บริตทานี ไคเซอร์ ปะทะ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หยุด Facebook แอบขายข้อมูลผู้ใช้

บริตทานี ไคเซอร์ ปะทะ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หยุด Facebook แอบขายข้อมูลผู้ใช้

บริตทานี ไคเซอร์ ผู้หญิงที่กล้าเป็นศัตรูกับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ปะทะกับบริษัทใหญ่ของโลก เพื่อหยุด Facebook แอบขายข้อมูลผู้ใช้งาน

“ใครเคยเห็นโฆษณาบนโซเชียลมีเดียและสงสัยว่าไมโครโฟนในโทรศัพท์กำลังดักฟังการสนทนาของคุณอยู่บ้าง?” ประโยคคำถามนี้มาจากหนังสารคดีเรื่อง The Great Hack ที่ตอนนี้ฉายใน Netflix ซึ่งเป็นเรื่องการที่บริษัท Cambridge Analytica ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อหาประโยชน์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 บริตทานี ไคเซอร์ ปะทะ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หยุด Facebook แอบขายข้อมูลผู้ใช้ แต่ก่อนจะให้คำตอบว่าทำไมทุกวันนี้โซเชียลมีเดียถึงรู้ว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่ อยากให้รู้จักกับ “บริตทานี ไคเซอร์” (Brittany Kaiser) ซึ่งเป็นคนแรก ๆ ที่กล้าลุกขึ้นมาเป่านกหวีดส่งสัญญาณเตือนถึงความไม่ชอบมาพากลของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก แม้เธอจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศขายเพื่อน หรือกระทั่งวางตัวเป็นศัตรูกับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และ Facebook !! บริตทานี ไคเซอร์ เป็นอดีตผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ กลุ่ม SCL บริษัทแม่ของ Cambridge Analytica เธอเกิดที่เมืองฮูสตัน ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา แล้วย้ายมาเติบโตที่ย่านคนรวยในลินคอล์นพาร์ก เมืองชิคาโก ครอบครัวไคเซอร์มีบ้านหลังใหญ่อยู่ไม่ไกลจากทะเลสาบ เพราะพ่อของเธอทำงานเป็นนายหน้าในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อแห่งหนึ่ง ส่วนแม่ทำงานกับบริษัท เอนรอน (Enron) บริษัทธุรกิจพลังงานชั้นนำของโลก บริตทานี ไคเซอร์ ปะทะ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หยุด Facebook แอบขายข้อมูลผู้ใช้ จุดเปลี่ยนของครอบครัวเริ่มขึ้นในปลายปี 2001 เมื่อ เอนรอน ขอยื่นล้มละลาย เนื่องจากการตกแต่งงบการเงิน และถือครองสินทรัพย์ที่ไม่มีอยู่จริงมาอย่างยาวนาน เมื่ออาณาจักรเอนรอนล่มสลาย แม่ของไคเซอร์เป็นหนึ่งในพนักงานหลายพันคนที่กลายเป็นคนว่างงานภายในพริบตา ทำให้ครอบครัวของเธอเริ่มประสบปัญหาทางการเงิน ช่วงนั้น บริตทานี ไคเซอร์ ยังเป็นวัยรุ่น เธอเรียนจบมัธยมที่วิทยาลัยฟิลลิปส์ หรือ ฟิลลิปส์แอนโดเวอร์ ในปี 2005 แล้วไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ, มหาวิทยาลัยฮ่องกง และ วิทยาลัยเบิร์กเบค มหาวิทยาลัยลอนดอน นอกจากนี้เธอยังได้รับใบรับรองการศึกษาอีกมากมาย ช่วงที่ไคเซอร์เรียนอยู่ที่สกอตแลนด์ เธอได้เริ่มต้นทำงานทางการเมือง โดยสมัครเป็นเด็กฝึกงานในแคมเปญของ บารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในทีมงานส่วนที่ดูแล Facebook ของโอบามา ทำให้เธอค้นพบวิธีการและพลังของโซเชียลมีเดียที่มีผลกับการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามในราวปี 2008 พ่อของเธอซึ่งเป็นเสาที่เหลืออยู่เพียงต้นเดียวเกิดล้มป่วยต้องผ่าตัดสมอง ไคเซอร์จึงต้องกลายเป็นเสาหลักของครอบครัวแทนพ่อ ต่อมาไคเซอร์ได้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่หลายปี ที่แรกคือองค์การนิรโทษกรรมสากล จากนั้นก็วิ่งเต้นไปอยู่ที่สหประชาชาติ และรัฐสภายุโรป เธอพูดอยู่เสมอว่ารักการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน แม้บางครั้งจะเหมือนวิ่งไปชนกำแพงหนาที่ทำให้ไม่เห็นผลลัพธ์ของสิ่งที่ลงมือทำก็ตาม ขณะที่กำลังสับสนว่าเสียเวลาอยู่หรือเปล่า ช่วงเวลานั้นเองที่เธอได้เจอกับ อเล็กซานเดอร์ นิกซ์ (Alexander Nix) ซีอีโอของ Cambridge Analytica ผ่านการแนะนำของเพื่อน ๆ นิกซ์สนใจประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของเธอมาก โดยเฉพาะช่วงที่อยู่กับพรรคเดโมแครต เขาให้นามบัตรและบอกว่า “ขอผมมอมเหล้าคุณแล้วขโมยความลับจากคุณ” “เมื่อครอบครัวสูญเสียเงินทั้งหมด บ้านก็กำลังจะถูกยึด แถมพ่อซึ่งเป็นคนเดียวที่หาเลี้ยงครอบครัวต้องผ่าตัดสมอง และไม่สามารถทำงานได้อีก ฉันต้องดิ้นรนทำงานให้คนที่จ่ายเงินให้” ไคเซอร์เล่า บริตทานี ไคเซอร์ ปะทะ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หยุด Facebook แอบขายข้อมูลผู้ใช้ เดือนธันวาคม ปี 2014 บริตทานี ไคเซอร์ มาทำงานกับ Cambridge Analytica โดยเป็นพนักงานสัญญาจ้างในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ แม้รายได้ค่อนข้างดี แต่สถานการณ์ทางการเงินของบ้านไคเซอร์ยังคงไม่ดีขึ้น ท้ายสุดที่ซุกหัวนอนของครอบครัวก็ถูกยึดในปีนั้นเอง แต่ด้วยประสบการณ์การทำงาน ทำให้ปีต่อมาเธอได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำของกลุ่ม SCL ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ทำงานภายใต้การนำของนิกซ์ ช่วงแรก ไคเซอร์รู้สึกสนุกและตื่นเต้นกับการทำงานที่ SCL และ Cambridge Analytica เพราะโครงการต่าง ๆ ที่เธอทำต่างก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วทันตาเห็น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวตนไปคนละขั้ว จากคนสายเสรีนิยม สนับสนุนพรรคเดโมแครต เธอเริ่มปรับตัวเองให้มีความเป็นอนุรักษนิยมมากขึ้น ด้วยการแต่งกายหรูหรา ใส่เสื้อขนสัตว์ สวมรองเท้าคาวบอย เปลี่ยนวิธีการพูด อาหารการกิน วิถีชีวิต ไปจนถึงกิจกรรมช่วงสุดสัปดาห์ที่ต้องจับปืนเข้าป่าล่าสัตว์ แม้จะเป็นคนที่ไม่ชอบอาวุธปืนและไม่สนใจปืนผาหน้าไม้เลยสักนิด แต่เธอก็พยายามจนได้เป็นสมาชิกสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ ไคเซอร์ต้องฝืนทิ้งตัวตนเดิมที่เคยเป็น เพื่อกลายเป็นคนใหม่ที่มีความเชื่อคนละขั้ว เพื่อจะได้เข้าใจว่าคนพวกนี้คิดอย่างไร จนเธอรู้สึกว่าได้เป็นอย่างกลุ่มคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม ซึ่งที่ผ่านมาเธอเคยไม่เห็นด้วย ไม่ใช่แค่เพียงเสื้อผ้าหน้าผม แต่เป็นตัวตนและความคิด “ฉันรู้สึกว่าปัญหาหลักของการเมืองคือผู้คนถูกแบ่งฝ่ายเสียจนพวกเขาไม่สามารถเข้าใจกันได้ จึงไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ทำให้ไม่มีอะไรที่สำเร็จลุล่วงสักอย่าง” แน่นอนว่าไคเซอร์หมายถึงการเมืองในสหรัฐอเมริกา ไคเซอร์ มีส่วนสำคัญในการเข้าไปเสนองานของ Cambridge Analytica ให้กับฝ่ายการเมืองของ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรคริพับลิกัน ช่วงก่อนการเลือกตั้งในปี 2015 ทำให้เรียกได้ว่าบริษัทของเธอมีส่วนช่วยเหลือให้ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้เธอยังไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งระดับชาติในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงการโหวตถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ เบร็กซิต (Brexit) Cambridge Analytica ให้บริการที่เรียกอย่างสวยหรูว่าการขับเคลื่อนโครงการด้วยข้อมูล แต่จริง ๆ แล้ววิธีการที่ใช้แทบไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่ถูกเรียกว่า “ไซออปส์” (Psychological Operations : PSYOP) หรือปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่ใช้ในการทหาร สำหรับทำสงครามอีกรูปแบบหนึ่ง โดยการโน้มน้าวพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้ามแทนการใช้อาวุธประหัตประหารกัน ไม่แปลกเพราะบริษัทแม่ของ Cambridge Analytica คือ SCL เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทที่ให้บริการทางการทหารมานานกว่า 25 ปี เคยฝึกทหารกองทัพบกและกองทัพเรือของอังกฤษ กองกำลังนาโต ซีไอเอ กองทัพบกสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงเพนตากอน ภายหลัง SCL ได้ไอเดียเลยแตกแบรนด์มาขายผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่นำวิธีการทำสงครามข้อมูลมาใช้กับการเลือกตั้ง พร้อมกับก่อตั้ง Cambridge Analytica ขึ้นในปี 2013 โดยมีจุดเด่นที่การให้บริการรับเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้จิตวิทยาพฤติกรรม (behavioral psychology) รวมกับการประมวลผลข้อมูลขนาดมหึมา (big data) และส่งตรงให้กลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำ (targeted engagement) มีการกล่าวอ้างว่าบริษัทนี้ รวมทั้งบริษัทแม่อย่าง SCL เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการหาเสียงระดับชาติกว่าสิบแคมเปญต่อปี ทั้ง อาร์เจนตินา ตรินิแดดและโตเบโก มาเลเซีย ลิทัวเนีย โรมาเนีย เคนยา กานา ไนจีเนีย อิตาลี และประเทศไทยในปี 1997 !! “ฉันรู้มาว่าเครื่องมือที่ใช้ในการแบ่งตลาดตามจิตวิทยา เพื่อให้สามารถกำหนดเป้าหมายได้แม่นยำที่สุดนั้น เคยถูกควบคุมการส่งออกโดยรัฐบาลอังกฤษ นั่นหมายความว่าวิธีการแบบนี้เคยถูกมองว่าเป็นอาวุธมาก่อน กลยุทธ์การสื่อสารถือว่าเป็นอาวุธชนิดหนึ่ง” บริตทานี ไคเซอร์ ปะทะ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หยุด Facebook แอบขายข้อมูลผู้ใช้ ในกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้กระบวนการที่เรียกว่า คณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) โดยคณะผู้เลือกตั้งมาจากรัฐต่าง ๆ ที่มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน เพราะขึ้นกับจำนวนประชากรของรัฐนั้น แล้วในแต่ละรัฐใช้กฎที่เรียกว่า winner takes all หากผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีคนไหนได้คะแนนเสียง (popular vote) จากประชาชนของรัฐนั้นมากกว่า จะได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง ของรัฐนั้นไปครองทั้งหมด ทำให้คะแนนที่มากกว่าอีกฝ่ายแค่คะแนนเดียวก็มีผลมหาศาล Cambridge Analytica ได้ใช้ช่องโหว่ตรงนี้ในการผลักดันให้ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ขั้นตอนเริ่มจากการให้ทำแบบสอบถาม เพื่อสร้างแบบจำลองบุคลิกภาพสำหรับผู้มีสิทธิโหวตในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะใช้อัลกอริทึมแบ่งผู้ใช้งานออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามการตอบคำถาม ตัวอย่างเช่น อาจแบ่งคนเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มเสรีนิยม กลุ่มอนุรักษนิยม และกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งสองกลุ่มแรกจะถูกมองข้ามไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีฐานความเชื่อที่หนักแน่นเปลี่ยนแปลงยาก เหลือกลุ่มที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ที่ยังสามารถถูกโน้มน้าวได้ ขั้นต่อมาแทนที่จะไปโน้มน้าวกลุ่มคนที่สามารถถูกโน้มน้าวได้ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วสหรัฐอเมริกา Cambridge Analytica เน้นไปโน้มน้าวกลุ่มที่อาศัยและมีสิทธิโหวตในรัฐที่ทั้งสองพรรคมีคะแนนนิยมสูสีกันมาก อย่างเช่น รัฐมิชิแกน รัฐวิสคอนซิน รัฐฟลอริดา และ รัฐเพนซิลเวเนีย ที่เป็นรัฐ swing states ที่สำคัญ ซึ่งรัฐต่าง ๆ นี้ยังถูกแบ่งออกเป็นเขตย่อยอีกมาก ถ้ามีข้อมูลที่ถูกต้องจะทุ่มลงทุนโน้มน้าวเพียงเขตที่มีผลเท่านั้น ว่ากันว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีการพุ่งเป้าไปที่ผู้มีสิทธิ์โหวตเพียงแค่ 70,000 คนในสามรัฐเท่านั้น ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจถือว่าเป็นผู้กำหนดผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ทีมครีเอทีฟของ Cambridge Analytica ได้ออกแบบเนื้อหาเฉพาะ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเหล่านั้นตื่นกลัวและยอมลงคะแนนให้กับพรรคอนุรักษนิยม ตัวอย่างเช่น ข่าวที่ใส่ร้ายผู้สมัครฝั่งตรงข้าม ข่าวปัญหาผู้ก่อการร้ายแทรกซึมมาทางชายแดน ปัญหาผู้ลี้ภัย การแย่งงานจากแรงงานต่างด้าว ซึ่งการกระจายข้อมูลเหล่านี้ผ่านหลายช่องทาง ทั้งบล็อก เว็บไซต์ วิดีโอ และแน่นอนสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ผู้อำนวยการด้านแคมเปญดิจิทัลของทรัมป์ อ้างว่ามีการยิงโฆษณาทั้งรูปภาพและวิดีโอกว่า 5.9 ล้านครั้งบน Facebook ในจำนวนนี้ 66,000 ครั้งใช้เพื่อโพสต์ข้อมูลต่อต้าน ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต โดยตรง และเคยใช้เงินถึงวันละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อส่งโฆษณาให้ถึงมือผู้ใช้งานทั่วสหรัฐอเมริกา ความสำเร็จของ Cambridge Analytica ในครั้งนั้นทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็น ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ โดยได้รับคะแนนเสียง popular vote รวมจากประชาชนทั้งประเทศน้อยกว่าคู่แข่งคือ ฮิลลารี คลินตัน กว่า 2.09% หรือเกือบ 3 ล้านคะแนน ซึ่งจากการเลือกตั้ง 58 ครั้ง เคยเกิดกรณีเช่นนี้แค่ 4 ครั้ง เท่านั้นเอง ถ้าคิดว่าการให้บริการของ Cambridge Analytica น่ากลัวแล้ว สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นคือวิธีการที่ได้ข้อมูลมายังไงต่างหาก อาจเคยได้ยินว่าข้อมูลของ Cambridge Analytica มาจากข้อมูลของผู้ใช้ Facebook จำนวน 87 ล้านราย ซึ่งแต่ละรายถูกเก็บข้อมูลมากถึง 5,000 จุดข้อมูล ที่มีปริมาณรวมแล้วมากกว่า 8.9 เทระไบต์ ข้อมูลเหล่านี้มีทั้งข้อมูลพื้นฐานอย่าง ชื่อ อายุ ที่อยู่ เพื่อนสนิท หนังที่ชอบ ร้านอาหารที่เคยไป สีโปรด ไปจนถึงรสนิยมทางเพศ !! ทุกอย่างที่เราเคยให้กับ Facebook ไปด้วยความยินยอม ถามว่า Cambridge Analytica ไปขโมยข้อมูลจาก “พี่มาร์ก” มาหรือ คำตอบคือไม่ เพราะ Facebook นี่แหละเป็นคนเก็บข้อมูล และปล่อยให้มีช่องโหว่ที่บริษัทเหล่านี้นำไป ซึ่งตอนแรกใช้การเก็บข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันของ ศาสตราจารย์ อเล็กแซนดร์ โคกาน (Aleksandr Kogan) ที่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เริ่มเห็นที่มาของชื่อ Cambridge Analytica แล้วใช่ไหม บริตทานี ไคเซอร์ ปะทะ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หยุด Facebook แอบขายข้อมูลผู้ใช้ แอปของโคกาน เป็นแอปที่ Facebook อนุญาตเป็นพิเศษเพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเรา แต่ไม่เพียงคนที่ใช้แอปนี้เท่านั้น มันยังไปดึงข้อมูลทั้งหมดของเพื่อน ๆ ที่มีอยู่ในเครือข่ายทั้งหมดอีกด้วย ที่น่ากลัวสุด ๆ คือผู้ใช้เกือบทั้งหมดที่ถูกดูดข้อมูลส่วนบุคคลไปนั้นไม่รู้ตัว หรือแม้แต่ให้ความยินยอมเลยด้วยซ้ำ ภายหลัง Facebook รู้ถึงช่องโหว่ดังกล่าว แต่ก็ไม่ทันกาลเสียแล้ว ข้อมูลจำนวนมหาศาลรั่วไหลไปอยู่ในมือของโคกาน ซึ่งแทนที่เขาจะทำลายตามคำขอของ Facebook เขากลับนำมันไปขายให้กับ Cambridge Analytica “หลายคนควันออกหูที่รู้ว่าฉันเคยทำงานในแคมเปญเบร็กซิต และเดือดจัดทันทีตอนฉันยังคงทำงานต่อกับบริษัทที่สนับสนุนคนอย่าง เท็ด ครูซ และ โดนัลด์ ทรัมป์ และยังมีกลุ่มคนที่ยังสงสัยว่าตอนนี้ฉันกำลังทำสิ่งที่ชอบธรรม หรือกำลังทำบางสิ่งเพื่อปกป้องตัวเอง” หลังจากเริ่มเห็นความไม่ชอบมาพากลของบริษัทที่ทำอยู่ แทนที่จะเลือกปิดปากเงียบแลกกับตำแหน่งหน้าที่การงานที่กำลังไปได้สวย ไคเซอร์กลับยอมหันหลังให้เพื่อนร่วมงาน เพื่อประกาศให้โลกได้รู้ถึงสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมเรา โดยร่วมมือกับ แคโรล แคดวัลลาดร์ (Carole Cadwalladr) นักข่าวที่กำลังจะเปิดโปงเรื่องนี้ ไคเซอร์ มีปฏิทินตารางการทำงานทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นทำงานกับ Cambridge Analytica ทำให้เธอสามารถค้นได้ว่าที่ผ่านมาบริษัทนี้ได้นัดหมายการประชุมกับใครบ้าง เพื่อเชื่อมโยงกลับไปว่ามีการนำข้อมูลไปใช้อย่างไม่ชอบธรรมเกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญว่าในปี 2015 บริษัทนี้ได้นำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานหลายสิบล้านคนบน Facebook ไปใช้ในแคมเปญหาเสียงทางการเมืองของทรัมป์ “ฉันคิดว่าตอนทำงานที่ Cambridge Analytica ฉันเชื่อใจ อเล็กซานเดอร์ นิกซ์ ฉันเคยทำงานให้เขามาสามปีครึ่ง เขาเป็นทั้งเพื่อนและที่ปรึกษา ซึ่งแม้จะไม่ได้คุยกันมานานเป็นเดือน แต่เขาก็ยังส่งข้อความมาหา แต่ฉันไม่ได้ตอบกลับ ตอนนี้ฉันเองก็ตั้งคำถามว่ามันเคยมีมิตรภาพอยู่มากแค่ไหน สิ่งที่ฉันเคยทำมันตรงข้ามกับสิ่งที่ฉันสู้มาตลอดชีวิต มันเลยทำให้ฉันโกรธตัวเองที่สามารถนั่งอยู่ในที่ประชุมแบบนั้นได้ และยังไม่เลิกทำหลังจากนั้น แต่ตอนนี้ฉันดีใจที่สุดท้ายแล้วผู้คนได้รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นกัน ฉันจะได้บอกคนอื่น ๆ ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น และช่วยเหลือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับทางการ” หลังถูกกล่าวหาว่าเก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน Facebook มากกว่า 87 ล้านราย บริษัท Cambridge Analytica ก็ปิดตัวลง โดยบริษัทตั้งใจจะยื่นเอกสารล้มละลายทั้งในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าการปิดกิจการนั้นเพื่อจำกัดหรือยับยั้งไม่ให้หน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ และจะได้มีเวลาทำลายหลักฐานอีกด้วย แม้บริษัท Cambridge Analytica จะถูกตัดสินว่ากระทำผิด แต่บริษัทยักษ์ที่ให้บริการข้อมูลและเทคโนโลยีเกี่ยวกับข้อมูลยังคงอยู่ และคอยเก็บข้อมูลอยู่ทุกวินาที ที่สำคัญเทคโนโลยีนี้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และผู้คนที่ใช้งานแทบจะไม่รู้จักการทำงานของมันอย่างถ่องแท้ ทำให้ตอนนี้มีความกังวลมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ แน่นอนว่าในอนาคตจะมีบริษัทอย่างบริษัท Cambridge Analytica เบอร์สอง เบอร์สาม เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย “มันเหมือนบูมเมอแรงที่ย้อนกลับมาหาคุณ ข้อมูลส่วนตัวของคุณถูกส่งออกไป และกลับมาหาตัวคุณเองในรูปแบบต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวคุณ” เราควรเริ่มตระหนักและหันมาตั้งคำถามที่ยิ่งใหญ่และน่าวิตกคือ การที่ข้อมูลส่วนตัวของเราย้อนกลับมาทำลายตัวเราแบบไม่รู้ตัว มันเป็นเรื่องความมั่นคงทางประชาธิปไตยและสิทธิส่วนบุคคล เพราะเราไม่รู้ว่าจะกลายเป็นเป้าหมายเมื่อไหร่ และข้อมูลอะไรที่ถูกนำไปใช้งาน จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน สร้างชุมชนและทำให้ผู้คนบนโลกเข้าใกล้กันมากยิ่งขึ้น แต่ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า Facebook ไม่ได้ระวังมากพอที่จะให้เครื่องมือเหล่านี้ย้อนกลับมาทำลายสังคมเรา ถึงเวลาแล้วหรือยังที่บริษัทเทคโนโลยีที่คอยเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเราอยู่ทุกวินาทีจะจ่ายค่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานทั้งหมด ไม่ใช่แต่เฉพาะกับ Facebook เท่านั้น แต่เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งหมด ตั้งแต่ Google, Apple, Amazon ไปจนถึง Xiaomi ตอนนี้บริษัทที่ร่ำรวยที่สุดในโลก คือบริษัทด้านเทคโนโลยีซึ่งเป็นบริษัทที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก ด้วยการหาประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวซึ่งควรเป็นทรัพย์สินของผู้คน “ถ้าลองคิดดูดี ๆ มูลค่าเพียงอย่างเดียวของ Google และ Facebook คือความจริงที่ว่าพวกเขาเป็นเจ้าของ ครอบครอง และใช้งานข้อมูลส่วนตัวของผู้คนทั่วทั้งโลก ดังนั้นฉันเลยคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการให้ประชาชนได้ถือครองข้อมูลของตัวเอง เหมือนอย่างทรัพย์สินชนิดอื่น ๆ” จากหญิงสาวที่จำเป็นต้องหาเงินก้อนใหญ่เพื่อช่วยวิกฤตของครอบครัว ตอนนี้ บริตทานี ไคเซอร์ กลายมาเป็นศูนย์กลางของปัญหาระดับโลก ทั้งการทำงานกับบริษัทที่อื้อฉาว เพราะมีชุดข้อมูลของ Facebook เธอเคยพบกับ จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange) ผู้ก่อตั้งวิกิลีคส์ ที่สถานทูตเอกวาดอร์ ในกรุงลอนดอน และบริจาคเงินสนับสนุนเป็นบิตคอยน์ ได้เดินทางไปติดต่องานที่รัสเซีย มีส่วนร่วมแคมเปญหาเสียงให้โดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งหมดเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล บริตทานี ไคเซอร์ ปะทะ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หยุด Facebook แอบขายข้อมูลผู้ใช้ ตอนนี้เธอผันตัวมาเป็นผู้สนับสนุนสาธารณะด้านสิทธิทางข้อมูล ให้หลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญและทำงานกับสมาชิกสภานิติบัญญัติผ่านแคมเปญ #OwnYourData ของเธอ หลักฐานต่าง ๆ ที่เธอให้ไว้ช่วยให้พวกเราได้ทราบเรื่องราวอีกด้านของเบร็กซิต, Facebook และกฎหมายคุ้มครองข้อมูล ที่ตอนนี้พวกเรายังคงปล่อยให้ข้อมูลอันเป็นทรัพย์สินส่วนตัว รั่วไหลไปยังบริษัทข้อมูลยักษ์ใหญ่แบบฟรี ๆ แถมบางทีอาจเสียเงินอีกต่างหาก สำหรับคำถามว่าไมโครโฟนในโทรศัพท์กำลังดักฟังการสนทนาเรา เพื่อเก็บข้อมูลในการโฆษณาอยู่หรือเปล่า ตอบได้เลยว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก ๆ เพราะต้องใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาล รวมทั้งต้องใช้การประมวลผลอันทรงพลังอีกเป็นเท่าตัว แต่ที่เกิดขึ้นแน่ ๆ คือการเก็บข้อมูลที่ไม่ใช่เสียง ตั้งแต่การกดไลค์ การแชร์ ข้อมูลการเข้าชมเว็บไซต์ ระยะเวลาในการหยุดดูรูปภาพ และพฤติกรรมการใช้งานต่าง ๆ ของเรา เรียกว่าเกือบทุกอย่างยกเว้นภาพจากกล้อง และเสียงจากไมโครโฟน ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกเก็บตามเวลาจริงอยู่ตลอดเวลาเป็นจำนวนหลายพันจุดข้อมูล เพื่อประมวลผล และถูกส่งกลับมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นความต้องการให้กับเรา คำถามที่น่าถามจริง ๆ ก็คือในยุคที่เรายังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลที่ดีพอ ที่ทำให้ข้อมูลกลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของเรา การที่เราเห็นโฆษณาที่ตรงใจบนโซเชียลมีเดีย เป็นเพราะเราเพิ่งรู้สึกอยากได้แล้วถึงเห็น หรือเราถูกกระตุ้นทางอ้อมมาก่อนโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดความต้องการกันแน่ “วิธีการคือ เสนอตัวเลือกกับกลุ่มคนที่กำลังตัดสินใจอยู่ และพยายามโน้มน้าวให้พวกเขาตัดสินใจตามที่เราได้กำหนดไว้แล้ว แต่สุดท้ายการตัดสินใจของกลุ่มคนเหล่านั้นทั้งหมดมาจากการตัดสินใจของพวกเขาเอง เพราะพวกเขาเป็นคนไปหย่อนบัตรที่หีบเลือกตั้งด้วยตัวเอง” ภาพ : The Great Hack ที่มา : https://www.theguardian.com https://www.pulitzer.org https://www.digitalspy.com https://heavy.com https://www.blognone.com https://droidsans.com https://www.voathai.com https://www.youtube.com