บรูซ แกสตัน ผู้สร้างปรากฏการณ์ดนตรีไทยร่วมสมัย

บรูซ แกสตัน ผู้สร้างปรากฏการณ์ดนตรีไทยร่วมสมัย
บรูซ แกสตัน นักดนตรีอเมริกันผู้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยยาวนานกว่า 50 ปี เป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ดนตรีไทยร่วมสมัยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในสังคมโลก ครูดนตรีผู้สร้างนักดนตรีไทยรุ่นใหม่ขึ้นมาทำประโยชน์ในสังคมไทยมากมาย นักประพันธ์เพลงและนักปรัชญาดนตรีคนสำคัญ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินไทยหลายแขนงให้สร้างสรรค์วัฒนธรรมร่วมสมัย บรูซ แกสตัน (Bruce William Gaston) เกิดที่เกลนเดล (Glendel) แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ 11 มีนาคม พ.ศ. 2489 เติบโตมาในครอบครัวที่รักเสียงดนตรี สัมผัสกับความงามอัศจรรย์ของสิ่งที่เรียกว่าดนตรีมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ สามารถเล่นเครื่องดนตรีตะวันตกได้หลายเครื่อง โดยเฉพาะเปียโน ออร์แกน และเพลงขับร้องประสานเสียง เริ่มต้นเรียนดนตรีกับมารดา ซึ่งปลูกฝังความมีวินัยทางดนตรีอย่างจริงจัง ต้องซ้อมดนตรีอย่างสม่ำเสมอทุกวัน จนเป็นอุปนิสัยติดตัวตลอดชีวิต และได้รับการวางพื้นฐานทางเปียโนที่ดีจาก Prof. John Crown ผู้สืบทอดวิชาในสำนักของ Franz Liszt นักเปียโนชาวฮังการีผู้โดดเด่นในชั้นเชิง virtuoso และดุริยกวีผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคโรแมนติค บรูซฝึกดนตรีทั้งในบ้านและที่โบสถ์ จนมีความแตกฉานในเพลงคลาสสิกหลากหลายตระกูล จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย ในปี พ.ศ. 2512 สาขาวิชาที่ชำนาญคือ ทฤษฎีดนตรี การประพันธ์เพลง และปรัชญา ได้มีโอกาสศึกษากับครูดนตรีสำคัญที่มีอิทธิพลในการเปิดโลกทัศน์ทางดนตรี อาทิ Prof. Ingholf Dahl นักปรัชญาดนตรี, Prof. Gwendolyn Koldofsky นักเปียโน ได้ซึมซับแนวคิดของนักประพันธ์เพลงหัวก้าวหน้าหลายท่าน อาทิ John Cage, Charles Ives, Frank Zappa, Olivier Messiaen ซึ่งต่อมากลายเป็นฐานในการพัฒนาแนวคิดดนตรีของบรูซอย่างจริงจัง ในทศวรรษที่ 60-70 เกิดสงครามเวียดนามขึ้น คนหนุ่มสาวชาวอเมริกันจำนวนมากถูกส่งตัวมาประจำการยังภูมิภาคอุษาคเนย์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการทางสงคราม แต่ด้วยความไม่เห็นด้วยกับการทำร้ายชีวิต เพราะเป็นมังสวิรัต ไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามที่ต้องเบียดเบียนเพื่อนมุนษย์ เขาจึงเลือกรับใช้ชาติด้วยการทำงานอื่นตามสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ในการนี้ รัฐบาลอเมริกันได้ส่งตัวบรูซ แกสตัน อายุ 22 ปี เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเป็นครูดนตรีซึ่งเป็นการช่วยเหลือการศึกษาในเขตพื้นที่ชนบท ซึ่งเป็นการเดินทางที่ทำให้เขาได้พบกับจุดเปลี่ยนของชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ พ.ศ. 2514 บรูซ แกสตัน เดินทางเข้ามายังประเทศไทย ภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือการเป็นครูอาสาสมัครในเขตภาคกลางตอนบน ที่จังหวัดเล็กๆ ชื่อพิษณุโลก ขณะนั้นยังห่างไกลความเจริญ ทำงานสอนดนตรีให้เด็กประถมศึกษาที่โรงเรียนผดุงราษฎร์ อำเภอเมือง ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนยากจนในความดูแลกำกับของคริสตจักร บรูซ แกสตัน ผู้สร้างปรากฏการณ์ดนตรีไทยร่วมสมัย แม้โรงเรียนไม่มีงบประมาณมากพอที่จะซื้อเครื่องดนตรีมากมายเหมือนโรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนเอกชนรวยๆ แต่เขาก็ได้ค้นคิดหาวิธีที่จะสอนเด็กนักเรียนโดยดัดแปลงไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่นกับขลุ่ยมาสร้างวงโยธวาทิต สอนเด็กนักเรียนเดินพาเหรดเท้าเปล่า และสอนให้รู้จักการเล่นดนตรีอย่างสร้างสรรค์กับชุดคำสั่งต่างๆที่ไม่ใช้โน้ตเพลง ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่ล้ำหน้ามากในเวลานั้น ระหว่างที่เป็นครูโรงเรียนผดุงราษฎร์นั้นเอง ก็ได้เกิดความสนใจในเสียงดนตรีปี่พาทย์นางหงส์ที่บรรเลงขณะเผาศพในป่าช้า จนได้ฝากตัวเป็นศิษย์นักดนตรีชาวบ้าน ได้รู้จักกับคุณค่าของเสียงดนตรีที่แตกต่างไปจากดนตรีตะวันตกที่คุ้นเคย นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาความสนใจส่วนตัวไปยังด้านพุทธศาสนา โดยเฉพาะความประทับใจในความงามของพระพุทธชินราชที่ประทับอยู่ในโบสถ์เก่าไม่ไกลจากโรงเรียนนัก ทุกเช้าตั้งแต่ย่ำรุ่งจนแสงทองส่องฟ้า เขาจะไปนั่งวิปัสนากรรมฐานอยู่ที่โบสถ์พระพุทธชินราชนั้น เจริญสมาธิภาวนาสม่ำเสมอ ฟังเสียงความเงียบ สลับไปกับฟังเสียงดนตรีไทย-เสียงดนตรีแห่งชีวิต ซึ่งต่อมา ทั้งดนตรีไทยและพุทธศาสนาได้กลายเป็นสิ่งหล่อหลอมให้ชีวิตของเด็กหนุ่มอเมริกันผู้นี้ดำเนินไปในทิศทางที่ไม่อาจประมาณประเมินคุณค่าได้ ระหว่างที่เขาเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เป็นระยะเดียวกับที่สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย ร่วมกับ the American Presbyterian Mission and the Disciples Division of Overseas Ministries ได้มีโครงการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในนาม วิทยาลัยคริสเตียนพายัพ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยพายัพ” และต่อมาคือมหาวิทยาลัยพายัพ) โดยกำหนดให้มีการศึกษาในแผนกวิทยาศาสตร์ซึ่งเปิดสอนสาขาวิชาพยาบาล และแผนกศิลปศาสตร์ ซึ่งเปิดสอนสาขาวิชาปรัชญาและศาสนา สาขาวิชาดุริยศิลป์ และสาขาวิชาบริหาร โดยเปิดสอนครั้งแรกใน พ.ศ. 2517 สาขาดุริยศิลป์ พัฒนามาจากแผนกดนตรีคริสตจักรวิทยาลัยพระคริสตธรรมในระยะแรก มีอาจารย์แคโรลีน คิงสฮิลล์ เป็นหัวหน้าสาขาวิชาดุริยศิลป์คนแรก การจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้ทางวิชาการดนตรีสากลแบบรอบด้าน เพื่อให้สามารถทำงานด้านดนตรีได้อย่างหลากหลาย ซึ่งในการพัฒนาหลักสูตรดุริยศิลป์นั้น ถือเป็นการศึกษาระดับปริญญาตรีในภาคเอกชนครั้งแรกของประเทศไทย บรูซ แกสตัน ได้รับเลือกให้เข้าเป็นอาจารย์สอนดนตรีให้นักศึกษารุ่นแรก โดยทำหน้าที่สอนทั้งวิชาทฤษฎี ปฏิบัติ ดนตรีสร้างสรรค์ ดนตรีสำหรับเด็ก ดนตรีการละคร และดนตรีศาสนา ผลผลิตทางการศึกษาของพายัพที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาจากความทุ่มเทของการเป็นครูอาจารย์ของบรูซ แกสตัน เช่น อายุ นามเทพ, โสฬส คุปตรัตน์, อรรณพ จันสุตะ, อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ เป็นต้น การได้มาใช้ชีวิตอยู่อาศัย ณ จังหวัดเชียงใหม่นี้เอง ทำให้เขาได้เรียนรู้ความหลากหลายของดนตรีท้องถิ่น ดนตรีล้านนาโบราณ ดนตรีชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ปะปนกันอยู่ในเขตภาคเหนือของไทย รู้จักกับศิลปินพื้นบ้าน อาทิ ลุงหมอก นักดีดเปี๊ยะ ลุงต๋าคำ ชัยวินา วณิพกอัจฉริยะตาพิการผู้มีฝีมือในการดีดซึงอย่างมหัศจรรย์  นอกจากการเรียนดนตรีพื้นเมือง สิ่งที่สำคัญคือได้พัฒนาความรู้เรื่องดนตรีไทยที่เข้มข้นขึ้น เนื่องจากในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทางกรมศิลปากรได้เปิดสาขาวิทยาลัยนาฏศิลป์ขึ้นที่เชียงใหม่ เขาจึงได้เข้าไปเรียนดนตรีไทยอย่างจริงจัง โดยหัดระนาดเอกกับครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ซึ่งเป็นครูจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ส่วนกลางส่งมาประจำการ และยังได้หัดปี่พาทย์รอบวงเพิ่มเติมจากครูโสภณ ซื่อต่อชาติ อดีตศิษย์ท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งเดินทางไปพำนักอยู่กับครอบครัวทำกิจการค้าขายอยู่ที่เชียงใหม่  การเรียนกับครูดนตรีไทยและครูพื้นบ้าน ใช้วิธีเรียนเช่นเดียวกับนักดนตรีท้องถิ่น คือเรียนด้วยความจำ สังเกต ทำตามครู และการใช้ชีวิตปรนนิบัติดูแล ความรู้ในส่วนที่ครูโสภณ ซื่อต่อชาติถ่ายทอดให้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการค้นคว้าในโลกดนตรีไทยอย่างยิ่ง ในที่สุดได้เชิญให้ครูโสภณร่วมทำงานสอนดนตรีไทยที่วิทยาลัยพายัพ และครูโสภณก็ได้ช่วยจัดการเรื่องจัดพิธีกรรมการไหว้ครู-ครอบครูให้อย่างจริงจัง เมื่อ พ.ศ.2519 โดยเชิญครูมนตรี ตราโมท เป็นผู้ประกอบพิธีที่เชียงใหม่นั้นเอง พัฒนาการของการเรียนดนตรีทั้งดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านในระยะนี้ ได้ส่งผลให้เกิดการทดลองประยุกต์ใช้ความรู้ทางดนตรีสากลกับดนตรีไทยในงานการเรียนการสอนที่วิทยาลัยพายัพ ผลงานเริ่มต้นที่สร้างชื่อเสียงได้แก่อุปรากรเรื่อง “ชูชก” (Chuchok) เมื่อ พ.ศ. 2520 ซึ่งพัฒนาจากวรรณคดีชาดกทศชาติตอนพระเวสสันดร ใช้วิธีการขับร้องประสานเสียง วงดนตรีปี่พาทย์ กังสดาล และการออกแบบงานประติมากรรมขนาดใหญ่รูปชูชกบริโภคอาหารจนท้องแตกเป็นฉากละคร ผลงานโอเปร่าเรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน (เกอเธ่) นำออกแสดงผลงานทั้งในประเทศไทยและที่เบอร์ลิน เยอรมัน ในปี 2521เริ่มปรากฏเสียงวิจารณ์ในสังคมไทยพอสมควร นอกจากนี้ ยังมีการทดลองนำเพลงไทย เพลงพื้นบ้านมาเรียบเรียงใหม่ บรรเลงด้วยอังกะลุง ขลุ่ย เพลงขับร้องประสานเสียง ใช้ในการนมัสการ และมีบทเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่เรียบเรียงเสียงประสานจนเป็นงานเด่นในวงการขับร้องประสานเสียงของประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้ จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญหลังจากที่ใช้ชีวิต ณ เชียงใหม่ได้ระยะหนึ่ง คือ การได้มีโอกาสร่วมงานมหกรรมดนตรีไทยอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2518 ซึ่งในครั้งนั้น มีวงดนตรีไทยจากสถาบันแห่งหนึ่งนำเพลงชื่อ “ชเวดากอง” มาบรรเลง ทำนองเพลงและจังหวะที่แปลกพิเศษจากเพลงไทยธรรมดาๆได้กระทบจิตใจทำให้เขาเกิดความอยากรู้อยากทราบว่าเพลงนี้เป็นผลงานของใคร เมื่อนักดนตรีเล่าว่าผู้แต่งคือ ครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นนักระนาดฝีมือเยี่ยมและยังมีชีวิตอยู่ ทำงานอยู่ที่วงดนตรีไทยเทศบาลกรุงเทพ (ต่อมาคือ วงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร) เขาไม่รอช้า รีบเดินทางจากเชียงใหม่มาฝากตัวเป็นศิษย์ครูบุญยงค์ผู้นี้ และการเป็นครูเป็นศิษย์ของนักดนตรีต่างชาติภาษาต่างวัฒนธรรมคู่นี้ ได้พัฒนาต่อมาเป็นวงดนตรีไทยร่วมสมัยที่สร้างตำนานให้กับประวัติศาสตร์สังคมไทยยาวนานในนามวงดนตรี “ฟองน้ำ” นั่นเอง [caption id="attachment_37691" align="aligncenter" width="941"] บรูซ แกสตัน ผู้สร้างปรากฏการณ์ดนตรีไทยร่วมสมัย วงดนตรีฟองน้ำ[/caption] บรูซ แกสตัน ทุ่มเทเวลาแรงกายแรงใจ ฝึกฝนดนตรีไทยกับครูบุญยงค์อย่างจริงจัง และความเมตตาของครู ก็ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้อย่างไม่ปิดบัง ครูบุญยงค์ได้ปรับความรู้พื้นฐานปี่พาทย์ให้ใหม่ โดยเริ่มจากฆ้องวงไปสู่ระนาดเอก เรียนเพลงที่ต้องท่องจำ “มือฆ้อง” (ทำนองหลัก) เพลงที่ใช้ “หน้าทับ" (จังหวะกลอง) ประเภทต่างๆ เพลงไล่มือ เพลงเรื่อง เพลงหน้าพาทย์ เพลงเสภา เพลงเดี่ยวชั้นสูง สามารถตีเดี่ยวระนาดและฆ้องวงได้หลายเพลง เช่น นกขมิ้น พญาโศก ลาวแพน อาหนู จีนขิมใหญ่ เชิดใน เป็นต้น จนมีฝีมือเยี่ยมในเชิงปี่พาทย์ โดยเฉพาะระนาดเอกและฆ้องวง ได้รับการถ่ายทอดวิชาเอาไว้มาก ซึ่งครูบุญยงค์ผู้นี้เองก็เป็นยอดนักระนาดที่เคยได้รับการยกย่องจากอดีตนายกรัฐมนตรีจีน โจว เอิน ไหล ว่ามีเสียงระนาดไพเราะประดุจ “ไข่มุกหล่นบนจานหยก” ในยามที่ท่านเดี่ยวระนาดอวดชาวจีนในการเดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมเมื่อ พ.ศ. 2500 ความรู้ปี่พาทย์ของครูบุญยงค์ เป็นวิชาชั้นสูงได้สั่งสมมาจากบรรดายอดครูดนตรีไทยในอดีตทั้งสิ้น โดยเฉพาะหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ครูเพชร จรรย์นาฏย์ ครูชื้น ดุริยประณีต ครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ ครูหรั่ง พุ่มทองสุข ซึ่งวิชาเหล่านี้ได้ส่งต่อมาให้บรูซ แกสตัน นำไปพัฒนางานดนตรีสร้างสรรค์อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด นอกจากการร่ำเรียนดนตรีไทยกับครูบุญยงค์ เกตุคง ครูที่เป็นแม่แบบความรู้ในเชิงทฤษฎีดนตรีไทย ประวัติศาสตร์ดนตรีไทยที่สำคัญอีกท่านคือครูมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งวงการศิลปวัฒนธรรมไทยยกย่องในความเป็นปราชญ์ของท่านผู้นี้ ทำให้การศึกษาดนตรีไทยของบรูซ แกสตัน มีความเข้มแข็งมั่นคงทั้งทางศิลป์และศาสตร์ เมื่อนับย้อนหลังไปยังครูดนตรีสมัยที่อยู่อเมริกา อาทิ จอห์น เคจ (John Cage) นักประพันธ์เพลงหัวก้าวหน้าและนักปรัชญาดนตรีคนสำคัญ หรือ ชาร์ลส์ ไอวฟ์ (Charles Ives) อดีตครูดนตรีอีกท่านที่บรูซให้ความเคารพนักถือ ก็ทำให้วิถีทางชีวิตของเขาที่เรียนรู้อยู่ในประเทศไทยแห่งนี้เป็นชีวิตที่มีความหมายยิ่งใหญ่มาก นอกจากจะรักษาวิชาที่เป็นมรดกอดีต บรูซ แกสตัน ยังได้ริเริ่มสร้างพื้นที่และกิจกรรมใหม่ทางดนตรีร่วมสมัยแนว Avant-Garde / Experimental Music  โดยร่วมกับเพื่อน ดนู ฮันตระกูล ผู้ก่อตั้งวงดนตรีภาคีวัดอรุณ (The Temple of Dawn Consort) โดยขั้นต้นก่อตั้งวงดนตรีภาคีวัดอรุณ (The Temple of Dawn Consort) เมื่อ พ.ศ. 2519 และบรรดาเพื่อนนักดนตรีหัวก้าวหน้า อาทิ สมเถา สุจริตกุล ธนวัฒน์ สืบสุวรรณ สุรสีห์ อิทธิกุล จิรพรรณ อังศวานนท์ นันทิกา กาญจนวัฒน์ เพื่อเปิดโอกาสให้สังคมไทยรู้จักกับดนตรีร่วมสมัยที่เกิดจากฝีมือคนไทยและความคิดใหม่ๆที่แลกเปลี่ยนกันอยู่ในโลกกว้างขณะนั้น มีการผสมผสานเครื่องดนตรีไทยกับเครื่องดนตรีตะวันตก การใช้ดนตรีเสี่ยงทาย การใช้วัตถุดิบในชีวิตประจำวันและเครื่องใช้ในบ้านมาทำเครื่องดนตรี  ฯลฯ  กิจกรรมเผยแพร่ดนตรีร่วมสมัยของกลุ่มภาคีวัดอรุณ ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทยให้หันมาพิจารณาความเป็นดนตรีที่อยู่เหนือความบันเทิงเริงรมย์ แต่มีงานที่เกี่ยวกับเสียงและจังหวะที่ชวนให้ขบคิด ทั้งในแง่ปรัชญาและการสร้างสรรค์ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยที่ยังจำกัด ความเป็น “ดนตรีหลุดโลก” ถือเป็นสิ่งใหม่ในสังคมที่น่าศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ ผ่านการต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์ กว่าจะเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนมาได้จนทุกวันนี้ โดยมีผู้สนับสนุนสำคัญคือสถาบันเกอธ่ กองทุนรัฐบาลเยอรมันที่เห็นคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมในการพัฒนาสังคม ในภายหลังนักดนตรีของกลุ่มภาคีวัดอรุณได้เติบโตไปเป็นหลักในวงการดนตรีร่วมสมัย ดนู ฮันตระกูล ได้ร่วมกับเพื่อนๆ เขตอรัญ เลิศพิพัฒน์ กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา และคนอื่นๆ ก่อตั้งโรงเรียนดนตรีศสิลิยะ และบริษัทบัตเตอร์ฟลายซาวนด์แอนด์ฟิลม์ ขึ้นเพื่อทำงานสอนดนตรี บันทึกเสียง และทำธุรกิจดนตรีเชิงสร้างสรรค์ จนพัฒนามาเป็นวงไหมไทย สมเถา สุจริตกุล หันไปทำงานวรรณกรรมแนวสยองขวัญ กำกับภาพยนตร์ และประพันธ์เพลงคลาสสิคร่วมสมัย ซึ่งยังคงมีผลงานต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ และทั้งดนูและสมเถาก็ยังคงผูกพันกับบรูซ แกสตัน มาตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตาม วงดนตรีที่ถือว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่แท้จริงของบรูซ แกสตันกับครูบุญยงค์ เกตุคงร่วมกัน คือ “วงฟองน้ำ” (Fongnaam) ซึ่งเริ่มต้นสร้างผลงานสู่สาธารณชนอย่างจริงจังมาตั้งแต่ราว พ.ศ.2523 จนถึงปัจจุบัน มีสมาชิกร่วมก่อตั้งนอกจากบรูซและครูบุญยงค์คือ จิรพรรณ อังศวานนท์ นักกีตาร์และโปรดิวเซอร์ของบัตเตอร์ฟลาย ซาวนด์แอนด์ฟิล์ม ซึ่งต่อมาภายหลังหันไปทำงานดนตรีโฆษณา และก่อตั้งวง “เอกรงค์” ขึ้น ร่วมกับสินนภา สารสาส วงดนตรีฟองน้ำ ได้ถือกำเนิดขึ้นจากชื่อเพลงๆหนึ่งในเพลงพิธีกรรมโบราณ เรื่องฉิ่งพระฉัน มีความหมายลึกซึ้งในเชิงพุทธปรัชญา ได้ใช้เป็นเพลงในการบันทึกเสียงอัลบั้มเพลงใหม่ที่บริษัทบัตเตอร์ฟลาย และกลายเป็นชื่อที่สังคมไทยในเวลาต่อมาจดจำกันอย่างกว้างขวาง ฟองน้ำ เป็นตัวแทนของศิลปะ ที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับสูญ ให้เราได้พิจารณาความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสรรพสิ่ง งานเพลงฟองน้ำยุคต้นๆ เป็นการทดลองที่จะหาความเป็นไปได้ในการพบกันระหว่างดนตรีไทยที่เป็นมรดกดั้งเดิมและดนตรีสากลที่เป็นของแปลกใหม่ หากแต่ต้องใช้เวลาและจิตใจที่เปิดกว้างในการเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกัน การเดินทางในยุคต่อๆมา เช่นเดียวกับชีวิตที่เติบโต และรู้จักที่จะปรับตัวไปตามโลกที่เปลี่ยนแปลง แต่ยังมีจุดยืนในความเคารพรากเหง้าจิตวิญญาณ ปีแล้วปีเล่า วงฟองน้ำ ได้เปิดประตูต้อนรับคนดนตรีจำนวนมาก จากความท้าทายของความคิดในการสร้างสรรค์งานข้ามพรมแดนวัฒนธรรมและหัวใจที่เปิดกว้างของทั้งครูบุญยงค์และบรูซ จึงได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานเป็นทั้งนักดนตรีไทย นักดนตรีสากล ที่มีพื้นฐานทางดนตรีหลากหลาย ตั้งแต่คลาสสิค แจ๊ส สมัยนิยม ดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน เวิล์ดมิวสิค ฯลฯ มาร่วมเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันและสร้างงานใหม่ร่วมกัน  นักดนตรีรุ่นแรก อาทิ ครูบุญยัง เกตุคง, ครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์ุ, สินนภา สารสาส, ครูอนงค์ ศรีไทยพันธ์, ครูประยงค์ กิจนิเทศ, ครูสกล อ่องเอี่ยม, ครูสุวิทย์ แก้วกระมล ฯลฯ ร่วมสร้างผลงานเพลงอัลบั้ม ฟองน้ำ 1 (พ.ศ. 2525) และฟองน้ำ 2 (พ.ศ.2526) โดยการจัดการของบัตเตอร์ฟลาย จนต่อมาจนถึงนักดนตรีเพิ่มเติมอีกมากมายที่เป็นคนดนตรีไทยและนักดนตรีสากลรุ่นใหม่ อาทิ ครูละมูล เผือกทองคำ, ครูพิณ เรืองนนท์, ครูสมชาญ บุญเกิด, ประสาร วงศ์วิโรจน์รักษ์, ไกวัล กุลวัฒโนทัย, อานันท์ นาคคง, บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ, จิระเดช เสตะพันธุ์, ดำริห์ บรรณวิทยกิจ, ดุษฎี สว่างวิบูลย์พงศ์, แมนรัตน์ อรุณรุ่ง, มนตรี คล้ายฉ่ำ, สกล บุญศิริ, ชัยภัค ภัทรจินดา, เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี ฯลฯ และศิลปินดนตรีรับเชิญที่แวะเวียนมาร่วมบันทึกเสียงหรือขึ้นเวทีในกรณีพิเศษ อาทิ Takako Nichizaki, Live Robbrux, ประทักษ์ ประทีปะเสน,  Andrew Heyley, อรรณพ จันสุตะ, นบ ประทีประเสน, นพ โสตถิพันธ์, สมบัติ สิมหล้า, Abraham Laboriel, เทวัญ ทรัพย์แสนยากร, ชัยยุทธ โตสง่า, โสฬส คุปตรัตน์, Micheal Ranta, ครูแจ้ง คล้ายสีทอง, ครูธีระ ภู่มณี, ครูวรยศ ศุขสายชล, ครูประเวช กุมุท, ครูอุดม อรุณรัตน์, วิรัช สงเคราะห์, อภิญญา ชีวะกานนท์, ปาเดย์ ซีเปีย, ละครโจหลุยส์, ละครเด็กรักป่า, ละครเด็กหมู่บ้านเกดาร์ ฯลฯ งานแสดงสดและบันทึกเสียงของฟองน้ำกลายเป็นเวทีกลางที่ทุกคนได้มาร่วมแบ่งปันความรู้ความสามารถในทางสร้างสรรค์ จะเห็นว่าฟองน้ำมีทั้งครูดนตรีไทยที่ผ่านประสบการณ์มายาวนาน มีทั้งนักดนตรีรุ่นใหม่ที่ได้รับการขัดเกลาทัศนคติใหม่ทางดนตรีร่วมสมัย  มีทั้งนักดนตรีพื้นบ้านที่เดินทางมาจากทุกสารทิศ และนักดนตรีสากลจากทั่วทุกมุมโลกที่มีโอกาสร่วมงานกัน ผลงานวงฟองน้ำ มีทั้งงานแสดงดนตรีสด งานบันทึกเสียง งานเพลงประกอบละคร เพลงประกอบภาพยนตร์ และงานสร้างสรรค์ร่วมกับศิลปินระดับโลกมากมายตลอดช่วง 40 ปีของวงดนตรีที่เป็นตำนานวงนี้ อัลบั้มที่น่ากล่าวถึง เช่น ฟองน้ำ 1-3, ประตูสู่โลกกว้าง, ดนตรีแก้ว, สุดถนนคอนกรีต, เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ช้าง”, Reject, แบง Cock Bang กอก, สื่อสารผสานไทย, Sleeping Angel, Jakajan, Nanghong, Siamese Classical Music series, Ancient-Contemporary Music from Thailand เป็นต้น งานสร้างสรรค์ชิ้นสำคัญของวงฟองน้ำมีมากมาย  งานในทางอนุรักษ์ เป็นภารกิจที่ท้าทายไม่แพ้งานพัฒนา หรือบางทีอาจเป็นสิ่งที่สังคมคนรุ่นใหม่มองเห็นได้ยากกว่า ฟองน้ำได้ศึกษาเพลงไทยโบราณจำนวนมาก นำออกแสดงทั้งในและต่างประเทศ เป็นหนึ่งในทัพหน้าทางวัฒนธรรมไทยที่ยืนหยัดพิสูจน์ความดีงามของศิลปวัฒนธรรมไทยให้ทุกคนได้ชื่นชม ราว พ.ศ. 2521 บรูซ แกสตัน ได้ย้ายจากเชียงใหม่มาเป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรีการละคร ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลงานเพลงประกอบละครสำคัญๆ ฝากไว้หลายชิ้นด้วยกัน เช่น พรายน้ำ คนดีที่เสฉวน อีดีปุสจอมราชันย์ แม่ค้าสงคราม พระสังข์-อิฟิกานีย์ เป็นต้น นอกจากวิชาละครเพลงที่สอนให้กับนิสิตคณะอักษรศาสตร์แล้ว ยังเป็นอาจารย์พิเศษวิชาทฤษฎีเรียบเรียงเสียงประสานและการประพันธ์เพลงที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย รวมทั้งบรรยายวิชาอารยธรรม ในหัวข้อปรัชญาดนตรี  ภายหลังได้ลาออกจากอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย ดำเนินชีวิตเป็นศิลปินอิสระเต็มตัวและพัฒนางานสร้างสรรค์ผ่านวงดนตรีฟองน้ำในเชิงศิลปะอย่างกว้างขวาง  ผลงานเด่นๆของบรูซ แกสตัน ที่ควรกล่าวถึงมีมากมาย อาทิ ประพันธ์อุปรากรไทยร่วมสมัยเรื่องแรก “ชูชก” (2519),  ประพันธ์พลงประกอบละครเวทีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลายชิ้น (2521-29),  การปรากฏตัวของวงฟองน้ำ, พิธีกรรมไหว้ครูดนตรีไทยครั้งสำคัญที่โรงละครแห่งชาติ กรมศิลปากร ฉลอง 100 ปีเกิดของท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง), ประพันธ์เพลง “เจ้าพระยาคอนแชร์โต” (2525), ประพันธ์เพลง “Thailand the golden Paradise” (2530), ประพันธ์เพลงพม่าใหม่ พระสังข์-เงาะยิ้ม เพลงสุดถนนคอนกรีต เพลงมรรคแปด เพลงนวกาล ซึ่งผสมผสานปรัชญาทางพุทธศาสนา ปรัชญาฟิสิกส์ การทดลองวิทยาศาสตร์ อนุกรมคณิตศาสตร์ และการออกแบบ sound design ในงานดนตรีทดลองมากมาย (2531-34) บรูซ แกสตัน ผู้สร้างปรากฏการณ์ดนตรีไทยร่วมสมัย ปี 2536 มีการนำบทเพลงเจ้าพระยาคอนแชร์โต้ มาแสดงอย่างสมบูรณ์แบบครั้งแรกที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผนวกเอาบทกวีของอังคาร กัลยาณพงศ์ มาเป็นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากงานบรรเลงเดิมที่ร่วมกับครูบุญยงค์ เกตุคง วางกรอบความคิดเอาไว้ นอกจากนี้ บรูซ ยังได้รับเชิญเป็นหนึ่งในผู้ออกแบบการแสดงในพิธีเปิด-ปิดกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ณ สนามกีฬารัชมังคลาสถาน  ได้ร่วมมือกับยืนยง โอภากุล แอ๊ด คาราบาว ในการสร้างงานงานเพลงช้างไชโย เป็นสัญลักษณ์ของการแข่งกีฬา และเกิดอัลบั้มที่มีการผนวกเอาศิลปวัฒนธรรมดนตรีไทยร่วมสมัยกับเพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต ที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกและสำนึกในการแข่งกีฬาเป็นที่รู้จักกันทั่วไป (2541) และยังมีผลงานอื่นๆ อีกมากมาย สำหรับประสบการณ์การเดินทางไปเผยแพร่ความงดงามของดนตรีไทยและความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรีร่วมสมัยของบรูซ แกสตัน ในนามวงฟองน้ำและในนามองค์กรอื่นๆ  ได้ไปเยือนเยอรมัน สหรัฐอเมริกา แคนนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์ จีน เป็นต้น กว่าสามทศวรรษของวงดนตรีร่วมสมัยวงหนึ่ง ที่เป็นทั้งประวัติศาสตร์ในตัวเองและเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับสังคมไทย เกิดแนวคิดใหม่ๆต่อการสร้างสรรค์ศิลปะการดนตรี เกิดสุนทรียภาพใหม่ๆในการเสพชมดนตรี เกิดคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเดินต่อไป และการค้นพบพื้นที่เติบโตใหม่ของสิ่งที่เคยถูกเรียกว่าดนตรีไทยเดิม นี่คือประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่เชื่อมโยงให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ถึงความอัศจรรย์ของศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน และคนในโลกจดจำคำว่า “วงฟองน้ำ” ตำนานดนตรีไทยร่วมสมัยที่ทรงคุณค่า ยังมีผลงานสร้างสรรค์สำคัญอีกจำนวนมาก ที่สะท้อนถึงความรู้ความคิดที่มีรากฐานจากการเข้าใจอดีต ปัจจุบัน อนาคต เข้าใจวิถีของโลกตะวันตก ตะวันออก โลกของจิต โลกของวัตถุ คุณค่าของดนตรีไทย คุณค่าของดนตรีสากล คุณค่าของดนตรีชาติพันธุ์ คุณค่าของดนตรีพื้นบ้านพื้นเมือง คุณค่าของดนตรีสมัยนิยม คุณค่าของดนตรีสังเคราะห์ และการผสมผสานศิลปะทุกส่วนให้สอดคล้องกับการก้าวไปในโลกปัจจุบัน อันเป็นรากฐานสู่ความก้าวหน้าที่เข้มแข็งในอนาคตของวงการดนตรีไทย ชีวิตส่วนตัว บรูซ แกสตัน สมรสกับ ผศ.สารภี แกสตัน อดีตอาจารย์สอนวิชาภาษาฝรั่งเศสแห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพยานรักที่เติบโตตามรอยมาในเส้นทางดนตรีคือ ธีรดล ธีโอดอร์ (เทดดี้) แกสตัน มือกีตาร์วงฟลัวร์ คุณูปการที่บรูซ แกสตัน ได้สร้างทำให้กับสังคมไทยอย่างยาวนาน ทำให้ได้รับการยกย่องจากทางสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น “ศิลปาธรกิตติคุณ” สาขาสังคีตศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2552 ซึ่งถือเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ เป็นความน่าภาคภูมิใจของชีวิต ต่อมาในปีการศึกษา 2554 ยังได้รับการยกย่องจากมหาวิทยาลัยรังสิตในการประสาทปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาดนตรี และรางวัลท้ายสุด เมื่อปี พ.ศ. 2560 สถาบันปรีดี  พนมยงค์ได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติปีติศิลป์ ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรี ผู้สร้างสรรค์ผลงานสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 40 ปี โดยมีเนื้อหาของงานที่ส่งเสริมสันติภาพอันนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างผาสุขของมวลมนุษย์ การเดินทางของชีวิต การเรียนรู้เรื่องราวในโลกมนุษย์ เกิดขึ้นตลอดเวลา จากสหรัฐอเมริกาข้ามโลกมาที่ประเทศไทย จากดนตรีสากลตะวันตกข้ามฟากมาที่ดนตรีไทยท้องถิ่น จากอนุรักษ์นิยมข้ามกำแพงไปสู่โลกของความคิดสร้างสรรค์ แม้จะเป็นที่เข้าใจกันได้ว่าการเดินทางมีทั้งจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด แต่การเดินทางของบรูซ แกสตัน ก็ฝากความทรงจำดีงามเอาไว้บนเส้นทางมากมาย บรูซ แกสตัน ผู้สร้างปรากฏการณ์ดนตรีไทยร่วมสมัย เช้าวันอาทิตย์ 17 ตุลาคม 2564 บรูซ แกสตัน เดินทางไกล ด้วยโรคมะเร็งตับ ในความเป็นศิลปิน เป็นครู เป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมชั้นเลิศ และการเป็นผู้อุทิศตนที่พิสูจน์คุณค่าของดนตรีกับชีวิตอย่างงดงาม ชื่อของเขายังคงดำรงอยู่ในหัวใจของคนรักดนตรีทุกคนเสมอ เป็นที่รักของทุกคนเสมอโดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ เชื้อชาติ สัญชาติ และกาลเวลา   กราบครูบรูซ แกสตัน ด้วยดวงใจ อานันท์ นาคคง 17 ตุลาคม 2564   เรื่อง : อานันท์ นาคคง Photo Credit : Prasarn Wongwirojruk, Anant Narkkong, วงฟองน้ำ   หมายเหตุกองบรรณาธิการ : 
  1. บทความนี้ เรียบเรียงจากข้อเขียนขนาดยาวของ อานันท์ นาคคง ศิษย์ครู บรูซ แกสตัน ทางกองบรรณาธิการ The People ได้ขออนุญาตผู้เขียน นำมาเผยแพร่เพื่อแสดงความคารวะและความอาลัยเนื่องในการจากไปของ บรูซ แกสตัน ปูชนียบุคคลแห่งวงการดนตรีไทยร่วมสมัย
  2. เนื่องจากเป็น "ร่างต้นฉบับ" ปีพุทธศักราชที่ระบุไว้ รวมถึงข้อมูลต่างๆ อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น หากนำไปใช้อ้างอิง จำเป็นต้องสอบทานอีกครั้ง
  3. หากมีข้อผิดพลาดประการใด ทางกองบรรณาธิการ The People ขอน้อมรับไว้ และขอขอบคุณสำหรับทุกคำแนะนำเพื่อปรับปรุงแก้ไขในโอกาสต่อไป