24 ก.ย. 2565 | 00:58 น.
- มารุต บุนนาค เป็นหลานตาของขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) ซึ่งขุนหลวงฯ คือคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาเนติบัณฑิตที่ประเทศอังกฤษ
- นายมารุต ได้รับคำยกย่องว่า เป็นสุภาพบุรุษนักการเมือง และเป็นผู้อาวุโสอีกคนของพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ใต้ชายคาพรรคถึง 44 ปี
- นายมารุต ดำรงตำแหน่งมาแล้วมากมาย และถือเป็นปูชนียบุคคลด้านกฎหมายอีกรายในไทย
วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2565 มารุต บุนนาค จากไปในวัย 98 ปี ชีวิตการเป็นนักการเมืองตลอดระยะเวลา 44 ปี ผู้คนที่ได้สัมผัสตัวตนผู้อาวุโสแห่งพรรคประชาธิปัตย์ ต่างยอมรับความเป็นสุภาพบุรุษนักการเมือง
เหมือนที่อาจารย์มารุตเคยพูดเตือนสตินักการเมืองว่า “..เมื่อลงจากตำแหน่งแล้วต้องลงอย่างสง่างาม ลงอย่างชนิดที่ว่าคนเขาไหว้เราได้อย่างสนิทใจ ไม่ใช่เลิกเล่นการเมืองแล้ว ประชาชนยังสาปแช่ง เห็นหน้าก็ไม่อยากยกมือไหว้”
เบ้าหลอมการเป็นนักการเมืองที่ดีของ มารุต บุนนาค ก็คือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.)
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 ชมรมเพื่อนโดม จัดงานวันธรรมศาสตร์สามัคคีเพื่อรำลึกเหตุการณ์สำคัญที่นักศึกษาทวงคืนพื้นที่ธรรมศาสตร์ จากกองกำลังทหารที่เข้ายึดไว้หลังเกิดเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน
ในวาระครบรอบ 70 ปี เหตุการณ์ดังกล่าว ชมรมเพื่อนโดมจึงประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและมอบรางวัล “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” เป็นครั้งแรกให้กับ มารุต บุนนาค ศิษย์เก่าผู้มีความเสียสละและมีคุณสมบัติเพียบพร้อมเป็นบุคคลต้นแบบ
คนรุ่นหลัง อาจไม่ทราบว่า มารุต บุนนาค เป็นหนึ่งในนักศึกษาธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘คณะกรรมการนักศึกษา’ เป็นองค์กรของนักศึกษา เมื่อปี 2491
รายนามประธานนักศึกษาธรรมศาสตร์ในยุคก่อน พ.ศ. 2500 ประกอบด้วยประจวบ อัมพะเศวต, มารุต บุนนาค, วินัย เพิ่มพูนทรัพย์, สนอง มงคล และสุวิทย์ เผดิมชิต
ผู้นำนักศึกษาธรรมศาสตร์รุ่นดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นคนหัวก้าวหน้า สนใจศึกษาลัทธิมาร์กซ-เลนิน ยกเว้น มารุต บุนนาค นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ และหลานขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) คนไทยคนแรกที่สำเร็จเนติบัณฑิตจากอังกฤษ
ทวงคืนธรรมศาสตร์
หลังเหตุการณ์ ‘กบฏแมนฮัตตัน’ 29 มิ.ย. 2494 ทหารบกได้เข้ามายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยแจ้งว่าขอยืมใช้เป็นการชั่วคราว เพื่อความสงบเรียบร้อย
คณะกรรมการนักศึกษา ม.ธ.ก. เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านทหารด้วยรูปแบบต่าง ๆ จนถึงวันที่ 11 ต.ค. 2494 นักศึกษานับพันคนบุกไปอาคารรัฐสภาขอพบจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เรียกร้องคืนธรรมศาสตร์ให้นักศึกษา เพราะใกล้จะสอบไล่แล้ว พร้อมชูคำขวัญ ‘เอามหาวิทยาลัยของเราคืนมา’
สุดท้าย จอมพล ป. ตกปากรับคำจะคืนมหาวิทยาลัยให้ช่วงเดือน ธ.ค.ปีเดียวกัน แต่คณะกรรมการนักศึกษาวางแผนลับลวงพราง ออกไประดมนักศึกษาธรรมศาสตร์ในต่างจังหวัด
วันที่ 5 พ.ย. 2494 นักศึกษาหลายพันคน ใช้รถบรรทุกและรถสองแถว 12 คัน บุกยึดธรรมศาสตร์ ไม่กลัวดาบกลัวปืน ประกาศจะไม่ยอมออกจากธรรมศาสตร์อีกต่อไป
หลังได้รับชัยชนะเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืน ปี 2495 มารุต บุนนาคได้รับเลือกเป็นประธานนักศึกษา และนำพานักศึกษา ม.ธ.ก. เข้าร่วมขบวนการสันติภาพ ซึ่งได้กลายเป็นเหตุการณ์ ‘กบฏสันติภาพ’ ในเวลาต่อมา
ตระกูลนักกฎหมาย
มารุต บุนนาค เป็นบุตรชายพระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค) ซึ่งพระสุทธิสารวินิจฉัย มีมารดาชื่อ ผ่องศรี ธิดาขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) มารุตจึงเป็นหลานตา ขุนหลวงพระยาไกรสี
กล่าวสำหรับขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) เป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จเนติบัณฑิตที่ประเทศอังกฤษ จากสำนักมิดเดิลเทมเปิล (Middle Temple) แห่งกรุงลอนดอน และเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนกฎหมายแห่งแรกในประเทศไทย ในปี 2439
ส่วนบิดา พระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค) เป็นผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา และได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลจังหวัดตรังในปี 2465
มารุต จบการศึกษากฎหมายจากตลาดวิชา ม.ธ.ก.เมื่อปี 2490 แต่ก็ยังเคลื่อนไหวทำกิจกรรมในรั้วธรรมศาสตร์ และระหว่างนั้น มารุต ได้ตั้งสำนักงานกฎหมายมารุต บุนนาค ใกล้ ๆ กับศาลแพ่งและศาลอาญาเขตพระนครในปี 2493
ภายหลัง มารุตได้เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสำนักอบรมศึกษาแห่งเนติบัณฑิตยสภา ตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ มารุตได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมทนายความฯ เป็นเวลานานกว่า 10 ปี
อาจารย์มารุต มีความสนใจในกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศและได้เข้าร่วมในองค์กรของนักกฎหมายระหว่างประเทศหลายแห่ง อาทิเช่น World Peace Through Law Centre, International Bar Association และ Law Association for Asia and the Pacific
สู่ถนนสายเลือกตั้ง
หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 มารุตในฐานะเลขาธิการสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ปี 2516-2518) และสมาชิกวุฒิสภา (ปี 2518-2519)
ประชาธิปไตยเบ่งบานได้แค่ 3 ปี ก็เกิดกรณีล้อมปราบนักศึกษาในธรรมศาสตร์ 6 ต.ค. 2519 และทหารยึดอำนาจ บรรยากาศการเมืองไทยยุคขวาจัด ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ ตกเป็นเป้าโจมตีของขบวนการลูกเสือชาวบ้าน
ปี 2521 มารุต บุนนาค ได้รับคำเชิญจาก ดำรง ลัทธพิพัฒน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์, ชวน หลีกภัย รองหัวหน้าพรรค และเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ที่ปรึกษาพรรค ให้เข้ามาร่วมงานกับพรรค ปชป. เพราะเวลานั้น มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 และเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งในปีถัดไป
มารุตตัดสินใจโดยไม่ลังเล สมัครเป็นสมาชิกพรรค ปชป. และเมื่อการเลือกตั้ง 22 เม.ย. 2522 เขาลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 2 (พระนคร, บางรัก, สัมพันธวงศ์, ป้อมปราบศัตรูพ่าย และปทุมวัน) เวลานั้น สมัคร สุนทรเวช ที่ออกจาก ปชป.ไปตั้งพรรคประชากรไทย ได้รับการสนับสนุนพลังอนุรักษ์นิยม
พรรคประชากรไทย ได้สร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ในสนามเลือกตั้งเมืองหลวง ปชป.พ่ายยับ เหลือ พ.อ.(พิเศษ)ถนัด คอมันตร์ คนเดียวที่ได้รับเลือกตั้ง
หลังความปราชัยในสนามเลือกตั้ง ปชป. ปรับโครงสร้างพรรค เลือก พ.อ.(พิเศษ)ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรค และมารุต บุนนาค เป็นเลขาธิการพรรค
ต้นปี 2523 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น สมาชิกวุฒิสภา 225 เสียง และ ส.ส.จาก 3 พรรคคือ กิจสังคม, ประชาธิปัตย์ และชาติไทย เลือก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีการจัดรัฐบาลเปรม 1
ปี 2524 พล.อ.เปรม ปรับ ครม.อีกครั้ง มารุตจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรียุติธรรม และในการเลือกตั้งปี 2526 มารุตได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กทม. เขต 2 สมัยแรก
จากนั้นมา มารุตก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส.เขต 2 พื้นที่ย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองหลวงอีกหลายสมัย ซึ่งคู่แข่งคนสำคัญของมารุต ในเขตนี้ก็คือ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา และเกษม ศิริสัมพันธ์ พรรคกิจสังคม
44 ปี ใต้ชายคาประชาธิปัตย์
บนถนนสายการเมือง มารุต บุนนาค ได้รับตำแหน่งสำคัญทั้งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ได้แก่ รัฐมนตรียุติธรรม,รัฐมนตรีสาธารณสุข, รัฐมนตรีศึกษาธิการ, ประธานรัฐสภา, ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และประธานสภาผู้แทนราษฎร
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีการเลือกตั้งทั่วไป 13 ก.ย. 2535 พรรค ปชป.ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มารุต บุนนาค ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนฯ และประธานรัฐสภา
ในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ มารุตประกาศงดการเข้าพรรค ปชป. เพื่อรักษาความเป็นกลางในการทำหน้าที่ เพราะเขายึดหลักการ “ต้องทำตนให้เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะนักการเมืองไม่ใช่ข้าราชการหรือบริษัทห้างร้านที่จะปกครองในระบบผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องปกครองด้วยเสียงข้างมาก”
จากหนังสือ บันทึก...อดีตแห่งความทรงจำ อาจารย์มารุต พูดถึงช่วงชีวิตที่ได้นั่งอยู่บัลลังก์ประธานสภาฯ ว่า “ผมต้องใช้ขันติธรรมและความอดกลั้นในการไกล่เกลี่ยแก้ไขเหตุการณ์ บางครั้งก็ต้องแปรเปลี่ยนให้เกิดอารมณ์ขัน และหลายครั้งผมก็ถูกสบประมาทและกล่าวหาจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน หรือแม้แต่จากรัฐบาลบางคน… หลายคนก็ถามว่าแล้วทำไมผมไม่โต้กลับ ผมตอบว่าผมเป็นผู้ใหญ่พอ”
ในช่วงเวลาที่พรรคปชป. ตกเป็นฝ่ายค้านมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544 และพรรค ปชป. บอยคอตการเลือกตั้งต้นปี 2549 อาจารย์มารุตก็ประกาศวางมือทางการเมือง แต่ยังเป็นกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค
หลังเลือกตั้งปี 2554 พรรค ปชป.เป็นฝ่ายค้านอีกสมัยหนึ่ง และเวลานั้นมีสมาชิกพรรคบางกลุ่มเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพรรค สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า (ThaiPublica) จึงได้เข้าไปพูดคุยกับมารุต ในฐานะผู้อาวุโสของพรรค
นักข่าวถามอาจารย์มารุตว่า เวลาได้ยินคนวิจารณ์ว่า ปชป. ได้ดีเพราะอยู่ใต้ปีกเผด็จการ อำมาตย์ ฟังแล้วรู้สึกอย่างไร ผู้อาวุโสตอบว่า “ก็เป็นข้อกล่าวหาที่น่าหนักใจนะ ที่ต้องแก้ไข...คือบางเรื่องเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะพูดเสียทีเดียว ผมเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านในเรื่องสำคัญเหมือนกัน อย่างตอนฟอร์มรัฐบาล บางครั้งฟอร์มในวิถีทางที่ไม่ถูกต้อง..”
อย่างไรก็ตาม อาจารย์มารุตยอมรับว่า “คนที่อยู่ ปชป. ก็มี 2 ประเภทคือประเภทที่เข้ามาเป็นทางผ่าน แล้วประสบความสำเร็จบ้าง ผิดหวังบ้าง ก็แยกย้ายไปบ้าง กับประเภทที่เหลืออยู่ ซึ่งน่าจะมั่นคง มีสัจจะกับพรรค จะเห็นว่า ปชป. เป็นสถาบันทางการเมือง”
สำหรับนักกฎหมายชื่อ มารุต บุนนาค อยู่ในประเภทหลังที่มีความเชื่อมั่นว่า พรรค ปชป.คือสถาบันการเมือง จึงมั่นคงและหยัดยืนอยู่กับพรรคการเมืองนี้มาตลอดเวลา 44 ปี
ภาพ: นายมารุต บุนนาค จาก กรุงเทพธุรกิจ
อ้างอิง:
ประจวบ อัมพะเศวต. พลิกแผ่นดิน ประวัติการเมือง. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2543.
รุจิระ บุนนาค. บันทึกอดีตแห่งความทรงจำ ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค. สำนักพิมพ์รุจิระ บุนนาค, 2550.
ชาติชาย เย็นบำรุง และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ บรรณาธิการ. บันทึกการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเอเชีย, 2530
https://thaipublica.org/2013/04/marut-bunnark-reform-democrat-party/
https://www.debsirin.ac.th/about-us/detail-student.php?id=642