คุณพ่อบุญเกิด กฤษบำรุง ผู้อุทิศตนให้ศาสนา แต่ถูกกล่าวหาเป็นสปายให้ฝรั่งเศส

คุณพ่อบุญเกิด กฤษบำรุง ผู้อุทิศตนให้ศาสนา แต่ถูกกล่าวหาเป็นสปายให้ฝรั่งเศส

ผู้อุทิศตนให้ศาสนา แต่ถูกกล่าวหาเป็นสปายให้ฝรั่งเศส

"การที่ลูกต้องโทษคราวนี้โดยลูกไม่ได้นึกฝันเลย คุณบิดาก็ทราบดีว่าลูกรักประเทศชาติ จนยอมสละความสุขสบายฝ่ายข้างโลก ได้อุตส่าห์อบรมพี่น้องชาวไทยให้อยู่ในศีลธรรมอันดีเป็นระยะ 15 ปี ลูกได้ช่วยชาติทั้งทางตรงทางอ้อม นอกนั้นยังเตือนคนอื่นอีกให้รักชาติ แต่อนิจจา ลูกกลับถูกหาว่าขายชาติ ทรยศต่อชาติ พยานโจทก์ 3 ปาก นับว่าไร้ศีลธรรมอย่างที่สุด กล้าใส่ความสงฆ์ผู้ทรงศีลโดยเจตนาเช่นนี้" ความตอนหนึ่งจากจดหมายลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1942 ที่คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เขียนด้วยลายมือไปถึงพระสังฆราชแปร์รอส หลังต้องข้อหาเป็นกบฏขายชาติให้แก่ "ฝรั่งเศส" ซึ่งมีสถานะเป็นคู่สงครามของไทยในระยะเวลาก่อนมีคำพิพากษาราวหนึ่งปี กรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเป็นความขัดแย้งที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม เมื่อไทยจำต้องยอมรับอำนาจของฝรั่งเศสเหนือดินแดนอดีตรัฐบรรณาการทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงด้วยถูกข่มขู่ด้วยเรือปืน จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกรุงปารีสแตกจากการรุกตีของฝ่ายนาซี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯ ไทยเห็นเป็นโอกาสดีที่จะยึดเอาพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกมาอยู่ใต้อำนาจของไทยอีกครั้ง ท่ามกลางเสียงสนับสนุนของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่ผ่านการอบรมอุดมการณ์ชาตินิยม จึงตัดสินใจเคลื่อนทัพเข้าสู่อินโดจีน และด้วยความที่รัฐบาลไทยและชาวไทยสายชาตินิยมเห็นว่า "ชาวคาทอลิก" ในภาคอีสานมีความผูกพันกับฝรั่งเศสมากจึงมองชาวคาทอลิกด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจ กิจกรรมต่างๆ ของชาวคาทอลิกถูกจับจ้องด้วยความสงสัย มีการกดดันและบีบบังคับด้วยกำลังให้ชาวคาทอลิกละทิ้งศรัทธาและหันมานับถือศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาของคนไทยส่วนใหญ่แทน ทำให้ชาวคาทอลิกที่ขัดขืนถูกปองร้าย บางส่วนถูกข่มขืน หรือฆ่าตายก็มี คุณพ่อบุญเกิดเป็นชาวนครปฐม เกิดเมื่อ 31 มกราคม ค.ศ. 1895 เข้าเรียนที่บ้านเณรเล็กพระหฤทัย บางช้าง (บ้านเณรคือสถานศึกษาสำหรับผู้มีกระแสเรียกจะเป็นบาทหลวงในศาสนาคาทอลิก) จบแล้วได้เป็นครูอยู่สี่ปีจึงได้ไปเรียนต่อที่บ้านเณรใหญ่ปีนัง จนได้รับศีลบวชเป็นพระ (หรือบาทหลวง) เมื่อปี 1926 และได้ปฏิบัติภารกิจเผยแพร่ศาสนาในหลายพื้นที่ของไทย ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยกับฝรั่งเศสนั้น คุณพ่อบุญเกิดได้มาเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดโนนแก้ว ที่โคราชพอดี จึงตกเป็นเป้าปองร้ายเช่นกัน โดยคุณพ่อถูกสมาชิก “คณะเลือดไทย” กลุ่มขวาจัดสมัยนั้นกล่าวหาว่า เป็นผู้ตีระฆังเรียกชุมนุม ในคืนวันที่ 11 มกราคม 1941 และระหว่างประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดในบ้านหันนั่นเอง คุณพ่อก็ได้ขอให้ศาสนิกสวดอ้อนวอนขอพระผู้เป็นเจ้าช่วยให้ "ฝรั่งเศส" รบชนะไทย ทำให้คุณพ่อถูกจับกุมโดยทางการในวันต่อมา ทางการไทยได้ชาวคาทอลิกจำนวนหนึ่งที่ถูกเกลี้ยกล่อมให้ทิ้งศาสนามาถือพุทธมาเป็นพยานช่วยปรักปรำคุณพ่อบุญเกิดและพวกว่าเป็นผู้ทรยศขายชาติ คุณพ่อถูกจับตัวขึ้นศาลพิเศษซึ่งตัดสิทธิในการมีทนายและการอุทธรณ์ และศาลก็ตัดสินให้คุณพ่อบุญเกิดมีความผิดจริงตามที่กล่าวหาให้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 15 ปี พร้อมระบุว่าจำเลยไม่ได้อ้างพยานขึ้นโต้แย้งข้อกล่าวหา แต่สังฆราชแปร์รอสยืนยันว่าความจริงแล้วคุณพ่อบุญเกิดได้ขอให้พยาน 9 คนมาให้การ โดยมีพยานอยู่ 4 คน ที่ยืนยันว่าพวกเขาถูกนายอำเภอบ้านหันบังคับให้ปรักปรำบาทหลวงบุญเกิด แต่การกลับคำให้การของพยานกลุ่มนี้กลับไม่ได้รับการรับฟังในชั้นศาล หลังจากติดคุกอยู่ได้ไม่นาน คุณพ่อบุญเกิดก็ติดเชื้อวัณโรคและถูกจับไปร่วมอยู่กับนักโทษที่ป่วยด้วยโรคเดียวกัน ต่อมาในวันที่ 1 กันยายน 1943 กรมราชทัณฑ์ก็ได้มีหนังสือสั่งห้ามเยี่ยมคุณพ่อบุญเกิดเป็นการชั่วคราว แม้ว่าคุณพ่อจะมีอาการกำเริบ และพระสังฆราชแปร์รอสจะทำหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ขอเข้าเยี่ยมในวันที่ 6 มกราคม 1944 แต่ก็ไม่ได้รับการอนุญาต และเพียงไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์หลังจากนั้น คือในวันที่ 12 มกราคม ท่านก็ถึงแก่ความตาย “เราได้สูญเสียพระสงฆ์พื้นเมืององค์หนึ่งในจำนวน  3 องค์ที่ถูกตัดสินโดยไม่มีความผิด” สังฆราชแปร์รอสกล่าวถึงการเสียชีวิตของบาทหลวงบุญเกิดในจดหมายรายงานถึงศูนย์กลางคณะมิสซังต่างประเทศ ในกรุงปารีส ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1944 “ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้เดือนละครั้งมาเป็นเวลา 1 ปีครึ่งแล้ว ต่อมาข้าพเจ้าและครอบครัวของคุณพ่อได้รับการปฏิเสธไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม แต่ข้าพเจ้าสามารถติดต่อกับคุณพ่อและเพื่อนพระสงฆ์ของท่านอีก 2 องค์ในคุก โดยผ่านทางคริสตังที่นำอาหารและเงินจำนวนเล็กน้อยไปให้ท่านในแต่ละเดือน คุณพ่อไม่สามารถพบเพื่อนพระสงฆ์อีก 2 องค์ซึ่งเป็นนักโทษเช่นเดียวกับท่าน “นี่เป็นการเบียดเบียนเพื่อต่อต้านศาสนาคาทอลิกซึ่งยังคงดำเนินต่อมาอีกอย่างรุนแรงที่สุดเป็นระยะเวลา 2 ปี… สังฆราชแปร์รอสกล่าว ความตายของบาทหลวงบุญเกิดถือเป็นการสละชีพเพื่อศาสนา (มรณสักขี, matyr) ทำให้ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบุญราศี (beatification, กระบวนการรับรองโดยคริสตจักรโรมันคาทอลิกว่าบุคคลที่ถึงแก่ความตายบุคคลนี้ได้ขึ้นสู่สวรรค์และเป็นผู้ที่สามารถขอพรจากพระเจ้าแทนมนุษย์บนโลกได้) เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2000 หรือราว 56 ปี หลังจากที่ท่านเสียชีวิต