บรูตุส ผู้สังหาร ซีซาร์ เพื่อรักษาระบอบสาธารณรัฐ

บรูตุส ผู้สังหาร ซีซาร์ เพื่อรักษาระบอบสาธารณรัฐ

บรูตุส ผู้สังหาร ซีซาร์ เพื่อรักษาระบอบสาธารณรัฐ

มาร์คุส ยูนุส บรูตุส (Marcus Junius Brutus, เกิดราวปีที่ 85 ก่อนคริสตกาล เสียชีวิตปีที่ 42 ก่อนคริสตกาล) เป็นนักการเมืองโรมันซึ่งมีชื่อเสียงในฐานะเป็นหนึ่งในผู้นำคณะผู้ก่อการลอบสังหาร "จูเลียส ซีซาร์" นายทหารและรัฐบุรุษที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งของโรม เพื่อรักษาระบอบสาธารณรัฐเอาไว้ไม่ให้อำนาจตกอยู่ในมือผู้เผด็จอำนาจ พลูทาร์ก นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก (เกิดราว ค.ศ. 46, เสียชีวิต ค.ศ. 119) ได้เขียนยกย่องบรูตุสเอาไว้มาก ในฐานะที่เขาเป็นผู้รักษารัฐธรรมนูญ ต่อต้านระบอบเผด็จการเช่นเดียวกับ ลูชุส ยูนุส บรูตุส (Lucius Junius Brutus) บรรพบุรุษผู้ล้มล้างระบอบกษัตริย์ก่อตั้งสาธารณรัฐโรมันเมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล "มาร์คุส บรูตุส เป็นผู้สืบสันดานจาก ยูนุส บรูตุส ผู้ซึ่งชาวโรมันโบราณได้ตั้งรูปปั้นของเขาไว้กลางกรุง ในท่าทางขณะกำดาบที่ชักออกจากฝักรายล้อมด้วยรูปปั้นบรรพกษัตริย์ เพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญและมุ่งมั่นของเขาในการขับไล่ราชวงศ์ทาร์ควินุสและล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่บรูตุสผู้เฒ่านั้นโหดร้ายและไม่รู้จักการยืดหยุ่น เช่นเดียวกับเหล็กกล้าที่ยากจะทำให้อ่อนตัว แม้แต่การศึกษาก็ไม่อาจทำให้เขาลุ่มลึกขึ้นได้ เขาปล่อยให้ความโกรธแค้นและเกลียดแค้นที่มีต่อผู้เผด็จการเข้าครอบงำ ทำให้เขาถึงกับสังหารลูกแท้ๆ ที่ไปร่วมมือกับฝ่ายศัตรู "แต่บรูตุสผู้ที่เราเขียนถึงนี้ [มาร์คุส บรูตุส] มีจิตใจดีเป็นพื้นฐาน ทั้งได้การศึกษาเล่าเรียนทางปรัชญามาเสริม บวกกับการใช้ความสุภาพและความมุ่งมั่นตามนิสัยในการทำธุรกิจและกิจการสาธารณะ จึงเข้าลักษณะแบบอย่างของผู้มีคุณธรรม ถึงขนาดที่ศัตรูส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับแผนมุ่งร้ายซีซาร์ หากเห็นถึงเกียรติคุณหรือข้อดีอันใดของการนั้นก็จะยกความดีนั้นให้แก่บรูตุสเสียหมด แล้วโยนความป่าเถื่อนและโหดร้ายไปให้กับคาสซุส [Cassius]" พลูทาร์กกล่าว (Plutarch's Lives) บรูตุสเป็นผู้ที่ได้รับความเอ็นดูจากซีซาร์เป็นอย่างมาก เพราะเซอร์วิเลี (Servilia) แม่ของบรูตุสคือคนรักและผู้หญิงคนโปรดของซีซาร์ ซึ่งอาจทำให้ซีซาร์เชื่อว่าบรูตุสเป็นลูกของเขาก็ได้ แต่บรูตุสและซีซาร์มีอุดมการณ์ที่ต่างกัน ซีซาร์ไม่สนจารีตเก่าและต้องการปฏิรูประบบสังคมและการปกครองที่อ่อนแอของโรมในขณะนั้น ขณะที่บรูตุสเป็นผู้ที่ต้องการรักษาธรรมเนียมแห่งสาธารณรัฐเอาไว้ ทำให้ทั้งคู่เลือกเดินคนละเส้นทาง ในสงครามกลางเมือง (ปีที่ 49-45 ก่อนคริสตกาล) เมื่อซีซาร์ยกทัพเข้ากรุงโรม บรูตุสเลือกเข้าข้างปอมปีย์ขั้วอำนาจตรงข้ามของซีซาร์ แม้ว่าปอมปีย์จะเป็นผู้ที่สังหารพ่อแท้ๆ ของเขาซึ่งมีชื่อเดียวกัน (Marcus Junius Brutus the Elder) สงครามครั้งนั้นแม้จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของปอมปีย์ แต่ซีซาร์มีคำสั่งมิให้ผู้ใดทำร้ายบรูตุสก่อนออกคำสั่งอภัยโทษให้กับเขา หลังจากนั้นบรูตุสยังได้รับประโยชน์มากมายจากซีซาร์ ทั้งการแต่งตั้งเลื่อนขั้นให้ขึ้นมารับตำแหน่งสำคัญอย่างรวดเร็วผิดธรรมเนียมเดิม แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้บรูตุสมอบความภักดีให้กับซีซาร์อย่างไร้เงื่อนไข เมื่อคาโต (Cato) ลุงผู้ชุบเลี้ยงบรูตุสมาแต่เล็ก และผู้นำกลุ่มกองกำลังต่อต้านซีซาร์ที่ยังเหลืออยู่หลังความพ่ายแพ้ของปอมปีย์เสียชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย (ปีที่ 46 ก่อนคริสตกาล) ซีซาร์ได้จัดงานฉลองชัยชนะ ซึ่งเป็นการกระทำที่ชาวโรมันที่มั่นคงในจารีตต้องขุ่นเคือง เพราะคาโตเป็นศัตรูทางการเมืองของซีซาร์ แต่ไม่ได้เป็นศัตรูของประชาชน มันจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ค่อยๆ ขยายความขัดแย้งระหว่างบรูตุสกับซีซาร์ ยิ่งนานวันอำนาจของซีซาร์ก็ยิ่งขยายตัวมากขึ้น ในขณะที่อำนาจของสถาบันเดิมอย่างวุฒิสภาค่อยๆ ถดถอยลง ทำให้บรรดาวุฒิสมาชิกและกลุ่มการเมืองเก่าเสียผลประโยชน์ จึงรวมหัวกันคิดหาทางเอาซีซาร์ลงจากอำนาจ ส่วนบรูตุสที่ได้ประโยชน์จากการที่ซีซาร์อวยยศให้เขามากมายก็หันมาเห็นด้วยกับฝ่ายผู้ก่อการ เมื่อซีซาร์ประกาศตัวเป็นผู้เผด็จอำนาจตลอดกาล (Dictator perpetuo) ซึ่งถือว่าขัดต่อหลักการของสาธารณรัฐที่ยอมให้ผู้เผด็จอำนาจมีอำนาจได้อย่างจำกัดระยะเวลาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น บรูตุสจึงร่วมกับผู้ก่อการวางแผนสังหารซีซาร์ในวันที่ 15 มีนาคม ปีที่ 44 ก่อนคริสตกาล ซึ่งวันนั้นซีซาร์เดินทางมาร่วมประชุมวุฒิสภาสายมากเนื่องจากถูกเตือนถึงแผนการร้าย แต่เขาก็ยังคงเดินทางมาประชุมอยู่ดี ก่อนที่จะถูกรุมสังหาร โดยคาสคา (Servilius Casca) เป็นผู้ลงมือเป็นรายแรก "คาสคาที่ยืนอยู่ข้างหลังเป็นผู้ลงมีดเป็นคนแรก แต่ทำให้ซีซาร์ได้แผลเพียงเล็กๆ บริเวณหัวไหล่ ซีซาร์พยายามแย่งมีดจากมือของคาสคา และตะโกนออกไปเป็นภาษาละตินว่า 'ไอ้ชั่วคาสคา นี่เจ้าทำอะไร?' คาสคาจึงตะโกนเป็นภาษากรีกเรียกให้คนอื่นๆ ร่วมลงมือ ถึงตอนนี้ซีซาร์ตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมและพยายามหาทางหนี แต่เมื่อเห็นบรูตุสชักมีดเข้าใส่ เขาก็ปล่อยมือของคาสคาที่เขาพยายามยื้อยุดเอาไว้ แล้วเอาผ้าคลุมปิดศีรษะปล่อยให้ทุกคนรุมแทง บรรดาผู้ก่อการจึงแทงเข้าไม่ยั้ง มีดไปโดนพวกกันเองก็มี ตัวบรูตุสเองก็ได้แผลเข้าที่มือ และพวกเขาทุกคนต่างก็แปดเปื้อนไปด้วยเลือด" พลูทาร์กบรรยายเหตุการณ์การสังหารซีซาร์ การสังหารซีซาร์ทำให้ประชาชนซึ่งศรัทธาและได้ประโยชน์จากการปฏิรูปของซีซาร์โกรธแค้น ภายหลังบรูตุสและคาสซุสเพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้องย้ายไปอยู่กรีซเมื่อถูกมาร์ก แอนโทนี อดีตขุนพลของซีซาร์ที่ขึ้นมามีอำนาจเนรเทศเขาออกจากอิตาลี ทั้งคู่พยายามรวบอำนาจ กำลังทหาร และความมั่งคั่งในฝั่งโรมันตะวันออก ก่อนที่มาร์ก แอนโทนี และออกเตเวียน ลูกบุญธรรมของซีซาร์จะยกทัพมาปราบที่ฟิลิปปี (Battle of Philippi) ซึ่งในศึกแรกบรูตุสสามารถผลักดันกองทัพของออกเตเวียนให้ล่าถอยไปได้ แต่ทัพของแคสซุสทางตอนใต้กลับพ่ายแพ้ให้กับมาร์ก แอนโทนี และเมื่อคาสซุสได้ข่าวที่คลาดเคลื่อนว่าทัพของบรูตุสก็พ่ายแพ้เช่นกันก็ทำให้เขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย ในการสู้รบครั้งที่สอง บรูตุสก็ถึงคราวพ่ายแพ้ และตัดสินใจฆ่าตัวตายตามไป (ปลายปีที่ 42 ก่อนคริสตกาล) ทำให้ความพยายามที่จะรักษาระบอบสาธารณรัฐเอาไว้เป็นอันสูญเปล่า เมื่ออำนาจของโรมตกไปอยู่ในมือของผู้ปกครองสามฝ่าย (Second Triumvirate ประกอบด้วย ออกเตเวียน, มาร์ก แอนโทนี และ มาร์คุส เลปิดุส) ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ค่อยๆ สูญอำนาจไป ก่อนที่ออกเตเวียนจะเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด และกลายเป็น "จักรพรรดิคนแรก" ของจักรวรรดิโรมันที่รู้จักกันในนาม ออกุสตุส ซีซาร์