บ็อบ ดีแลน: ผู้นำพา Blowin' in the Wind กลายเป็นเพลงชาติอเมริกาของยุค 60s

บ็อบ ดีแลน: ผู้นำพา Blowin' in the Wind กลายเป็นเพลงชาติอเมริกาของยุค 60s
“บิลลีถามผมว่าเห็นตัวเองในนักดนตรีคนไหนในปัจจุบันบ้างไหม ผมตอบเขาไปแค่ ไม่มีเลย ซึ่งเป็นเรื่องจริงนะ ผมไม่เห็นตัวเองในใครทั้งนั้น” โรเบิร์ต อัลเลน ซิมเมอร์แมน ในวัยเพียง 19 ปีบอก บิลลี ฮาลีย์ ยอดศิลปินร็อคแอนด์โรลล์หน้าตาเฉย เขาเพิ่งหอบกีตาร์ตัวเก่งและกระเป๋าอีกใบมาจากมินนิโซตา บ้านเกิด บอกลาครอบครัวกับชีวิตการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยหลังลงทะเบียนเรียนได้เพียงปีเดียวแล้วพุ่งตรงมายังนิวยอร์ ไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัวสักนิดว่าในอีกไม่กี่ปีต่อมา เขาจะสร้างตำนานดนตรีโฟล์ค เปลี่ยนโฉมหน้าอเมริกายุค 60s ไล่เรื่อยไปจนถึงทศวรรษ 1970 และวัฒนธรรมของอเมริกาครั้งใหญ่ ในนามของ บ็อบ ดีแลน ก่อนที่โลกจะได้ยินบทเพลงที่งดงามราวกับบทกวี ก่อนจะได้ยินทั้งความอ่อนโยน ดุดันและกราดเกรี้ยวในบทเพลงของเขา ดีแลนเป็นเด็กชายที่เติบโตในยุคที่อเมริกาเดินหน้าเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองเต็มตัว เขาเล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติ Chronicles, Volume One (2004) ว่าแม้มองจากระยะไกลและในสายตาของเด็ก เขาก็รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของโลก “ปี 1951 ผมเพิ่งเข้าโรงเรียน มีอยู่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาสอนเราบ่อย ๆ คือให้หลบและซ่อนตัวอยู่ใต้โต๊ะเรียนตอนได้ยินเสียงไซเรนดังขึ้น เพราะมันหมายความว่าพวกรัสเซียอาจกำลังโยนระเบิดใส่พวกเราอยู่ก็ได้ เราถูกสอนว่าพวกรัสเซียโดดร่มลงมาจากเครื่องบินกลางอากาศแล้วบุกมายึดเมืองเราได้ทุกเวลา” เขาว่า “พวกเขากลายเป็นอสุรกายที่คว้าเราไปปาดคอ เผาร่างพวกเราทิ้ง มันช่างน่าประหลาดเหลือเกิน การใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวเช่นนี้นั้นขโมยจิตวิญญาณของเด็ก ๆ ไปหมดสิ้น” พร้อมกับการซึมซับบรรยากาศความหวาดกลัวที่โอบล้อมเขาและเด็กชาวอเมริกันหลายล้านคน ดีแลนก็เยียวยาตัวเองด้วยเพลงบลูส์ที่พ่อและลุงเปิดให้ฟัง พอเข้าช่วงวัยรุ่นก็มีเพลงร็อคแอนด์โรลล์ซึ่งเป็นเพลงแห่งยุคสมัยนั้นขับกล่อม จนเขาหันมาเล่นดนตรีและฟอร์มวงกับเพื่อน ๆ หลายต่อหลายวง (มีบันทึกว่าวงของเขาเล่นเพลงดังมากจนครูใหญ่ต้องพุ่งมาปิดไมค์) และตระหนักในเวลาไม่นานหลังจากนั้น ว่านี่อาจเป็นเส้นทางชีวิตที่เขาปรารถนา และความรู้สึกดังกล่าวก็รุนแรงเสียจนเมื่อเขาเรียนจบมัธยม ศึกษาต่อในระดับวิทยาลัย ก็ลาออกเพียงปีเดียวหลังจากนั้นและมุ่งหน้าไปยังนิวยอร์ เมืองแห่งแสงสีและเสียงเพลงที่ดูจะโอบรับและท้าทายเขามากกว่าดินแดนที่จากมา ดีแลนขลุกอยู่กับมิตรสหายที่เป็นนักดนตรี นักเขียนและนักกวี ระยะแรก ๆ เขายังไม่มีเงินมากนักและหมดเวลาไปกับการขึ้นแสดงตามคาเฟ่เล็ก ๆ หรือเปิดหมวกหารายได้ และความที่มีเวลาเหลือเฟือนี่เอง เขาจึงใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งสิงอยู่ตามชั้นหนังสือของเพื่อนฝูงหรือตามห้องสมุด (“มีนิยายของโกกอล ของบาลซัก ของโมปัสซังต์แล้วก็ของดิกคินส์ด้วยนะ ผมชอบเปิดไปอ่านตรงกลาง ๆ เรื่องแล้วดูว่าจะชอบไหม ถ้าชอบก็ค่อยกลับมาตั้งต้นอ่านตั้งแต่หน้าหนึ่ง”) เขาชอบพินิจพิเคราะห์จังหวะและการใช้คำของบทกวี จนในที่สุด -ทั้งที่อาจจะโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ- สิ่งเหล่านี้ส่งอิทธิพลต่อการเขียนเพลงของเขาอย่างมหาศาล “การใช้คำมันก็สำคัญเท่า ๆ กับท่วงทำนองนั่นแหละ” เขาเล่า “พวกเพลงเกี่ยวกับจิตวิญญาณดึงดูดผมเสมอมา อย่างเพลง Amazing Grace (ภาษาไทยคือเพลง พระคุณพระเจ้า) อย่างท่อน ‘that saved a wretch like me’ ก็ไม่ใช่ประโยคที่เราจะพูดได้ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเองมากพอ ใช่ไหมล่ะ” [caption id="attachment_29009" align="aligncenter" width="627"] บ็อบ ดีแลน: ผู้นำพา Blowin' in the Wind กลายเป็นเพลงชาติอเมริกาของยุค 60s NEW YORK CITY - SEPTEMBER 1962: Bob Dylan plays acoustic guitar and smokes a cigarette in this headshot from September 1962 in New York City, New York. (Photo by Michael Ochs Archives/Getty Images)[/caption] Bob Dylan (1962) อัลบั้มเปิดตัวของเขาที่ไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนัก ในเวลานั้นเพลงโฟล์คกลายเป็นเสมือนดินแดนลี้ลับที่คนฟังเพลงไม่ค่อยแยแส นักวิจารณ์บอกว่าเจ้าหนุ่มสำเนียงแปลกหูคนนี้หมกมุ่นในเพลงโฟล์คมากไป ทั้งตัวดีแลนเองก็ไม่ใช่คนที่เชี่ยวชาญในการออกสื่อนัก (เขาเคยให้สัมภาษณ์อย่างขัดเขินเมื่อถูกรายการวิทยุถามก่อนปล่อยอัลบั้มว่า จะตั้งชื่ออัลบั้มแรกของชีวิตว่าอะไร และเขาเงียบหายไปอึดใจหนึ่งก่อนตอบเบา ๆ ว่า “อัลบั้มบ็อบ ดีแลนฮะ... มั้งนะ”) อย่างไรก็ตาม โลกได้ยินเพลง Talkin’ New York กับ Song to Woody ที่ห่างไกลจากเพลงกระแสหลักที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนั้น บรรเลงด้วยกีตาร์ไม่กี่คอร์ด หากแต่เนื้อเพลงเต็มไปด้วยการเทียบเคียง เปรียบเปรยความหมายอันชวนสะดุดใจ ...และนั่นคือก่อนหน้าการมาถึงอัลบั้มลำดับที่สองของชีวิต ที่พลิกหน้ากระดานวงการดนตรีของอเมริกาไปตลอดกาล The Freewheelin’ Bob Dylan ปล่อยออกมาในปี 1963 ภายหลังจากอัลบั้มแรกเพียงหนึ่งปี ทว่าความสำเร็จอยู่ในระดับที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก Blowin’ in the Wind กลายเป็นเพลงชาติอเมริกาของยุค 60s ที่คนหนุ่มสาวร้องเพื่อระบายความอัดอั้นและเศร้าสร้อยในยุคที่อเมริกาผลัดเปลี่ยนจากสงครามโลกครั้งที่สองและเดินหน้าเข้าสู่สงครามเย็น สิ่งที่น่าสนใจคือในเวลานั้น ตัวดีแลนเองก็เติบโตจากการเป็นนักดนตรีหนุ่มน้อยขี้อาย และสมาทานวิธีคิดทางการเมืองต้านสงคราม มีบันทึกว่าเขาได้รับอิทธิพลมาจากครอบครัวของ ซูซี โรโตโล -แฟนสาวที่เขาคบหาอยู่ในขณะนั้น- ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอเมริกา  “The answer, my friend, is blowin’ in the wind. The answer is blowin’ in the wind”  “ผมพูดอะไรเกี่ยวกับเพลงนี้ไม่ได้มากนักหรอก นอกเสียจากว่าคำตอบนั้นปลิวไปกับสายลม มันไม่ได้อยู่ในหนังสือ ในหนัง ในรายการโทรทัศน์หรือในกลุ่มสนทนาอะไรทั้งนั้น เพราะมันอยู่ในสายลม และโบกโบยไปกับสายลมนั่นเอง มีหลายคนเหมือนกันแหละที่เข้ามาบอกผมว่า ‘คำตอบ’ จริง ๆ อยู่ที่ไหน แต่ผมไม่เชื่อหรอก ผมพูดเสมอว่าคำตอบอยู่ในสายลม จะมีที่โปรยหล่นลงมาบ้างเหมือนเศษกระดาษ แต่ปัญหาคือ ไม่มีใครสนใจจะหยิบคำตอบที่ร่วงหล่นลงมาแล้วเหล่านั้นขึ้นมาหรอก หลายคนจึงไม่เคยรับรู้คำตอบใด ๆ ปล่อยให้มันบินหายไปอีกครั้ง  “ผมยืนยันเสมอว่าอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดคือพวกคนที่หันหน้าหนีไปอีกทางเวลาเขาเจอสิ่งที่ผิด และรู้ด้วยว่าสิ่งนั้นผิด ผมอายุแค่ 21 ปี และรู้ดีว่ามันยังมีสงครามเกิดขึ้นอีกมาก แล้วพวกคุณที่อายุมากกว่า 21 ล่ะ คุณอายุมากกว่า ฉลาดกว่าผมด้วยซ้ำไปนะ” อย่างไรก็ตาม กลิ่นอายเพลงโฟล์คผสมบัลลาดที่ขับขานถึงผลเลวร้ายของสงคราม ทำให้มันกลายเป็นเพลงที่คนหนุ่มสาวหยิบยกไปใช้ในการประท้วงเพื่อเรียกร้องสันติภาพในเวลาไม่นานนับจากนั้น “เพลงเพื่อการประท้วงที่ไม่ได้มีน้ำเสียงในการสั่งสอนหรือบอดใบ้ในมิติอื่น ๆ มันแต่งยากเสมอ คุณต้องเผยให้เห็นตัวตนอีกด้านของผู้คนซึ่งพวกเขาไม่เคยตระหนักรู้มาก่อนว่าตัวเองก็เป็นเช่นนั้น” ดีแลนอธิบาย ถัดจากนั้น ดีแลนแทบจะออกอัลบั้มทุกที หรือบางครั้งก็ออกแบบหัวปีท้ายปีเลยทีเดียว (อัลบั้ม The Times They Are a-Changin’ กับ Another Side of Bob Dylan ออกห่างกันเพียง 8 เดือนเท่านั้น ขณะที่อัลบั้มลำดับถัดมาอย่าง Bringing It All Back Home และ Highway 61 Revisited ออกห่างจากนั้นอีก 8 และ 6 เดือนตามลำดับ) เขาจึงกลายเป็นสัญลักษณ์และใบหน้าของอเมริกายุค 60s คาบเกี่ยวมายังยุค 70s อย่างปฏิเสธไม่ได้ และถูกยกย่องให้เป็น ‘เสียงของยุคสมัย’ ซึ่งเขาปฏิเสธอย่างหนักแน่นมาโดยตลอด “ผู้คนดูจะมีภาพสรุปบิดเบี้ยวเกี่ยวกับผมในฐานะตัวแทนของคนรุ่นนี้ อะไรต่อมิอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เข้าใจ สัมผัสไม่ได้” ไล่เลี่ยกันนั้น ดีแลนก็มีภาพลักษณ์การเป็นนักดนตรีหัวขบถ เขามีปัญหากับการรับมือของชื่อเสียงที่ทะลักเข้ามาหาตัว และยิ่งมีปัญหากับสื่อมวลชนหรือนักข่าวที่พยายามขีดเขียนภาพลักษณ์บางอย่างให้เขา อย่างกรณีที่นักข่าวคนหนึ่งพยายามถามดีแลนในวัยเยาว์ว่า“ถามจริงเถอะ คุณได้แยแสสิ่งที่ตัวเองพูดบ้างไหมน่ะ” และดีแลนตอบกลับอย่างฉุนเฉียวว่า “ผมจะไปตอบได้ไงวะ ก็คุณเล่นมาถามผมแบบนี้ คุณถามคำถามแบบนี้เนี่ยนะ อ๋อ ผมไม่ถามอะไรคุณกลับไปหรอก ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรจากคุณตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ดีแลนยังทำงานเพลงต่อเนื่องเรื่อยมา งานเพลงของเขายังคงลุ่มลึก งดงามและว่าด้วยเรื่องความเป็นมนุษย์อยู่เสมอ -นับจนถึงทุกวันนี้ก็เกือบ 40 อัลบั้ม- หากแต่เพลงของเขายังทรงอิทธิพลอยู่บนโลกที่แม้ปราศจากสงครามใหญ่ แต่มันก็ยังเต็มไปด้วยโลกที่ผู้คนเฝ้าตั้งคำถาม และพยายามควานหาคำตอบ ซึ่งหลายต่อหลายครั้งก็หลุดลอยไปกับสายลมอย่างที่เขาเคยเขียนถึงเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว