“BNK48: One Take” ก้าวแรกของสารคดีฝีมือคนไทย บน Netfix

“BNK48: One Take” ก้าวแรกของสารคดีฝีมือคนไทย บน Netfix
“มันยากมากที่จะเอาเด็กผู้หญิง 51 คน ที่มีแฟนคลับไม่เท่ากัน มีอะไรไม่เหมือนกัน มาอยู่ร่วมกัน มันยากที่จะทำให้เขาเปิดใจกับเราในช่วงเวลาที่มันน้อยมาก ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงชื่อว่า One Take ก็เพราะในทุกคำถาม น้อง ๆ แต่ละคนจะมีโอกาสตอบแค่หนึ่งเทค ไม่มีใครมีโอกาสครั้งที่สอง”  เราจะเห็นภาพยนตร์หรือผลงานซีรีส์ไทยได้มีโอกาสไปโลดแล่นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลกอย่าง Netflix มาบ้างแล้ว แต่สำหรับผลงานที่ขึ้นชื่อว่าเป็นงานสารคดีหรือ Documentary ก่อนหน้านี้เรียกได้ว่าน้อยมาก ยิ่งถ้าพูดถึงการเป็น Original Content ที่ผลิตขึ้นเพื่อฉายบนสตรีมมิงยิ่งไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน แต่ตอนนี้คงเรียกได้ว่าก้าวแรกมาถึงแล้ว เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้โรงภาพยนตร์ทุกแห่งต้องปิดให้บริการ เหล่าคนที่ทำงานในแวดวงภาพยนตร์จึงได้รับผลกระทบกันยกใหญ่ “One Take” ภาพยนตร์สารคดีที่เคยมีกำหนดฉายเดิมในวันที่ 1 เมษายน ก็ต้องเลื่อนกำหนดการไปก่อน โชคดีที่ในวิกฤติกลับยังมีโอกาส เพราะแทนที่จะต้องเลื่อนตารางฉายไปอีกไกล ในที่สุดคนไทยรวมถึงคนทั่วโลก ก็จะได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในวันที่ 18 มิถุนายน บนแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลกอย่าง Netflix แถมยังถือเป็นสารคดีไทยออริจินอลเรื่องแรก ที่ได้ฉายบน Netflix อีกด้วย “One Take” ถ่ายทอดเรื่องราวการแข่งขัน ความกดดัน และความฝันของเหล่าเด็กสาวจากวงไอดอล BNK48 ที่ต่างก็กำลังต่อสู้เพื่อปีนขึ้นไปอยู่บนจุดสูงสุด โดยก่อนหน้าที่ในปี 2561 ประเทศไทยเคยมีผลงานสารคดีที่เล่าเรื่องราวของไอดอลกลุ่มเดียวกันอย่าง Girls Don’t Cry ของผู้กำกับ ‘เต๋อ’ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ออกฉายมาก่อน แต่สำหรับคราวนี้ ผลงานสารคดีเป็นฝีมือการกำกับของ โดนัทมนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล นักแสดงสาวที่ผันตัวมาเป็นผู้กำกับ โดยผลงานการกำกับภาพยนตร์สั้นและสารคดีคุณภาพอย่าง Lovesucks (2558) และ The Journey บันทึกทางไกล..ถึงพ่อ (2560) ของเธอที่ผ่านมา ก็พอจะการันตีความคาดหวังให้แก่ผู้ชมได้ไม่น้อย “BNK48: One Take” ก้าวแรกของสารคดีฝีมือคนไทย บน Netfix “คนจะชอบคิดว่าการทำสารคดีมันเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องวิชาการ เป็นการรวบรวมฟุตเทจ ระหว่างที่โดนัททำ The Journey มันเป็นแบบนั้นเลย กว่าเราจะไปตามหาภาพถ่าย หรือคลิปวิดิโอมาได้ มันยากมาก บางทีเราต้องไปตามถึงต่างประเทศเลย แต่พอเราทำได้ มันก็ทำให้หนังเรื่องนี้มีความพิเศษ แต่สำหรับ One Take ความยากมันอยู่ที่ ฟุตเทจหาไม่ยาก แต่ฟุตเทจที่คนไม่เคยเห็น หาไม่ได้” มนัสนันท์ กล่าว ด้วยรูปแบบของวงที่สมาชิกต้องพบปะกับแฟนคลับในพื้นที่สาธารณะอย่างโซเชียลมีเดีย หรือตามงานอีเว้นท์ตลอดเวลา การจะได้มาซึ่งฟุตเทจที่ไม่มีใครเคยเห็นจึงแทบเป็นไปไม่ได้ ยิ่งในช่วงเวลานั้นประเทศไทยเคยมีสารคดีเกี่ยวกับ BNK48 ฉายไปก่อนหน้านั้น ความกดดันในฐานะผู้กำกับที่จำเป็นต้องมาเล่าเรื่องคนกลุ่มเดิมจึงยิ่งเพิ่มสูงเข้าไปอีก “เราก็ไปเปิด Girl Don’t Cry ดูเลยว่าเขาเล่าแบบไหน เราพบว่าคุณเต๋อเล่าเรื่องบีเอ็นเคด้วยสายตาของคนที่ชื่นชอบ แฟนคลับ ที่อยากให้กำลังใจ แต่โดนัทเล่าในฐานะคนที่ไม่รู้จักและอยากทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เราก็เลยมีโจทย์ที่แตกต่างกัน” ผู้ชมสามารถคาดหวังเรื่องราวที่แปลกใหม่ แต่ยังเป็นความจริงได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ด้วยการออกแบบเนื้อหาและมุมมองภาพที่เล่าผ่านสายตาของผู้กำกับหญิง ช่างภาพและทีมตัดต่อก็เป็นผู้หญิงทั้งหมด มนัสนันท์เชื่อว่า สารคดีเรื่องนี้จะทำให้แฟน ๆ จะได้รู้จักไอดอลที่พวกเขาชื่นชอบ ในมุมที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน “เราได้เห็นเขาในมุมของเด็กผู้หญิง มันมีวันที่เขาไม่น่ารัก มันมีวันที่เขาเบื่อ เราพยายามถ่ายโดยไม่ให้เขารู้ว่าเรากำลังทำหนังอยู่ เพื่อให้ได้สิ่งที่จริงที่สุดจากน้อง ๆ “BNK48: One Take” ก้าวแรกของสารคดีฝีมือคนไทย บน Netfix สำหรับโอกาสที่ได้รับเลือกให้เป็นสารคดีออริจินัลของ Netflix แม้จะเกินฝันมาก แต่มนัสนันท์ก็บอกว่า เธอมองเห็นอนาคตของวงการสารคดีไทย การที่ Netflix ตัดสินใจหยิบ One Take ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่เล็กมากสำหรับเธอไปฉาย หมายความว่าสำหรับผลงานของคนอื่น ๆ ก็ย่อมมีโอกาส คนไทยจึงอาจจะได้เห็นผลงานของคนไทยอีกมาก บนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Netflix ในอนาคต “ผมเชื่อว่าภาพยนตร์สารคดี มีโอกาสที่จะได้รับความนิยมมากกว่านี้ได้ และผมก็มีเป้าหมายเช่นนั้น เราได้เห็นภาพยนตร์สารคดีบางเรื่องที่ได้รับความนิยมมากใน Netflix ซึ่งจำนวนผู้เข้าชมมีมากพอ ๆ กับภาพยนตร์ Feature Film เลย” อดัม เดล เดโอ (Adam Del Deo) รองประธานฝ่ายสารคดีออริจินัลของ Netflix กล่าว เขาให้ความเห็นว่า ว่าเหตุผลที่สารคดีไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่เพราะไม่ค่อยมีทรัพยากรสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุนหรือกำลังคนที่มีฝีมือ แต่ตอนนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้คนอาจเข้าใจว่าสารคดีเป็นงานของนักวิชาการ เป็นงานยากเกินกว่าที่คนธรรมดาจะเข้าใจได้ หลายปีที่ผ่านมาทีมของเขามีการพัฒนาทั้งเนื้อหาและกระบวนการออกแบบให้มีความบันเทิงมากขึ้น ทีมงานคุณภาพได้ช่วยการทำให้สารคดีกลายเป็นภาพยนตร์ที่ดูสนุก บันเทิง และเข้าใจง่าย ผลสุดท้ายเมื่อดูจากสถิติก็พบว่ามีภาพยนตร์สารคดีที่มีจำนวนผู้เข้าชมมากพอ ๆ กับภาพยนตร์ยอดนิยมหมวดอื่น ๆ ในระยะเวลาเพียง 1 ปี (22 เม.ย. 2019 - 21 เม.ย. 2020) มีผู้ชมในกว่า 165 ล้านครัวเรือนทั่วโลกที่เลือกชมสารคดีบน Netflix แล้วอย่างน้อย 1 เรื่อง ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Last Dance ก็มียอดผู้ชมนอกสหรัฐอเมริกากว่า 23.8 ล้านครัวเรือนใน 4 สัปดาห์แรก ส่วนในประเทศไทย ไม่น่าแปลกใจสำหรับประเทศแห่งอาหารการกิน เพราะ Street Food: Asia: Season 1 ครองอันดับหนึ่งสารคดียอดนิยมของเราไปได้ ในอนาคต เราคงได้มีโอกาสเห็นผลงานสารคดีที่มีคุณภาพเส้นเรื่อง และการถ่ายทำเจ๋ง ๆ ออกมาให้ชมมากขึ้น เพราะช่องทางการเผยแพร่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในโรงฉาย หรือทางโทรทัศน์อีกต่อไป เส้นทางของ สารคดี สู่การเป็นสื่อบันเทิงกระแสหลัก ใกล้เข้ามาอีกก้าวแล้ว   “BNK48: One Take” ก้าวแรกของสารคดีฝีมือคนไทย บน Netfix