึ่งในปัจจัยที่มีส่วนช่วยทำลายกำแพงเวลาครั้งนี้ มาจากรองเท้า Nike VaporFly Elite Flyprint ที่ ไนกี้ (Nike) แบรนด์เครื่องกีฬาชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อภารกิจก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษยชาติ แต่ไนกี้อาจไม่ได้ชื่อว่าเป็นรองเท้าที่พิชิต Breaking 2 ได้ หากวันนั้น บิลล์ บาวเวอร์แมน ผู้ร่วมก่อตั้งไนกี้ ไม่ได้เห็นเครื่องทำขนมของภรรยา จนบังเกิดไอเดียที่มาของการผลิตรองเท้าคู่แรกที่สร้างชื่อเสียงให้กับไนกี้จนถึงทุกวันนี้ “รองเท้าต้องประกอบด้วยสามสิ่ง มันต้องเบา ใส่สบาย และใช้วิ่งได้ไกล” นี่คือนิยามรองเท้าในอุดมคติของ บิลล์ บาวเวอร์แมน ครูสอนกรีฑาของมหาวิทยาลัยโอเรกอน ที่สร้างนักวิ่งลมกรดระดับโลกมาแล้วหลายราย ด้วยความที่นักวิ่งเหล่านั้นต่างมีเป้าหมายจะเป็นมนุษย์ที่วิ่งได้เร็วที่สุด ลำพังแค่ทักษะและการฝึกฝนอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะสิ่งหนึ่งที่สร้างความได้เปรียบให้กับนักวิ่งคือ อุปกรณ์ที่ดี วิลเลียม เจย์ ‘บิลล์’ บาวเวอร์แมน (William Jay ‘Bill’ Bowerman) เป็นชาวเมืองพอร์ทแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ปี 1911 เขาเป็นทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผันตัวมารับหน้าที่ครูสอนกรีฑา แน่นอนว่าการหาอาวุธคู่ใจให้กับนักวิ่งก็เป็นหนึ่งในงานสำคัญของครูผู้ฝึกสอนอย่างบาวเวอร์แมน เช่นกัน เขาพยายามหารองเท้าวิ่งที่ดีที่สุดให้กับนักวิ่งของเขา ด้วยการปรับแต่งรองเท้าวิ่งที่มีอยู่เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อรีดศักยภาพออกมาให้ได้มากที่สุด แล้วเขียนคำแนะนำที่เขาได้จากการทดลองส่งให้บริษัททำรองเท้านำไปพัฒนา แต่ไม่มีบริษัทไหนรับคำแนะนำของเขาเลย แต่บาวเวอร์แมนไม่ยอมแพ้ เขาไปขอคำแนะนำจากช่างทำรองเท้าแถวบ้าน เพื่อที่จะเรียนรู้วิธีการทำรองเท้าเบื้องต้น เขาได้ใช้วิศวกรรมผันกลับ (reverse engineering) หรือเรียกแบบเข้าใจง่ายคือ ชำแหละรองเท้าวิ่งด้วยเลื่อยมือ แล้วศึกษาส่วนประกอบของมันทีละส่วน ๆ ก่อนจะประกอบมันเข้าไปใหม่พร้อมกับใส่ชิ้นส่วนใหม่ ๆ อย่างเหล็กและหมุดพลาสติกเข้าไปด้วย ในปี 1958 รองเท้าวิ่งทำมือคู่แรกของบาวเวอร์แมน ก็พร้อมทดสอบในลู่วิ่งจริง ๆ ซึ่งเขาได้เลือกนักวิ่งระยะกลางคนหนึ่งจากทีมที่ชื่อ ฟิล ไนต์ (Phil Knight) มาเป็นผู้ทดลองรองเท้าคู่นี้ โดย ไนต์ ผู้ที่ต่อมาจะกลายมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไนกี้ ได้พูดถึงเรื่องนี้อย่างติดตลกว่า “ผมวิ่งช้ากว่าคนอื่น เลยเหมาะเป็นหนูทดลองให้เขา เพราะถ้าเลือกตัวท็อป ๆ แล้วเกิดบาดเจ็บขึ้นมามันจะยุ่งน่ะสิ” บาวเวอร์แมน ทดลองทำรองเท้าจากวัสดุต่าง ๆ มากมาย ทั้ง หนังจิงโจ้ กำมะหยี่ หนังกวาง หนังงู หรือแม้กระทั่งหนังปลา เพื่อหาวัสดุในอุดมคติที่มีทั้งความยืดหยุ่นใส่สบาย ทนทาน และมีน้ำหนักเบา แม้ว่าตอนนั้นเบอร์หนึ่งแบรนด์อุปกรณ์กีฬาจะเป็นเยอรมัน แต่บาวเวอร์แมนกลับบอกว่า “รองเท้าของพวกเยอรมันนั่นเหรอ ราคาแพง แต่คุณภาพก็งั้น ๆ ตอนนี้ผมสามารถทำรองเท้าที่เจ๋งที่สุดในโลกได้ ถ้าแค่หาช่างทำรองเท้าอเมริกันดี ๆ สักคนน่ะนะ” ขณะเดียวกัน ไนต์ผู้เคยเป็นหนูทดลองให้กับบาวเวอร์แมน ก็ได้รับแพสชันในการตามหาอาวุธลับนักวิ่งจากครูของเขา ทำให้ในปี 1962 เขาได้เดินทางข้ามทะเลไปยังเกาะญี่ปุ่น เพื่อไปเจอกับ Onitsuka Tiger รองเท้ากีฬาจากแดนอาทิตย์อุทัย ที่คุณภาพคับแก้วเมื่อเทียบกับราคา ไนต์จึงได้นำเข้ารองเท้าจากญี่ปุ่นมาบุกตลาดอเมริกา โดยตั้งบริษัทชื่อ Blue Ribbon Sports ในปี 1964 บาวเวอร์แมนมีส่วนช่วยไนต์ในการขายรองเท้านำเข้าจากญี่ปุ่น โดยทั้งคู่ลงทุนกันคนละครึ่ง บาวเวอร์แมนได้แนะนำบอกต่อ Onitsuka Tiger ให้กับนักวิ่งในสังกัด ที่พอได้ทดลองใช้แล้วต่างพึงพอใจ แต่เหมือนเดิม บาวเวอร์แมนไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เขาแยกส่วนรองเท้า Onitsuka Tiger ซึ่งด้วยความเป็นคนรักการวิ่งและเป็นช่างทำรองเท้าสมัครเล่น เขาเลยเห็นจุดเด่นของรองเท้าคู่นี้ เหนือไปกว่านั้นยังรู้ด้วยว่านักวิ่งลมกรดต้องการอะไรอีกจากรองเท้านี้ เขาเลยออกแบบรองเท้าเพิ่มเติมแล้วส่งให้ทางญี่ปุ่นผลิตออกมา เป็นที่มาของรองเท้ารุ่น Cortez 1968 ที่ออกวางขายในช่วงโอลิมปิกที่ประเทศเม็กซิโก รองเท้ารุ่นนี้ขายดีมากจนเป็นเหตุให้บริษัท Blue Ribbon Sports และ Onitsuka Tiger ต้องใส่คอนเวิร์สแยกทางกันในที่สุด หลังจากไม่มีผู้ผลิตจากญี่ปุ่น บาวเวอร์แมนและไนต์ เลยหันมาผลิตรองเท้าวิ่งของตัวเองอย่างเต็มตัวภายใต้แบรนด์ไนกี้ แม้รองเท้ารุ่น Cortez ซึ่งสิทธิบัตรเป็นของ บิลล์ บาวเวอร์แมน จะยังคงขายดีอย่างต่อเนื่อง และได้ชื่อว่าเป็นรองเท้าวิ่งที่ดีที่สุดในยุคนั้น แต่บาวเวอร์แมนก็ยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น เขาพยายามคิดค้นทดลองเพื่อให้ได้รองเท้าวิ่งที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนการวิ่งระยะไกลที่ไม่มีเส้นชัย “จะเป็นอย่างไรถ้าเราทำพื้นรองเท้าจากแบบพิมพ์เครื่องทำวาฟเฟิล” นั่นคือไอเดียที่เขาแวบขึ้นมาขณะนั่งหาวิธีทดแทนหมุดใต้พื้นรองเท้าที่ทำจากโลหะซึ่งมีน้ำหนักพอสมควร แล้วดันเหลือบไปเห็นเครื่องทำขนมเบลเยียมวาฟเฟิลของ บาร์บารา บาวเวอร์แมน ศรีภรรยาของเขา ไวเท่าความคิด เขาเทยูรีเทนเหลวลงไปในเครื่องทำวาฟเฟิล แต่บางทีความเร็วก็ไม่ใช่จะดีที่สุด เขาดันไม่ได้ทาเนย เอ้ย จารบีไว้ที่พิมพ์ ยูรีเทนเลยเกาะติดแน่นไม่สามารถแกะออกจากพิมพ์ แต่บาวเวอร์แมนไม่ยอมแพ้ คราวนี้เขาลองหาพิมพ์ใหม่เพื่อทดลองทำพื้นรองเท้าจากยาง ที่ทั้งน้ำหนักเบา ยืดหยุ่น และเกาะพื้นเป็นเยี่ยม เขานำพื้นรองเท้าจากยางมาประกอบเข้ากับส่วนบนของรองเท้าที่ทำจากไนลอน ในปี 1972 โลกก็ได้รู้จักรองเท้ารุ่น Moon Shoe ซึ่งมีที่มาจากรอยพื้นรองเท้าที่ได้จากเครื่องทำวาฟเฟิล ให้ลวดลายเหมือนรอยเท้าที่ นีล อาร์มสตรอง ทิ้งไว้บนดวงจันทร์เมื่อปี 1969 ต่อมารองเท้ารุ่นนี้ได้ปรับปรุงแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Waffle Trainer ในปี 1974 ซึ่งมีจุดเด่นตรงพื้นรองเท้าที่มีน้ำหนักเบาแต่ยึดเกาะพื้นดีเยี่ยม บิลล์ บาวเวอร์แมน ยังคงออกแบบรองเท้าวิ่งต่อไปเรื่อย ๆ โดยทดลองอยู่ในห้องเล็ก ๆ ซึ่งทำให้ได้รับสารพิษจากกาวและสารเคมีต่าง ๆ ทำให้มีอาการป่วยอยู่บ่อยครั้ง จนสุดท้ายลามมาถึงเส้นประสาทส่วนขา เป็นผลให้เขาไม่สามารถวิ่งได้อีก ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนารองเท้าวิ่งให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้แม้จะวิ่งเองไม่ได้ แต่เขาได้ส่งต่อความตั้งใจในการร่นเวลาจากจุดเริ่มต้นกับเส้นชัยให้เหลือน้อยที่สุดไปให้กับนักวิ่งทุกคน รวมถึงนักกีฬาคนอื่น ๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ไมเคิล จอร์แดน นักบาสเก็ตบอล, ไทเกอร์ วูดส์ นักกอล์ฟ, พี่ตูน Bodyslam และ เอเลียด คิปโชเก จะมีสิ่งที่เป็นจุดร่วมกัน นั่นคือการให้ความเชื่อมั่นกับแบรนด์ไนกี้ เรื่องราวจากเครื่องทำขนมของเมียของ บิลล์ บาวเวอร์แมน จนกลายเป็นรองเท้าวิ่ง ที่สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลกนี้ ได้ให้แง่คิดที่ว่า ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาเกิดได้จากทุกสิ่ง เพียงแค่เราต้องลงมือทำ ใช่แล้ว Just do it! ที่มา : https://nike.com https://www.highsnobiety.com