เบรนแดน กรีนย์ ก่อนมาเป็น “PlayerUnknown” บิดาแห่ง PUBG เคยเป็นดีเจยาจกและช่างภาพติดเกม

เบรนแดน กรีนย์ ก่อนมาเป็น “PlayerUnknown” บิดาแห่ง PUBG เคยเป็นดีเจยาจกและช่างภาพติดเกม

ก่อนมาเป็น “PlayerUnknown” บิดาแห่ง PUBG เคยเป็นดีเจยาจกและช่างภาพติดเกม

“Winner Winner Chicken Dinner” คนที่รู้จักประโยคนี้ต้องเคยเล่น PUBG เกมยิงแนว battle royale มาบ้าง แล้วยังต้องรอดเป็นคนสุดท้ายในเกมถึงจะได้เป็นผู้กินไก่ ซึ่งคนสำคัญที่ชวนให้เกมเมอร์ทั่วโลกกว่าล้านคนมาโดดร่มพร้อมกันนั้นคือ เบรนแดน กรีนย์ (Brendan Greene) บิดาแห่งเกมแนว PUBG ทั้งปวง ซึ่งได้แนวคิดเกมนี้สมัยที่ยังเป็นดีเจเปิดแผ่นและช่างภาพอยู่บราซิล PUBG หรือ PlayerUnknown's Battleground เป็นเกมยิงที่มีให้เล่นในหลายแพลตฟอร์ม ตั้งแต่ PC, Xbox One, PlayStation4 ไปจนถึงสมาร์ทโฟนระบบ Android และ iOS กติกาง่าย ๆ ของเกมนี้คือ “อยู่รอดเป็นคนสุดท้าย” ซึ่งในต้นเกมผู้เล่นจำนวน 100 คนจะโดดร่มลงเกาะแห่งหนึ่ง แล้วค้นหาอาวุธที่ซ่อนอยู่ตามจุดต่าง ๆ เพื่อห้ำหั่นกันจนเหลือรอดเพียงคนเดียว นอกจากอันตรายจากคมมีดคมกระสุนของผู้เล่นคนอื่นแล้ว เรายังต้องคอยระวังให้อยู่ในโซนปลอดภัยที่จะถูกบีบแคบลงเรื่อย ๆ คุ้นกับกติกาแบบนี้กันไหม? ถูกต้องแล้วครับ !! นั่นคือการหยิบธีมจากหนังเรื่องเกมนรก โรงเรียนพันธุ์โหด (Battle Royale) บวกกับแนวคิดเรื่องโซนอันตรายและการหาอาวุธในนิยายเรื่องเกมล่าเกม (The Hunger Games) ที่ เบรนแดน กรีนย์ มาดัดแปลงกติกาจนกลายเป็นเกม ArmA 2 mod DayZ: Battle Royale ในปี 2013 เบรนแดน กรีนย์ เป็นชาวไอริชโดยสายเลือด เกิดที่บอลลีแชนนอน เมืองเล็ก ๆ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ แต่มาโตที่ค่ายทหารในเมืองเคอร์รากห์ เพราะพ่อเขาเป็นทหารที่ไปรบในเลบานอน ก่อนจะไปเรียนต่อด้านวิจิตรศิลป์ แล้วตกหลุมรักกับสาวบราซิลเลียน ทำให้เขาย้ายไปอยู่ที่ ซาน เปาโล โชคร้ายที่ชีวิตรักของเขาไม่ราบรื่นจนต้องหย่าร้างกับภรรยาสาว แถมเงินเก็บยังหมดจนไม่พอซื้อตั๋วเครื่องบินกลับไปดามแผลใจที่บ้านเกิด เขาเลยต้องหางานในสายออกแบบ ทั้งการเป็นกราฟิกดีไซน์ ออกแบบเว็บไซต์ ช่างภาพงานแต่งงาน และคอนเสิร์ต ไปจนถึงเป็นดีเจในบางครั้ง ซึ่งเขาต้องใช้เวลาเดินทางจากบ้านที่เช่ามารับงานในเมืองถึง 4 ชั่วโมง เพื่อแลกกับเงินรายได้เพียงเดือนละ 1,000 เรียล หรือประมาณ 8,300 บาท ช่วงเวลาที่ไม่มีงานเข้า เขาฆ่าเวลาด้วยการเล่นเกม ซึ่งหลังจากเล่นเกมเดิมที่มีอยู่จนจบหมด (เพราะมีเวลาว่างมาก) เขาได้โหลด mod หรือตัวเกมที่มีคนดัดแปลงจากเดิมมาเล่นแก้เบื่อ ซึ่งเขาชอบเล่นเกม DayZ ตอนที่ยังเป็น mod ของเกม ArmA 2 เกมยิงจำลองการรบของทหารที่ถือว่ามีความสมจริงมากที่สุดเกมหนึ่ง หลังเล่นไปสักพักเขาก็คิดว่า เกมมันยังสนุกกว่านี้ได้อีกเยอะ เลยเปิดตำรารื้อความรู้เกี่ยวกับการเขียนโค้ด เพื่อทำ mod ในแบบที่ตัวเองอยากเล่น "ตอนนั้นผมไม่มีเงินจ้างคน เลยจมอยู่กับการเขียนโค้ดเองเดือนกว่า จริง ๆ ผมเป็นสายกราฟิกดีไซน์กับออกแบบเว็บไซต์ เลยพอรู้เกี่ยวกับเรื่องโค้ด พวกจาวาสคริปต์ PHP แล้วมาประยุกต์กับฟอร์แมทของ ArmA ที่ใช้ SQF ผมสร้างเกมแนว battle royale เพราะมันเป็นแนวที่ผมอยากสร้างขึ้น เอ่อ เรียกว่าอยากเล่นมันจะดีกว่า ผมชอบเกมแนว PvP (คนสู้กับคนด้วยกัน) แบบ DayZ มากเลยคิดว่า เฮ้ย คนอื่นต้องชอบมันด้วยสิน่า" ความคิดของ เบรนแดน กรีนย์ ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องจากความเปรี้ยงปังของ ArmA 2 mod DayZ: Battle Royale มีคนดาวน์โหลดมาเล่นถึง 1,000 คนต่อสัปดาห์ หลังเก็บเงินค่าตั๋วเครื่องบินได้ครบ เขาได้กลับบ้านที่ไอร์แลนด์แล้วคอยปรับแก้ผลงานนี้อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เล่นได้อย่างราบรื่นไม่สะดุด จนช่วงที่พีคสุดมีคนมาเล่นพร้อมกันมากกว่า 70,000 ยูสเซอร์เลยดีเดียว น่าเสียดายที่เขาไม่สามารถทำเงินได้จากสิ่งนี้ เพราะติดเรื่องลิขสิทธิ์ของตัวเกมต้นฉบับ แต่โชคดีงานชิ้นโบว์แดงนี้ไปเข้าตายักษ์ใหญ่ ที่เรียกตัวเขาให้ไปเป็นที่ปรึกษาของเกม H1Z1: King of the Kill ของค่าย Daybreak Game Company ในสังกัดของ Sony Online Entertainment “ผมแฮปปี้สุด ๆ เพราะตอนนี้ผมสามารถเดินไปสำนักงานสวัสดิการสังคม แล้วตะโกนดัง ๆ ไม่ต้องมาขอเงินรัฐอีกแล้ว” หลังจากจบโปรเจกต์กับ Daybreak บริษัท Bluehole ของเกาหลีใต้ ได้ยื่นข้อเสนอให้เขามาร่วมปั้นโปรเจกต์เกมแนวเซอร์ไวเวอร์ เขาได้รีบบินไปกรุงโซลเพื่อเจรจา ก่อนที่อีกไม่กี่อาทิตย์ต่อมาเขาได้ย้ายจากบราซิลไปอยู่เกาหลีใต้ เพื่อนั่งประจำตำแหน่งในฝ่ายพัฒนาเกม (creative developer) จนได้คลอดเกม PlayerUnknown's Battleground ออกมาในปี 2017 ซึ่ง PlayerUnknown ก็มาจากฉายาของ เบรนแดน กรีนย์ นี่เอง เกมที่กรีนย์ออกแบบร่วมกับทีมงานของ Bluehole ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก กวาดรางวัลมานับไม่ถ้วนตั้งแต่อยู่ในขั้น early access หรือช่วงพัฒนาเกมที่ปล่อยให้ทดลองเล่นก่อนขายตัวสมบูรณ์ แถมพอเกมได้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการก็ยังกวาดรางวัลอีกมากมาย ทั้ง เกมพีซีแห่งปี 2017 รางวัลเกมมัลติเพลเยอร์ยอดเยี่ยมจากงานจอยสติกทองคำอวอร์ดส์ (Golden Joystick Awards) และงานเกมอวอร์ดส์ 2017 (The Game Awards 2017) ซึ่งเคยมีผู้เล่นเกมนี้ในเวลาเดียวกันมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก !! ด้านยอดขาย PUBG ทำรายได้มากถึง 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 348 ล้านบาทภายในการเปิดขายสามวันแรก ช่วงที่ยังเป็นเพียงตัวพัฒนา แพลตฟอร์มพีซีและ Xbox ขายได้รวมกันมากกว่า 30 ล้านชุดทั่วโลก มีการดาวน์โหลดมากกว่า 300 ล้านครั้งในเวอร์ชันสำหรับสมาร์ทโฟน โดยตลาดใหญ่อยู่ที่จีนมากกว่า 29 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา (ไม่ต้องแปลกใจทำไมเวลาจับคู่จะเจอคนจีนกับอินเดียอยู่เรื่อย) Business Insider คาดการณ์ว่าในปี 2019 ตลาดรวมของเกมแนวนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 632,000 ล้านบาท จากปี 2018 ที่อยู่เพียง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงมีข้อมูลว่ายอดขายหูฟังเกมมิ่งเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าหลังจากกระแสความนิยมเกมแนว PUBG มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ว่า การที่เกมแนว PUBG ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วนั้น เป็นเพราะผู้เล่นถูกกระตุ้นตามลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ เริ่มตั้งแต่การโดดร่มตัวเปล่า ฟาร์มหาของตามความต้องการทางกายภาพ เพื่อความอยู่รอด ซึ่งหมวกเกราะไปจนถึงปืนติดสโคปป้องกันตัว อาจแทนการตอบสนองความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัย เมื่อปลอดภัยแล้วผู้เล่นก็อยากได้รับการยอมรับจากตี้ ได้รับความเคารพนับถือเมื่อกำจัดคู่ต่อสู้ได้ จนกระทั่งถึงขั้นสูงสุดคือ การได้รับความเคารพนับถือมีความภาคภูมิใจในตนเอง เมื่อเหลือรอดเป็นคนสุดท้าย แต่ไม่น่าเชื่อว่าคนต้นเรื่องที่ทำให้เกมแนวนี้ได้รับความนิยมไปทั่วโลกอย่าง เบรนแดน กรีนย์ ไม่ได้คิดซับซ้อนขนาดนั้นในวันที่เขาอดมื้อกินมื้อมานั่งทำ battle royale mod เมื่อ 5 ปีที่แล้ว "เกมดัง ๆ หลายเกมในโลก ก็มีจุดเริ่มจาก mod ที่เกมเมอร์ทำขึ้นเพราะอยากได้เกมเพลย์ในแบบของเขาทั้งนั้นแหละ พวกเขาคิดว่ามันน่าจะสนุกกว่าตัวเกมเดิม ผมว่าวงการเกมสมัยนี้ต้องขอบคุณพวกนี้เลยทีเดียว ซึ่งผมชอบเกมที่มันมีเกมเพลย์ที่เข้าใจง่าย โดดร่มลงเกาะร้าง หาของ แล้วก็เอาตัวรอดให้นานที่สุดแค่นี้เอง กฎง่าย ๆ ที่ลูกสาวหรือคุณแม่ผมก็เข้าใจได้ กติกาของเกมมีอย่างเดียวเท่านั้นคือ เอาตัวรอด นอกนั้นคุณจะทำบ้าอะไรก็เรื่องของคุณ จะแก้ผ้าควงกระทะไปตีหัวคนก็แล้วแต่ นั่นแหละข้อดีของเกมนี้มันให้อิสระกับผู้เล่น" เป็นไปได้ว่าสิ่งที่อยู่ในหัวบิดาแห่งเกมแนว battle royale ตอนที่เขียนโค้ดในตำนาน คือจะทำอย่างไรให้เกมสนุกที่สุดอย่างที่เขาอยากเล่น หรืออาจจะแค่อยากหาโลกอิสระเสรีสักใบให้เขาหลีกหนีความจริงก็เป็นได้ แต่ที่แน่ ๆ ตอนนั้นเขาคงไม่ได้อยากทำเกมให้ฮิตจนทำให้เขาเปลี่ยนจากดีเจยาจกติดเกม กลายเป็นมหาเศรษฐีในวัย 42 ขับเรือยอชต์ส่วนตัว แล้วปั่นจักรยานไปทำงานชิลล์ ๆ อย่างทุกวันนี้ อนาคตเราอาจมีโอกาสได้เล่นเกมใหม่ที่ เบรนแดน กรีนย์ ซุ่มพัฒนา เพราะเขาได้เลื่อนขั้นจากฝ่ายพัฒนาเกมของ PUBG Corporation (บริษัทลูกของ Bluehole) ในกรุงโซล ไปนั่งเก้าอี้หัวหน้าฝ่ายพัฒนาโปรเจกต์พิเศษ (Director Of Special Projects) อยู่สำนักงานใหญ่ของบริษัท PUBG ที่เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2018 ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต้องลุ้นว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ผลออกมาจะเป็นอย่างไร เกมเมอร์อย่างเราจะได้เกมที่มันสุดเหวี่ยงดูดเวลาอย่างผลงานชิ้นโบว์แดงของเขาหรือไม่ ต้องติดตาม ที่มา : https://www.gamesindustry.biz https://www.bloomberg.com https://www.cnet.com https://www.gamesindustry.biz https://en.wikipedia.org/wiki/Battle_royale_game https://www.youtube.com https://www.youtube.com