Bohemian Rhapsody: การชำระประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของ Freddie Mercury และ Queen

Bohemian Rhapsody: การชำระประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของ Freddie Mercury และ Queen

การชำระประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของ Freddie Mercury และ Queen

จำเป็นแค่ไหนที่ประวัติศาสตร์ต้องมีความสมจริง ? หากตำนานมีการบิดเบือน เรายังจะเรียกว่าตำนานหรือไม่ ?   คำถามหลากหลายที่อีรุงตุงนังประดังประเดใส่เข้ามาระหว่างดูหนัง Bohemian Rhapsody เพราะหนังชีวประวัติของวงระดับโลกอย่าง Queen เรื่องนี้ ช่างแตกต่างกับวง Queen ที่ได้อ่านมาตามหน้าหนังสือหรือนิตยสารดนตรีที่คุ้นชิน จนเราแทบไม่มั่นใจว่าเราควรเชื่ออะไรมากกว่าระหว่าง “สิ่งที่เห็น หรือ สิ่งที่เป็นจริง” เปรียบได้ดั่งประวัติศาสตร์สงครามในบทเรียนของผู้ชนะ แม้จะไม่เคยอ่านแต่เราเชื่อว่าเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ต้องเขียนเรื่องราวของตนไม่เหมือนกัน Queen เองก็คงไม่แตกต่าง เมื่อสามในสี่คนที่ยังมีชีวิตอยู่เลือกที่จะทำหนังเรื่องราวของตนเองโดยยึดแกนกลางของ Front Man ที่เสียชีวิตไปนานแล้วอย่าง Freddie Mercury มาเล่าขาน เฟรดดี้ ในวัยหนุ่มรุ่มร้อนไปด้วยความฝันและความหวัง เขาเฉยชากับครอบครัวชาวเปอร์เชียที่อพยพมาอยู่อังกฤษและพร่ำบ่นเขาแต่เรื่องคุณธรรมและความดีงาม และเลือกที่จะเจิดจ้ายามค่ำคืนไปกับการตระเวนดูวงดนตรีฮาร์ดร็อคสามชิ้นวงหนึ่ง เขารอที่จะสบโอกาสได้ทำตามความฝันของเขา จนกระทั่งโอกาสได้มาถึงเมื่อนักร้องนำลาออกจากวงสมัครเล่นวงนั้น เฟรดดี้จึงเสนอตัวกับวงนั้น แม้รูปลักษณ์ภายนอกของเขาไม่ชวนพิสมัย ฟันหน้าที่ยื่นมาคือปมด้อยที่ชวนยั่วล้อ แต่ปมเด่นของเขาที่สมาชิกในวงต้องทึ่งนั่นคือเสียงระดับเทพที่หยุดโลก ท้ายที่สุด ไบรอัน เมย์ และ โรเจอร์ เทย์เลอร์ ก็เปิดใจรับชายคนนี้มาเป็นนักร้องนำของวง พร้อมกับรับมือเบสอย่างจอห์น ดีคอน มาร่วมวง พร้อมตั้งชื่อที่เรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่และอลังการอย่าง Queen Bohemian Rhapsody: การชำระประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของ Freddie Mercury และ Queen เนื้อเรื่องช่วงต้นดำเนินไปอย่างง่ายดาย ทุกอย่างลื่นไหลไปอย่างไร้อุปสรรค ชื่อเสียงค่อยๆ ไหลบ่า เมื่อ Queen ได้เซ็นสัญญากับค่ายใหญ่อย่าง EMI จากอัลบั้มแรก Queen ในปี 1973 ที่เร้าร้อนไปด้วยกลิ่นอายของฮาร์ดร็อคอันเข้มข้น สู่อัลบั้มที่ 2 ที่ชื่อง่ายๆ อย่าง Queen II ในปี 1974 แต่กว่าที่เสียงของเฟรดดี้จะเดินทางไปเกาะกุมหัวใจก็อัลบั้มที่ 3 Sheer Heart Attack กับซิงเกิ้ลสุดฮิตอย่าง Killer Queen เฟรดดี้ค่อยๆ ละลายความแข็งกร้าวของดนตรีฮาร์ดร็อคใส่สีสันของแกลมร็อคอันจัดจ้านจากการผลักดันของแฟนสาวของเขา-แมรี ออสติน แสงสีและความห่างเหินกับคนรักนำมาสู่ความสับสนของเฟรดดี้ต่อเพศสภาพของเขา ก่อนที่จะสารภาพกับคนรักของเขาว่าเขาเป็นไบเซ็กชวล ท่ามกลางเสียงเพลง Love of My Life ที่เฟรดดี้บอกกับแมรีว่ามันคือจดหมายรักผ่านท่วงทำนองที่เขียนถึงเธอ ทั้งลองลงเอยจากคู่รักเป็นเพียงเพื่อนสนิท นับเป็นการแลกมาด้วยชื่อเสียงที่บอบช้ำที่สุดของเฟรดดี้    เพราะความดังอย่างก้าวกระโดด ค่ายเพลงเรียกวงไปพบ พร้อมแนะนำให้ทำเพลงแบบเดียวกับ Killer Queen แต่เฟรดดี้ที่มีแต้มต่อกลับเลือกที่จะปฏิเสธความสำเร็จที่ผ่านมา เขาเสนอรูปแบบของอัลบั้มใหม่ ที่รวมศิลปะโอเปร่าเข้ากับดนตรีร็อค จนท้ายที่สุดก็คลอดอัลบั้มที่ทรงอิทธิพลในฐานะมหากาพย์แห่งดนตรีอย่าง A Night at the Opera ในปี 1975 ซ้ำยังอาจหาญที่จะปล่อยเพลงความยาวเกือบ 6 นาทีอย่าง Bohemian Rhapsody แม้ผู้บริหารจะส่ายหัวเมื่อได้ยิน และนักวิจารณ์ต่างพากันสับเพลงนี้ไม่มีชิ้นดีในยามที่ออกอากาศตามสถานีวิทยุ แต่กับวงเอง พวกเขากลับภาคภูมิใจและกลายเป็นพันธกิจของวงว่าหลังจากนี้เพลงของพวกเขา ต้องแหวก ต้องฉีก ต้องไม่ซ้ำย้ำรอยเดิมอีกต่อไป หลังจากนั้น เฟรดดี้และ Queen ก็เฉิดฉายในฐานะวงร็อคแถวหน้า ที่เดินหน้าสร้างความสำเร็จอย่างไม่หยุดยั้ง จากแนวเพลงฮาร์ดร็อคและแกลมร็อค สู่ความเป็นโอเปร่าร็อค...อารีนาร็อค และสเตเดียมร็อค ไม่มีใครฉุดความดังของพวกเขาได้แล้ว ตั๋ว Sold Out ทุกพื้นที่ที่ ตระเวนแสดง แต่ท่ามกลางความสำเร็จที่เปรียบได้ดั่งพลุชุดใหญ่ที่ฉายแสงระยิบระยับเต็มท้องฟ้า หากเมื่อสิ้นสุดกลับเหลือเพียงหมู่ควันและความมืดมิด ชีวิตของเฟรดดี้กลับจมจ่อมอยู่ในโคลมตมแห่งความเปลี่ยวเหงา เขาอาศัยร่วมชายคากับผู้จัดการจอมละโมบ เขาไร้วินัยในการมาบันทึกเสียง แม้ Queen จะยังมีงานที่ดีไม่ว่าจะเป็น We Will Rock You หรือ Under Pressure แต่ไอเดียอันพลุ่งพล่านเหมือนตอนยุค Bohemian Rhapsody ก็แทบไม่หลงเหลือ ยิ่งเมื่อเขาได้รู้ข่าวว่าหญิงสาวอันเป็นที่รักยิ่งเพียงคนเดียวของเขาอย่างแมรีมีรักใหม่ ชีวิตของเขาก็ยิ่งดิ่งลงอย่างไม่มีวันหวนกลับได้ดังเดิม เขากลบรอยน้ำตาด้วยปาร์ตี้อันจัดจ้าน เซ็กซ์อันแสนเร่าร้อนกับคนแปลกหน้า และลงด้วยการแตกหักกับคนในวงที่เปรียบเสมือนเพื่อนและครอบครัวของเขา เขาเริ่มต้นใหม่ในฐานะศิลปินเดี่ยว แต่เหมือนการขยี้ตาแรงๆ ที่เต็มไปด้วยน้ำตา แทนที่จะหาย ชีวิตเขากลับต้องฟูมฟายมากกว่าเดิม เมื่อพบว่าโรคร้ายที่เสมือนเป็นคำสาปแช่งของพระเจ้าอย่างโรคเอดส์ ได้กัดกินร่างกายของเขาไปแล้ว จังหวะดีที่กำลังจะเกิดคอนเสิร์ตที่ช่วยผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากในอีกซีกโลกอย่าง Live Aid ทำให้เฟรดดี้เลือกที่จะปลดเปลื้องอีโก้ที่มีตลอดชีวิตและพร้อมสารภาพถึงโรคร้ายที่ประชิดตัวของเขา ก่อนจะทุ่มเทประสบการณ์ชีวิตทั้งหมดเพื่อบรรลุสู่ 20 นาทีแห่งการแสดงสดที่โลกไม่มีวันลืมเขาไปตลอดกาล Bohemian Rhapsody: การชำระประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของ Freddie Mercury และ Queen นี่คือเรื่องราวเนื้อหาของหนังทั้งหมดที่เห็น ที่คุณไม่จำเป็นต้องอารมณ์เสียหรือคิดว่าอรรถรสในการชมจะจืดจาง เพราะมันคือเรื่องราวที่ถูกเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ว่าจะมาจากวิกิพีเดีย หรือจากเว็บไซต์อื่นๆ และหากคุณติดตามข่าวการถ่ายทำหนังเรื่องนี้จะพบปัญหามากมายที่เริ่มต้นตั้งแต่ความไม่ลงตัวและทัศนคติที่แตกต่างระหว่างผู้สร้างกับผู้สร้างสรรค์ นักแสดงและทีมงานผู้กำกับเดินเข้ามาและจากไปจนลงเอยที่ ไบรอัน ซิงเกอร์ ที่รสนิยมและเพศสภาพเดียวกับเฟรดดี้ และนักแสดง รามี่ มาเล็ค ที่ฟิตซ้อมอย่างหนักเพื่อที่จะได้จำแลงแปลงเป็นเฟรดดี้อย่างสมจริง กระนั้นแล้วปัญหาระหว่างถ่ายทำก็ยังมีอยู่เต็มไปหมด เมื่อผู้กำกับไบรอัน หายตัวไปดื้อๆ ระหว่างที่กำลังถ่ายทำอยู่ นี่อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยของหนังที่พาให้มันห่างไกลจากความยอดเยี่ยมในสายตาของนักวิจารณ์ เมื่อเส้นเรื่องนั้นกระท่อนกระแท่นและเป๋อย่างไร้จุดหมาย แต่ก็ใช่ว่าหากหนังเล่าเรื่องราวได้ตรงตามชีวิตของเฟรดดี้เป๊ะๆ หนังจะสมบูรณ์ไปกว่าที่เป็นอยู่ ต้องยอมรับว่าในหนังนอกจากเฟรดดี้ที่จากไปแล้ว ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ ทุกคนตั้งแต่สมาชิกในวง ครอบครัว หรืออดีตคนรัก ต่างรู้เห็นและได้สัมผัสชีวิตของตัวเฟรดดี้ทั้งนั้น โดยเฉพาะเพื่อนๆ ในวง ไม่ว่าจะเป็น ไบรอัน เมย์ หรือ โรเจอร์ เทย์เลอร์ ที่เคารพในตัวของเฟรดดี้แม้ทัศนคติทางเพศจะแตกต่าง แต่ก็ไม่เคยก้าวล่วงชีวิตส่วนตัวของเฟรดดี้ ไม่แม้กระทั่งเอ่ยปากถึงเพศสภาพหรือโรคร้าย หรือแม้กระทั่งมือเบสอย่าง จอห์น ดีคอน ที่หลังจากที่เฟรดดี้จากไป เขาก็ออกจากวงไปใช้ชีวิตอย่างสันโดษโดยไม่กลับไปอยู่กับวงแม้กระทั่งการรียูเนียนอีกเลย ความเคารพและไว้ใจในมิตรภาพน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่พวกเขาจะพอใจในหนังเรต PG-13 เรื่องนี้ที่เลือกเล่าเรื่องเพียงด้านเดียว ไม่ลึกซึ้งหรือดำดิ่งสู่ด้านมืดมากมายนัก เพราะเราเชื่อว่าความโลดโผนในการใช้ชีวิตของเฟรดดี้ย่อมไม่มีวันอยู่ในเรต PG-13 อย่างแน่นอน แท้จริงสมาชิกในวงอาจจะต้องการทำหนังสืองานศพในรูปแบบของภาพยนตร์ที่เล่าถึงคุณงามความดีของเฟรดดี้ ตัวอย่างของอัจฉริยะ การดิ้นรน สู้ชีวิต และผลักดันเขาสู่การเป็นศาสดาแห่งโลกร็อคแอนด์โรล มากกว่าจะฟื้นฝอยเพื่อเรียกหาข้อมูลที่แท้จริงที่อาจจะทำลายตัวตนของเฟรดดี้ หรืออีกนัยยะหนึ่งเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่ได้ลองกลับมาฟังเพลง Queen อีกครั้ง เพราะเมื่อคุณได้ลองกลับมาฟัง ไม่ว่าแฟนเพลงตัวกลั่นหรือแฟนเพลงรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทัน ต่างก็รู้สึกเหมือนกันหมดว่าบทเพลงของ Queen ไร้กาลเวลา และยิ่งฟังก็ยิ่งสัมผัสได้ถึงความลึกซึ้งของวง   ระหว่างนั้นฉับพลันผู้เขียนก็แอบคิดเล่นๆ ว่า “ถ้าเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ ยังมีชีวิตอยู่เขาจะพอใจหนังเรื่องนี้มากแค่ไหน”    ชายหนุ่มวัย 72 ที่ผ่านชีวิตทุกแง่มุมอย่างโชกโชน อาจจะยิ้มมุมปากมองชีวิตที่ผันผ่านอย่างอารมณ์ดี เพราะในชีวิตของเขา เขาเลือกที่จะเปลี่ยนเส้นทางชีวิตมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้ จากฟารุก บัลซารา เมื่อย้ายถิ่นฐานมาปักหลักชีวิตที่อังกฤษ เขาก็เลือกที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น เฟรดดี้ บัลซารา, เลือกเปลี่ยนนามสกุลเป็น เมอร์คิวรี่ เมื่อเขาได้ก่อตั้งวง, เปลี่ยนจากชายหนุ่มขี้อายสู่ผู้ชายที่จัดจ้านบนเวทีร็อค, เปลี่ยนจากคู่รักกลายเป็นคู่ชีวิตที่เป็นเพื่อนสนิทตลอดกาลกับแมรี, เปลี่ยนเส้นทางชีวิตของสมาชิกในวงจากเล่นตามผับกระจอกๆ สู่สเตเดียมที่จุคนนับแสน, เปลี่ยนมุมมองความรักจากเพศที่แตกต่างสู่ความรักที่ไม่มีเส้นแบ่งเพศกั้นขวาง, เปลี่ยนแนวทางดนตรีจากร็อคอันแข็งกร้าวสู่ร็อคอันแสนอ่อนโยน, เปลี่ยนสถานะตัวเองจากผู้ชายผมยาวสู่หนุ่มหนวดงามผมสั้นที่เป็นไอคอนของโลก, เปลี่ยนจากชายผู้อีโก้ล้นทะลักสู่ความเรียบง่ายและรับฟัง หากเฟรดดี้ยังคงมีชีวิตอยู่ เขาคงมองว่าชีวิตของเขายังเปลี่ยนได้ขนาดนี้แล้ว ทำไมหนังจะเปลี่ยนไม่ได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปแค่ไหน เพลงของเขายังคงสร้างพลังอันยิ่งใหญ่ ยังสร้างแรงบันดาลใจอันฮึกเหิมให้กับคนทั้งโลก จุดประกายความกล้าหาญให้กับคนทั้งโลก “เปิด” ในสิ่งที่ปกปิด รวมไปถึงการสร้างความหวังในการมีชีวิตให้อย่างเชื่อมั่น สิ่งนี้ต่างหากที่สำคัญและไม่มีวันจะเปลี่ยนแปลงไป และไคลแมกซ์ของหนังในซีน Live Aid ที่ รามี่ ต้องดูซ้ำแล้วซ้ำเล่านับพันรอบเพื่อให้ตัวตนของเขาสวมทับกับร่างของเฟรดดี้อย่างแนบเนียน รวมไปถึงความทะเยอทะยานที่จะสร้างภาพเหมือนเพื่อให้ 20 นาทีนั้นเป็น Magic Moment อันแสนวิเศษ ใช้เทคโนโลยีเสริมภาพให้คมชัดและละเอียดขึ้นเพื่อทดแทนการถ่ายทำที่จำกัดในยุคนั้น แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจจะแตะต้องได้ ยิ่งตอกย้ำชัดเจนเลยว่า นอกเหนือจากชื่อเสียงของเฟรดดี้และ Queen ที่จะอยู่ยั้งยืนยงไปตลอดกาลแล้ว จิตวิญญาณในบทเพลงของ Queen ต่างหากที่ไม่มีวันลบเลือนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดกาล Bohemian Rhapsody: การชำระประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของ Freddie Mercury และ Queen   เรื่อง: ครูสิงห์ โสตศึกษา