บัณฑิต เทียนรัตน์: #ประชาธิปไตยเดินด้วยท้อง คนอบขนมปังแจกในม็อบ

บัณฑิต เทียนรัตน์: #ประชาธิปไตยเดินด้วยท้อง คนอบขนมปังแจกในม็อบ
“บรรยากาศการทำข่าวเหตุการณ์ที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553 ทำให้ผมมีมุมมองต่อสังคม การเมืองที่เปลี่ยนไป” ขาประจำม็อบ คงจะคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี กับชายหนุ่มใบหน้าเปื้อนยิ้ม ถือประคองกระด้งที่เต็มไปด้วยขนมปังกล้วยหอมเกาลัดหลายกิโลกรัม เดินแจกผู้คนในม็อบด้วยไมตรี #ประชาธิปไตยเดินด้วยท้อง คือแฮชแท็กแคมเปญส่วนตัวเล็ก ๆ ของเขาที่วางคู่กับขนมปังในกระด้ง ก่อนที่จะมีแรงขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า หากท้องหิวจะคิดอะไรไม่ออก มาทานขนมปังให้อิ่มท้องก่อน ค่อยเดินกันต่อไป เจอเขาที่ม็อบ อย่าลืมทักทาย นอกจากได้สนทนากัน อาจจะได้ขนมปังคลายหิว(หากไม่แจกหมดเสียก่อน) บัณฑิต เทียนรัตน์: #ประชาธิปไตยเดินด้วยท้อง คนอบขนมปังแจกในม็อบ เกรท บัณฑิต เทียนรัตน์ คือ ชายต้นเรื่องนี้ เมื่อ The People เริ่มต้นคำถามด้วยการพูดคุยถึงประวัติชีวิตของเขา ผ่านอะไรมาเยอะมาก ในอดีตเคยเป็นบรรณาธิการข่าวศิลปวัฒนธรรมบันเทิงที่ทีวีสาธารณะช่องหนึ่ง, แชมป์ร้องเพลงเวทีศาลาเฉลิมกรุง, นักเขียนสารคดีเจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊ค “เนิร์ดชิ่งโฮม เรื่องเล่าไกลบ้านกับชานชรา” ที่เคยไปตามฝันที่ออสเตรเลียแล้วมีโอกาสทำงานที่บ้านพักคนชราจนออกมาเป็นเรื่องเล่าในหนังสือเล่มนี้ เคยเป็นอะไรอีก...เชฟร้านอาหาร, ผู้กำกับหนังสั้น, นักแสดงหนังโฆษณา, อาจารย์พิเศษคณะนิเทศศาสตร์, ผู้ดำเนินรายการภาพยนตร์, พิธีกรงานอีเวนต์ต่าง ๆ จนล่าสุดเป็นคนอบขนมปัง ทำขนมปังขายออนไลน์ แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาสนใจการเมือง คือช่วงที่เขาทำงานสื่อ ในช่วงที่ปรอทอุณหภูมิการเมืองไทยสูงขึ้นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2553... “สนใจการเมืองสมัยยังทำข่าว แม้โต๊ะข่าวที่ผมสังกัดอยู่จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่การอยู่ในบรรยากาศการทำข่าวเหตุการณ์ล้อมปราบเสื้อแดงปี 2553 ก็ทำให้ตาสว่างชนิดที่ไม่สามารถอดทนต่อลัทธิมาเฟียได้อีกต่อไป ผมเลยประกาศจุดยืนของตนเองผ่านโซเชียลมีเดีย ถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้สูญเสียมิตรสหายไปอย่างมากมาย แต่ก็ได้มิตรสหายใจตรงกันมาอีกมหาศาล แต่นึกย้อนไปไม่เคยเสียใจเลยที่ยืนอยู่ข้างความถูกต้อง แม้ต้องอาศัยเวลาถึงสิบปีกว่าสังคมส่วนใหญ่จะหันมาปฏิเสธเผด็จการอย่างเสียงดังฟังชัด” ความสนใจในเรื่องการเมืองอย่างเข้มข้น ทำให้เกรทกลายเป็นขาประจำผู้เข้าไปสังเกตการณ์ม็อบต่าง ๆ ใน 10 ปีที่ผ่านมา “ผมไปสังเกตการณ์ม็อบมาตั้งแต่สมัยเสื้อแดงปี 2553 ร่วมเดินประท้วงสมัยรัฐประหารปี 2557 แม้แต่ช่วงม็อบกปปส. ก็ไปสังเกตการณ์ตามที่ต่าง ๆ เป็นคนชอบไปม็อบ(หัวเราะ) มีส่วนร่วมอยู่เนือง ๆ ในกิจกรรมต้านรัฐประหารในช่วงที่ผ่านมาตามแต่ที่มิตรสหายฝั่งประชาธิปไตยจะขอแรง” บัณฑิต เทียนรัตน์: #ประชาธิปไตยเดินด้วยท้อง คนอบขนมปังแจกในม็อบ ส่วนจุดเริ่มต้นของการเป็นคนอบขนมปัง คงคล้ายกับหลายคนที่ชีวิตผันตัวมาเป็นเชฟ ทำอาหาร ทำขนมในช่วงกักตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 “ช่วงโควิด-19 ได้หันมาลองทำขนมปัง เพราะส่วนตัวชอบทำอาหาร แต่ไม่เคยทำขนมมาก่อน อยากลองเล่นกับยีสต์ดูก็เลยเลือกทำขนมปัง ทดลองไปเรื่อย ๆ หาสูตรจากอาจารย์กูเกิลและยูทูบ ได้บ้างเสียบ้าง จนในที่สุดก็สำเร็จจนพอกินได้ ประกอบกับโควิด-19 ทำให้เกิดการขายออนไลน์ในรูปของมาร์เก็ตเพลส จึงลองเริ่มขายขนมปังดูในกรุ๊ปหมู่บ้านมาร์เก็ตเพลส ก็พอมีคนชมว่าอร่อย ได้ใจจึงลองขายให้มิตรสหายในเฟซบุ๊ก ก็พบว่ามีคนชอบกินขนมปังฝีมือเราอยู่มากพอสมควร อาจเป็นเพราะใช้วัตถุดีทุกอย่าง โดยเฉพาะการเลือกใช้เกาลัดมาผสมกับกล้วยหอม ลูกเกดและแครนเบอร์รี ใช้นมและเนยแท้ และนวดเป็นก้อนใหญ่หนักราวหนึ่งกิโล จนหลายคนถ่ายรูปเทียบขนาดกับศีรษะมาอวดกัน ก็สนุกสนานกันดีทั้งคนทำและคนกิน” ฝึกอบขนมปังอยู่หลายเดือน จนสูตรขนมปังกล้วยหอมเกาลัดเริ่มนิ่ง เป็นช่วงจังหวะที่ม็อบฝั่ง “ประชาธิปไตย” เริ่มก่อตัวขึ้นมา ณ เวลานั้น ขนมปังจึงมาบรรจบกับการเมือง ก่อนเริ่มม็อบทุกครั้ง เขาจะใช้เวลาอยู่หลายวันในการเตรียมการอบขนมปังจำนวนหลายกิโลกรัม(เคยทำสูงสุดถึง 100 กิโลกรัม!) เป็นงานที่ท้าทายมากสำหรับคนอบขนมปังตัวเล็ก ๆ ที่บางครั้งก็ทำงานคนเดียว แต่ถ้างานใหญ่ก็มีครอบครัวมาคอยช่วยเหลือ “ขนมปังมาบรรจบกับการเมืองได้ เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากทราย เจริญปุระ ทรายประกาศตนเป็นสายซัพฯ(ซัพพอร์ต)ของม็อบ ก่อนจะได้รับฉายาเป็นแม่ยกแห่งชาติในภายหลัง เริ่มจากตอนที่ทรายได้ให้ ตูน ธเนตร อนันตวงศ์ (อดีตนักโทษการเมืองที่ภายหลังโดนยกฟ้อง) ทำไอติมมาแจกผู้ชุมนุมทางการเมือง ผมอยากกินบ้าง จึงถามทรายไปว่าอยากเอาขนมปังไปแจกคู่กับไอติมได้มั้ย ทรายตอบว่าได้(หัวเราะ) จึงเริ่มทำ #ประชาธิปไตยเดินด้วยท้อง นำเอาขนมปังไปแจกคู่กับตูนครั้งแรกที่ม็อบสกายวอล์ค(สะพานข้ามแยกปทุมวัน 8 สิงหาคม 2563) ที่มีมาสคอตกระทิงแดง  บัณฑิต เทียนรัตน์: #ประชาธิปไตยเดินด้วยท้อง คนอบขนมปังแจกในม็อบ “จากนั้นก็ไปแจกที่ธรรมศาสตร์ที่มีการเสนอการปฏิรูปสิบข้ออันลือลั่น แรก ๆ นำไปแค่ก้อนสองก้อน ก็พอมีคนชมว่าอร่อย พอผมนำรูปกิจกรรมมาลงในเฟซบุ๊ก ก็เริ่มมีมิตรสหายอยากสมทบในแคมเปญด้วยล้นหลาม จนต้องเพิ่มเจ้าภาพร่วมขึ้นมา จากนั้นจึงสามารถทำขนมปังได้มากขึ้น จนล่าสุดม็อบหน้าทำเนียบรัฐบาล(14 ตุลาคม 2563) สามารถทำไปแจกได้มากถึง 100 ก้อน 100 กิโล แจกจนหมดเกลี้ยงภายในไม่ถึง 2 ชั่วโมง "ม็อบปทุมวัน(ม็อบไม่มีแกนนำ 16 ตุลาคม 2563) คือแบก 9 กิโลฯ ขึ้นไหล่ แล้วไปโดนฉีดน้ำปราบการชุมนุมกับเขาด้วย จนเนื้อตัวและหน้าตาแสบไปหมดจากสารเคมี กลับถึงบ้านก็ยังแสบ แต่ขนมปังแม้จะเปียกฉ่ำแต่ปลอดภัยเพราะ wrap(ห่อ)ไว้อย่างดี(หัวเราะ)" นี่คือน้ำใจในม็อบที่เกรทเล่าให้ฟัง "จะพยายามแจกให้คนที่คิดว่าหิวแน่ ๆ อย่างบรรดาน้องนักข่าวภาคสนามและทีมงาน ที่กรำงานจนดึกดื่น ด้วยความที่เราเป็นคนข่าวมาก่อนด้วย หลายคนที่รับขนมปังคือมารยาทดีมาก หยิบแค่คนละชิ้น หรืออย่างมากสองชิ้น แล้วให้เหตุผลประกอบว่าขอเอาให้เพื่อนด้วย หรือบางคนไม่รับก็บอกว่าให้คนที่หิวแล้วกัน หลายคนมาช่วยถือกระด้งเอาไปแจกก็มี เพราะเห็นว่าเรานำขนมปังมาเยอะ"  การแจกขนมปัง ทำให้เกรทได้รับรู้เรื่องราวของผู้คนในม็อบ ที่ต่างคนมาจากต่างสถานที่ต่างวัย ที่มาลงพื้นที่ร่วมกัน... "มีเพื่อนในโซเชียลมีหลายคนที่เป็นเจ้าภาพร่วมก็ได้เจอะเจอกันในม็อบ ยิ้มให้กัน และเจ้าภาพร่วมซึ่งมีจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ เชียงราย ชัยนาท หนองคาย ไปจนถึงสงขลา เบตง แม้มาไม่ได้ ก็ส่งกำลังใจมาหลังไมค์เสมอ หลายคนบอกว่าออกหน้ามากไม่ได้ แต่ก็ยินดีช่วย แสดงให้เห็นว่ามีคนที่ต้องการเห็นประเทศก้าวหน้าแทรกตัวอยู่ในสังคมไทยอย่างมากมาย "หลายครั้งได้แจกขนมปังให้คนสูงวัย ลุง ๆ ป้า ๆ ที่มานั่งแปะอยู่ สังขารไม่อำนวยแต่ใจสู้ ลุงเสื้อแดงบางคนบอกว่าสู้มาตั้งแต่ปี 2516 ตอนเป็นนักศึกษา ตอนนี้ดีใจที่นักศึกษากลับมาม็อบอีกครั้ง เพราะตอนปี 2553 คือนักศึกษาไม่ออกมาเลย เจอน้องผู้หญิงวัยมัธยมมาคนเดียวจากอยุธยา หอบไข่ต้มที่ต้มเองมาแจกลังใหญ่ เลยยืนช่วยๆ กันแจก คุยเรื่องการเมืองกันอย่างออกรสออกชาติ บัณฑิต เทียนรัตน์: #ประชาธิปไตยเดินด้วยท้อง คนอบขนมปังแจกในม็อบ "เจอคนในวงการหนังไทยด้วยกันมากมาย แสดงว่าหนังไทยไม่ทิ้งประชาชน(หัวเราะ) ประทับใจสุดคือเจอคนที่หาตัวยากอย่างพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่หน้าสถานทูตเยอรมัน "...ยังไม่มีโอกาสแจกขนมปังให้แกนนำ เพราะเข้าไม่ถึงตัว และหลายคนตอนนี้ก็อยู่ในคุกไปแล้ว" ทำไมต้องแจกขนมปังในม็อบ เกรทอธิบายว่า มาจากความเชื่อส่วนตัวของเขาที่ว่า ประชาธิปไตยที่ดี คือ ประชาธิปไตยที่กินได้ “คนเราเรื่องกินนั้นสำคัญ โดยส่วนตัว ผมเป็นสายกินอยู่แล้วด้วย ในเมื่อกองทัพเดินได้ด้วยท้อง ประชาธิปไตยก็ต้องเดินด้วยท้องเช่นเดียวกัน และจุดเปลี่ยนที่ผมคิดว่าทำให้คนไทยหันมาตาสว่าง เกิดจากยุคทักษิณที่เขาทำให้ประชาธิปไตยมันกินได้ “คนเราพอรู้เสียแล้วว่า ประชาธิปไตยทำให้เขามีความหวัง เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี ทำมาหากินได้อย่างเสรีภายใต้โครงสร้างความเจริญที่เข้าถึงได้ ในเมื่อมาเจอรัฐประหารตัดตอนเข้าหลายครั้งหลายหน คนจึงรู้สึกได้ว่ากำลังถูกทำให้กลับไปอดอยากปากแห้งอีก จึงไม่แปลกที่จะไม่มีใครยอมอีกต่อไปแล้ว เราจะเดินด้วยท้องของเราเอง นอกจากโครงสร้างของความเสมอภาคที่เราทุกคนมีโอกาสอิ่มท้องได้เท่า ๆ กัน นี่คือความหมายที่ผมแฝงไว้ในขนมปังทุกชิ้นในม็อบ” เกรทดีใจที่ฟีดแบ็คขนมปังที่เขาทำออกมาดีมาก แต่เขาบอกว่า อันที่จริงอยากหยุดแจกขนมปังในม็อบแล้ว ไม่ใช่เพราะว่าเหนื่อย หรือหมดน้ำใจไมตรีต่อเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทางความคิด แต่วันที่เขาหยุดแจก มันเป็นวันที่เขาบรรลุความฝันเรียบร้อยแล้ว “อยากจะหยุดแจกมาก ๆ เพราะนั่นหมายถึงว่าวันนั้นเราจะไม่มีม็อบเรียกร้องประชาธิปไตยอีกแล้ว พวกเราทุกคนเดินด้วยท้องเราเองได้แล้ว” หิวเมื่อไหร่ อย่าลืมมองหากระด้งขนมปัง #ประชาธิปไตยเดินด้วยท้อง