รจเรข วัฒนพาณิชย์ ผู้ขับเคลื่อนสังคมผ่านร้านหนังสือ Book Re:public

รจเรข วัฒนพาณิชย์ ผู้ขับเคลื่อนสังคมผ่านร้านหนังสือ Book Re:public

ผู้ขับเคลื่อนสังคมผ่านร้านหนังสือ Book Re:public

ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ร้านหนังสือ Book Re:public ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดงานครบรอบ 7 ปี โดยมีผู้เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง และมีหลายคนที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับร้านได้มาพูดคุยถึงความทรงจำที่มีต่อสถานที่แห่งนี้ จนสามารถกล่าวแบบในหนัง Thor: Raknarok ได้ว่า Book Re:public ไม่ใช่สถานที่แต่เป็นผู้คน” ตั้งแต่เปิดร้านครั้งแรกในวันที่ 22 ตุลาคม 2011 (และมีการย้ายทำเล 1 ครั้งจากย่านเลียบคันคลองชลประทานเป็นถนนทางเข้ากองบิน) Book Re:public ไม่ได้เป็นร้านหนังสือในความหมายแค่ว่ารับหนังสือมาขายแต่เป็นมากกว่านั้น เช่น เป็นที่นัดพบพูดคุย, มีชาและขนมให้มานั่งกิน, มีการจัดเสวนาเกี่ยวกับหนังสือและประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ, จัดฉายหนัง, จัดเวิร์กช้อป (เช่น ห้องเรียนประชาธิปไตย, ห้องเรียนดีเบต, Human ร้าย Human Wrong) ฯลฯ โดยเธอได้นิยามร้านหนังสือแห่งนี้ว่ามันคือ ‘พื้นที่แห่งการเรียนรู้และพื้นที่ของมิตรภาพที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน’ The People ได้นัดเจอกับคุณ อ้อย – รจเรข วัฒนพาณิชย์ เจ้าของร้าน Book Re:public ที่ร้านในบ่ายแก่ๆ วันหนึ่ง เพื่อพูดคุยถึงเรื่องชีวิตของเธอและร้านหนังสือแห่งนี้ รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น สังคมไทยหลังรัฐประหาร, การเป็น NGO และพรบ.ป่าชุมชน, การท่องเที่ยว, ธุรกิจร้านหนังสือในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคที่บางคนมองว่า ‘หนังสือตายแล้ว’    บทที่ 1 - การเป็น NGO รจเรข วัฒนพาณิชย์ ผู้ขับเคลื่อนสังคมผ่านร้านหนังสือ Book Re:public The People: ก่อนหน้าที่จะมาเปิดร้านหนังสือ คุณเคยทำอะไรมาก่อน รจเรข: หลังเรียนจบพี่ไปเป็นไกด์อยู่พักหนึ่ง ที่ทำเพราะหนึ่ง – อยากฝึกภาษาและสอง – เป็นคนชอบเที่ยว ก็คิดว่าไกด์จะตอบสนองเราได้ดีที่สุด แต่พอไปทำแล้วกลับไม่สนุกอย่างที่คิด พี่ทำกับบริษัทใหญ่ที่มีงานเข้ามาทุกวัน เราก็ต้องพาไปดูหมู่บ้านชาวเขา พาไปชนบทที่เห็นถึงความโรแมนติค ทุ่งนาสวยงาม ดูวิถีชีวิตของอาข่า, ปกาเกอะญอ ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว ประเพณีของอาข่าจะมีการโล้ชิงช้าหนึ่งครั้งต่อปี  แต่เมื่อไหร่ที่เราเข้าไปก็จะเห็นว่าเขาต้องโล้ชิงช้าทุกครั้ง แม้จะไม่ได้อยู่ในฤดูกาลของเขา พอเราดูแววตาพวกเขาแล้วมันไม่ใช่น่ะ มันไม่ใช่ความสนุกสนาน ไม่ใช่ทำไปเพราะมันเป็นความเชื่อที่ให้อะไรกับชีวิตเขา เขาต้องทำเพื่อโชว์นักท่องเที่ยว มันกลายเป็นวัฒนธรรมพาณิชย์ไปแล้ว เรารู้สึกว่าเราไม่สนุกแล้ว ซึ่งตอนนั้นเราอาจจะคิดในมุมมองตัวเอง ซึ่งไป romanticize ชาวบ้านก็ได้นะ จริงๆ ในอีกด้านหนึ่งชาวบ้านเขาอาจจะคิดว่าดี วัฒนธรรมทำให้มีรายได้ก็เป็นได้ บังเอิญว่ามีการรับสมัครงานของเอ็นจีโอที่อำเภอแม่แจ่ม ตอนนั้นเมื่อ 28 ปีก่อน แม่แจ่มเป็นอำเภอที่ถือว่าห่างไกลอยู่หลังเขา และเคยเป็นพื้นที่สีแดง พี่ไปทำงานที่แม่แจ่ม 3 ปีกว่า ตั้งแต่นั้นมาก็อยู่ในแวดวง NGO มาโดยตลอดเพราะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ใช่   The People: คุณเป็นที่รู้จักในฐานะกลุ่ม ‘ชุมชนคนรักป่า’ ซึ่งทำงานด้านป่าชุมชนมาตลอด ทำไมถึงสนใจทำเรื่องนี้ รจเรข: เราเห็นป่ามาตั้งแต่เด็ก  พ่อเรามีเพื่อนเป็นคนชนเผ่าเยอะ ปิดเทอมทีไรพ่อก็จะพาเราขึ้นเขาไปเที่ยวบ้านเพื่อนๆ ที่เป็นปกาเกอะญอบ้าง ลาหู่บ้าง ซึ่งเรามองพวกเขาเป็นเพื่อนไม่ได้มองว่าเป็นชนเผ่านั่นนี่ แล้วพวกเขาก็อยู่กับป่ามานานมาก เรารู้สึกว่าป่ามันยังมีก็เพราะมีชาวบ้านอยู่ด้วย ซึ่งมันไม่ควรให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง อย่างเช่น ป่าไม้ มามีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการที่จะบอกว่าป่าตรงนี้ควรเอาไปทำอะไร แต่คนที่อยู่ตรงนั้นมานาน หรือแม้แต่พวกเราซึ่งเป็นประชาชนที่อยู่ในเมืองก็ตามเหอะ ก็ควรที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในประเทศตัวเองด้วย เลยสนใจในเรื่องป่าชุมชน ซึ่งเมื่อก่อนมีแต่คำว่าป่าไม้ก็เลยมีการรณรงค์เรื่องป่าชุมชน จนมีการใช้คำนี้อย่างแพร่หลาย เพราะมันควรเป็นป่าของชุมชนที่อยู่รอบบริเวณนั้น และมีการจัดการบริหารโดยผู้คนหลายส่วน ไม่ได้เป็นขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง   The People: สถานการณ์เกี่ยวกับป่าชุมชมในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ดีขึ้นจากเดิมไหม รจเรข: เรารู้อยู่เสมอมาว่าความยั่งยืนของการพัฒนามันอยู่ที่นโยบายของประเทศ เราโตมากับคำพูดของพี่ๆ NGO ที่บอกว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน”  แต่ถ้าหากชุมชนจะเข้มแข็งแค่ไหน แต่นโยบายมันไม่เอื้อต่อชุมชนต่อประชาชน นั่นก็ไม่ใช่คำตอบของความยั่งยืนจริงๆ มันอยู่ที่นโยบายตัวกฎหมายที่มันส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ต่อเศรษฐกิจของชุมชน เรารณรงค์ผลักดันเรื่อง พรบ.ป่าชุมชนกันหลายปีเหมือนกันนะ ซึ่งตอนนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปล่อยให้ผ่านเข้าไปก็จริง แต่หัวใจสำคัญของมันอย่างการให้ชุมชนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดการดูแลป่ามันไม่ได้อยู่ในนั้นซะทีเดียว มันก็ยังมีขั้นตอนอะไรเยอะแยะไปหมด มันก็เลยกลายเป็นว่าป่าชุมชนไหนที่อยู่ได้ มันต้องเป็นแหล่งดู งานของหน่วยงานรัฐ และความเข้มแข็งของผู้นำชุมชนนั้นๆ   เพราะตัวกฎหมายมันไม่ได้เอื้อขนาดนั้น กฎหมายไม่ได้ออกมาอย่างที่เราเห็นว่าควรจะเป็น มันถูกดัดแปลงถูกอะไรไป เพราะฉะนั้นถามว่าดีขึ้นไหมมันก็พูดไม่ได้ ยิ่งคสช.เข้ามาเป็นรัฐบาลในปีแรกๆ ก็มีการประกาศขอคืนพื้นที่ป่า ซึ่งทำให้ พรบ.นี้มันไม่มีความหมายอะไรเลย มันยิ่งกว่าศูนย์แต่เป็นการถอยหลังลบหนึ่งลบสอง เมื่อทหารเข้ามาดูแลและทุกพื้นที่อยู่ในการตัดสินใจของเขาฝ่ายเดียว ยิ่งมี ม.44 ที่ชี้ได้ว่าป่าตรงไหนสามารถเอาไปทำอะไรได้ด้วยแล้ว เราว่ามันแย่ลงกว่าเดิมเยอะ   บทที่ 2 – จุดเริ่มต้นการเปิดร้านหนังสือ รจเรข วัฒนพาณิชย์ ผู้ขับเคลื่อนสังคมผ่านร้านหนังสือ Book Re:public The People: เป็น NGO อยู่ดีๆ ทำไมถึงเลือกที่จะออกมาเปิดร้านหนังสือ รจเรข: สถานการณ์บ้านเมืองมันชักนำเรามาตรงนี้ พอเกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนถูกล้อมปราบกลางเมืองเมื่อปี 2553 ที่ และมีองค์กรภาคประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่าการปราบปรามนั้นถูกต้องแล้ว แต่ส่วนตัวเราเห็นว่าประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ เราไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุนให้รัฐบาลหรือทหารปราบปรามประชาชนกลางเมืองแล้วตายแบบนั้นในพศ.นี้แล้ว เราก็เลยต้องออกมาตั้งคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นโดยเฉพาะกับคนที่ตัวเองบอกว่าทำงานกับภาคประชาชนหรือคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งอ้างเสมอมาว่าชาวบ้านหรือคนตัวเล็กตัวน้อยต้องมีปากมีเสียง แต่พอพวกเขาออกมามีปากมีเสียงจริงๆ กลับมองพวกเขาว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งพวกเขาจะเป็นหรือไม่ก็ตาม อย่างน้อยเขาก็มีสิทธิที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง ไม่ใช่โดนรวบสิทธิ์จากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ปี 2553 เป็นยุคที่ความเกลียดชังเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนความเป็นไปของสังคม ความเกลียดชังถูกโหมกระหน่ำเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มซึ่งเราไม่เห็นด้วยมากๆ เรามีแนวคิดว่าสิ่งที่ใช้ขับเคลื่อนสังคมควรเป็นความรู้กับปัญญาซึ่งสิ่งเหล่านี้มันอยู่ในการทำงานของนักวิชาการ อยู่ในหนังสือหลายๆ เล่ม ก็เลยคิดว่าน่าจะนำตรงนี้มาทำกิจกรรมเผยแพร่ความรู้กันต่อ เรามีความต้องการที่จะสร้างพื้นที่อะไรสักอย่างเพื่อมานั่งถกกันอย่างจริงจังว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมมันถอยหลังไปขนาดนั้น เพราะฉะนั้นความคิดเริ่มแรกของเราคือการมีพื้นที่สาธารณะ  ซึ่งมาก่อนความคิดที่จะทำร้านหนังสือเสียอีก ด้วยความที่เราเป็น NGO มา 20 กว่าปีเราก็ถนัดกับงานแบบนี้ สิ่งที่เราคิดตอนวางแผนใหม่ๆ เมื่อ 7 ปีที่แล้วคือ เฮ้ย มันต้องมีสักพื้นที่สำหรับพูดคุยถกกันว่าที่ผ่านมาประเทศไทยเคยเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า? แล้วจริงๆ ประชาธิปไตยมันคืออะไร? อำนาจในเมืองไทย มันมีอีกอำนาจที่ซ้อนทับเข้าไปที่เรามองไม่เห็นจริงๆ หรือ? ถ้ามีมันคืออะไร? ความสนใจของเรากับเพื่อนที่ร่วมก่อตั้งเบื้องต้นก็คืออยากทำพื้นที่ดังกล่าว แต่พื้นที่ตรงนั้นมันต้องมีอะไรให้คนเข้ามาหาด้วย ซึ่งเรามองว่าความรู้มันอยู่ในหนังสือเยอะแยะไปหมดแต่มันอยู่บนหิ้งไม่ถูกนำมาพูดคุยต่อ ก็เลยคิดว่ามันต้องทำเป็นร้านหนังสือด้วย เปิดพื้นที่ให้คนมาซื้อมาอ่านหนังสือ เอาหนังสือมาถกกัน ผลิตงานเสวนาในประเด็นที่ผู้คนอาจคุยกันอยู่แล้วบนท้องถนนแต่ไม่ได้เอามาถกกันเป็นจริงเป็นจังบนพื้นฐานของข้อมูลที่ผ่านการค้นคว้ามาแล้ว ก็เลยทำร้านหนังสือขึ้นมา ซึ่งพื้นที่เสวนากับร้านหนังสือมันเกิดขึ้นมาพร้อมกัน   The People: ช่วงก่อนเปิดร้านมีคนแนะนำไหมว่า การทำร้านหนังสือมันลำบาก อยู่ยาก รจเรข: แน่นอน ก็มีคนบอกว่าเดี๋ยวนี้มันพัฒนากันไปเยอะ ออนไลน์ต้องมาแล้วแน่นอน แต่เรายังเชื่อว่าคนก็ยังอ่านหนังสืออยู่ นี่ยังแอบคิดว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์ปี 2553 ร้านหนังสือเล็กๆ อาจจะไม่มีแล้วก็ได้นะ เพราะประเทศไทยก็จะเหมือนสงบเรียบร้อยไปของมันได้เรื่อยๆ ตามครรลอง คนก็จะอ่านหนังสือน้อยลงหรือไปอ่านออนไลน์กัน พอมีเหตุการณ์นั้น ผู้คนก็สงสัยใคร่รู้เลยหันกลับมาอ่านหนังสือมากขึ้น หนังสือที่เราไม่คิดว่ามันจะขายได้ในยุคก่อน อย่างแนวประวัติศาสตร์การเมืองก็มีคนอ่านมากขึ้น อย่างช่วงที่ผ่านมาละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ดัง คนก็ตามอ่านหนังสือเกี่ยวกับยุคพระนารายณ์กันเยอะ ซึ่งมันไม่ต่างกับเหตุการณ์ในปี 2553 พอเกิดเรื่องขึ้น คนก็อ่านหนังสือมากขึ้นเพราะอยากรู้ว่าที่ผ่านมีประวัติศาสตร์การเมืองไทยมันเป็นอย่างไร เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มันส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ในปัจจุบันได้อย่างไร แล้วพอเราจัดเสวนาเรื่องพวกนี้ประกอบด้วยมันก็ทำให้คนสนใจอยากอ่านมากขึ้น เราไม่เคยอยู่ในวงการหนังสือมาก่อนเราก็ไม่ได้รู้อะไรลึกนะ แต่เราพบว่าวงการหนังสือมันคึกคักขึ้นหลังปี 2553 มีร้านหนังสืออิสระใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้วแต่ละร้านก็พยายามยืนหยัดให้อยู่ได้ เราเชื่อว่าออนไลน์มันส่งกระทบเฉพาะแมกกาซีนเพราะมันเป็นหนังสือที่มีอายุ 15 วันแล้วหมดไป แต่พอกเก็ตบุ๊คมันอยู่ได้และเก็บเอาไว้ได้ บางเล่มเป็นหนังสือหายากที่คนอยากซื้อเก็บ แถมยังพกพาง่าย จริงอยู่ที่ว่า kindle ก็พกพาง่ายแต่มันก็มีข้อจำกัดเพราะส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ มันทำให้เราคิดว่าธุรกิจร้านหนังสือมันยังมีความหวังอยู่ เราเองยังอยากอ่านหนังสือทำไมคนอื่นจะไม่อยากอ่าน มันต้องได้สิ ก็เลยสู้ที่จะทำร้านหนังสือ   บทที่ 3 – การจัดการร้านหนังสือ รจเรข วัฒนพาณิชย์ ผู้ขับเคลื่อนสังคมผ่านร้านหนังสือ Book Re:public The People: หนังสือในร้านนี้เน้นไปที่หนังสือวิชาการแนวสังคมการเมือง มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหนังสือเข้าร้านอย่างไร รจเรข: เราก็ไม่ต่างจากร้านหนังสือเล็กๆ ทั่วไปที่หนังสือในร้านมันบ่งบอกบุคลิกของเจ้าของร้านชัดเจน ถ้าเจ้าของร้านชอบเดินทางก็จะเอาหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามา การที่เกิดร้านหนังสือ Book Re:public ก็เพราะเราสนใจปัญหาทางสังคม จึงไม่แปลกที่เราจะคัดเลือกหนังสือที่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง สังคม ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรมดีๆ มาไว้ในร้านเพื่อจะได้นำมาถกกันต่อ มีหนังสือบางแนวที่เราไม่มีในร้าน เช่น หนังสือคำคมแนวพุทธของพระนักเทศน์ชื่อดัง ที่จะมีก็เป็นเรื่องศาสนาที่เกี่ยวกับความเป็นไปของสังคม เช่น ศาสนาพุทธทางเลือก หรือหนังสือวัฒนธรรมอิสลามที่ช่วยสร้างความเข้าใจชุมชนมุสลิมในเมืองไทยมากขึ้น นอกจากนั้นหนังสือพวกไลฟ์โค้ชหรือฮาวทูก็ไม่มี  มีหลายคนมาขอวางหนังสือในแนวทางที่แตกต่าง เช่น เรื่องสั้นความรักวัยรุ่นที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมการเมืองเลย แต่บางทีก็ปฏิเสธยากเพราะเขาตั้งใจทำหนังสือเองกับมือ เราเห็นถึงความตั้งใจของคนที่อยากเป็นนักเขียน ก็เลยบอกไปว่ากลุ่มเป้าหมายร้านเราเป็นแบบนี้ จะลองวางดูก็ได้แต่ไม่รับรองว่าจะขายได้ แต่บางปกที่ไม่ได้และไม่น่าจะขายได้ในร้านเราเลยจริงๆ เราก็บอกว่าลองเอาไปวางที่อื่นซึ่งเหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ดีกว่าจะให้หนังสือมันมาค้างอยู่ที่เรา   The People: หนังสือแนวไหนหรือเล่มไหนที่ขายดีมากๆ ในร้านบ้าง รจเรข: คนที่มาร้านนี้เขาก็รู้แหละว่าจะได้เจอกับหนังสืออะไร หลายคนก็จะมาซื้อหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมือง หรือประเด็นทางสังคมที่เขาสนใจ ถ้าหนังสือเล่มไหนที่ได้รับการพูดถึงมากในเฟสบุ๊คก็จะมีหลายคนมาถามทั้งหลังไมค์และเดินมาที่ร้านเอง หนังสือเล่มที่ขายดีมากๆ ในร้านเราในปีที่ผ่านมา คือ ‘แผ่นดินจึงดาล การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ’ ของประชาไทที่สัมภาษณ์นักวิชาการหลายคน, ‘Autonomia’ ของ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, หนังสือของ อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา, นิตยสารฟ้าเดียวกันถ้ามีเล่มใหม่วางแผงที่ร้าน คนก็จะมาถามกันทั้งที่ร้านและหลังไมค์ ส่วนหนังสืออย่าง ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ (ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) หรือฟ้าเดียวกันปกโค้ก ก็มีคนมาถามตั้งแต่ร้านเปิดปีแรกจนถึงปีนี้แต่เราไม่มีนะ   The People: มีงานเสวนาครั้งไหนที่ประสบความสำเร็จเกินคาด มีคนมาฟังเยอะหรือสร้างผลกระทบมากกว่าที่คิดไหม รจเรข: ตอนร้านเปิดช่วงแรกๆ พอมันมีปัญหาทางการเมือง คนก็อยากมาหาคำตอบกันเยอะ มาแลกเปลี่ยนกัน ทุกคนต่างก็มีความคิดของตัวเองก็เข้ามาถกกันในพื้นที่ที่มันเปิด เช่น เราเคยจัดเสวนา เกี่ยวกับ สถาปัตยกรรมในยุคคณะราษฎของอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ เราก็คิดว่าคงมีแต่เด็กสถาปัตย์เข้ามาฟังแต่ปรากฏว่าคนทั่วไปก็มากันเยอะจนล้น หรือเรื่องตุลาที่เราเชิญอ.ประจักษ์ ก้องกีรติกับอ.ธงชัย วินิจจะกูลมาพูด คนก็มาฟังจนล้นร้าน แม้กระทั่งเสวนาเรื่อง Gender, LGBT คนก็มาฟังเยอะมาก มันเป็นยุคที่คนสนใจและตื่นตัวเรื่องประเด็นทางสังคมกันมาก   บทที่ 4 – ผลกระทบหลังรัฐประหาร รจเรข วัฒนพาณิชย์ ผู้ขับเคลื่อนสังคมผ่านร้านหนังสือ Book Re:public The People: เหตุการณ์รัฐประหารในปี 2557 ส่งผลกระทบต่อร้าน Book Re:public อย่างไรบ้าง รจเรข: ต้องบอกว่าร้านเราได้รับผลกระทบตรงๆ จากการรัฐประหาร เราต้องพักร้านไปเลยหนึ่งปีและต้องหาที่ทางให้ร้านใหม่ ส่วนตัวเราก็ถูกเรียกตัวเข้าไปในค่ายทหารด้วย และถูกเรียกเข้าไปหลังจากนั้นอีก 2 – 3 ครั้ง เขาพยายามที่จะส่งสัญญาณให้เรารู้ว่าเขาตามเราอยู่ เช่น ทหารในค่ายจะทักว่าคุณอ้อยชอบใส่เสื้อสีขาวนะครับ เพราะเห็นใส่เสื้อสีขาวเกือบจะทุกวันอะไรแบบนั้น พอเรามาเปิดร้านใหม่ที่ถนนทางเข้ากองบินเมื่อปลายปี 2015 เขาก็ส่งคนมาบอกเราในวันแรกเลยว่า ‘ข้างบนเขารู้แล้วนะว่าคุณเปิดร้านใหม่’ เป็นคำพูดที่สภาพและไม่ได้พูดเสียงดังตะคอกก็จริงแต่เราก็คิดว่ามันเป็นการข่มขู่นั่นแหละว่าคุณอย่าทำอะไรที่มันล่อแหลมมากนะ เหมือนมาเตือน จากนั้นก็ส่งคนมาดูที่ร้านทุกเดือน จัดกิจกรรมอะไรก็จะมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบถูกส่งมาดูลาดเลา เขาก็มานั่งฟัง นั่งจดบันทึกเพื่อส่งนาย มองในแง่ดีก็อาจจะดีก็ได้นะ เป็นการ educate กันไปในตัว อย่างเรื่องงานเสวนา ช่วงก่อนรัฐประหาร 2557 เราสนุกกับการทำงานมากเพราะมันมีเสรีภาพในการจัดงาน มีคนอยากคุยอยากฟังเรื่องไหนเราก็จัดเสวนา อย่างเรื่องตุลาการเรื่องศาลเราก็เอามาวิพากษ์วิจารณ์กันได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ในสังคมประชาธิปไตย แต่พอหลังรัฐประหาร งานเสวนาถูกทำให้เป็นว่าใครมาเข้าร่วมงาน เหมือนจะกลายเป็นอาชญากร เพราะคสช.ไม่อยากให้จัด จัดงานอะไรก็จะส่งตำรวจทหารนอกเครื่องแบบมาถ่ายรูปคนในงาน คนที่มาร่วมงานก็จะอึดอัด  เราคิดว่ามันเป็นยุทธวิธีของเขาที่ทำให้คนรู้สึกว่าอย่ามาฟังเสวนาเลย เพราะเดี๋ยวรูปจะไปอยู่ในบันทึกของทหารหรือฝ่ายความมั่นคง มันก็ทำให้งานเสวนาต่างๆ ทั้งที่ร้านเราและที่อื่นๆ ลดลงไปเยอะ จนกระทั่ง 2 ปีหลังมานี้ที่มันเริ่มดีขึ้น งานเสวนาเริ่มมีมากขึ้นแต่ประเด็นก็ไม่ได้หลากหลายเท่าช่วงก่อนรัฐประหาร   The People: คุณมองสถานการณ์ว่าเกิดจากอะไร รจเรข: สังคมไทยมันถูกลิดรอนสิทธิ์ พอเราจะเอาปัญญาหรือความรู้ขับเคลื่อนสังคม ผู้มีอำนาจในสังคมอาจจะกลัวก็ได้เพราะที่ผ่านมาเขาก็ใช้ความรู้ข้อมูลอีกชุดนึงเข้ามาขับเคลื่อนสังคมเหมือนกัน เราจะบอกว่ามันเป็นโฆษณาชวนเชื่อหรือเป็นการพยายามเปลี่ยนประวัติศาสตร์เพื่อตอบสนองต่อการปกครองของเขาก็ได้ ทีนี้พอมันมีประชาชนกลุ่มหนึ่งลุกกันขึ้นมาแล้ว Raise ประเด็นปัญหาตรงนั้นขึ้นมาพูดคุยแล้วพยายามบอกว่าประวัติศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมามันเป็นแบบนี้ ผ่านมุมมองใหม่ๆ ผ่านการวิเคราะห์ที่รอบด้านมากกขึ้น มันอาจทำให้ชนชั้นนำกลัว เพราะมันเป็นการเอาความรู้และปัญญามาต่อสู้กัน และที่เขาบอกว่าความรู้คืออำนาจเราก็เชื่ออยู่นะ เพราะเรารู้สึกว่าคนที่มีอำนาจก็กลัวความรู้ความจริงอีกด้านที่มันจะสั่นคลอนสถานะของเขา   The People: คุณเป็นหนึ่งใน 14 คนทั่วโลกที่ได้รับรางวัลผู้หญิงกล้าหาญ (International Women of Courage) ประจำปี 2016 อยากให้เล่าถึงรางวัลนี้ให้ฟังหน่อย รจเรข: เป็นรางวัลที่มอบให้โดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้หญิงที่ทำงานทั่วโลกซึ่งต่อสู้กับอำนาจเผด็จการหรือรัฐที่ไม่เป็นธรรม และคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ช่วงนั้นเป็นช่วงหลังรัฐประหาร สถานทูตสหรัฐฯ ส่งชื่อเราไป เราพูดเสมอว่าเราเป็นเพียงของผู้หญิงไทยอีกหลายคนที่ทำงานอย่างกล้าหาญในประเทศนี้ และเราก็คงเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ที่สหรัฐจะบอกว่าเขายืนหยัดอยู่ฝั่งประชาธิปไตยที่ต่อสู้เรื่องนี้อยู่ ถ้าจะถามว่าเรารู้สึกยังไงกับการรับรางวัลนี้ แม้เราจะเห็นว่ามีผู้หญิงหลายคนที่น่าจะได้รับรางวัลนี้ แต่เมื่อเราได้รับการคัดเลือกเราก็ถือว่าเราได้มีโอกาสที่จะทำให้คนจากประเทศอื่นๆ รู้จักสถานการณ์ในประเทศไทยภายใต้รัฐทหารมากขึ้น  ได้ไปทำหน้าที่บอกกล่าวความเป็นไปที่เราเผชิญให้ทางนานาชาติได้รับฟัง เพราะว่าถ้านานาชาติฟังจากการแถลงของรัฐบาลทหารฝั่งเดียว เขาก็ต้องได้รู้แค่ว่า ‘ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี บ้านเมืองสงบเรียบร้อย คสช.เข้ามาเพื่อรักษาความเรียบร้อย มีการให้เสรีภาพคนเต็มที่’ แต่การที่เราได้มีโอกาสได้ไปบอกกล่าวสิ่งที่เราพบเจอ และสิ่งที่ฝ่ายต่อต้านอำนาจที่ได้มาอย่างไม่ชอบธรรมเผชิญว่าถูกจำกัดเสรีภาพยังไง สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการได้รับรางวัลคือการได้ทำสิ่งนี้   บทที่ 5 – ธุรกิจร้านหนังสือในยุคปัจจุบัน รจเรข วัฒนพาณิชย์ ผู้ขับเคลื่อนสังคมผ่านร้านหนังสือ Book Re:public The People: การทำธุรกิจร้านหนังสือในทุกวันนี้มีความยากลำบากมากกว่าเดิมหรือเปล่า เพราะต้องเจอทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่ถดถอย, คนอ่านหนังสือน้อยลง, มีร้านหนังสือออนไลน์, มีการตัดราคาหนังสือกัน รจเรข: แน่นอน เราก็เพิ่งบ่นถึงเรื่องนี้กับเพื่อน สำหรับร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์อะไร เรารับหนังสือจากสายส่งและมีรับโดยตรงจากสำนักพิมพ์บ้าง มันก็ไม่ได้กำไรเยอะอยู่แล้ว คนที่อยู่ในวงการนี้จะรู้ว่าร้านหนังสือมันไม่ได้อยู่ได้ด้วยตัวเองขนาดนั้นหรอก  ยิ่งเราแบกรับต้นทุนที่สูงทั้งเรื่องค่าเช่าสถานที่ ค่าไฟค่าแอร์ด้วย เราจะพูดเสมอว่าใครที่อยากทำร้านหนังสือเล็กๆ ให้ทำที่บ้านหรือทำในที่ที่ไม่ต้องเสียค่าเช่า ไม่ต้องมีต้นทุนสูง ยิ่งเรามาเจอกับการขายหนังสือออนไลน์ที่สามารถลดราคา 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ได้ หรือหนังสือที่ลดราคาจากปกตั้งแต่กำลังจะออกจากโรงพิมพ์ บวกกับงานสัปดาห์หนังสือซึ่งมีทั้งที่กรุงเทพและเชียงใหม่ด้วยก็ทำให้คนรอที่จะไปซื้อที่นั่นกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ยังมีคนที่อยากเดินเข้ามาในร้านหนังสือแล้วมาเปิดมาหยิบจับก่อนตัดสินใจซื้อไปอ่าน เหมือนไปช้อปปิ้งเสื้อผ้าแล้วได้ลองเสื้อก่อน ซึ่งการซื้อออนไลน์มันไม่ได้หยิบจับ ก็ยังมีคนที่มีฟีลแบบนี้อยู่ที่เข้ามาในร้านหนังสือ ได้กลิ่นอายหนังสือแล้วมีความสุข แต่มันก็น้อยลงแล้วล่ะเพราะด้วยเศรษฐกิจแบบนี้คนก็อยากได้หนังสือที่ลดราคา   The People: มีลูกค้ามาขอลดราคาหนังสือบ่อยไหม รจเรข: ประจำ (หัวเราะ) แล้วหลายครั้งที่พี่ก็ลดให้เพราะพี่อยากให้คนอ่านหนังสือ แต่ถ้าลูกค้าที่เป็นคนที่มีงานประจำทำเราก็จะมองว่าเห็นใจเถอะเพราะเราได้จากสายส่งมาน้อยมาก แต่ถ้าเป็นเด็กนักศึกษาพี่ก็ใจอ่อนทุกที บางทีเขายังไม่ได้ขอพี่ก็ลดให้ แต่ที่จริงเราไม่อยากลดราคานะเพราะเราคิดว่าหนังสือมันควรตั้งราคาที่สมเหตุสมผลมาตั้งแต่ต้นทาง การที่หนังสือออกมาจากโรงพิมพ์แล้วลดราคาเลยก็แปลว่าคุณตั้งราคาไว้เผื่อลดหรือเปล่า แต่เมื่อส่งมาให้กับที่ร้านเรา เราลดไม่ได้เพราะคุณส่งมาให้เราด้วยเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งที่เท่าเดิม ถ้าจะให้แฟร์จริงๆ ทั้งกับคนในวงการหนังสือและผู้บริโภค คุณต้องตั้งราคาหนังสือที่สมเหตุสมผล ไม่มีการลดราคาแล้ว ซื้อที่ไหนก็เท่านี้ เพราะหนังสือมันไม่ควรเป็นสินค้าที่เอามาตัดราคากัน หรือถ้าลดก็ 10% พอ อย่าเป็น 20-30% ได้ไหม หนังสือออกใหม่ลด 20%  นี่ เราก็รับไม่ได้นะซึ่งมันมีจริงๆ ไง แล้วเราจะทำยังไงได้   The People: คุณมองอนาคตของร้านว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป รจเรข: ก็ต้องดูกันยาวๆ ถ้าถามว่าอีก 5 ปีข้างหน้าเราจะยังทำอยู่ไหมก็ตอบไม่ได้ แต่ตอนนี้เรายังเห็นความหวัง แค่ได้เห็นคนเดินเข้ามาหาหนังสืออ่านหรือเข้ามาร่วมพูดคุยเสวนา เราก็ดีใจแม้จะเป็นคนกลุ่มไม่ใหญ่แต่มันก็มีมาเรื่อยๆ ซึ่งเรามีความหวังกับกลุ่มคนแบบนี้  เห็นแววตาของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทุกปีๆ เราก็ยังอยากทำไปเรื่อยๆ อยากเปิดพื้นที่ตรงนี้ต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่เรายังมีแรง มีกำลังทรัพย์พอที่จะไปต่อ อย่างตอนงาน 7 ปี Book Re:public เราได้รับแรงใจกลับมาเยอะ มีหลายคนสะท้อนให้ฟังว่าได้อะไรจากที่นี่ไปบ้าง บางทีการจัดงานครบรอบเจ็ดปี เราก็คงแค่อยากได้กำลังใจเพื่อที่จะไปต่อ และมันก็ยังทำให้เรารู้สึกว่าสังคมไทยในสถานการณ์แบบนี้ ยังต้องการพื้นที่หรือแพลตฟอร์มทางกายภาพแบบนี้อยู่ นอกเหนือจากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มันมีอยู่มากมาย คนรุ่นใหม่ยังต้องการพื้นที่ที่จะให้เขาเข้ามาพูดคุยจริงๆ ตัวต่อตัว เห็นหน้าเห็นตากัน ซึ่งพื้นที่แบบนี้มันมีน้อยมากๆ เรายังอยากทำงานที่มันจับต้องกันได้ เห็นหน้า รู้จักกัน มาคุยกัน เรายังมีความหวังแบบนั้นอยู่ และเราก็อยากดึงให้คนรุ่นใหม่ที่โตมากับออนไลน์ลองมาใช้ชีวิตแบบนี้ด้วย   The People: ถ้ามีคนอยากขอคำปรึกษาเรื่องเปิดร้านหนังสือ จะบอกอะไรกับเขา รจเรข: เราก็จะบอกว่าเปิดเลยๆ ที่ผ่านมามีคนจากจังหวัดโน่นนี่มาคุยกับเราเยอะนะว่าอยากทำร้านหนังสือแบบนี้ต้องเริ่มต้นอย่างไร ซึ่งเราก็สนับสนุนนะบอกว่าเปิดเลย แต่สิ่งที่เราจะบอกเสมอคือขอให้มีที่เป็นของตัวเอง ลดต้นทุนเรื่องนั้นลงให้มาก และเขาต้องถามตัวเองด้วยว่าเขาสนใจหนังสือประเภทไหน ก็เริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองชอบ บางคนชอบศึกษาธรรมะศาสนาหรือสนใจเรื่องการเดินทางก็เริ่มต้นจากตรงนั้นก็ได้ เอาเรื่องต่างๆ มาลงที่ในพื้นที่นั้นแล้วจัดกิจกรรมเล็กๆ ไป เราก็อยากให้มีร้านหนังสือเปิดเพิ่มขึ้นนะแต่คุณต้องทำใจว่าร้านหนังสือไม่ใช่สิ่งที่ทำเงินให้เราได้ ถ้าคุณอยากรวยจากการทำธุรกิจ คุณอย่าทำร้านหนังสือ แต่ถ้าคุณพอมีเงินอยู่แล้วและอยากลองทำธุรกิจด้านนี้ก็โอเคสนับสนุน ซึ่งจริงๆ มันพออยู่ได้แต่อย่างที่บอกว่าถ้ามีที่ของตัวเอง ดูแลเอง ก็น่าจะพอได้   บทที่ 6 – มองอนาคตสังคมไทย รจเรข วัฒนพาณิชย์ ผู้ขับเคลื่อนสังคมผ่านร้านหนังสือ Book Re:public The People: ในสังคมไทยทุกวันนี้ คุณอยากแนะนำให้อ่านหนังสืออะไร รจเรข: 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ดีไหม (หัวเราะ) ในสภาวะที่เราไร้เสรีภาพทางการแสดงออกขั้นพื้นฐานแบบนี้ เราควรทำความเข้าใจสังคมแบบรัฐโอเชียเนียใน 1984  ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยถูกระบบการศึกษาครอบงำมายาวนาน ซึ่งมันก็เต็มไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อ เต็มไปด้วยสิ่งที่ผู้ปกครองอยากให้เราเป็น-คิดและกระทำในฐานะพลเมืองของเขา ผ่านการใช้ภาษา ใช้วาทกรรม จนทำให้เราแทบจะไม่เคยตั้งคำถามกับค่านิยม หรือจารีตประเพณีที่ถูกสร้างขึ้นมา โดยชนชั้นปกครองเลย เพราะถ้าตั้งคำถามคุณจะกลายเป็นตัวแปลกประหลาด เป็นคนก้าวร้าว ไม่รักชาติ เป็นแกะดำในสังคม ซึ่งสิ่งที่รัฐใน 1984 บอกอย่าง ‘Ignorance Is Strength’ เราว่าความ ignorance มันเป็นไปแล้วในสังคมไทย มันทำนายสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก มีผู้คนในหลายประเทศบอกว่าหนังสือเล่มนี้เขียนเพื่อเขาเลย ทั้งในพม่า รัสเซีย รวมถึงในไทย ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะผู้นำคนไหนที่อยากปกครองประชาชนแบบเบ็ดเสร็จอยู่ภายใต้เขาก็จะใช้ระบบนี้ มันจีงกลายเป็นหนังสือต้องห้ามในหลายประเทศ ซึ่งผู้นำที่เป็นเผด็จการไม่ชอบใจหนังสือแบบนี้หรอกเพราะมันไปบอกถึงความเป็นจริงของเขา ว่าเขากำลังครอบงำประชาชนด้วยวิธีการแบบไหน ที่เราอยากให้อ่านเพราะ 1984 มันทำให้คุณรู้ว่าตอนนี้คุณกำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นหรือเปล่า มีพี่ใหญ่คนไหนกำลังจับตาดูคุณอยู่ คุณต้องระมัดระวังตัวหรือเซ็นเซอร์ตัวเองแบบไหนเวลาโพสต์เฟสบุ๊ค   The People: คุณมองอนาคตของสังคมไทยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป รจเรข: ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี่ เราก็ไม่รู้ว่าจะมีใครขึ้นมาลบล้างหรือปรับเปลี่ยนมันได้บ้าง ที่จริงการมียุทธศาสตร์เป็นเรื่องที่ดี แต่โดยเนื้อหาข้างในของมันเป็นไปเพื่อใครมันก็เป็นคำถามใหญ่ ที่เขาอ้างว่าทำเพื่อประชาชนโดยส่วนใหญ่จริงไหม มันทำให้ประชาชนลดความเหลื่อมล้ำและกินดีอยู่ดีมากขึ้นหรือเปล่า หรือที่จริงมันเอื้อต่อใคร คำถามถึงอนาคตของไทยนี่ตอบยากมากเพราะเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ แต่สิ่งที่เราพอจะทำได้ตอนนี้ คือออกไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นกันเถอะ รู้แหละว่าเราเข้าไปอยู่ในกติกาที่มันไม่แฟร์ แต่เราก็มีสิทธิที่จะบอกว่าเราต้องการหรือไม่ต้องการอะไรด้วยการใช้สิทธิอันน้อยนิดที่เรามีไปประกาศตนก่อน ซึ่งเราก็คาดหวังกับพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่เข้ามาด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าคุณเข้ามาแล้วคุณประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศชาติ ทำระบบการเมืองให้มันดีและสะอาดขึ้น เราก็อยากเห็นว่าคุณจะทำให้มันดีขึ้นได้ยังไง เราไม่เคยมีความหวังกับรัฐบาลทหารนะคะแต่มีความหวังกับคนรุ่นใหม่เสมอ  

เนื่องจากคุณเป็นคนชอบท่องเที่ยวและเคยบุกตะลุยไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นมาแล้วหลายแห่งในโลก The People จึงถามเธอถึงสถานที่ที่เธอประทับใจและอยากแนะนำให้คนอื่นไป รจเรข: ไม่อยากแนะนำกลัวคนไปเยอะ (หัวเราะ) แต่ตอนนี้คนไทยก็ไปเยอะแล้วนั่นคือแคว้น Jammu & Kashmir ที่อินเดีย ไม่เจาะจงว่าเฉพาะเมืองเลห์นะแต่พูดถึงทั้งแคว้นซึ่งน่าสนใจมาก คุณจะไปแคชเมียร์แล้วนั่งรถไปพักการ์กิล แล้วเข้าไปซันสการ์ หรือกลับออกมาเพื่อไปเข้าเลห์ หรือเส้นทางมะนาลี ไปลาฮอล & สปิติ เราว่ามันเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจมาก ไม่ใช่แค่ทิวทัศน์ที่น่าตื่นตาตื่นใจแต่รวมถึงผู้คนที่เราพบเจอระหว่างทาง การได้นั่งรถไต่ไปตามเทือกเขาหิมาลัย  มันทำให้เราสัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ของมันจริงๆ ทำให้เราเหมือนหลุดออกจากสังคมที่เราอยู่ เทือกเขาหิมาลัยสอนอะไรเราบางอย่างโดยที่ไม่ต้องบอกอะไร แค่มันตั้งอยู่เฉยๆ แล้วเราเดินทางเข้าไปหา มันทำให้เราคุยกับตัวเองได้เยอะเหมือนกันเพราะช่วงเวลานั่งรถนานมากแล้วเราหลับไม่ได้เนื่องจาก หนึ่ง - ทิวทัศน์สวยมาก สอง - ถนนไม่ดีและเป็นเหว มันทำให้คุณตื่นและมีเวลามากพอที่จะคิดถึงสิ่งที่ผ่านไปในชีวิตคุณ, คิดถึงความเป็นไปของตัวเองทั้งในตอนนี้และอนาคต, ได้พบเจอกับเพื่อนร่วมทาง คนผ่านทาง คนขับรถ รวมถึงนักเดินทางด้วยกัน, ทำให้เรามีเวลาได้สัมผัสกับคนและตัวเองด้วย - เราเคยขับรถเที่ยวไกลๆ หลายที่นะแต่ก็ไม่เคยได้ความรู้สึกแบบเดียวกับตอนที่ไปเทือกเขาหิมาลัย เราจึงเข้าใจคนที่เทรคกิ้งหิมาลัยเอามากๆ ว่าเค้าต้องค้นพบอะไรมากมายกว่าเรา อินเดียมันเป็นที่ที่เราคิดว่ายังต้องไปค้นหาอีกเยอะ อย่างราชสถานเราก็เคยไปแล้วและชอบมากจนพร้อมที่จะกลับไปอีกได้ เลห์ก็ไปซ้ำเช่นกัน แม้บางคนจะบอกว่าเลห์มันเปลี่ยนไปเยอะด้วยความเจริญจากการท่องเที่ยวและเทคโนโลยี มีรถ มีโรงแรมมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวเยอะขึ้น แต่เราว่าความเปลี่ยนแปลงของเลห์ เมื่อเทียบกับที่อื่นแล้ว เราว่าช้ากว่าเยอะ เราไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้  เราคิดว่าถ้าเราอยากไป ทำไมคนอื่นจะไม่อยากไปล่ะจริงไหม เพียงแต่เราต้องเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเท่านั้นเอง  

หมายเหตุ ร้านหนังสือ Book Re:public ปัจจุบันตั้งอยู่ที่โครงการสี่หนึ่งพาร์ค ถนนปากทางเข้ากองบิน 41 ฝั่งตลาดต้นพยอม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เวลาทำการ วันอังคารถึงเสาร์เปิด 10.30 - 19.00 น. วันอาทิตย์เปิด 11.00 - 18.00 น. (ปิดวันจันทร์) แฟนเพจร้าน - Book Re:public   เรื่องและภาพ: บดินทร์ เทพรัตน์