ไบรอัน เมย์: ‘(52665) Brianmay’ ดวงดาวนำทางชีวิต ของนักดนตรีที่ใช้ปิ๊กเป็นเหรียญหกเพนนี

ไบรอัน เมย์: ‘(52665) Brianmay’ ดวงดาวนำทางชีวิต ของนักดนตรีที่ใช้ปิ๊กเป็นเหรียญหกเพนนี
“ตอนเด็ก ๆ ผมเคยคิดว่า ผมไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร ไม่รู้ว่าต้องแต่งตัวอย่างไร ผมไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใครด้วยซ้ำ” คือถ้อยคำที่ ‘ไบรอัน เมย์’ ใช้บอกเล่าถึงตนเองในอดีต - แต่แล้วทั้งโลกก็รู้จักชายคนนี้ในฐานะมือกีตาร์แห่งวงคลาสสิกร็อก ‘Queen’ ที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้ประวัติศาสตร์โลกดนตรีทั้งยามที่ ‘เฟรดดี เมอร์คิวรี’ (Freddie Mercury) ยังร้องเพลงให้โลกฟังอยู่ และยามที่นักร้องในนามราชินีผู้นั้นจากไป นอกเหนือจากเสียงเพลงที่ลือชื่อจนโลกจำได้ ‘ไบรอัน เมย์’ ยังมีความสนใจที่ควบคู่มากับดนตรี เป็นการแหงนหน้ามองฟ้า และค้นคว้าฟิสิกส์แห่งดวงดาวจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก   กล้องส่องทางไกลของเด็กชายไบรอัน ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ‘ไบรอัน ฮาโรลด์ เมย์’ เกิดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 1947 ในย่านเฟลแธมทางฟากตะวันตกของกรุงลอนดอน พ่อของไบรอันคือวิศวกรไฟฟ้าและช่างเขียนแบบอาวุโส นาม ‘ฮาโรลด์ เมย์’ ได้ถ่ายทอดความรักทั้งในวิทยาศาสตร์และดนตรีมาสู่เขา เด็กชายไบรอันเริ่มเรียนรู้ที่จะวางมือบนคออูคูเลเล่ตั้งแต่ 6 ขวบ และด้วยวัย 7 ขวบเขาก็เริ่มเรียนเปียโนและกีตาร์ ขณะเดียวกันเขาก็คุ้นชินกับภาพพ่อของตนใช้อุปกรณ์การช่างซ่อมแซมเครื่องดนตรีต่าง ๆ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ร่ำรวยพอจะซื้อเครื่องเล่นทุกชิ้นใหม่ ความสนใจทางวิทยาศาสตร์ของไบรอันเริ่มในวัยแรกเรียนรู้ จากหนังสือที่เขาค้นเจอในห้องสมุดโรงเรียน ชื่อ ‘The Earth’ เขียนโดย ‘แพทริก มัวร์’ (Patrick Moore) โดยไบรอันเคยเล่าไว้ว่า “มันมีรูปโลกเป็นภาพปก และเล่าถึงประวัติศาสตร์ของดาวดวงนี้ ทั้งจุดเริ่มต้นของมัน จุดเริ่มต้นของชีวิต ผมอ่านมันครั้งแล้วครั้งเล่า” ยามเช้าเขาอ่านหนังสือเล่มนั้น ขณะที่ยามค่ำ เขาเปิดวิทยุฟังรายการ ‘The Sky at Night’ ของมัวร์จนดึกดื่น ภาพผืนฟ้าและนานาดาวที่ปรากฏจากคำบอกเล่าเชิงวิทยาศาสตร์ของมัวร์กลายเป็นความหลงใหลที่จะอยู่คู่เด็กชายไปทั้งชีวิต เขาถึงกับสร้างกล้องดูดาวขนาดเล็กขึ้นด้วยตนเองจากอุปกรณ์รีไซเคิลที่วางขายบนนถนนทอร์ตแฮม คอร์ด อีกหนึ่งความตื่นตาตื่นใจในวัยเด็กของไบรอัน คือของแถมจากกล่องซีเรียลที่เราเรียกกันว่า ‘การ์ดสามมิติ’ ที่ในช่วงเวลาดังกล่าว การที่ภาพต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนเป็นอีกภาพได้เพียงแค่ขยับองศานั้นไม่ต่างอะไรจาก ‘เวทมนตร์’   กีตาร์คู่ใจและเหรียญหกเพนนี เมื่อเด็กชายเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น พรสวรรค์พ่วงพรแสวงในทางดนตรีของเขาก็เติบโตขึ้นตามตัว ทว่าในวันเวลาดังกล่าว ไบรอันและครอบครัวของเขาไม่มีเงินมากพอให้ซื้อหากีตาร์คู่ใจมาครอบครองได้ หลังจากใช้วิธีหยิบยืมเครื่องดนตรีหกสายของเพื่อนคนนั้นทีคนนี้ทีอยู่นานปี และแล้ว ฤดูใบไม้ผลิปี 1963 ไบรอันและพ่อของเขาก็ตัดสินใจประกอบร่างสร้างกีตาร์ของตัวเองขึ้นมาแทน ตัวกีตาร์จากไม้โอ๊ค คอจากไม้มะฮอกกานี ราวศตวรรษที่ 18 ขณะที่เฟร็ต มาร์กเกอร์ก็ทำจากกระดุมมุกในกล่องเย็บผ้าของ ‘รูธ’ (Ruth) ผู้เป็นแม่ ส่วนสปริงวาล์วตั้งสายนั้นดัดแปลงมาจากชิ้นส่วนของรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในปี 1928 - กีตาร์ตัวเก่งของไบรอันใช้เวลา 18 เดือนในการประดิษฐ์ และเคลือบมันให้เงาวับด้วยสีแดงเข้ม อันเป็นที่มาของชื่อกีตาร์ของเขา - ‘Red Special’ คือเครื่องดนตรี 6 สายที่เรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งของโลกดนตรี มันกลายเป็นเครื่องดนตรีชิ้นหลักของเขานับจากนั้น รวมทั้งในคืนและวันที่เขาและเหล่าเพื่อนนักดนตรีจรรโลงโลกใบนี้ด้วยบทเพลงของ ‘Queen’  อีกหนึ่งซิกเนเจอร์ในการเล่นกีตาร์ของไบรอันคือการใช้เหรียญ 6 เพนนีต่างปิ๊ก โดยมันเริ่มมาจากความมัธยัสถ์ในครอบครัวของเขาเช่นกัน  “ผมเคยใช้ทุกอย่างที่ใช้ได้ พวกวัสดุชิ้นเล็ก ๆ น่ะ เหรียญก็เข้ามาในสายตาด้วย และผมก็พบว่ามันให้เสียงหลากหลายตามมุมที่วางมือ เหรียญกลายเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้กีตาร์ของผมพูดได้”   ลาก่อนท้องฟ้า, แล้วพบกันใหม่ ไบรอัน เมย์ เป็นเด็กหัวดีเข้าขั้นฉลาดหลักแหลม ความสนใจในวิทยาศาสตร์และกลุ่มดาวทำให้เขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำประจำอังกฤษอย่าง ‘อิมพิเรียล คอลเลจ ลอนดอน’ ในสาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ขณะเดียวกันเขาก็ออกก้าวเดินบนเส้นทางสายดนตรีไปด้วย หมุดหมายหนึ่งที่หลายคนจำได้ คือครั้งที่เขาและเพื่อน ๆ ก่อตั้งวง ‘Smile’ ขึ้นในปี 1968 และหลังจากการรับปริญญาบัตรได้เพียง 2 วัน วงดนตรีที่ประกอบด้วย 3 หนุ่ม ‘ไบรอัน เมย์’ มือกีตาร์, ‘โรเจอร์ เทย์เลอร์’ (Roger Taylor) มือกลอง และ ‘ทิม สตาฟเฟลล์’ (Tim Staffell) ก็กลายเป็นที่สนใจจากการเล่นเป็นวงเปิดให้ ‘Pink Floyd’ ตำนานแห่งวง Queen เริ่มขึ้นหลังจากนั้น เมื่อ ‘ทิม สตาฟเฟลล์’ ออกจากวง และ ‘ฟารุก บัลซารา’ (Farrokh Bulsara) หรือเลื่องชื่อในนาม ‘เฟรดดี เมอร์คิวรี’ (Freddie Mercury) เข้ามาเติมเต็มวงในฐานะนักร้องนำ พ่วงด้วย ‘จอห์น ดีคอน’ (John Deacon) ที่ตบเท้าเข้าวงพร้อมเบสคู่ใจ พวกเขาเปลี่ยนชื่อวงจาก ‘Smile’ เป็น ‘Queen’ และเริ่มต้นวาดลวดลายด้วยกันนับจากปี 1970 เป็นต้นมา ไบรอัน เมย์ยังไม่หมดความใคร่รู้ในห้วงฟ้า โดยเขากำลังศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเดิมในด้าน ‘แสงตกกระทบของฝุ่นระหว่างดวงดาวและความเร็วของแนวฝุ่นในระบบสุริยะ’ หากเมื่อวงดนตรีที่ปลุกปั้นเริ่มฉายแววไปได้สวย Queen ได้ออกเทปตามที่หวัง เริ่มมีเพลงฮิต และเริ่มได้ออกทัวร์ เส้นทางสู่ความสำเร็จเหล่านั้นได้พาให้สองเท้าของไบรอันก้าวห่างจากงานวิจัยในอวกาศไปโดยปริยาย “ผมยังแหงนหน้ามองท้องฟ้าทุกค่ำระหว่างออกทัวร์ ผมยังอ่านงานวิจัย และติดต่อกับผู้คนในมหาวิทยาลัยไม่ขาด แต่ผมแทบไม่ใช่นักศึกษาดาราศาสตร์เลยตลอดหลายปี” ไบรอัน เมย์กลายเป็นไกด์ในหมู่นักดนตรี เมื่อปลายนิ้วของเขาชี้ไปยังท้องฟ้า เขาก็พบว่าดนตรีและดวงดาวนั้นคล้ายคลึงกัน “นักดนตรีส่วนใหญ่หลงใหลในท้องฟ้ายามค่ำ บางทีมันอาจเป็นจิตวิญญาณและความโรแมนติกแห่งการทำเพลงที่เชื่อมพวกเขาเข้ากับจักรวาล” บทเพลงของ Queen งดงามเฉกเดียวกับจักรวาล พวกเขาสร้างช่วงเวลาที่น่าจดจำให้โลกดนตรีกระทั่งนาทีสุดท้าย (แต่ไม่ท้ายสุด) ที่เฟรดดีจากโลกใบนี้ไป   หวนคืนสู่กล้องส่องดาว “ชีวิตของผมพังทลาย” คือถ้อยคำของไบรอัน เมื่อพูดถึงคืนวันของตนในต้นทศวรรษ 1990s ย้อนมองชีวิตของเขาคราวก่อนหน้านั้น ความป่วยไข้จากเชื้อเอชไอวีของเฟรดดีนำความเศร้ามายัง Queen ทุกคน พวกเขามองเห็นจุดจบของวงดนตรีที่ร่วมสร้าง หนำซ้ำการหย่าร้างกับภรรยาคนแรกในปี 1988 ก็กลายเป็นรอยแผลที่ยังไม่สมาน และพร้อมกัดกินเขาจนใกล้ทนไม่ไหว ในวันที่ไบรอัน เมย์คิดฆ่าตัวตาย ท้องฟ้าเบื้องบนคือสิ่งที่รั้งเขาไว้ ตอนที่เขาเข้ารับการบำบัดที่แอริโซนา ไบรอันถูกถามว่า ‘อะไรคือสิ่งที่คุณชอบที่สุด’ แวบแรกเขาพบเพียงความว่างเปล่าและอณูแห่งความเศร้า แต่แล้วยามค่ำก็มาเยือน “ในคืนที่ฟ้าสวยงาม ผมพบว่าความสุขที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของผมคือการแหงนหน้ามองดาว”   งานวิจัยฝุ่นจักรวาล เสียงดนตรียังดำเนินต่อไปหลังความตายของเฟรดดี ไบรอันยังสะพายกีตาร์สีแดงมะฮอกกานีของเขาขึ้นเวทีทั้งในงานเดี่ยวและในนาม Queen อีกทั้งไบรอันยังหวนคืนสู่ท้องฟ้า ด้วยคำชักชวนจากเพื่อนในวันวานอย่าง ‘แพทริก มัวร์’ ที่ถามไถ่เขาด้วยถ้อยคำว่า “ทำไมไม่เรียนปริญญาเอกให้จบ” งานวิจัย ‘A Survey of Radial Velocities in the Zodiacal Dust Cloud’ หรือการศึกษาฝุ่นระหว่างดาวเคราะห์ที่ทำให้เกิด ‘แสงจักรราศี’ จึงถึงคราวนำกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง และสุดท้ายการศึกษาฝุ่นจักรวาลที่พักยกยาวนานจนกินเวลาประกอบร่างชิ้นงานมากกว่า 30 ปีชิ้นนี้ก็เสร็จสิ้นเป็นผลงานที่นำคำว่า ‘ดอกเตอร์’ มาประดับหน้าชื่อไบรอันได้ในปี 2007 หลังจากนั้นเขาก็มีส่วนร่วมในการผลิตหนังสือทางดาราศาสตร์หลายเล่ม รวมทั้ง ‘Bang! The Complete History of the Universe’ ที่เขียนร่วมกับแพทริก มัวร์ และ คริส ลินทอตต์ (Chris Lintott) ในปี 2015 ไบรอันก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในทีม ‘New Horizons’ ในการจัดทำรูปภาพของดาวพลูโตที่มีคุณภาพสูง ส่วนปี 2019 ไบรอันก็ได้ควบรวมความสนใจทางดนตรีเข้ากับอวกาศ ด้วยการเขียนเพลง ‘New Horizons (Ultima Thule Mix)’ เพื่อจารึกถึงการค้นพบ ‘Ultima Thule’ วัตถุที่ยาน ‘New Horizons’ บินสำรวจพบ ด้วยระยะทาง 6.5 พันล้านกิโลเมตรจากโลกทำให้ขณะนั้น มันกลายเป็นวัตถุอวกาศในระยะไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสำรวจ อีกเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับไบรอันและกลุ่มดาวก็คือ ด้วยการเสนอชื่อของแพทริก มัวร์ ทำให้ไบรอัน เมย์กลายเป็นนักดนตรีคนแรกที่ถูกนำชื่อไปตั้งเป็นนามแห่งดาวเคราะห์น้อย ‘(52665) Brianmay’ ขณะที่ไบรอันเองก็ได้พาให้ชื่อของเพื่อนนักดนตรีผู้จากไกลอย่างเฟรดดี เมอร์คิวรี ขึ้นไปอยู่ประดับฟ้าด้วยกัน ด้วยการตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยอีกดวงว่า ‘(17473) Freddiemercury’ อีกด้วย จากวันที่ประกอบกล้องส่องดาวราคาถูกตัวแรก จนถึงวันที่สามารถซื้อหากล้องสำรวจจักรวาลได้ตามใจ วันที่ไม่มีแม้เงินซื้อกีตาร์ จนวันที่ ‘Red Special’ ที่ถูกดีดด้วยเหรียญ 6 เพนนีของเขากลายเป็นอีกภาพจำของคนดนตรี เส้นทางชีวิตของไบรอันมีทั้งสุขเคล้าเศร้า ทั้งแสงดาวและเสียงเพลงให้แสง นำทางให้เขากลายเป็นเสมือนดาวอีกดวงที่คนบนโลกมองหาเมื่อไร ก็ราวจะได้แรงบันดาลใจกลับมาทุกครั้งไป   เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ ที่มา: https://astronomy.com/magazine/2012/07/brian-may---a-life-in-science-and-music---the-full-story https://www.biography.com/musician/brian-may https://www.thefamouspeople.com/profiles/brian-may-3689.php https://www.thoughtco.com/brian-may-biography-4171492 https://www.cnbc.com/2019/01/04/queen-guitarist-brian-may-is-also-an-astrophysicist.html https://brianmay.com/brian/biog.html http://rockandrollgarage.com/queens-brian-may-talks-about-his-doctorate-in-astrophysics/ https://www.guitarworld.com/news/brian-may-explains-why-he-uses-a-sixpence-as-a-pick https://time.com/5492147/brian-may-ultima-thule/?fbclid=IwAR1RskQcBTPMXcdltUuDLmnrAM-7gtl0NMQ1imicOIp95MmARgE55krPrXE