13 ธ.ค. 2561 | 16:50 น.
ในยุคที่โลกนี้มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จะเป็นยังไงถ้ามีแอปพลิเคชันหาคู่ที่ “ผู้หญิง” จะจีบผู้ชายก่อน? นี่น่าจะเป็นจุดตั้งต้นสำคัญของ วิทนีย์ วูล์ฟ เฮิร์ด (Whitney Wolfe Herd) นักธุรกิจสาวชาวอเมริกันที่ก่อตั้งแอปพลิเคชัน Bumble ขึ้นในปี 2014 ที่ ณ ปลายปี 2018 Bumble คือแอปฯ หาคู่ที่เติบโตเร็วสุดในสหรัฐอเมริกา ด้วยตัวเลขการเติบโตปีต่อปีที่ 70% มีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 41 ล้านราย จำนวนนี้ราว 10% ยอมจ่ายเงิน 9.99 เหรียญสหรัฐต่อเดือน เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษในแอปฯ ด้วย “พลังหญิง” นี้เอง ทำให้ปี 2017 แอปฯ Bumble มีรายได้รวมประมาณ 100 ล้านเหรียญ แถมปี 2018 ก็มีการประเมินว่ามูลค่ากิจการของ Bumble ทะยานเกิน 1,000 ล้านเหรียญไปแล้วเรียบร้อย ส่งให้เฮิร์ดกลายเป็นเศรษฐีที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 230 ล้านเหรียญในวัยไม่ถึง 30 ปี! แฟน (เคย) รัก หักเหลี่ยมโหด แอปฯ หาคู่ที่หนุ่มสาวทั่วโลกรู้จักกันดี คือ Tinder ซึ่งก่อตั้งในปี 2012 และเป็นต้นตำรับแอปฯ หาคู่ ที่ใช้ “การปัด” หน้าจอเป็นเจ้าแรกในตลาด แน่นอนว่าเฮิร์ดก็รู้จักเช่นกัน แต่ไม่ใช่ผิว ๆ เพราะเฮิร์ดเคยเป็นถึงผู้ร่วมก่อตั้งและรองประธานฝ่ายการตลาดของ Tinder แต่แล้วเฮิร์ดก็ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมในเดือนมิถุนายน ปี 2014 เมื่อเธอฟ้องร้อง Tinder ว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศ พร้อมระบุด้วยว่า จัสติน มาทีน (Justin Mateen) แฟนเก่าและเจ้านายเก่าของเธอ เรียกเธอว่า “โสเภณี” และ “คนหน้าเงิน” เท่านั้นไม่พอ ยังมีการส่งข้อความมาข่มขู่และว่าร้ายอย่างต่อเนื่อง มาทีนถูกพักงานและลาออกเองในเวลาต่อมา ผ่านไปราว 3 เดือน ทั้ง 2 ฝ่ายก็ตกลงยอมความ ซึ่งรวมถึงการห้ามไม่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายออกมาพูดถึงคดีฟ้องร้องนี้อีกต่อไป ช่วงเวลาของการต่อสู้คดี เฮิร์ดเป็นฝ่ายถูกกระทำซ้ำสองจากผู้คนในโลกออนไลน์ที่เธอไม่รู้จัก พวกเขาสาดคำพูดให้ร้าย คำขู่ฆ่า และคำขู่จะข่มขืนใส่เธอ จนเฮิร์ดต้องลบบัญชี Twitter “ตอนนั้นฉันรู้สึกแตกสลายไปเลย” เธอบอก เฮิร์ดเลือกหลีกความวุ่นวายใจทั้งหลายไปพักผ่อนที่รัฐเท็กซัสกับครอบครัวของ ไมเคิล เฮิร์ด (Michael Herd) คนรักของเธอขณะนั้น ที่ต่อมากลายเป็นสามี หญิงสาวไม่ปล่อยให้ตัวเองจมจ่อมกับความเครียดนานนัก หลังมรสุมชีวิตผ่านพ้น เฮิร์ดไม่มีแผนจะกลับไปสู่โลกของการหาคู่ออนไลน์ แต่ต้องการสร้างเครือข่ายโซเชียลสำหรับผู้หญิงที่จะใช้ชื่อว่า Merci ไม่มีการให้คุณค่ากับรูปลักษณ์ภายนอก แต่เน้นการส่งต่อพลังบวกด้วยการชื่นชมและยกย่องผู้หญิงด้วยกันที่เนื้อแท้ของแต่ละคน กำเนิด Bumble แอปฯ หาคู่พันล้าน จังหวะชีวิตพาให้เฮิร์ดเข้าสู่วงการแอปฯ หาคู่อีกครั้ง เมื่อเธอได้รับอีเมลจาก แอนเดรย์ แอนดรีฟ (Andrey Andreev) นักธุรกิจหนุ่มชาวรัสเซียที่อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผู้ก่อตั้ง Badoo เครือข่ายหาคู่ออนไลน์ยักษ์ใหญ่ที่มีผู้ลงทะเบียนใช้งานราว 360 ล้านคนใน 190 ประเทศ เฮิร์ดเหมือนจะจำแอนดรีฟไม่ได้ แต่เขาเคยเจอเธอครั้งหนึ่งแล้วสมัยที่เธอยังทำงานที่ Tinder แอนดรีฟต้องการให้เฮิร์ดมาร่วมงานกับ Badoo ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด เมื่อทั้งคู่ได้พบกัน เฮิร์ดก็เล่าแผนที่อยากจะปั้น Merci ให้แอนดรีฟฟัง แต่เขากลับเห็นว่าเธอควรรักษาจุดแข็งและเดินหน้าต่อเรื่องการหาคู่ออนไลน์มากกว่า หลังการพูดคุยรายละเอียดต่าง ๆ จนคิดว่าน่าจะทำงานร่วมกันได้แล้ว ในที่สุดปลายปี 2014 เฮิร์ดก็ตกลงรับข้อเสนอของแอนดรีฟในการก่อตั้งแอปฯ หาคู่ ขึ้นอีกครั้ง เพราะในข้อตกลงยอมความกับ Tinder ไม่ได้ระบุว่าห้ามมีการแข่งขันระหว่างกัน แอนดรีฟทุ่มงบก้อนแรกราว 10 ล้านเหรียญ สำหรับทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ และวางแผนใส่เงินเพิ่มเพื่อรองรับการขยายตัว รวมทั้งใช้ความเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และระบบต่าง ๆ ของ Badoo เข้ามาช่วย แอนดรีฟเป็นเจ้าของแอปฯ นี้ในสัดส่วน 79% ส่วนเฮิร์ดจะเป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริษัท และถือหุ้นในสัดส่วน 20% ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเฮิร์ดยังชวน คริส กัลค์ซินสกี (Chris Gulczynski) และ ซาราห์ มิค (Sarah Mick) อดีตผู้บริหาร Tinder ให้มาร่วมงานด้วย (ต่อมาทั้งคู่ลาออก แต่ยังถือหุ้นร่วมกันอีก 1% ในส่วนที่เหลือ) แอนดรีฟและเฮิร์ดช่วยกันคิดชื่อ ในที่สุดก็มาลงตัวที่ “Bumble” ออกแบบธีมของแอปฯ ให้เป็นธีมผึ้งและใช้สีเหลืองเป็นสีหลัก และเปิดตัว Bumble ในเดือนธันวาคม ปี 2014 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองออสตินในรัฐเท็กซัส จุดเด่นของแอปฯ คือถ้าถูกใจ ฝ่ายหญิงจะต้องส่งข้อความไปหาผู้ชายก่อนภายใน 24 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นการจับคู่ก็จะหายไป ซึ่งการออกแบบแอปฯ ที่ทำให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกก่อน ถือเป็นการตลาดที่จับจุดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างจัง เพียงแค่ 1 เดือนแรกหลังเปิดตัว Bumble ก็มียอดดาวน์โหลดถึง 100,000 ครั้ง เพราะผู้ใช้ส่วนใหญ่มองว่า Bumble ให้ความรู้สึกสุภาพและปลอดภัยกว่าแอปฯ อื่น ๆ ในท้องตลาด การเติบโตแบบฉุดไม่อยู่ของ Bumble อยู่ในความสนใจของ Match Group ซึ่งเป็นเจ้าของแอปฯ Tinder เว็บไซต์หาคู่และเว็บอื่น ๆ อีกหลายสิบแบรนด์ ปี 2017 เฮิร์ดได้รับข้อเสนอจาก Match Group ที่ต้องการซื้อ Bumble ในมูลค่า 450 ล้านเหรียญ ซึ่งเธอปฏิเสธ แต่ Match Group ก็ยังไม่ล้มเลิกความพยายาม เพราะหลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็ยื่นข้อเสนอใหม่ด้วยมูลค่าที่สูงกว่า 1,000 ล้านเหรียญ โดยเฮิร์ดจะยังคงถือหุ้น 20% เหมือนเดิม ถ้าเทียบความสัมพันธ์ก็คงเหมือนแฟนเก่าที่ตามมาวอแว เพราะเดือนมีนาคม ปี 2018 Match Group มาอีกแนว ด้วยการฟ้องร้องว่า Bumble ละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา เพราะใช้การปัดหาคู่เหมือน Tinder แต่เฮิร์ดก็ออกมาโต้กลับและฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย โดยกล่าวหาว่า Tinder กีดกันไม่ให้บริษัทอื่นมาเป็นพาร์ทเนอร์หรือลงทุนใน Bumble แม้ดูเหมือนเผชิญพายุอีกรอบ แต่ Bumble ก็เลือกเดินหน้าต่อสวย ๆ ด้วยการขยายตัวในตลาดอินเดีย โดยเตรียมการมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2018 มีนักลงทุนและที่ปรึกษารายใหม่คือ ปริยังกา โชปรา (Priyanka Chopra) นักร้องและนักแสดงชื่อดังชาวอินเดีย “หากคุณคิดถึงอินเดีย ยังไม่มีใครได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้หญิงที่นั่นเลย” เฮิร์ดบอก และเพิ่มเติมว่า... “ผู้หญิงทั่วโลกต้องการมีอำนาจ เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ต้องการความรู้สึกปลอดภัย และต้องการการเชื่อมต่อถึงกัน” ที่มา นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับมกราคม ปี 2018 https://www.forbes.com/sites/clareoconnor/2017/11/14/billion-dollar-bumble-how-whitney-wolfe-herd-built-americas-fastest-growing-dating-app/#7b4f255b248b https://www.forbes.com/sites/maddieberg/2018/07/11/whitney-wolfe-heard-bumble-net-worth/#2f57059cd147 http://fortune.com/2018/10/04/bumble-whitney-wolfe-herd-acquisition-ipo/ http://fortune.com/2018/09/24/bumble-ipo-match-tinder-lawsuit/ http://fortune.com/2018/10/03/bumble-thinks-it-can-fix-dating-apps-for-women-in-india/