รู้จัก ‘ก้อง – ปาณัท สุทธินนท์’ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับเฟลโล่อายุน้อยสุดในยุคแรก ๆ

รู้จัก ‘ก้อง – ปาณัท สุทธินนท์’ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับเฟลโล่อายุน้อยสุดในยุคแรก ๆ

ทำความรู้จักกับ ‘ก้อง – ปาณัท สุทธินนท์’ รองกรรมการผู้จัดการด้านนวัตกรรมอายุน้อยที่สุดของ เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) และนักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับเฟลโล่ (Fellow) ที่อายุน้อยที่สุดในยุคแรกในประเทศไทย

  • ทำความรู้จัก 'นักคณิตศาสตร์ประกันภัย' ระดับเฟลโล่ (Fellow) ที่มีในประเทศไทยไม่เกิน 40 คน หนึ่งในอาชีพที่ยังขาดแคลน
  • ก้อง – ปาณัท สุทธินนท์ รองกรรมการผู้จัดการของ MTL ที่อายุน้อยที่สุด

หลายคนอาจจะงงว่า ‘นักคณิตศาสตร์ประกันภัย’ คืออะไรและมีความน่าสนใจอย่างไรในตลาดแรงงานประเทศไทย ซึ่งในอุตสาหกรรมประกันภัยถือว่าค่อนข้างมีความสำคัญต่ออนาคตและการเติบโตของธุรกิจเช่นเดียวกัน โดยบุคคลที่น่าสนใจและ The people อยากพาไปรู้จักก็คือ ‘ก้อง – ปาณัท สุทธินนท์’ รองกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต (MTL)

ทั้งนี้ อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย พูดง่าย ๆ ก็คือ คนที่มาดูแลด้านการวางระบบการเงินให้ลูกค้า โดยจะนำความรู้ด้านคณิตศาสตร์การเงินและตัวเลขสถิติต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือมาใช้กับผ่านการวิเคราะห์อดีต และจำลองอนาคต เพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งตำแหน่งนี้จะเอื้อประโยชน์ต่อทั้งลูกค้าและธุรกิจ

ซึ่งนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่ตลาดแรงงานทั่วโลกยกให้เป็นอาชีพที่ดีที่สุด และประสบความสำเร็จที่สุดอีกอาชีพหนึ่ง โดยเฉพาะในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา ขณะที่ในเมืองไทยมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับเฟลโล่ต่ำกว่า 40 คนเท่านั้น

โดยระดับเฟลโล่ เป็นระดับสูงสุดของสายอาชีพนี้ ซึ่งสูงกว่า 'ระดับแอสโซซิเอต' ที่จะเทียบเท่าความรู้ระดับปริญญาตรี 

 

เป็นเด็กที่รักในเรื่องตัวเลข

ก้อง เปิดใจคุยกับ The people ว่าเขาเป็นคนสนใจเรื่องตัวเลขตั้งแต่เด็ก ๆ และก็เป็นเด็กที่ชอบแข่งขันวิชาคณิศาสตร์อยู่แล้ว เขาเติบโตในครอบครัวที่เป็น ‘หมอ’ ทั้งพ่อและแม่ แต่ตัวเขารู้ตัวตั้งแต่เด็กว่าชอบคณิตศาสตร์ แต่ไม่ได้ชอบชีวะ เคมี ซึ่งก็เป็นวิชาที่แพทย์แต่ละคนต้องเคยผ่านมาทั้งนั้น

“ตั้งแต่เด็ก ๆ ผมก็เป็นเด็กแบบแข่งขันคณิตศาสตร์มาตั้งแต่แรก แล้วก็จริง ๆ พ่อแม่เป็นหมอ แต่ว่าเราไม่ได้ชอบชีวะเคมี ผมพยายามหาอาชีพที่มันเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ ซึ่งคณิตศาสตร์ประกันภัยสำหรับเมื่อก่อนคนไม่รู้จักเลย”

“ผมว่าอาจจะเป็นความบังเอิญหรือเป็นโชคชะตา คือได้ไปแข่งขันการตอบปัญหาทางด้านการเงินของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเมืองไทยประกันชีวิตเป็นสปอนเซอร์ แล้วก็ได้เจอกับผู้บริหารที่เป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมามอบรางวัล เขาก็เลยมาถามว่ารู้จักอาชีพนี้มั้ย? ซึ่งเขาบอกว่ามันเป็นอาชีพที่น่าสนใจอยากให้เราลองไปศึกษาดู ตั้งแต่นั้นผมก็เลยได้ไปศึกษา แล้วคิดว่ามันน่าจะตอบโจทย์เรา จึงเริ่มเรียนสายนี้จนได้ทำงาน ก็รู้สึกว่าก็เราเลือกถูกแล้วที่มาทำด้านนี้”

ก้อง ได้อธิบายเกี่ยวกับความสำคัญของคณิตศาสตร์กับธุรกิจประกันภัย โดยสมมุติว่า “ถ้าเราขายข้าวมันจะง่ายเพราะเรารู้ต้นทุนของเรา แต่ว่าประกันเนี่ยต้นทุนมันไม่แน่นอนครับ มันจะตายไม่ตาย จะเจ็บป่วยไม่เจ็บป่วย มันก็จะมีเรื่องของสถิติเรื่องของความน่าจะเป็นเข้ามาเกี่ยว คณิตศาสตร์ก็จะเข้ามาตรงนี้ ถ้าเราตั้งราคามั่วเนี่ยขายได้ก็จริง แต่ก็อาจจะสร้างความเสียหายไม่ยั่งยืน ผมว่าความยั่งยืนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะฉะนั้นก็เลยต้องมีหลักการของคณิตศาสตร์เข้ามาช่วยตรงนี้ครับ”

นักคณิตฯ ระดับเฟลโล่ยุคแรก ๆ

ก้อง ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในตำแหน่งที่คนเริ่มให้ความสนใจ เขามีอายุเพียง 31 ปีและได้รับตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต เป็นหนึ่งในรองกรรมการฯ ที่อายุน้อยที่สุดด้วย

เราจะพาย้อนไปเมื่อครั้งที่ ก้อง ยังอยู่ในวัยเรียน เขาจบการศึกษาหลักสูตรคณิตศาสตร์ประกันภัยโดยตรง (Actuarial science) จากมหาวิทยาลัยมหิดลด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00 ทั้งยังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคอร์ติน ประเทศออสเตรเลีย และคว้าเกรดเฉลี่ยมาได้ 4.00 เช่นเดียวกัน

อีกทั้ง ก้อง ยังเคยได้ทุนการศึกษาที่ดีที่สุดของสมาคมประกันชีวิตไทย (TLAA) และได้รับทุนจาก John Culver Woody อีกด้วย ขณะเดียวกันเขายังให้ความสนใจกับกิจกรรมทั้งฟุตบอลและดนตรี ซึ่งเขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับทั้ง 2 คลับด้วย

นอกจากนี้ ก้อง เป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพระดับ ‘เฟลโล่’ (Fellow) ตั้งแต่ตอนอายุ 23 ปีเท่านั้น ถือว่าเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทยช่วงยุคแรก ๆ เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ถือว่าเป็นยุคที่ค่อนข้างขาดแคลนหากเปรียบเทียบกับตอนนี้

“ผมเริ่มสอบ Fellow ตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ครับ ก็ใช้เวลาประมาณ 4 ปีเกือบ 5 ปีกว่าจะได้คุณวุฒิ Fellow”

“ผมคิดว่าตอนนี้ไม่ได้ขาดแคลนขนาดนั้น แต่คิดว่านักคณิตศาสตร์ที่เป็นคุณวุฒิ Fellow ในไทยน่าจะไม่เกิน 40 คนนะครับก็น่าจะขาดแคลนอยู่ เพราะว่าการที่จะเป็น Fellow ได้ก็ต้องสอบ เพราะเราต้องไปเซ็นนู่นนี่นั่น อย่างโปรดักส์ถ้าจะออกใหม่ก็ต้องเป็น Fellow เซ็นเท่านั้น”

“แต่อีกอย่างที่ผมคิดว่าขาดก็คือ การที่คนเราเป็นนักคณิตศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่จะคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล แต่ว่าจริง ๆ แล้วการขายของคุยกับคนมันไม่ได้เป็นเหตุเป็นผล 100% ดังนั้น สิ่งที่ขาดก็คือ นักคณิตศาสตร์ที่มีทั้งเรื่องของ logic (ตรรกะ) แล้วก็เรื่องของ commercial (เชิงพาณิชย์) เพราะบางคนจะมีแค่ logic มันก็จะคุยไม่ค่อยรู้เรื่อง ผมว่าที่ขาดก็คือคนที่มีสกิลครบทั้ง 2 ด้านครับ”

 

สิ่งที่อยากเปลี่ยนในฐานะนักคณิตฯ

สำหรับ ก้อง เขามองว่า ในประเทศไทยมีปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่ง ก็คือ ‘protection gap’ (ช่องว่างความคุ้มครอง) โดยก้อง ได้พูดยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นคือ “สมมุติว่าเราเป็นหัวหน้าครอบครัว ก็จะเป็นคนหารายได้ให้ครอบครัวเป็นหลัก แต่ถ้าสมมุติเราเป็นอะไรไป ต้องมาคิดว่าครอบครัวจะต้องการเงินเท่าไหร่ถึงจะ Maintain Standard of Living ก็คือ เพื่อให้พยุงการใช้จ่ายหรือค่าครองชีพเดิมได้ต่อไป”

“ทุกวันนี้ในประเทศไทย gap หรือช่องว่างตัวนี้ค่อนข้างสูงถึง 40 ล้านล้านบาท ถือเป็นปัญหาสังคมที่ใหญ่มาก ดังนั้น หนึ่งในภารกิจที่คิดว่าอยากทำก็คือ gap ตัวนี้ เราคิดว่าประกันเป็นหนึ่งในโซลูชั่นที่มาแก้ไขปัญหานี้ได้ ในรูปแบบของโปรดักส์ที่เราออกแบบมาให้ตอบโจทย์”

ตลอด 9 ปีที่ผ่านมาที่ ก้อง ได้ทำงานกับ MTL ได้ดูแลรับผิดชอบในหลายตำแหน่งที่สำคัญ ซึ่งในปัจจุบัน ก้อง ดูแลกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ด้านราคาและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งหมด, กิจกรรมทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด และดูแลสนับสนุนด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยทั้งหมดสำหรับบริษัทร่วมทุนของเมืองไทยประกันชีวิตในภูมิภาค CLMV

ทั้งนี้ ก้อง ได้พูดกับเราในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ว่า “สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ผมคิดว่าการทำงานเงินอาจไม่ใช่ทั้งหมด ถามว่าเงินสำคัญมั้ย ก็ยังสำคัญ แต่ว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด เราอยากมี mission ที่มันใหญ่กว่าตัวเอง something bigger than yourself คือผมคิดว่าในช่วงชีวิตนี้ก่อนที่จะเกษียณ อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา protection gap ของประเทศไทยไม่มากก็น้อย มันเป็น mission ที่อยากสร้าง impact ให้ได้”

สุดท้ายสิ่งที่ ก้อง พูดทิ้งท้ายคือ “นักคณิตศาสตร์ฯ สุดท้ายอาจจะโดน disrupt ก็ได้เพราะ AI เข้ามาแบบ ChatGPT ซึ่งอาชีพเราก็อาจจะสูญพันธุ์ มันเป็นไปได้ทั้งนั้นครับ สำหรับผมถ้าเราคิดว่าเราเป็นแค่ นักคณิตศาสตร์ฯ ตายแน่เลย แต่ว่าถ้าเราคิดว่างานเราสามารถสร้าง value ให้บริษัท เราเป็นสินทรัพย์ เราทำตัวเองให้เป็นสินทรัพย์ของบริษัท นั่นคือโอกาสที่จะตกงานก็น้อยลง”

“สิ่งที่ผมจะสื่อก็คือ เราทุกคนต่างมีคุณค่าของตัวเอง ในบริษัทเราเป็นฟันเฟือง ดังนั้นถ้าขาดฟันเฟืองตัวใดตัวหนึ่งไปเนี่ย บริษัทมันก็เดินไปไม่ได้ครับ ผมคิดว่าทุกคนก็มี value สิ่งที่อยากจะฝากก็คือว่าพยายามคิดว่าเราจะสร้าง value ให้บริษัทได้ยังไงมากกว่า”

 

ภาพ: MTL