9 เทรนด์การทำงานในปี 2023 ที่ ‘องค์กร’ ต้องรู้ เพื่อรับมือ

9 เทรนด์การทำงานในปี 2023 ที่ ‘องค์กร’ ต้องรู้ เพื่อรับมือ

เปิด 9 เทรนด์การทำงานในอนาคตสำหรับปี 2023 ที่องค์กรต้องรู้ และปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อแก้เกมคนลาออก

  • แม้วิกฤตโรคระบาดจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมายังคงอยู่
  • รวมถึง 'ระบบการทำงาน' ที่องค์กรต้องเรียนรู้ เพื่อปรับตัวให้เหมาะกับสถานการณ์
  • และนี่ คือ 9 เทรนด์การทำงานในปี 2023

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมากับวิกฤตโรคระบาดได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ให้กับทุกภาคส่วน รวมถึงองค์กรภาคธุรกิจที่นอกจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังมีผลต่อระบบการทำงาน ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องวางกลยุทธ์เรื่องนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดขึ้นนี้ 

9 เทรนด์การทำงานในอนาคตสำหรับปี 2023 

1. Quiet hiring ช่วงกลางปี 2022 คำคำนี้ถือว่ามาแรงมากในแวดวงองค์กร โดย Quiet hiring คือ การให้คนทำงานทำมากกว่าบทบาทเดิมที่ได้รับ โดยไม่จ้างพนักงาน full-time เข้ามาช่วย หรือจะว่ากันตรง ๆ ใครทนได้ก็ทน หรือใครสามารถพัฒนาตัวเองให้โตไปในทางอื่นได้ ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ใครทนหรือปรับตัวไม่ได้ ก็ลาออกไป ซึ่งวิธีนี้เริ่มเห็นมากขึ้นในช่วงหลังมานี้

2. Hybrid flexibility การวางระบบการทำงานให้ยืดหยุ่น ซึ่งคำนี้เราได้ยินกันบ่อยมากขึ้น ทั้งระบบการทำงานที่อาจจะไม่ต้องเข้าออฟฟิศเต็มรูปแบบ เข้าบ้างบางวัน ระยะเวลาการทำงานที่ไม่กำหนดเวลาชัดเจนมากขึ้น งานเสร็จ กลับบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่โต๊ะทั้งวัน แต่ให้เน้นผลลัพธ์เป็นสำคัญ รวมถึงวันลาที่ให้อิสระมากขึ้นโดยไม่หักเงินเดือน

3. Managers need support เป็นระบบการทำงานที่จะต้องเอื้อประโยชน์ต่อกันมากขึ้น ด้วยการมุ่งเน้นความเป็น ‘ทีมเวิร์ก’ มากกว่าเดิม ไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งไหน เหนือกว่าหรือล่างกว่าใคร ทุกหน้าที่ต้องเกื้อกูลและสนับสนุนกันและกัน รวมถึงต้องลดช่องว่างและความกดดันต่าง ๆ ออกให้มากที่สุด อย่างทีม Managers ต้องการคนทำงานที่ใส่ใจและวางรากฐานดีมาตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้การทำงานในขั้นตอนท้ายง่ายขึ้น เป็นต้น

4. Pursuit of nontraditional candidates เทรนด์นี้น่าสนใจสำหรับใครที่คิดจะเปลี่ยนสายงาน  เพราะปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ มีทัศนคติเปิดกว้างในเรื่องนี้มากขึ้น ไม่จำเป็นที่คุณต้องจบหรือทำงานก่อนหน้ามาตรงสายกับสิ่งที่สมัคร ความคิด ทัศนคติ และความสามารถ คือสิ่งที่องค์กรมองว่า ‘สำคัญ’ และนั่นคือสิ่งพิสูจน์ได้ว่า คุณทำงานตอบโจทย์ความต้องการของเขาได้จริงหรือไม่ ประสบการณ์เดิมไม่ใช่ตัวชี้วัดที่สำคัญอีกต่อไป

5. Healing pandemic trauma สุขภาพกายและใจของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งในสภาวะโลก ณ ตอนนี้ มองไปทางไหนก็น่าหดหู่ไปหมด ทั้งเศรษฐกิจ การลงทุน สงคราม และโรคระบาด ฯลฯ เรียกได้ว่ามีแต่เรื่องชวนเครียด ซึ่งหลาย ๆ องค์กรเข้าใจถึงปัญหาอาการ ‘ป่วยใจ’ เหล่านี้ดี จึงได้พยายามออกนโยบายต่าง ๆ ให้ลูกจ้างออกไปใช้ชีวิตพักผ่อน เติมเต็มแรงบันดาลใจมากขึ้น อย่างการเพิ่มวันลา เพิ่มงบให้กับงานอดิเรก หรือออกค่าใช้จ่ายในส่วนของสตรีมมิงและเอนเตอร์เทนต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อดูแลจิตใจของพนักงานให้ดีขึ้น

6. Organizations bolster DEI ต้องเริ่มต้นอธิบายคำว่า DEI กันก่อนเป็นอันดับแรก โดยคำนี้ย่อมาจากคำว่า Diversity (ความหลากหลาย), Equity (ความเสมอภาค) และ Inclusion (การอยู่ร่วมกัน) ซึ่งทั้งสามเรื่องนี้เป็นสิ่งที่องค์กรใหม่ ๆ ให้ความสำคัญ และพยายามทำให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ทั้งการยอมรับความแตกต่างทางเพศอย่างไม่แบ่งแยก ทุกวิชาชีพไม่มีเรื่องเพศเป็นข้อจำกัด หากคุณมีความสามารถ รวมถึงการอยู่ร่วมกันแบบรับฟังความคิดเห็น 

7. Collect data by technologies จากความเชื่อที่มองคนทำงานเป็น ‘มนุษย์’ มากขึ้น บริษัทต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญกับพนักงานมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ สถานภาพความเป็นอยู่ ครอบครัว ฯลฯ ผ่านระบบ AI หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อความเป็นส่วนตัว แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ สำหรับกำหนดนโยบาย วิธีช่วยเหลือหรือแนะนำข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข

8. Organizations use AI การใช้ AI เก็บข้อมูลหรือช่วยสกรีนคนตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัครงาน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดี คือ ประหยัดเวลา รวดเร็ว สะดวกง่าย แต่เสียตรงที่ว่า บางครั้ง AI ก็เถรตรงเกินไป จนอาจจะทำให้องค์กรเสียโอกาสจ้างพนักงานที่มีความสามารถผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนี้การใช้ AI ในระบบการทำงานที่มากขึ้น หลาย ๆ คนยังค่อนข้าง Concern ในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล กลัวจะไม่ปลอดภัยจริง ๆ 

9. Gen Z skills gaps reveal เทรนด์ของการทำงานที่ร้อนแรงในช่วงนี้ และไม่พูดถึงไม่ได้ อย่างที่เราทราบกันดีว่าช่องว่างระหว่าง Gen เป็นปัญหาที่ทุกองค์กรต้องพบเจอ โดยเฉพาะการทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ เอาจริง ๆ การจัดการเรื่องนี้ให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์นั้นบอกเลยว่าไม่มีคำตอบที่ตายตัว ต้องเน้นความเข้าใจกึ่งทำใจ ถือเป็นศิลปะการสื่อสารเฉพาะบุคคล เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ทุกคนในองค์กรต้องพบเจอ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยไหน หนีไม่พ้นแน่นอน

นี่เป็น 9 เทรนด์การทำงานในอนาคตสำหรับปี 2023 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การทำงานในยุคนี้ เรื่องเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และส่งผลให้ทั้งองค์กรและพนักงานต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ให้ได้ 

.

ภาพ : istockphoto

อ้างอิง : JobsDB