บ็อบ มาร์เลย์: จาเมกา สลัม ดนตรี ชีวิตแบบราสตาฟารีและบทเพลง ‘No Women, No Cry’

บ็อบ มาร์เลย์: จาเมกา สลัม ดนตรี ชีวิตแบบราสตาฟารีและบทเพลง ‘No Women, No Cry’
/ No, woman, no cry No, woman, no cry 'Ere, little darlin', don't shed no tears No, woman, no cry / บทเพลงจังหวะเรกเก้ (reggae) ที่ถูก rearrange ให้ช้าลงกว่า studio version ดังขึ้น ‘บ็อบ มาร์เลย์’ (Bob Marley) นักร้องผิวดำผู้มาพร้อมกลิ่นกัญชา สีแดง เหลือง เขียว และทรงผมถัก พร้อมด้วยนักดนตรีในนาม ‘Bob Marley & The Wailers’ ยืนประจำที่บนเวที ด้านล่างมีฝูงชนอออยู่เนืองแน่น ทั้งหมดต่างส่งเสียงร้องท่อน ‘No Woman, No Cry’ ไปพร้อมกัน เป็นความบันเทิงที่รวมเป็นหนึ่งระหว่างศิลปินและผู้รับชมตลอดเวลาเจ็ดนาทีของบทเพลง การแสดงที่จัดขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปี 1975 ครั้งนั้น กลายเป็นการแสดงในตำนานที่พาให้ชื่อของ ‘บ็อบ มาร์เลย์’ ก้าวขึ้นแท่นศิลปินจากจาเมกาที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะไอคอนแห่งเรกเก้ ขบวนการราสตาฟารี และการตีแผ่ชีวิตคนดำผ่านบทเพลง   แม่ มาร์เลย์ และพ่อที่จากไป ย้อนกลับไปก่อนที่บ็อบ มาร์เลย์ จะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังของคนดำและชาวจาเมกา 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 เด็กชาย ‘โรเบิร์ต เนสตา มาร์เลย์’ (Robert Nesta Marley) ลืมตาดูโลกในฐานะลูกของเซเดลลา (Cedella) หญิงสาวผิวดำในจาเมกา ท่ามกลางการล่าอาณานิคมและเกณฑ์คนเป็นทาส นอร์วัล มาร์เลย์ (Norval Marley) นายทหารผิวขาว ได้กล่าวคำรักคำลวงว่าจะแต่งงานกับเซเดลลา เด็กสาววัย 17 ปี จนเธอมอบหัวใจและร่างกายให้ เช่นเดียวกับนายทหารผิวขาวคนอื่น ๆ นายมาร์เลย์จากไปเมื่อรู้ข่าวการตั้งท้องของเธอ ทิ้งความหวาดกลัวและกังวลใจเกี่ยวกับลูกไว้ให้เซเดลลารับมือเพียงลำพัง ในวันนั้นแม้เด็กที่เกิดจากพ่อผิวขาวและแม่ผิวดำจะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่พวกเขาก็ไม่ถูกยอมรับทั้งจากประเทศเจ้าอาณานิคม และจากชุมชนคนผิวดำด้วย แม้จะถูกเหยียดหยามซึ่งชาติกำเนิดและสีผิว ยากจนและไร้ซึ่งความหวัง เซเดลลาก็ตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกชายคนเดียวของเธออย่างดีที่สุด หลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง เด็กชายมาร์เลย์เริ่มรู้ประสา สองแม่ลูกหอบข้าวของจำเป็นที่มีอยู่น้อยนิด ย้ายเข้าอาศัยใน ‘The Government Yards’ อาคารที่สร้างขึ้นในโครงการของรัฐบาล เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของคนจนในย่านเทรนช์ทาวน์ คิงส์ตัน   เติบโตในตรอกคิงส์ตัน / 'cause I remember when we used to sit In the government yard in Trenchtown / ความหวังและความฝันของมาร์เลย์เริ่มต้นที่นั่น ในห้องหับรูหนูของชุมชนแออัดที่แม้แต่การมีอาหารประทังชีวิตให้ครบมื้อยังเป็นเรื่องยาก ท่ามกลางตรอกและซอกซอยของเทรนช์ทาวน์ คิงส์ตัน เด็กชายเรียนรู้ที่จะเฝ้าดูผู้คนไปพร้อมกับเอาชีวิตรอดจากข้างถนนที่เต็มไปด้วยความหิวกระหาย หยาบคาย และแก๊งวัยรุ่นข้างถนนที่เรียกตนเองว่า ‘Rude Boys’ ในช่วงต้นของชีวิตที่ทุกอย่างอัตคัดและไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตนัก มาร์เลย์ค้นพบเสียงดนตรี – เพลงบลูส์และการเต้นรำเข้าครอบงำหนุ่มสาวชาวจาเมกันตั้งแต่ยุค 40s บทเพลงที่ถูกเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับวิถีชีวิตของชาวจาเมกันถูกเรียกว่า ‘สกา’ (ska) พวกเขาวาดและระบายฝัน เล่าและตีแผ่ความแร้นแค้นของตนผ่านมัน เซนส์ของการถูกกดทับทางสังคมถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลงของคนคิงส์ตันอย่างชัดเจน Rude Boys ชื่นชอบสกาพอ ๆ กับอาวุธ พวกเขาเต้นรำและทะเลาะเบาะแว้ง เต้นรำและวิ่งหนีตำรวจ เต้นรำและจ้วงแทงกัน การที่มาร์เลย์คลุกคลีกับพวกเขาทำให้เซเดลลากังวลมาก แต่เขากลับบอกว่า  “อย่ากังวลไปเลยแม่ ผมไม่ได้ทำงานให้พวกเขา” มาร์เลย์มีเป้าหมายที่อยากจะทำให้ได้ เขาอยากเป็นนักร้องและอยากมีวงดนตรี ขณะที่รัฐมองว่ากลุ่ม Rude Boys เป็นกลุ่มวัยรุ่นขยะ มาร์เลย์ไม่ได้เกลียดตัวตนและวิถีชีวิตของคนกลุ่มนั้น เช่นเดียวกับที่เขาไม่ได้เกลียดคนผิวขาว ตรงกันข้าม มาร์เลย์พยายามที่จะทำความเข้าใจและถ่ายทอดเรื่องราวที่เขาได้พบผ่านเสียงเพลง  ปี 1963 ท่ามกลางแนวดนตรีในจาเมกันที่เริ่มเคลื่อนผ่านจากสกาเข้าหา ‘เรกเก้’ (reggae) ที่ยืนหยุ่นมากกว่า มาร์เลย์รวมตัวกับกลุ่มเพื่อนเพื่อก่อตั้งวงดนตรีเล็ก ๆ ขึ้น พวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘the Wailers’ โดยมีสมาชิกเซ็ตแรกคือมาร์เลย์และเพื่อนสมัยเด็ก หลังจากนั้นไม่นานมาร์เลย์ก็แต่งงาน และเข้าร่วมขบวนการราสตาฟารี เขาเคารพและบูชาจักรพรรดิไฮลี เซลาสซี ผู้ถูกขนานนามว่า ‘พระคริสต์ของคนดำ’ ยิ่งกว่าอื่นใด   อย่าให้น้ำตาบดบังชีวิตเธอ บ็อบ มาร์เลย์ และ the Wailers เริ่มเป็นที่รู้จักบ้างแล้วในช่วงปี 70s หากก็ไม่มีเพลงไหนที่เหมาะสมจะให้เรียกว่าเป็น ‘บทเพลงเปิดตัว’ ของพวกเขาต่อโลกทั้งใบได้เท่ากับ ‘No Women, No Cry’ เพลงจังหวะเรกเก้จากอัลบั้ม ‘Natty Dread’ (1974) ‘No Women, No Cry’ คือบทเพลงที่สอดแทรกด้วยภาษาจาเมกันที่เล่าเรื่องราวบันทึกชีวิตของชายและหญิงในย่านเทรนช์ทาวน์ คิงส์ตัน (ที่น่าจะสรุปได้ว่ามาร์เลย์กำลังเล่าถึงตัวเองและแม่ของเขา) พร้อมด้วยคำปลอบใจของฝ่ายชายที่มีให้กับหยดน้ำตาของผู้หญิง ‘No women, nuh cry’ มีคำว่า ‘nuh’ เป็นภาษาจาเมกัน แปลว่า ‘อย่า’ หรือ ‘don’t’ แม้จะมีหลายครั้งที่ท่อนฮุคภายในเพลงอย่าง ‘ไม่เอาน่า อย่าร้องไห้เลยเธอ’ ถูกแปลไปในทำนองอื่นเป็นต้นว่า ‘ถ้าไม่มีผู้หญิง ก็คงไม่ต้องร้องไห้’ เพราะความเข้าใจผิดทางภาษา แต่สุดท้ายแล้วเสียงร้องและภาพลักษณ์ของ ‘บ็อบ มาร์เลย์’ ก็เริ่มติดหูติดตาชาวโลก ‘No Women, No Cry’ กลายเป็นเพลงที่ตีแผ่ความแร้นแค้น เหลื่อมล้ำ และนัยทางการเมืองให้ ‘คนนอกบ้าน’ อย่างชาวโลกได้ประจักษ์ พอ ๆ กับที่เป็นเพลงปลอบใจ ‘คนในบ้าน’ อย่างชาวจาเมกันด้วยถ้อยคำธรรมดาที่บอกเล่าความเชื่อและศรัทธาของมาร์เลย์ได้ดีในท่อน ‘Everything's gonna be all right’ แม้ว่า ‘No Women, No Cry’ จะฟังดูเป็นเรื่องส่วนบุคคลของมาร์เลย์โดยเฉพาะ แต่ลิขสิทธิ์เพลงระบุชัดว่าเจ้าของเนื้อร้องทั้งหมดกลับเป็น ‘วินเซนต์ ฟอร์ด’ (Vincent Ford) พ่อครัวขาพิการประจำ ‘The Government Yards’ “ฟอร์ดช่วยบรรเทาความหิวโหยของผมได้เสมอ” คือสิ่งที่มาร์เลย์เคยพูดถึงเพื่อนผู้กลายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง ‘No Women, No Cry’ และอีกหลายต่อหลายเพลงจาก ‘Bob Marley & The Wailers’ พร้อมด้วยข้อสันนิษฐานจากแฟนเพลงว่ามาร์เลย์ต่างหากคือผู้แต่งบทเพลงเหล่านั้น จากนั้นจึงยกลิขสิทธิ์ให้กับฟอร์ดเพื่อเป็นการขอบคุณสำหรับมื้ออาหารในวันวาน   เรกเก้ ราสตา ห่ากระสุนและความหวัง ภายในเวลาไม่นานหลังจากที่มาร์เลย์มีชื่อเสียง เขาได้ทำให้แนวคิดแบบ ‘ราสตาฟารี’ แผ่กระจายไปในวงกว้างผ่านบทเพลงและการใช้ชีวิตของเขา มาร์เลย์ถูกจดจำในฐานะนักร้อง - นักดนตรีพอ ๆ กับที่เป็นนักเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวของมาร์เลย์และแนวคิดแบบ ‘ราสตา’ ที่เขายึดถือ ทำให้คนดำเริ่มมีสิทธิ์มีเสียงทางการเมือง คนดำรักเขาพอ ๆ กับที่บางคน (ขั้วอำนาจในเวลานั้น) เกลียด ความเกลียดชังนั้นมากเสียจนครั้งหนึ่งมาร์เลย์และวงดนตรีของเขาถูกลอบยิง สองวันก่อนหน้าคอนเสิร์ต ‘Smile Jamaica’ ห่ากระสุนร่วมแปดสิบนัดถูกสาดเข้าใส่พวกของมาร์เลย์ที่ซ้อมดนตรีอยู่ ริตา มาร์เลย์ (Rita Marley) ภรรยาของเขาถูกยิงเข้าที่ศีรษะ มาร์เลย์ถูกยิงถากหน้าอกและท่อนแขน โชคดีที่ไม่มีใครได้รับอันตรายถึงชีวิต แต่มาร์เลย์ก็ฝังใจกับเหตุการณ์นั้นมากเสียจนไม่อาจมองว่าจาเมกาเป็นบ้านของเขาได้อีก มาร์เลย์ย้ายไปที่ไมอามีและอยู่ที่นั่นจนกระทั่งโรคมะเร็งผิวหนังคร่าชีวิตเขาไปด้วยวัยเพียง 36 ปี เมื่อ ค.ศ.1981 โลกสูญเสียบ็อบ มาร์เลย์ไป หากแต่ไฟแห่งความหวังที่เขาได้จุดไว้ยังคงสว่าง แม้ทุกวันนี้โลกก็ยังจดจำชื่อ ใบหน้า และบทเพลงของเขา ผู้คนยังคงร้องเพลงของเขาได้ ดั่งเช่นคำพูดส่งท้ายที่มาร์เลย์ได้พูดกับริตา ผู้เป็นภรรยาก่อนจากไป เขาบอกเธอ – และเธอบอกโลกทั้งใบ ชายคนนั้นบอกเธอว่า  “Don’t Cry. Keep singing” “อย่าร้องไห้ จงร้องเพลง”   เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ   ที่มา: https://www.rollingstone.com/music/music-news/the-life-and-times-of-bob-marley-78392/ https://www.songfacts.com/facts/bob-marley-the-wailers/no-woman-no-cry https://www.smoothradio.com/features/the-story-of/bob-marley-no-woman-no-cry-lyrics-meaning-video/