Burma Chronicles: จำกัดสื่อจนถึงเปลี่ยนเลนถนน เรื่องเล่าของเมียนมาในวันที่อยู่ใต้เผด็จการทหาร

Burma Chronicles: จำกัดสื่อจนถึงเปลี่ยนเลนถนน เรื่องเล่าของเมียนมาในวันที่อยู่ใต้เผด็จการทหาร
“ประเทศนี้เลวร้ายมาก...หลังจากเหตุการณ์ที่ยิงนักศึกษาในปี 1988 พวกเขาปิดมหาวิทยาลัย ระดับการศึกษาในตอนนี้ดูน่าเศร้ามาก วัยรุ่นไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้” เรื่องราวของประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (พม่า) ในวันที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ผ่านการ์ตูนนิยายภาพ (graphic novel) ที่มีชื่อว่า ‘Burma Chronicles’ (2007) ‘Burma Chronicles’ เป็นผลงานของ กี เดอลิสเซิล (Guy Delisle) นักเขียนการ์ตูนและแอนิเมเตอร์ชาวควิเบก ประเทศแคนาดา (ที่ควิเบก ผู้คนจะใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสารเป็นส่วนใหญ่) ที่ไปอาศัยอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ในช่วงปี ค.ศ. 2005 โดยเขาและครอบครัวไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นประมาณ 1 ปี เขาจึงบันทึกเรื่องราวของประเทศนี้ในช่วงนั้นไว้ในช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ด้วยความที่เดอลิสเซิลรักการเดินทาง และภรรยาของเขาเป็นผู้บริหารของ ‘องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน’ (Médecins Sans Frontières –MSF หรือชื่อในภาษาอังกฤษคือ Doctors Without Borders) ทำให้เขาได้ติดสอยห้อยตามภรรยาไปในประเทศที่น่าสนใจอยู่บ่อยครั้ง อย่างเช่น เกาหลีเหนือ อิสราเอล และเอธิโอเปีย เขาจึงได้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ในรูปแบบ  graphic novel อยู่หลายเล่ม อย่างเช่น ‘Pyongyang: A Journey in North Korea’ (2000) ที่บอกเล่าเหตุการณ์ที่เขาไปอาศัยอยู่ที่เกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นประเทศปิดเป็นเวลา 2 เดือน หรืออย่างเรื่อง ‘Shenzhen: A Travelogue From China’ (2003) ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวผู้คนและสังคมในเมืองเศรษฐกิจของจีนอย่างเสินเจิ้น ใน ‘Burma Chronicles’ กี เดอลิสเซิล ได้มีโอกาสได้ไปเยือนดินแดนอดีตอาณานิคมของอังกฤษ ประเทศเมียนมา เพราะว่าภรรยาของเขาได้รับมอบหมายงานให้ไปดูแลองค์กรแพทย์ไร้พรมแดนที่ประเทศนี้ การเดินทางในรอบนี้ เดอลิสเซิลไม่ได้มากับแค่ภรรยา แต่มีน้องหลุยส์ ลูกชายตัวน้อยน่ารักติดสอยห้อยตามมาด้วย การผจญภัยที่แสนเอ็กโซติก (Exotic) ของชาวตะวันตก พ่อ แม่ ลูก จึงเริ่มต้นขึ้นในประเทศเมียนมา...ประเทศเผด็จการทหารที่เต็มไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์มากมาย ทั้ง พม่า ม้ง กะเหรี่ยง ฉาน คะฉิ่น เป็นต้น หน้าแรกของ ‘Burma Chronicles’ เป็นรูปแผนที่ของประเทศพม่าที่บรรยายว่า “ชื่อที่เป็นทางการของประเทศนี้ ชื่อว่า ‘เมียนมา’ ที่รับรองโดยองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 1989 ส่วนชื่อประเทศ ‘พม่า’ เป็นชื่อเดิมของประเทศนี้ ที่ในตอนนี้ยังมีหลายประเทศ อย่างเช่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เรียกประเทศเพื่อนบ้านของเราด้วยชื่อนี้อยู่ เหตุเพราะประเทศเหล่านี้ไม่ยอมรับรัฐบาลที่เข้ามาปกครองประเทศนี้ในปี 1989”...รัฐบาลที่ว่านี้ คือ รัฐบาลทหาร ที่ใช้ระบอบเผด็จการปกครองประเทศ (บริบทในปี 2005 ที่ผู้เขียนเขียนหนังสือการ์ตูนเล่มนี้) หน้าถัดมา ได้โฉมหน้าของประเทศนี้ ในรูปแบบนักเดินทางที่เข้ามาอาศัยอยู่ที่เมืองหลวงของพม่าในขณะนั้น นั่นคือ เมืองย่างกุ้ง ในหนังสือเล่มนี้ บทบาทของ ‘องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน’ ของภรรยาเดอลิสเซิล พวกเขาทำงานในดินแดนของชนกลุ่มน้อย งานนั้นเป็นงานของภรรยา ส่วนตัวเดอลิสเซิล ด้วยข้อจำกัดในการลงพื้นที่อย่างเรื่องการทำใบอนุญาตผ่านเข้าไปในเขตบางเขต และการที่เขาต้องดูแลหลุยส์แทนภรรยา ทำให้เดอลิสเซิลต้องอาศัยอยู่ที่ย่างกุ้งเป็นส่วนใหญ่ นาน ๆ ครั้งจึงได้ลงพื้นที่ไปดูงานของภรรยาบ้าง ทำให้ได้เห็นว่า งานขององค์กรนี้เป็นประโยชน์ต่อคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่เสี่ยงต่อโรคภัยอันตรายอย่างเช่น ไข้มาลาเรีย และโรคเอดส์ เป็นต้น แม้จะอยู่แต่ในตัวเมือง แต่เรื่องเล่าผ่านภาพการ์ตูนของเดอลิสเซิลก็ไม่ได้เบาหวิวจนกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าที่เบาโหวงของ ‘คนนอก’ ที่ไม่ได้สนใจอะไรเลย ตรงกันข้าม งานของเขาได้ใส่รายละเอียดที่น่าสนใจของความเป็น ‘เมียนมา’ ที่คนนอกอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน ในเมืองย่างกุ้ง ผู้คนมีน้ำใจ เข้าวัดเข้าวา ทำบุญตักบาตร จนดูเหมือนว่า นี่เป็นเมืองพุทธที่น่าอยู่ เพียงแต่ว่า... “ประเทศนี้เลวร้ายมาก...หลังจากเหตุการณ์ที่ยิงนักศึกษาในปี 1988 พวกเขาปิดมหาวิทยาลัย ระดับการศึกษาในตอนนี้ดูน่าเศร้ามาก วัยรุ่นไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้” เดอลิสเซิลมีโอกาสได้พูดคุยกับหญิงชราคนหนึ่งซึ่งนอนอยู่แต่บนเตียงเพราะอุบัติเหตุเมื่อหลายปีที่แล้ว เธอจึงระบายความอัดอั้นใจในประเทศของเธอให้ฟัง หญิงชราเล่าว่า เมื่อก่อนประเทศของเธอน่าอยู่มาก แต่วันนี้กลับไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว หลังจากที่รัฐบาลทหารมีอำนาจปกครองประเทศ เหตุการณ์ปี 1988 คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 เดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1988 หรือที่เรียกกันว่า ‘เหตุการณ์ 888’ ที่กลุ่มนักศึกษาและพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ที่มีนางอองซาน ซู จี เป็นผู้นำ ได้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย รัฐบาลได้ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามการชุมนุมนี้ นางอองซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 1991 ในฐานะผู้นำในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้าน (เธอได้รับการปล่อยตัวออกมาเมื่อปี 2010) คำว่า ‘ประเทศนี้เลวร้ายมาก’ สะท้อนให้เห็นจากการใช้ชีวิตของผู้คนได้อย่างน่าสนใจ อย่างเช่น การจำกัดเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะในเรื่องสื่อ ที่มีการเซ็นเซอร์อย่างไม่ลืมหูลืมตา หากข่าวนั้นเป็นข่าวที่เป็นเชิงลบต่อรัฐบาล ทำให้หน้าหนังสือพิมพ์มีเพียงข่าวโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพ ข่าวศิลปวัฒนธรรมและข่าวกีฬาเพียงเท่านั้น จนคนเมียนมาต้องแอบฟังข่าวสารทางเลือกจากวิทยุในฝั่งเมืองไทย เรื่องน่าตลกที่หนังสือเล่มนี้เล่าให้ฟังก็คือ ครั้งหนึ่งอีเมลของทีมงานองค์กรแพทย์ไร้พรมแดนถูกบล็อกเพราะมีคีย์เวิร์ดอย่างคำว่า “พบ” “ผู้นำ” และ “กะเหรี่ยง”... นอกจากเรื่องเสรีภาพแล้ว ระดับความมั่นคงในการใช้ชีวิตของคนพม่าก็อยู่ในระดับที่ต่ำมาก เดอลิสเซิลเล่าให้ฟังแบบติดตลกว่า ในตอนที่เขาหาบ้านอยู่ในช่วงแรกนั้น ค่อนข้างลำบากมาก เพราะที่เมืองย่างกุ้ง มีแต่บ้านตึกหลังใหญ่ ทั้งที่เป็นเมืองร้อนที่อยู่อาศัยควรจะเป็นบ้านไม้โปร่งรับลมมากกว่าบ้านทรงทึบ ท้ายที่สุด เดอลิสเซิลทราบว่า เหตุผลที่มีแต่บ้านหลังใหญ่ นั่นเป็นเพราะ สถาบันทางการเงินของพม่าไม่ค่อยจะมั่นคง ธนาคารมีสิทธิถูกยุบได้เสมอ ประชาชนเลยสร้างความมั่นคงทางหลักทรัพย์ของตนด้วยการนำเงินมาสร้างบ้านใหญ่ ๆ แทน นี่ยังไม่รวมระบบสาธารณูปโภคอย่าง ระบบไฟฟ้า ที่ค่อนข้างขาดแคลน ปัญหายาเสพติด ไปจนถึงปัญหาทางด้านสาธารณสุขของประเทศที่ยังต้องปรับปรุงอีกมากมาย การกระทำที่ไม่ 'เมกเซนส์' ของรัฐบาลทหาร เป็นปัจจัยอีกประการที่ทำให้ภาพของ "ประเทศนี้เลวร้ายมาก" เด่นชัดขึ้นมา อย่างกรณี การย้ายเมืองหลวงจากเมืองย่างกุ้งไปที่เมืองเนปยีดอ ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ เหตุผลของการย้ายมีอยู่หลายเสียงลือเสียงเล่ามาก บ้างก็ว่า ด้วยเหตุผลทางการทหาร เมืองย่างกุ้งอยู่ใกล้ทะเล อาจจะเกิดการโจมตีทางทะเลแบบที่อิรักเคยโดนก็ได้ หรือการที่โหรของรัฐบาลทำนายว่า เมืองย่างกุ้งกำลังเข้าสู่ยุคตกต่ำ จงรีบย้ายเมืองหลวงเสีย แต่คำอธิบายที่เป็นทางการที่ดูหวานเจี๊ยบของรัฐก็คือ “เมืองหลวงใหม่มีบรรยากาศที่ดีกว่า ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ ทำให้อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในประเทศ” การย้ายสายฟ้าแลบ ไปยังเมืองที่ไม่มีน้ำ ไม่มีระบบไฟฟ้า รวมไปถึงเสี่ยงกับงูที่มีอยู่มากมาย จึงเป็นเรื่องชวนหัว เมื่อถึงถึงคำว่า "บรรยากาศที่ดีกว่า" ที่รัฐบาลโฆษณา หรืออย่างในกรณีที่รัฐบาลได้ย้ายเลนขับรถจากฝั่งซ้ายมาเป็นฝั่งขวา เพื่อลบกลิ่นอาณานิคมของอังกฤษที่ปูระบบนี้มาก่อนหน้านี้ ก็ทำให้เกิดปัญหาเป็นอย่างมาก เพราะรถส่วนใหญ่ในเมียนมานำเข้าจากญี่ปุ่น ซึ่งผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาเป็นหลัก ขับรถด้วยพวงมาลัยฝั่งขวาของรถบนถนนเลนขวา เป็นเรื่องง่ายเสียเมื่อไหร่... ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ข้อจำกัดในการทำงานของเอ็นจีโอ เพราะปัญหาหลักที่องค์กรไม่แสวงหากำไรอย่าง องค์กรกาชาด และ องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน พบเจอก็คือ การที่รัฐบีบให้ระยะเวลาการทำวีซ่ามีช่วงที่สั้นลง ทำให้องค์กรเหล่านี้ไม่สามารถที่จะทำงานในพื้นที่ในระยะเวลาที่ยาวนานได้ และที่สำคัญก็คือ พื้นที่ที่รัฐอนุญาตให้เข้าไปปฏิบัติการ เป็นพื้นที่ภายใต้อำนาจของรัฐที่รัฐจะต้องให้บริการระบบสาธารณสุขด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่ในพื้นที่อย่างรัฐกะเหรี่ยง อันเป็นพื้นที่เป้าหมาย กลับกลายเป็นเขตหวงห้าม ด้วยเหตุนี้ องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน จึงขอถอนตัวออกจากประเทศเมียนมา เพราะการปฏิบัติการของพวกเขา เท่ากับสนับสนุนวิธีคิดของรัฐบาลเมียนที่ต้องการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยที่ไม่เห็นด้วยอยู่กลาย ๆ พ่อ แม่ ลูก จึงต้องลาจากประเทศนี้ไป… แต่ก็จากไปพร้อมกับเรื่องเล่าที่ชวนให้ฉุกคิดถึง ดินแดนที่ในวันนี้ไม่สามารถล้างกลิ่นอายของความเป็นเผด็จการทหารลงได้แม้แต่น้อย เรื่อง: ณัฐกร เวียงอินทร์