CEO ที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม 2023 : สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซีอีโอที่มี ‘ความคิด’ กล้าแตกต่าง

CEO ที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม 2023 : สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซีอีโอที่มี ‘ความคิด’ กล้าแตกต่าง

‘สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นซีอีโอที่มีนวัตกรรมทางความคิดที่กล้าเปลี่ยน และแตกต่าง จนพา RS พลิกจากจุดวิกฤตมาถึงตอนนี้มีมูลค่าบริษัทกว่า 15,500 ล้านบาท และในอีก 3 ปี ตั้งเป้าอยู่ที่แสนล้านบาท

พบกับ Stories of the Month ซีรีส์ใหม่โดย The People บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจในแต่ละเดือน เราจะมีประเด็นพิเศษมาให้ติดตามแบบไม่ซ้ำกันทุกเดือน สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2023 มาพร้อมเรื่องราว CEO ที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม

ในโลกธุรกิจยุคใหม่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจหนีไม่พ้นการปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง เครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้คือนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เพียงนวัตกรรมทางเทคโนโลยี แต่ยังครอบคลุมไปถึงนวัตกรรมทางความคิดด้วยเรื่องราวประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2023

ติดตามเรื่องราวของ CEO ที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม ซึ่งข้อมูลจากพวกเขาเหล่านี้อาจเป็นบทเรียนและสะท้อนแง่มุมต่าง ๆ ให้ผู้คนนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทของตัวเองได้ ในเดือนนี้ The People เลือก 3 บุคคลที่น่าสนใจ นำเสนอสัปดาห์ละ 1 คน แบบไม่เรียงตามลำดับก่อนหลัง

CEO ที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม 2023 : สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซีอีโอที่มีนวัตกรรมทาง ‘ความคิด’ ที่กล้าจะแตกต่าง

หนึ่งกรณีศึกษาที่สามารถทรานส์ฟอร์มตัวเองได้สำเร็จ โดยเปลี่ยนจาก ‘ค่ายเพลง’ สู่ ‘อาณาจักรคอมเมิร์ซ’ ที่มี Market cap กว่า 15,500 ล้านบาท และในอีก 3 ปีข้างหน้าจะขยับไปเป็นแสนล้านบาท

แน่นอนผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้จะเป็นใครไม่ได้ถ้าไม่ใช่ ‘เฮียฮ้อ - สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RS นั่นเอง

“ก็ขอบคุณที่ชื่นชมเราเป็น Case Study แต่ผมมองเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจนะ ธุรกิจจะพิสูจน์ว่า แข็งแรงหรือไม่แข็งแรง เก่งจริงหรือไม่เก่งจริง มันพิสูจน์กันเรื่องของการปรับตัวอยู่ได้หรือไม่ได้”

การฝ่ากระแส Disruption ช่วง 4 ทศวรรษ

เส้นทางที่ผ่านมา RS เผชิญกับการดิสรัปใหญ่ ๆ อยู่ประมาณ 4 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นช่วงปี 2545 ที่เฮียฮ้อได้เข้าไปพูดคุยกับครอบครัว เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทจากธุรกิจ ‘ครอบครัว’ สู่ ‘มหาชน’ 

ตอนนั้นสิ่งที่เขามองไม่ใช่เรื่องของระดมทุน แต่ต้องการ ‘เปลี่ยนวิธีทำงาน’ จากครอบครัวมาเป็น ‘มืออาชีพ’ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หากทำไม่สำเร็จ  RS จะไม่มาถึงวันนี้

“ช่วงนั้นธุรกิจ RS เริ่มแข็งแรงแล้ว พี่ชายผมดูตลาดและโรงงาน พี่สาวดูบัญชี น้องชายดูการขาย เราเริ่มรู้แล้วว่าไม่ได้รับการพัฒนาแน่นอน เลยมานั่งคุยกันแล้วเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร เป็นความท้าทายครั้งแรกและยาก เพราะเป็นการเปลี่ยนชุดความคิดของครอบครัวเลย” 

การเข้าตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นการสร้างพื้นฐานสำคัญของบริษัท การเดินหน้าธุรกิจหลังจากนั้น คนในครอบครัวได้เปลี่ยนบทบาท จากคนทำงานมาเป็นผู้ถือหุ้นอย่างเดียว แล้วดึงมืออาชีพเข้ามา การทำงานทุกอย่างมีการวัด KPI ชัดเจน ไม่ใช่คนนามสกุลเดียวกันจะได้เป็นผู้บริหาร

เมื่อผ่านความท้าทายแรกในการเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรไปแล้ว ต่อมาก็เข้าสู่อีกยุคสำคัญของการดิสรัป นั่นคือการที่ RS ทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพลงจากแอนะล็อกเดินหน้าสู่โลกดิจิทัล 

ตอนนั้นเฮียฮ้อเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเรื่อง Physical ไม่ว่าจะเป็นซีดี หรือเทปคาสเซ็ท ฯลฯ ‘กำลังจะตาย’ และกระแสดิจิทัลกำลังเข้ามาแทนที่ ทำให้ตัดสินใจไปพูดคุยกับพี่ชายให้ขายโรงงานผลิตเทปและซีดีทิ้ง 

“ยุคนั้นทั้งเราและแกรมมี่ในอุตสาหกรรมต้องเรียกว่ามีเครื่องปั๊มเงิน เพราะซีดีแผ่นหนึ่งมีต้นทุน 5 บาท แต่พวกเราขาย 170 บาท แม้ช่วงนั้นเกิดปัญหาซีดีปลอม เทปปลอม เราโดนละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็ยังแฮปปี้มาก เนื่องจากมาร์จิ้นสูง ทว่าเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน เรื่องที่น่ากลัวคือผู้บริโภคเป็นผู้ละเมิดเอง”

เหตุผลของการขายโรงงานดังกล่าวทิ้ง เขาย้ำว่าไม่ได้มาจากธุรกิจเพลงเล็กลง เพราะถึงตอนนี้เพลงยังเป็นธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพียงเห็นเทรนด์เปลี่ยนจาก Physical มาเป็นดิจิทัล จึงยอมตัดใจขาย และความยากของการตัดสินใจครั้งนั้น คือ เมื่อต้องทิ้งซีดีและเทปคาสเซ็ท ไม่รู้ว่าอะไรจะมาแทนและจะมาเมื่อไร ซึ่งยอมรับเป็นความเสี่ยง 

“วันที่ผมขาย แกรมมี่ขยายโรงงานเลย ผมไม่รู้ว่าใครถูกใครผิด พอผ่านมา 5 ปี ผมคิดว่าผมคิดถูก”

ความสำเร็จแต่ละครั้งที่เป็นตำรา

การทรานส์ฟอร์มตัวเองได้สำเร็จในแต่ละครั้ง ไม่เพียงทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้ ตัวผู้นำและองค์กรยังได้บทเรียน ได้ประสบการณ์ และวิธีคิดของตัวเอง

ยกตัวอย่าง การทรานส์ฟอร์ม RS จากแอนะล็อกมาสู่ยุคดิจิทัล ที่ถือเป็นประโยชน์และสร้างภูมิต้านทานของตัวเอง เพราะสอนให้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ว่า เมื่อเดินไปแล้วต้องเจอกับอะไรบ้าง 

และหลังจากนั้นต้องเผชิญกับการดิสรัปในสื่อวิทยุ สำหรับเขาจึงเป็นเรื่องเล็ก

“ยุคนั้นวิทยุทั่วโลกกำลังตาย ผมกำลังทำคลื่นคูลฟาร์เรนไฮต์ เป็นอันดับ 2 รองจากกรีนเวฟ โดนดิสรัปทั้งคู่ การทรานส์ฟอร์มวิทยุไม่ได้เสี่ยงมาก จริง ๆ ดีไวซ์มันตาย คนยังฟังเพลงอยู่ ผมเป็นคนแรกที่ทำแอปฯ แล้วให้คนฟังวิทยุผ่านแอปฯ คุณฟังจากไหนก็ได้ทั่วโลก สุดท้ายวิทยุตายจริง ทว่าคนยังฟังเพลงอยู่”

กล้าที่จะเปลี่ยน

มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากของ RS นั่นคือการทรานส์ฟอร์มจากธุรกิจ ‘บันเทิง’ สู่ ‘คอมเมิร์ซ’ ที่ทำให้ RS ได้รับความสนใจและกลายเป็นกรณีศึกษาของการ ‘กล้าเปลี่ยน’ จนประสบความสำเร็จ 

เฮียฮ้อเล่าว่า ความจริงแล้วในหัวเขาไม่มีความคิดจะทำคอมเมิร์ซเลย เพียงแต่เริ่มต้นไอเดียจากต้องการใช้สื่อที่มีในมือให้เกิดประโยชน์ เพราะหลังจากเข้าประมูลทีวีดิจิทัล ที่ตอนนั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองเป็น ‘อนาคต’ แต่สุดท้ายไม่ได้เป็นอย่างที่คิด 

“พอได้ช่อง 8 มาเห็นเลยว่าดีมานด์ ซัพพลายมันกลับด้านกัน จากเดิมทีวีบ้านเรามีเพียง 4 ช่อง เพิ่มเป็น 24 ช่อง ขณะที่เม็ดเงินโฆษณายังเท่าเดิม ทุกคนแข่งขันกันหนัก จากฝันจะเป็นเหมือนช่อง 3 และช่อง 7 ไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน” 

เมื่อเห็นภาพนั้นแล้ว เขาได้เรียกทีมช่อง 8 มาคุยว่า ถ้าไม่ทำอะไร จะเจ็บตัวหนัก โดยต้องการจะใช้สื่อที่มีให้เป็นประโยชน์ ด้วยการดูเทรนด์ไหนมาแรง เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ และสิ่งที่พบก็คือ เทรนด์ Health and Beauty จึงทดลองทำสินค้าไปขาย

ปรากฏว่าขายดี นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจคอมเมิร์ซ ที่ต่อมามีรายได้ใหญ่กว่าธุรกิจดั้งเดิมอย่างเพลง และตอนนี้กลายเป็นธุรกิจหลักของ RS

เห็นเทรนด์เหมือนกัน จุดสำคัญทำให้เกิดขึ้นจริงได้หรือเปล่า 

การทรานส์ฟอร์มธุรกิจจะสำเร็จหรือไม่ จุดสำคัญสำหรับเฮียฮ้ออยู่ที่จะลงมือให้เกิดผลจริงได้หรือไม่ และการลุยเข้าสู่ธุรกิจใหม่ไม่จำเป็นต้องรู้ถึงธุรกิจนั้น 100% เพราะระหว่างทาง สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

เขาอธิบายว่า นักธุรกิจทุกคนทราบดีเรื่องเทรนด์ การเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว ความไม่แน่นอน ดังนั้นเวลาที่พูดเรื่องทรานส์ฟอร์ม ความยากอยู่ที่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงให้ได้มากกว่า และเรื่องเหล่านี้ต้องใช้แรงมหาศาลในการผลักดันและอาศัยความร่วมมือสูง เพราะเป็นการเปลี่ยนชุดความคิดของคนเลยก็ว่าได้ 

“ทุกธุรกิจที่เราทำรู้แค่ 40 - 50% พอ ที่เหลือไปลงมือทำและเรียนรู้ 1.เรื่องนั้นอยู่ในเทรนด์ใหญ่หรือเปล่า ไม่ได้มองว่าเราถนัดอะไร เราชอบไหม อันนี้ทีหลังเลย เพราะการที่เราอยู่ในเทรนด์ใหญ่ อย่างน้อยไม่มีหลงทาง แม้จะผิด จะช้า แต่ยังอยู่ในเทรนด์ 2. สิ่งที่เราจะทำใหม่กับ Ecosystem ที่ RS มี ทำให้มีแต้มต่อในการทำธุรกิจนั้น ๆ ไหม ถ้ามีก็น่าทำ ที่เหลือเป็นเรื่องไปเรียนรู้ ล้มก็รีบลุกเท่านั้นเอง” 

ฝันครั้งใหม่สร้าง RS มีมูลค่าแสนล้านในอีก 3 ปี 

เมื่อไม่นานนี้เฮียฮ้อเพิ่งประกาศ Vision 2023 มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และตั้งเป้าให้ RS มี market cap ประมาณ 100,000 ล้านบาทใน 3 ปี โดยโครงสร้างใหม่จะแบ่งประเภทธุรกิจออกเป็น 6 บริษัท แยกให้มีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบด้วย บริษัทแม่อย่างบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน), RS Multimedia บริษัทที่ดูแลทั้งช่อง 8 คลื่นเพลง COOL Fahrenheit และเรื่องออนไลน์ต่าง ๆ, RS Music บริษัทดูแลด้านเพลง 

RS LiveWell บริษัทด้าน Product Company มีแบรนด์อาทิ well u, Vitanature+ ฯลฯ  RS Mall ซึ่งเป็น Channel ของตัวเอง, บริษัท RS Connect เป็นธุรกิจใหม่ที่จัดโครงสร้างให้ชัดเจนหลังเข้าไปซื้อธุรกิจขายตรง ULife จากยูนิลีเวอร์ และสุดท้าย RS Pet All ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 

โดย 5 บริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาภายใต้โครงสร้างใหม่ ในอนาคตจะมีการ spin off ให้เติบโต และนำเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้สามารถระดมทุนแล้วขยายธุรกิจได้อย่างมีอิสระ

เป้าหมายแสนล้านใน 3 ปีที่ประกาศไป หลายคนอาจมองว่า ฝันไกลเกินไปหรือใหญ่ไปหรือไม่ เฮียฮ้อตอบว่า 'ไม่เป็นไร เพราะชีวิตของคนเราจะสนุกได้ ต้องสร้างเป้าหมายที่ท้าทาย ถึงจะทำให้มีพลัง' 

“เฮียตั้งวิชั่นแบบนี้ถามว่าท้าทายไหม ก็ท้าทาย แต่มันต้องท้าทายพอที่จะทำให้คน 60 อย่างเฮีย ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วมีไฟ สนุกที่จะทำกับมัน และนั่นเป็นเรื่องที่เฮียต้องวางกลยุทธ์ ทุ่มเท ทำงานกับทีม อีกอย่างหนึ่งอะไรที่เรากล้าประกาศออกไป ก็ต้องมี logic ในการไปถึง ไม่ใช่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ก็ดี ติดตามดูสัก 3 ปี