บุญพีร์ พันธ์วร อดีตนักประชาสัมพันธ์ สู่ช่างภาพที่ถ่ายดอกไม้มากสุดอันดับต้น ๆ ในไทย

บุญพีร์ พันธ์วร อดีตนักประชาสัมพันธ์ สู่ช่างภาพที่ถ่ายดอกไม้มากสุดอันดับต้น ๆ ในไทย

อะไรที่ทำให้ บุญพีร์ พันธ์วร อดีตนักประชาสัมพันธ์ที่รักการถ่ายภาพธรรมชาติเป็นชีวิตจิตใจ ถ่ายภาพดอกไม้ไว้มากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย จนได้จัดนิทรรศการมาแล้ว

ปลายลำกล้องส่องไปยังดอกไม้หลากสี พร้อมกับเสียงกดชัตเตอร์รัว ๆ ตามมา คนที่อยู่ด้านหลังกล้องคือ บุญพีร์ พันธ์วร อดีตนักประชาสัมพันธ์ที่มีความรักในการถ่ายภาพธรรมชาติเป็นชีวิตจิตใจและมีความสนใจในพืชพรรณจนกระทั่งสามารถเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของดอกไม้ได้อย่างลื่นไหลเกือบทุกต้นตลอดการเดินชมสวนดอกไม้ 

เขาคือหนึ่งในช่างภาพที่ถ่ายภาพดอกไม้ไว้มากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย และผลงานล่าสุดของเขา (เมื่อ 2564) คือการจัดนิทรรศการภาพถ่ายดอกไม้ที่ชื่อว่า นิทรรศการอลังการแห่งดอกไม้ในสวนศรี ‘หลากมาลีศรีสยาม’ เป็นของตัวเองที่ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย  
 
ที่มาของบุญพีร์

บุญพีร์ พันธ์วร อายุ 65 ปี เขาเกิดเดือนเมษายน พ.ศ. 2499 ในตอนแรกเขามีชื่อว่า ‘บุญพืช’ มาจากชื่อของแม่ที่ชื่อ ‘บุญนาค’ และพ่อที่ชื่อ ‘พืช’ รวมกันเป็นบุญพืช พ่อและแม่ของเขาทำงานอยู่ในวังศุโขทัย โดยพ่อของเขามีหน้าที่ดูแลสภาพแวดล้อมและการปลูกต้นไม้ภายในพระตำหนัก  

ก่อนที่ครอบครัวจะต้องตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ไปยังพระตำหนักสวนบ้านแก้ว ที่ประทับส่วนพระองค์ ณ จังหวัดจันทบุรี โดยแม่ของเขามีความถนัดในเรื่องการเย็บปักถักร้อย จึงมีหน้าที่เป็นครูช่างฝีมือดูแลและสอนชาวบ้านในการทำเสื่อจันทบูร

ตั้งแต่แรกคลอดที่ผู้เป็นแม่พาเขาไปถวายตัวกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระองค์ทรงพระเมตตาโปรดเกล้าฯ ทรงอุ้มแล้วตรัสว่า “ตัวอ้วนจ้ำม่ำจังเลย”

จากนั้นพระองค์ทรงตั้งชื่อเล่นให้เขาว่า ‘ปอกระเจา’ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ใช้ทำเสื่อจันทบูร แต่ในวัยเด็ก บุญพืชเป็นเด็กที่ป่วยบ่อยด้วยหลายสาเหตุ พ่อของเขาจึงปรึกษาโหรหลวงในสมัยนั้น ซึ่งโหรฯ แนะนำให้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลขอพระราชทานเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเด็กชาย ‘บุญพีร์ พันธ์วร’ เมื่อปี 2505 และเขาก็ได้ใช้ชื่อนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
 
ธรรมชาติและการถ่ายภาพ

บุญพีร์เล่าว่าเขาไปภูกระดึงโดยเริ่มจากการขี่คอน้าชายขึ้นไปตั้งแต่อายุประมาณ 4-5 ขวบ เขาจะไปที่ภูกระดึงทุก ๆ ช่วงปิดเทอม น้าชายของเขาชื่อบุญเหลือ เหมหงษา เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึงคนแรกในสมัยนั้น ทำให้บุญพีร์ได้ติดตามน้าชายไปเดินป่า สำรวจต้นไม้และเส้นทางธรรมชาติอยู่บ่อย ๆ 

บุญพีร์ยังจำได้ว่าต้นไม้ชนิดแรกที่เขารู้จักคือเฟิร์นออสมันดาที่ขึ้นบริเวณริมทางเดินสระอโนดาตไปสวนสีดาและน้ำตกถ้ำสอบนภูกระดึง และนอกจากการใช้ชีวิตบนภูกระดึงเป็นที่มาให้เขาเรียนรู้และสนใจในพรรณไม้นานาชนิดแล้ว ที่นั่นยังเป็นจุดเริ่มต้นในการถ่ายภาพของเขาอีกด้วย

“น้าชายผมชอบถ่ายรูป ก็ถ่ายรูปเรื่อย ๆ แล้วในที่สุดผมก็ครูพักลักจำ น้าชายเริ่มสอนเรื่องถ่ายภาพให้ผม แต่ว่าสอนแบบว่าไม่ได้เป็นโปรเท่าไรนะครับ”

บุญพีร์ เรียนรู้ด้านการถ่ายภาพด้วยตัวเอง จากการสังเกตการทำงานของน้าไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเขาได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในคณะรัฐศาสตร์ แต่ด้วยใจรักในการถ่ายภาพ เขาได้ก่อตั้งชมรมถ่ายภาพของสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นมา และจัดกิจกรรมด้านการถ่ายภาพโดยเฉพาะ จัด Photo Trip เดินทางไปท่องเที่ยวถ่ายภาพในพื้นที่บนดอยที่ยังมีธรรมชาติสวยงามในยุคสมัยนั้น และส่งภาพถ่ายเข้าประกวด จนได้รางวัลกลับมามากมาย 

อย่างรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพสไลด์ของนักศึกษานานาชาติจากภาพถ่ายชื่อว่า ‘ล่องแก่งแม่กก’ ในปี พ.ศ. 2523 ที่จัดโดยวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ และรางวัลจากการประกวดภาพถ่ายนานาชาติ The Sixth Photo Contest in Asia and The Pacific 1981 จากองค์การ UNESCO แห่งสหประชาชาติ ที่มีชื่อภาพว่า ‘Friendship’ ซึ่งเป็นภาพถ่ายวิถีชีวิตชาวไทยภูเขา ที่หมู่บ้านม้งบ่อเหล็ก บนดอยแม่โถ  

หลังจากเรียนจบ ชีวิตการทำงานที่โดดเด่นและยาวนานของบุญพีร์ คือการเป็นนักประชาสัมพันธ์ ในกลุ่มสยามกลการ โดยเป็นหนึ่งในทีมริเริ่มโครงการ ‘Think Earth : คืนชีวิต คิดห่วงใยในผืนโลก’ ในปี พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นโครงการด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และผู้ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ

แต่เขาก็ยังไม่ได้ทิ้งการถ่ายภาพไป เพราะหน้าที่หลักของบุญพีร์ในช่วงนั้นก็คือการถ่ายภาพป่าไม้ ต้นไม้ สัตว์ป่า และนำมาทำสไลด์มัลติวิชันเพื่อรณรงค์ให้เด็ก ๆ ทั่วประเทศรักสิ่งแวดล้อมเป็นเวลากว่า 30 ปี

“ชื่อบุญพืชมันติดตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเวลาทำอะไรรู้สึกมันเป็น DNA หรือเป็นวิถีที่ถูกกำหนดมาว่าให้ทำงานด้านนี้โดยเราไม่รู้สึกตัว”

กัลยาณมิตรต่างวัย

จากโครงการที่เขาได้สร้างขึ้นมาทำงานในโครงการ Think Earth ของกลุ่มบริษัทสยามกลการ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มีชื่อว่า ‘ชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติ’ ทำให้เขาได้พบกับเพื่อน 3 คน ที่เป็นแรงบันดาลใจและเปลี่ยนมุมมองในการถ่ายภาพของเขา นั่นคือ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ และสุดท้ายคือ อาจารย์นคร พงษ์น้อย ผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง

บุญพีร์เล่าว่าการถ่ายภาพของเขาเริ่มเปลี่ยนไป เพราะเขาเริ่มศึกษาดอกไม้แต่ละดอกอย่างจริงจัง ตั้งแต่การสังเกตคาแรกเตอร์ของดอกไม้ การศึกษาความเป็นมาของดอกไม้แต่ละดอกให้ลึกขึ้น จากคำแนะนำของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี

“เมื่อก่อนเราถ่ายรูปไปเรื่อยไง ผมเริ่มจากพี่ถวัลย์จุดประกายให้ทิศทางว่าดอกไม้แต่ละดอกเนี่ย เราต้องศึกษาก่อนว่าดอกไม้ดอกนี้เป็นยังไง ไม่ใช่ถ่ายไปเรื่อย ๆ  แล้วจบ บางทีผมถ่ายเป็นวัน ๆ เลย เพราะอยากรู้คาแรกเตอร์ของต้นไม้ต้นนี้”

จากที่เคยคิดกลัวว่าภาพถ่ายตัวเองจะสวยสู้คนที่เป็นศิลปินคนอื่นไม่ได้ ความคิดของบุญพีร์เปลี่ยนไปเมื่อได้คุยกับเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งเป็นเพื่อนกับบุญพีร์ที่คอยให้กำลังใจเขาในเรื่องความกล้าที่จะถ่ายภาพในแบบที่เขาชอบ และไม่ต้องสนใจคำวิจารณ์ของคนอื่น 

“เฉลิมชัยเป็นเพื่อนผมตั้งแต่ยังไม่เป็นศิลปินแห่งชาติ เฉลิมชัยพูดกับผมอย่างหนึ่งว่า บุญพีร์ มึงอยากทำอะไรก็ทำเหอะ อย่างวาดภาพ ก็กูอยากวาดอย่างนี้ ถ่ายภาพ มึงอยากทำก็ทำดิ ใจมึงรักอะ กูชอบ อย่าไปแคร์คนอื่น มึงทำเลย” 

สุดท้ายอาจารย์นคร พงษ์น้อย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ที่สอนเขาเรื่องปรัชญาในการใช้ชีวิต และความงามของธรรมชาติให้เห็นว่าแม้แต่ดอกไม้ที่เหี่ยวก็สามารถมีคุณค่าในตัวของมันเองได้

“อาจารย์นครแกคิดบวก ดอกไม้เหี่ยวก็มีคุณค่า แกสอนโดยวิธีไม่ให้เรารู้ตัวว่าของทุกอย่าง อย่าไปมองในจุดร้าย ก็เลยมองวิธีการมองธรรมชาติในอีกมิติหนึ่ง แกก็จะมีปรัชญาหรือตรรกะในการคิด ถ้าเราจับได้ 3 คนนี้เอามาผสมกันก็เลยตกผลึกเรื่องของแนวทางการถ่ายภาพ”
 
ชีวิตพลิกผัน

ในปี พ.ศ. 2547 เขาประสบอุบัติเหตุตกจากระเบียงร้านอาหารความสูงประมาณ 2 เมตร ทำให้หลังและขาหัก เดินไม่ได้ประมาณ 2 ปี ในช่วงเดียวกับยุคเปลี่ยนผ่านจากกล้องฟิล์มมาเป็นกล้องดิจิทัล ซึ่งตัวเขาไม่เคยใช้กล้องดิจิทัลมาก่อน ทำให้เขาคิดในใจว่า ในชีวิตนี้จะไม่ถ่ายรูปอีกต่อไปแล้ว 

“ตกจากระเบียงประมาณ 2 เมตร หลังหัก ขาหักหมดเลยต้องผ่าตัดใหญ่ เดี้ยงเลย เดินไม่ได้มา 2 ปี ไปไหนมาไหนไม่ได้เลย ช่วงนั้นเองกล้องฟิล์มเริ่มหมดไปแล้ว เริ่มเป็นระบบดิจิทัล กล้องถ่ายภาพเป็น DSLR แล้ว ผมหายไปจากวงการถ่ายภาพนานเกือบ 5 ปี คือไม่รู้เรื่องกล้องเลยจากการป่วย ก็เลยคิดว่าจะไม่ถ่ายรูปอีกต่อไปแล้ว”

จนกระทั่งวันที่เขาเริ่มเดินได้ บุญพีร์ได้ไปที่ตลาดนัดสวนจตุจักรเพื่อไปดูต้นไม้ และไปเจอกับต้นใบไม้สีทอง ในตอนแรกพ่อค้าตั้งราคาไว้สูงมาก แต่บุญพีร์ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อ และคอยเทียวไปเทียวมาซื้อต้นไม้ร้านนั้นอยู่บ่อย ๆ

จนกระทั่งวันที่ร้านค้าต้องย้ายร้าน พ่อค้าจึงให้ต้นไม้ต้นนั้นมาฟรี ๆ บุญพีร์ก็เอาไปวางไว้ข้างรั้วบ้าน ไม่ได้ดูแลอะไรมากมายจนผ่านไป 2-3 ปี อาการป่วยก็ยังคงมี แต่ค่อย ๆ ดีขึ้น 

วันหนึ่งเขาก็เดินออกมาดู และถ่ายภาพกับกล้องดิจิทัลเป็นครั้งแรก เพียงช็อตเดียวที่เขาได้ถ่ายต้นไม้สีทองก็ทำให้เขาประทับใจ และตกหลุมรักต้นไม้ชนิดนี้ไปโดยปริยายจากความงดงามและความมหัศจรรย์ของต้นไม้

“ใบไม้สีทอง พื้นฐานคือใบไม้สีเขียว เสร็จแล้วเวลาเข้าพรรษา มันจะแตกวงออกมา จากข้างบนเพื่อจะออกดอก ใบเริ่มแรกออกมาจะเป็นสีชมพู สีส้ม สีแสด สีแดง สีน้ำตาล แล้วก็กลายเป็นสีทอง จากนั้นแล้วมันใกล้จะเป็นสีนาค แล้วกลายเป็นสีเงิน ในช่วงออกพรรษาพอดี เป็นอะไรที่มหัศจรรย์จริง ๆ”
 
ใช้อารมณ์ผสมแสง

“วันนั้นผมพูดกับเฉลิมชัยว่า คุณใช้อารมณ์ผสมสี งั้นผมสู้คุณไม่ได้หรอก แต่ผมนี่ใช้อารมณ์ผสมแสง เพราะฉะนั้นงานของผมกับงานของเฉลิมชัยมันต่างกัน ผมจะจินตนาการได้เพราะว่าแสง แสงมืดผมถ่ายไม่ได้แล้ว แสงสว่างมากไปผมถ่ายไม่ได้ เพราะฉะนั้นนักถ่ายภาพก็คือใช้อารมณ์ผสมแสง”

หากจะเปรียบเทียบช่างภาพกับจิตรกร บุญพีร์บอกว่าการเป็นช่างภาพต้องใช้อารมณ์ผสมแสง เพราะการถ่ายภาพดอกไม้มีปัจจัยที่สำคัญคือแสง แสงธรรมชาติในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ก็ย่อมทำให้ได้ภาพที่เปลี่ยนไปความงดงามจึงแตกต่างกันด้วย

เมื่อนำเทคนิคความรู้เรื่องกล้องในการควบคุมแสงในทุกมิติ นำมารวมกันกับอารมณ์ และความสุขในการได้ถ่ายภาพดอกไม้ จะทำให้ดอกไม้พูดหรือสื่อสารกับคนดูได้  เป็นที่มาให้บุญพีร์เปิดเพจและตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กชื่อว่า ‘Flowers In Thailand’ โดยมีนามปากกาว่า ‘Flora Talk’ รวมถึงการจัดนิทรรศการภาพถ่ายดอกไม้หลากชนิด และจัดพิมพ์หนังสือภาพถ่ายดอกไม้ที่เขาชอบโดยใช้เวลารวบรวมกว่า 10 ปี

เขาเล่าว่าในชีวิตเขามีเป้าหมายสองอย่างคือ การได้จัดนิทรรศการ และมีหนังสือเป็นของตัวเอง ซึ่งในตอนนี้เขาก็ได้ทำตามฝันนั้นแล้ว  และสิ่งที่เขาอยากจะทำต่อไปคือการรวบรวมภาพถ่ายเกี่ยวกับกล้วยไม้ในเมืองไทยให้ได้มากที่สุดเท่าที่ตัวเขาจะสามารถทำได้

“ผมไม่ได้ถ่ายเพื่อความสะใจ ถ่ายภาพว่าเราเอาไปใช้เราจะถ่ายทอดยังไง ในเพจเรามีเป้าหมาย แฟนเพจของเรา Flowers In Thailand เพราะฉะนั้นดอกไม้แต่ละดอกมันต้องพูดได้ มันต้องมีอารมณ์ มันต้องมีเรื่องราว โดยเฉพาะคนรุ่นอนาคตจะได้ภาคภูมิใจว่าธรรมชาติในบ้านเรามีอะไรดี ๆ มากมายเกินกว่าที่เราคิด และหวังให้คนไทยจะได้เรียนรู้และตระหนักคุณค่าของธรรมชาติอันงดงามสืบต่อไป”
 
นิทรรศการอลังการแห่งดอกไม้ในสวนศรี ‘หลากมาลีศรีสยาม’ รวมผลงานภาพถ่ายดอกไม้ในรอบ 10 ปี  จัดที่ หอแก้ว อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) เชียงราย เมื่อเมษายน - 30 กรกฎาคม 2564
 
เรื่องและภาพ: กัญญาภัค ขวัญแก้ว