บอม-ราชวัตร ป้องนางไชย: ครูที่เชื่อว่าศักยภาพของเด็กมีมากกว่าวิชาการ กีฬาและดนตรี

บอม-ราชวัตร ป้องนางไชย: ครูที่เชื่อว่าศักยภาพของเด็กมีมากกว่าวิชาการ กีฬาและดนตรี
เดือนมีนาคม 2021 ที่ผ่านมา มีกระแสไวรัลการมอบเกียรติบัตรให้เด็ก ๆ (https://www.facebook.com/bomb.rachavat/posts/3962100227184930) โดยข้อความในเกียรติบัตรนั้นแตกต่างไปจากที่หลายคนคุ้นตา เช่น ขุดปูนาเก่ง แบ่งปันมันนึ่ง รักสัตว์ รู้จักพูดขอโทษเมื่อทำผิด และอีกหลายข้อความที่ชวนให้ผู้ที่ได้พบเห็นอดยิ้มตามไม่ได้ ซึ่งภาพกิจกรรมดังกล่าว ถูกบอกเล่าผ่านเฟซบุ๊กของ ‘ครูบอม-ราชวัตร ป้องนางไชย’ คุณครูประจำชั้น ป.2 โรงเรียนบ้านค้อปัญญานุสรณ์ จังหวัดอุดรธานี  The People จึงนัดหมายพูดคุยกับครูบอมถึงเบื้องหลังกิจกรรมมอบเกียรติบัตรแสนน่ารักครั้งนี้ รวมทั้งมุมมองขอครูบอมต่อระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน    The People : ทำไมถึงเลือกที่จะเป็นครูประถมฯ ครูบอม : ช่วงที่อยู่ ม.ปลาย ผมเชื่อว่าหลายคนไม่รู้จะไปเรียนอะไร ไม่รู้จะไปที่ไหน ผมเชื่อว่ามันน่าจะมีเยอะมาก ๆ เลย ส่วนผมเลือกตามพ่อกับแม่ คือพ่อกับแม่เป็นครูมาก่อน ก็สอบได้ ช่วงปี 1 ปี 2 เราก็คิดว่ายังไม่ใช่ เราก็เรียนไปให้มันจบ ส่วนปี 3 ปี 4 มีวิชาการสังเกตการสอน ผมก็ไปโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย ๆ ทั้งโรงเรียนมี 50 - 60 คน พอผมไปเห็น มันก็สะท้อนใจเหมือนกันว่า ทำไมคุณครูไม่ครบ หรือทำไมเด็กนักเรียนต้องมานั่งเรียนในสภาพแบบนี้ ผมเลยตั้งใจมาตั้งแต่ตอนนั้นว่า เมื่อเราเรียนจบ ถ้าเรามาเป็นครูแล้ว เราต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดี เราชอบอะไร หรือเราไม่ชอบอะไรในวัยเด็ก เราก็จะไม่ทำกับเด็กที่เป็นลูกศิษย์เราในตอนนี้ มันก็จะเชื่อมโยงกันมาเรื่อย ๆ    The People : ก่อนหน้านี้ครูบอมสอนที่ไหนมาก่อนไหม ครูบอม : ก่อนหน้านี้ผมไปบรรจุที่กรุงเทพมหานคร โรงเรียนวัดเสมียนนารี ที่เขตจตุจักร ก็ไปใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง เกือบสองปี พอถึงช่วงเวลาที่เราอยากกลับมาบ้าน เราก็สอบย้ายกลับมาที่อุดรธานี ก็มาบรรจุที่โรงเรียนบ้านค้อปัญญานุสรณ์  การที่ผมมีโอกาสได้ไปบรรจุในเมืองก่อนเนี่ย สังคมในเมืองมันจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมหมด อย่างอุปกรณ์ เช่น เครื่องดนตรี หนังสือ อะไรต่าง ๆ แต่เรามองกลับมาที่โรงเรียนรอบนอกที่ผมบรรจุตอนนี้ อุปกรณ์ไม่ครบบ้าง ขาดเหลืออะไรบ้าง ซึ่งมันก็แตกต่างกันนะครับ ผมเลยเลือกที่จะมาบรรจุที่โรงเรียนนี้ ผมคิดว่าจะพัฒนาศักยภาพของเด็กในโรงเรียนรอบนอก   The People : แสดงว่าปัญหาหนึ่งของการศึกษาไทยตอนนี้คือ โรงเรียนในเมืองกับต่างจังหวัด ต่างอำเภอ มีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน  ครูบอม : ใช่ครับ ทีนี้มันก็จะมีการสอบแข่งขัน โดยที่เอาเด็กทุกโรงเรียนไปแข่งขันกันในระดับประเทศ ซึ่งผมคิดว่ามันวัดกันไม่ได้หรอก มันมีความพร้อมแตกต่างกัน หรือถ้าคนที่ไม่พร้อมเขาได้รางวัล เราก็ไปชื่นชมว่าเด็กคนนี้เก่ง แต่ยังมีเด็กตาดำ ๆ ที่ไม่ได้อะไรเลยที่นั่งตาแป๋วอยู่หลังห้องเรียน ทำไมเราไม่ชื่นชมเขาบ้าง เรามองข้ามเขาเหมือนกันนะครับ ผมเลยเลือกที่จะมองเด็กเหล่านั้นมากกว่า แต่ไม่ได้ทิ้งเด็กเก่งนะ เด็กเก่งเรายินดีเลยที่จะส่งเสริมเขาไปในตามวิถีทางของเขา แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่ทิ้งเด็กที่อยู่ข้างหลัง เราต้องไปด้วยกันครับ ไปพร้อม ๆ กัน   The People : ถ้าเด็ก ๆ ไม่ได้เก่งวิชาการหรือกีฬา คิดว่าเราจะส่งเสริมหรือค้นหาศักยภาพในด้านไหนได้อีกบ้าง ครูบอม : ผมเห็นมีข่าวอยู่ช่วงหนึ่งว่าโรงเรียนนั้นรับนักเรียนที่ให้ทดสอบโดยการทำงานบ้าน เช่น รีดผ้า ซักผ้า ล้างจาน แต่ผมจำชื่อโรงเรียนไม่ได้นะครับ ขออภัยด้วย แต่อยู่ที่ไทยนี่แหละครับ เป็นโรงเรียนประถมฯ ผมรู้สึกว่า เอ้ย! ทำไมคิดได้ เพราะส่วนมากจะเป็นแข่งขันดนตรี แข่งกีฬา ผมก็สะท้อนใจเหมือนกันว่าเด็กคนอื่นจะเอาอะไรไปสอบเข้า นอกจากสอบกับจับฉลาก ซึ่งมันแล้วแต่ดวง หรือแล้วแต่ความรู้ของแต่ละคน ในการศึกษาไทยมีทางเลือกไม่เยอะ เราไม่รู้ว่าจะรับเด็กเข้ามาโรงเรียนยังไง โดยที่เราไม่กล้าข้ามกรอบออกไป ผมอยากให้ลองดูพฤติกรรมเด็กก่อนก็ได้ หรือลองดูสิ่งที่เขามีในตัวตนของเขา นอกจากเรื่องวิชาการ   The People : จุดเริ่มต้นที่ทำเกียรติบัตร ครูบอม : แรกเริ่มเดิมทีก็เป็นนโยบายของท่านผู้อำนวยการ เชิงคุณธรรม นำความรู้อะไรอย่างนี้ เราก็ต้องไปขยายผลต่อให้กับนักเรียนของเรา ซึ่งเราเองอยู่กับนักเรียนมานานแล้ว เราก็ต้องรู้ด้วยว่าเด็กเขามีอะไรดีในตัวเอง เราก็ดึงศักยภาพนั้นออกมาให้ได้ด้วยการสังเกตแล้วก็บันทึกไว้ในทุก ๆ วัน อย่างเช่น แบ่งปันมันนึ่ง คุณครูก็บันทึกไว้ว่าคนนี้แบ่งปันมันนึ่งให้ครูกิน เราก็กินให้เขาเห็น เขาก็แอบมองอยู่ว่าครูจะเอาไปทำอะไรหรือเปล่า จะกินหมดไหม เราก็สังเกตพฤติกรรมนักเรียนในตลอดปีนะครับ แล้วก็พยายามปลูกฝัง แล้วก็พยายามทำให้มันเป็นเรื่องปกติในชีวิตของเขาเลย โดยที่ไม่ได้พูดเวอร์วังอลังการให้เขารู้สึกว่ามันแปลกประหลาด แล้วมันก็จะค่อย ๆ ปลูกฝังเขาไปในตัวเองครับ ผมคิดว่าเขาก็จดจำเรื่องราวอันนี้ไปได้ตลอดเหมือนกัน แล้วก็เมื่อเขาโตขึ้น ก็จะนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตโดยที่เขาไม่ได้มีการโดนบังคับเลย มันอยู่ในใจของเขาเองแล้ว  แล้วผมก็คิดไว้ว่าอย่างน้อย เขาก็มีเกียรติบัตรอะไรพวกนี้ไปให้โรงเรียนอื่นดูบ้าง เผื่อโรงเรียนอื่นเขาจะเปลี่ยนความคิดได้บ้างว่า เราควรที่จะรับพิจารณานักเรียนที่ขุดปูนาเก่งก็ได้นะ ที่แบ่งปันยางลบให้เพื่อนก็ได้นะ ที่แบ่งปันมันนึ่งให้ครูกินก็ได้นะ เกียรติบัตรตัวนี้มันจะเป็นตัวยืนยันให้เขาเห็น ให้เขาได้บันทึกภาพ หรือได้มีความภูมิใจที่มันจับต้องได้    The People : คิดว่าการทำเกียรติบัตรให้เด็ก ๆ ช่วยในการค้นหาตัวเองของเด็ก ๆ ด้วยไหม ครูบอม : ช่วยในการค้นหา เพื่อเป็นการยืนยันตัวเด็กด้วยนะครับ เด็กเขาก็ทำของเขาอยู่แล้ว เพียงแค่คุณครูทำให้เขาเห็นเป็นรูปธรรม ให้เขาได้ภูมิใจสิ่งที่เขามีในตัวเอง โดยแต่ละคนจะแตกต่างกัน เช่น รักสัตว์เนี่ย เขาก็พูดให้ฟังตลอดครับว่า วันนี้หนูไปให้อาหารไก่ หนูไปให้น้ำไก่ หนูเห็นมันตีกัน หนูก็ต้องจับมันแยกออก อย่างนี้ อันนี้คือเขาก็มีในตัวตนเขาอยู่แล้ว ซึ่งเราก็ไปขัดเกลานิด ๆ หรือไปสอบถามจากผู้ปกครอง จากเพื่อนนักเรียนก็ได้คำตอบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น พอทำเป็นเกียรติบัตรก็ทำให้เด็กยิ้มได้ ให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีปมด้อย รักสัตว์แต่เรียนไม่เก่ง ก็ไม่ได้ผิดอะไรมากมาย เขาก็จะมีความภูมิใจในตัวเองมากขึ้น   The People : หลังจากให้เกียรติบัตรกับนักเรียน เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ครูบอม : บรรยากาศในโรงเรียนเปลี่ยนไป เด็ก ๆ เขาจะหัวใจพองโต ยินดีที่จะทำความดี ยินดีที่จะมีน้ำใจ ยินดีที่จะเต้นให้คุณครูดู ร้องเพลงให้คุณครูฟัง โดยที่เราแค่รับฟังเขาแค่นั้น แค่สละเวลาฟัง แล้วก็กระตุ้นเด็กไปในตัว โดยที่เราไม่ต้องบอกว่าไป ๆ วันนี้ครูไม่ดูหรอก ไป ๆ ไปเต้นที่อื่น เราจะไม่พูดอะไรอย่างนั้นเลย แต่ผมไม่ได้ยกย่องหรือไม่ได้พูดให้เขารู้สึกแปลกประหลาดที่เขาทำความดีตรงนี้ พูดเบา ๆ ปรบมือบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เป็นชีวิตประจำวันของเขาไปเลย  ส่วนเด็ก ๆ ก็รู้สึกดีใจมากเลยที่ได้รับเกียรติบัตร ให้พ่อกับแม่ดู คุณพ่อคุณแม่ก็ดีใจ อย่างเช่นขุดปูนา เด็กเอาเกียรติบัตรไปให้ดู พ่อแม่ก็ยังแอบขำอยู่ แต่ก็ภูมิใจนะครับ ชื่อเล่นเขาชื่อน้องปลาคาร์ฟ เป็นคนสุดท้ายที่ผมตั้งไว้ว่าผมจะเอาอะไรดี เลยถามเพื่อน ๆ เพื่อนเขาก็บอกว่า วันนั้นผมเห็นเด็กชายปลาคาร์ฟไปขุดปูนาครับ ได้เงิน 20 บาทครับ ผมก็ปิ๊งไอเดียเลยว่า เด็กชายปลาคาร์ฟนี่แหละขุดปูนาได้ดีที่สุด ก็เลยเอามาลงเกียรติบัตรเลย    The People : การที่เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วเราไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันได้หมด ต้องทำอย่างไรให้รู้ว่า เด็กคนนี้ควรใช้วิธีนี้เขาถึงจะฟัง ครูบอม : นิสัยของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อย่างเช่น เด็กชายเติ้ลที่แบ่งปันมันนึ่งเนี่ยเขาจะเป็นคนที่อ่อนโยนมาก เป็นคนที่อ่อนไหวง่าย ซื่อสัตย์ เราก็ต้องเข้าใจเด็กตรงนี้ด้วย บางทีเขาก็ทำผิด ไปเล่นอะไรที่มันทำให้ต้นไม้ตายอย่างนี้ สมมตินะครับ ต้นไม้ประดิษฐ์ ต้นไม้เล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็ไม่ไปด่าว่าเขานะ เราก็สอนเขานะครับว่า ทำแบบนี้มันจะทำให้โรงเรียนของเราไม่มีพื้นที่สีเขียว ไม่มีความสีเขียวอย่างนี้ ต้องใช้คำนี้เลย เพราะว่าเขาเป็นเด็กเรียนรู้ช้านิดหนึ่ง โรงเรียนเราจะไม่เป็นสีเขียว ไม่เย็นนะ ไม่มีฝนตกนะ เราก็ใช้คำพวกนี้ไป ซึ่งเด็กทุกคนมีผลที่แตกต่างกัน บางคนพูดครั้งเดียวเขาก็เข้าใจ แต่เด็กบางคนก็ต้องอธิบายแบบนี้  ส่วนเล็ก ๆ นี้แหละที่เราจะมองเห็นหรือเปล่า ที่เราจะต้องใช้คำแค่ไหน เพื่อที่จะถนอมจิตใจเขาให้มาก ๆ ถ้าไม่จำเป็นหรืออะไร เราอย่าไปทำร้ายความรู้สึกในใจเขาที่เขามีต่อคุณครู ต่อเพื่อน ต่อโรงเรียน เราก็เลี่ยง ๆ ไปดีกว่า เพราะการใช้คำที่ทำให้แทงใจเด็ก แล้วเด็กรู้สึกว่าตัวเองด้อยไปเลย ไร้ค่าไปเลย เขาจะไม่กล้าแสดงออก จะไม่กล้าคุยกับครู ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมเขาไปเลย ดังนั้น เราต้องคิดถึงตัวเราเองไปยืนอยู่ตรงนั้น คิดว่าเราเป็นเด็กคนนั้น ถ้าเราใช้คำนี้เด็กจะรู้สึกยังไงบ้าง ก็จะคิดได้เลย แต่ว่าถ้าเราไม่คิดว่าเราเป็นเด็กคนนั้นนะ ก็อาจจะพูดไปเลย ไม่สนใจอะไรเลย   The People : ครูบอมมีครูในดวงใจ หรือคนที่เป็นต้นแบบไหม ครูบอม : คุณครูในดวงใจผมก็คือแม่ของผมนี่แหละ คุณครูน้ำค้าง ป้องนางไชย แม่ผมก็สอนชั้น ป.1 เป็นทั้งแม่เป็นทั้งครู แต่ว่าอยู่โรงเรียนเนี่ยไม่เป็นแม่ ทำผิดก็ต้องทำผิด ต้องยอมรับอะไรทุกอย่างเหมือนนักเรียนทั่วไป บางทีผมก็น้อยใจเหมือนกันว่าเป็นลูกครู ทำไมครูต้องมาทำโทษ ทำไมครูไม่รักอย่างนี้ มันเป็นความคิดที่เด็กมาก ช่วงนั้น พอเราโตขึ้นมาสักพักหนึ่งแหละ เราก็คิดได้นะว่าที่คุณครูน้ำค้างทำกับเราแบบนี้ เพราะว่าอะไร แล้วทำไมเราถึงโตมาแล้วเราถึงได้เป็นอย่างนี้ ก็เพราะคุณครูคนนี้แหละที่สอนให้เรารู้จักยอมรับทุกอย่างไม่ว่าจะทำผิดหรือทำถูก   The People : ในมุมมองของครูบอม คุณครูที่ดีควรจะเป็นครูแบบไหน ครูบอม : ตามความคิดของผมเลยนะครับ ครูที่ดี คือครูที่เข้าใจเด็กนะครับ ไม่ตีเด็กโดยไม่มีเหตุผล หรือไม่ลงโทษเด็กโดยไม่มีเหตุผล ไม่งั้นเด็กก็จะสงสัยว่า เอ๊ะ! คุณครูทำไมมาว่าให้เรา ทำไมคุณครูถึงมาให้เราไปเก็บขยะ ทำไมคุณครูถึงให้เราไปเก็บใบไม้ วิ่งรอบสนามหนึ่งรอบ  คุณครูจะต้องดูเด็กด้วย สมมติว่าเด็กคนนี้ให้ไปวิ่งรอบสนาม สภาพร่างกายเขาไม่พร้อม แล้วเด็กเป็นลม แล้วจะทำยังไง เราก็อาศัยการทำโทษด้วยการบอกกล่าว การตีมือเขาเบา ๆ เอามือมาแล้วก็แปะ หรือเกี่ยวก้อยกันอะไรพวกนี้ ซึ่งมันจะมีวิธีที่หลากหลายมากที่จะถนอมน้ำใจเด็ก หรือลงโทษเด็ก   The People : แสดงว่าครูที่ดีก็คือครูที่เข้าใจเด็ก ครูบอม : ใช่ครับ ครูที่เข้าใจเด็กแต่ละคนว่าเป็นยังไง รู้สึกยังไง นี่แหละคือครูที่ดีที่สุด โดยที่ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องวิชาการเลย ไม่ได้บอกว่าเป็นครูสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ คุณครูสอนให้เด็กคิดเลขเป็น คุณครูสอนให้เด็กได้เหรียญทองระดับประเทศ อันนี้ผมไม่ได้ว่าเขาไม่ดีนะ แต่ผมกลับไปมองอีกมุมหนึ่งว่า คุณครูที่สอนให้คนเป็นคนน่ะครับ นี่แหละดีที่สุดแล้ว  ถ้าเราสอนให้เขามีน้ำใจ สอนให้เขาแบ่งปันตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน เชื่อได้แน่นอนว่าพอเขาไปอยู่ในสังคมข้างนอก เขาก็จะทำแบบนี้ไม่ได้แตกต่างกัน แล้วเขาก็จะไม่ได้มามองเกียรติบัตรด้วย ถ้าในสังคมข้างนอก ไม่มีเกียรติบัตร ฉันไม่ทำ ซึ่งมันจะไม่ใช่เลย เพราะว่าเราปลูกฝังโดยที่เราบอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า เราทำให้เป็นกิจวัตรประจำวันของเขา โดยไม่ได้รู้สึกแปลกประหลาดอะไรเลย การทำความดี เป็นชีวิตจริง ๆ ที่เขาต้องได้ทำ ฉะนั้น ครูที่ดีก็คือครูที่สอนคนให้เป็นคน เพื่อที่จะให้คนคนนี้ไปอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าเขาจะเรียนเก่งหรือไม่เก่งก็ตาม เพราะสุดท้ายแล้วชีวิตคนก็คือการมีความสุข แค่นั้นเองครับ   The People : ถ้าอย่างนั้นการให้เกียรติบัตรอะไรหรือกิจกรรมต่าง ๆ เป็นแค่สิ่งที่ส่งเสริมให้เขารู้สึกว่าอยากจะทำต่อ แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่กำหนดว่าเขาต้องมีเกียรติบัตรเท่านั้นถึงจะทำสิ่งดี ๆ  ครูบอม : ใช่ครับ เป็นการส่งเสริมหรือเป็นการให้คนอื่นเห็นภาพ หรือว่าให้เขามีหลักฐานอะไร ให้คนอื่นได้ดูบ้าง ส่วนที่มันมากกว่านั้นก็คือมันอยู่ในใจเขาแล้ว เกียรติบัตรมันตามมาทีหลัง ไม่ใช่ว่าทำเกียรติบัตรออกมาก่อนอย่างนี้ แล้วก็ต้องไปทำตามเกียรติบัตร อย่างนี้ไม่ได้   The People : ความสุขของการเป็นครูในวันนี้คืออะไร ครูบอม : ความสุขของผม ผมไม่ได้มองไปไกล ผมมองแค่ปัจจุบันว่า เด็กมีความสุขในแต่ละวันที่เราอยู่ด้วยกันกับเขา ซึ่งทุกโรงเรียนนะผมเชื่อได้เลยว่า มันก็จะมีเด็กที่ดื้อ เด็กที่ไม่ฟังเรา ผมเชื่อว่ามีทุกโรงเรียน โรงเรียนนี้ก็เช่นเดียวกัน อยู่ที่ว่าเราเนี่ยแหละจะทำยังไงกับเด็กคนนั้น จะปรับตัวยังไง เราจะปรับตัวให้เข้ากับเขาไหม หรือเดินทางสายกลางไหม ให้เขาปรับตัวหาเราบ้าง เราปรับตัวหาเขาบ้างอย่างนี้ ซึ่งก็จะมีความสุขทั้งสองฝ่าย โดยที่เราไม่ได้ไปหักเหลี่ยมหักมุมเขาไปเลยว่า เห้ย! เธอต้องเปลี่ยนจากเด็กดื้อ ๆ มาเป็นคนดีได้เลย มันก็ต้องค่อย ๆ เปลี่ยน สุดท้ายแล้วพอเขาจบปีการศึกษาหรือจบจากโรงเรียนนี้ ก็จะไปอยู่ในสังคมได้อย่างดีที่สุด แล้วผมมองแค่ว่า เขาจบไป โตขึ้นเขาจะต้องเป็นเด็กที่ดีแน่เลย เขาจะต้องช่วยพ่อแม่ทำงานได้ดีแน่เลย เขาต้องไปช่วยพ่อแม่ตัดอ้อยอย่างนี้ ช่วยพ่อแม่ไปขุดมันได้ดี เขาแข็งแรงดี ผมคิดอย่างนี้นะครับ ผมไม่ได้คิดว่า เออ...ต้องไปเป็นตำรวจ เป็นทหาร เป็นหมอ เป็นคนที่มียศถาบรรดาศักดิ์อะไร ผมไม่คิดอย่างนั้น  มีเด็กคนหนึ่งที่รักพ่อรักแม่มาก พ่อกับแม่เขาจะมีปัญหาทะเลาะกันตลอด วันหนึ่งเขาก็มาพูดให้ฟังเลยนะ คือเดินมาพูดให้ฟัง ผมก็ไม่ได้ถามอะไรเขามาก เราก็ฟัง เหมือนที่ผมบอก ทำเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องคุยกันปกติ โดยที่เราไม่ต้อง เออ...อะไรนะ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เราจะไม่ทำอย่างนั้น เราจะพูดค่อย ๆ พูดเบา ๆ พูดเหมือนคุยกันปกติ พ่อแม่ไปทำอะไรหรอ พ่อแม่ทะเลาะกันค่ะ แล้วหนูทำยังไงล่ะ หนูก็แยกพ่อกับแม่ออกจากกันนะคะ เข้าไปกอดแม่ ไปกอดพ่อ บอกว่าอย่าทะเลาะกันอย่างนี้ ซึ่งอยู่ ป.2 ผมทึ่งในความคิดเขามากเลย ผมก็คิดถึงตอนตัวเอง ตอน ป.2 เราคงจะคิดไม่ได้เท่าเขา ผมก็บันทึกไว้เลย แล้วก็ให้กำลังใจเขาว่า เธอก็ไปบอกพ่อกับแม่ ดูแลพ่อกับแม่ให้ดี ๆ นะ ดูแลยายให้ดี ๆ นะ แล้ววันต่อมาก็มาพูดให้ฟัง เขาบอกว่าพ่อกับแม่หนูไม่ทะเลาะกันแล้วค่ะ ผมก็อ๋อ หรอ ๆ ก็รับฟังเขาแค่นี้แหละ เขาจะพูดอะไรก็ให้พูดมาเลย เราไม่ได้ถามว่า เห้ย! พ่อไปกินเหล้ามาหรอ พ่อไปเล่นการพนันหรอ แม่ไปเล่นไพ่มาหรอ เราไม่ถามเลย เราจะให้เขาพูดเอง ให้เขาเห็นเอง โดยที่เราจะไม่พูดให้เด็กรู้สึกว่าเป็นปมด้อยอะไร รู้แค่ว่าเขารักพ่อรักแม่ แค่นี้ก็ดีแล้วนะครับ   The People : เด็กบางคนเราไม่รู้เลยว่าเขามีศักยภาพหรือว่าเขามีความดีบางอย่างในตัวเอง ถ้าเราไม่ได้เข้าไปคุยด้วย ครูบอม : ไม่รู้เลยครับ เราก็ต้องฟังทุกคน ฟังโดยที่เขาพูดเล่นพูดอะไรไป แต่ว่าเราเก็บรายละเอียด เราดูเด็กคนนี้ว่าพูดเรื่องอะไรบ้าง บันทึกไว้เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่นเต้นเก่ง เขาจะพูดท่าเต้น พูดอะไรให้ฟัง เราก็มองไกล ๆ แล้วบันทึกไว้ หรือเป็นดีเจน้อยอย่างนี้ ก็คุณครูขาวันนี้หนูอยากพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ คุณครูก็หาให้ เด็ก ๆ ก็จะเข้ามาหาตลอด แต่ว่าเด็ก ๆ ก็จะเข้าใจคุณครู ตอนไหนที่รู้ว่าตัวเองน่ะทำผิด ก็จะไม่มาหาครูหรอกวันนั้น อาจจะมาหาวันอื่น หรืออาจจะมาวันใหม่ ก็จะเป็นอย่างนั้นไป ซึ่งเด็กเขาก็จะรู้ตัวเองดี มันก็มาจากที่เรารับฟังเขาทุกคนโดยไม่กีดกัน   The People : ถ้าเป็นไปได้ อยากเห็นการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ครูบอม : อยากให้ย้อนกลับมาดูตัวเด็ก โดยที่เราข้ามการแข่งขันไปได้ไหม การที่มันจะมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่เขาเก่งอยู่แล้ว จะไปไหน ไปแข่งอะไรได้หมด แต่มันก็จะมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งเหมือนกันที่เขาไปเรียนตามพ่อแม่อยากให้เรียน เพราะว่าโรงเรียนนั้นมีโล่เยอะ มีเกียรติคุณเยอะ เขาก็จะไปเรียน แล้วเขาไม่ได้ชอบเลย เขาจะรู้สึกอย่างไร  เด็กที่ได้โล่ตลอด ๆ ไปหน้าเสาธงโอเค ปรบมือ วันไหนปีไหนก็มีแต่เด็กคนนี้แหละ แล้วเด็กคนที่นั่งปรบมือให้ ทำไมเราไม่เชิดชูเขา การศึกษาของเรา เรากลับไปมองว่าผล  O-NET หรือผลสอบระดับชาติ เป็นเครื่องการันตีว่า โรงเรียนไหนเป็นโรงเรียนที่ดีเยี่ยม แต่ตอนนี้ O-NET เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว ปีนี้ก็คือเขามีเฉพาะคนที่สมัครใจสอบ อันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะผลสอบระดับชาติไม่ได้การันตีว่าโรงเรียนนี้ดีเยี่ยมหรือไม่ ฉะนั้นผมก็เลยมองการศึกษาไทยว่า คุณครูจะส่งเสริมเด็กเก่งก็ส่งเสริมไปได้เลย แต่คุณครูก็อย่าลืมเด็กเหล่านี้ เด็กที่เขาอยู่หลังห้อง เด็กที่เขานั่งตาดำ ๆ ที่ปรบมือให้คนที่เรียนเก่งทุกปี ๆ