บุญชู ไพรวัลย์ : 15 ปีการจากไปของ 'นวมทอง ไพรวัลย์' "คิดว่าเขาไปต่างจังหวัดเดี๋ยวก็กลับมา" 

บุญชู ไพรวัลย์ : 15 ปีการจากไปของ 'นวมทอง ไพรวัลย์' "คิดว่าเขาไปต่างจังหวัดเดี๋ยวก็กลับมา" 
นวมทอง ไพรวัลย์ ผู้ขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549 เพื่อประท้วงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การประท้วงครั้งนั้นส่งผลให้เขาได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล  หลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว วันที่ 31 ตุลาคม 2549 เขาผูกคอกับสะพานลอยหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยก่อนเสียชีวิตเขียนจดหมายระบุว่า ทำการพลีชีพครั้งที่ 2 เพื่อลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้”  งานรำลึกการจากไปของนวมทอง ไพรวัลย์ ที่หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีการจัดขึ้นทุกปีโดยมวลชนและแกนนำขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย The People พูดคุยกับ ป้าบุญชู ไพรวัลย์ ภรรยาลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ที่มาร่วมงานรำลึกพร้อมกับบุตรสาว ในงานรำลึกปีที่ 15 วันที่ 31 ตุลาคม 2564  ป้าบุญชู เล่าว่า "ได้ยินเสียงเพลงในงานรำลึกแล้วน้ำตาไหล  "สำหรับ 15 ปีที่ผ่านมายังทำใจไม่ได้ ยังคิดถึงลุงนวมทองอยู่ แต่ก็คิดว่าเขาไปต่างจังหวัดเดี๋ยวเขาก็กลับมาหา  "สำหรับครอบครัวตอนนี้มีความลำบาก บางครั้งขายของไม่ได้ ส่วนรายได้ครอบครัวมาจากลูกสาวซึ่งทำงานที่ร้านสะดวกซื้อ" ภรรยาลุงนวมทองเล่าถึงตอนพบกับลุงนวมทองว่า  "ตอนนั้นอายุ 27 อยู่หมู่บ้านสุขนิรันดร์ทำงานเป็นแม่บ้าน,เลี้ยงเด็ก เจอกันตรงนั้น ลุงนวมทองมาเช่าบ้านอยู่ จ้างซักผ้าครั้งละ 100 บาท ตอนนั้นลุงนวมทองทำงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต พระราม 7 ตอนแรกไม่ได้ถามว่าเขาทำงานที่ไหน และคิดว่าเขามีภรรยาแล้ว "ลุงนวมทองไม่ได้จีบ รู้จักกัน 1 ปี เขาบอกว่า ถ้าจะอยู่ด้วยกันก็อยู่ เดี๋ยวมีทะเบียนสมรสให้ เขาไม่มีพ่อแม่ เราก็ไม่มีพ่อแม่ จดทะเบียนสมรสกัน อยู่ด้วยกันก็มีความสุข เขาไม่เคยว่า ไม่เคยทะเลาะ เขาจะถามทุกครั้งว่าสบายดีไหม ไปต่างจังหวัดก็พาไปเที่ยวด้วย เขาเป็นผู้ใหญ่ดูแลเราได้ หลังจากอยู่ด้วยกันมีลูก 2 คน ลูกสาวคนแรกเกิดปี 2525 คนที่สองลูกชายเกิดปี 2526" ป้าบุญชู เล่าว่า มาร่วมงานรำลึกทุกปี ดีใจที่มีคนมารำลึกถึงลุงนวมทอง ส่วนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เวลาดูข่าวมีเหตุระเบิดมีเหตุการณ์รุนแรงแล้วก็กลัวว่าเด็กๆ จะได้รับอันตราย  “เมื่อก่อนเวลาเห็นการชุมนุมของคนเสื้อแดงผ่านหน้าบ้านก็จะออกไปดู ให้ลูกสาวไปส่งที่ชุมนุม ชอบไปดูการชุมนุมของคนเสื้อแดง”  การจากไปของ นวมทอง ไพรวัลย์ เกิดขึ้นก่อนที่การเคลื่อนไหวภาคประชาชนเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร จะเคลื่อนมาจนกระทั่งเป็นขบวนการที่เรียกว่า ‘คนเสื้อแดง’ นำโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในช่วงทศวรรษที่แล้ว โดยครอบครัวไพรวัลย์ร่วมอยู่ในที่ชุมนุมของคนเสื้อแดงด้วย  หลังขับรถแท็กซี่ชนรถถัง นวมทอง ไพรวัลย์ ให้สัมภาษณ์ จอม เพชรประดับ เผยแพร่ทางไอทีวี โดยตอบคำถามทำไมจึงเกลียดเผด็จการถึงขนาดยอมตาย ว่า “ชาติบ้านเมืองเราจะต้องไปไกลกว่านี้เยอะ  แล้วนี่ต้องมานับหนึ่งใหม่ ไม่ใช่หยุดอย่างเดียว อาจจะต้องถอยหลัง แล้วคนอื่นเขาแซงเราไปเท่าไหร่ บ้านเมืองเราต้องดีกว่านี้เยอะ ไม่ใช่มาปฏิวัติ ปฏิวัติ ลุงก็มองว่า อำมาตยาธิปไตยรักษาฐาน สร้างรัฐทหาร...”  ทางด้านจอม เพชรประดับ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังการจากไปของนวมทองว่า ลุงนวมทองโทรมาตอนสามทุ่มว่าจะทำอะไรสักอย่างเพราะทนไม่ได้ ขอให้เก็บเทปไว้ให้ดี ซึ่งฟังแล้วก็รู้สึกผิดสังเกต แปลกที่โทรมาสามทุ่มและให้เก็บเทปให้ดี จึงบอกคุณลุงอย่าไปทำอะไรนะ เมื่อถามถึงภรรยาและลูก ได้รับคำตอบว่า เขาสบายดีเชื่อว่าเขาเอาตัวรอดได้ แล้วก็วางสายไป ต่อมาทราบข่าวเว็บไซต์ไทยรัฐแล้วเข่าอ่อน เขามาลาก่อนตาย... สำหรับจดหมายที่นวมทอง ไพรวัลย์เขียนก่อนเสียชีวิตและมีการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนมีฉบับลงวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ระบุว่าเตรียมจะพลีชีพที่ ‘อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา’ แต่มีเจ้าหน้าที่รดน้ำต้นไม้ หลังจากนั้นเปลี่ยนไปที่หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  ส่วนจดหมายฉบับลงวันที่ 29 ตุลาคม 2549 ระบุว่า “ความคิดผม เมื่อหายป่วยดี ก็จะทำมาหากินขับรถ TAXI ไม่ก่อวีรกรรมอีกต่อไป แต่พบข้อความการให้สัมภาษณ์ นสพ. ของท่านรองโฆษก คปค. ในเชิงปรามาสดังกล่าวก็เลยต้องสนองตอบกันหน่อย เพราะนิสัยคนไทยฆ่าได้แต่หยามไม่ได้ และเหตุผลที่ผมเลือกวันสุดท้ายของเดือนตุลาคมเป็นวันพลีชีพ เพราะเดือนนี้เป็นเดือนที่วิญญาณของวีรชนที่สถิตอยู่ที่อนุสรณ์สถานฯ ที่ผมทำการพลีชีพนี้ได้เรียกร้องกระทั่งได้มาซึ่งประชาธิปไตย และวิญญาณของผมก็จะสถิตอยู่กับเหล่าวีรชนแห่งนี้ตลอดไป และขอยืนยันว่าปฏิบัติการทั้งสองครั้งทำด้วยใจ ไม่มีใครจ้าง สุดท้ายขอให้ลูก ๆ และภรรยาจงภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก ลาก่อน พบกันชาติหน้า ...” ตอนหนึ่งในจดหมายของนวมทอง ไพรวัลย์