‘รัส’ ธัญย์ณภัคช์ CEO ชาการัน : 5 ทักษะสำหรับผู้ประกอบการที่จะเป็นผู้นำไม่ใช่ผู้ตามในปี 2024

‘รัส’ ธัญย์ณภัคช์ CEO ชาการัน : 5 ทักษะสำหรับผู้ประกอบการที่จะเป็นผู้นำไม่ใช่ผู้ตามในปี 2024

‘รัส’ ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ CEO ชาการัน หรือ Karun Beverage Thailand (Karun Thai Tea) แนะ 5 ทักษะสำหรับผู้ประกอบการในปี 2024

  • ปี 2024 อาจเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่สิ่งที่แบรนด์ต้องรู้ คือ การเข้าใจตัวเอง และรู้จักลูกค้า
  • ‘รัส’ ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ CEO Karun Beverage Thailand (Karun Thai Tea) บอกว่า แบรนด์จะแตกต่างก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการมีเป้าหมายชัดและมีความเป็นผู้นำ พาองค์กรไปข้างหน้า
  • “เราไม่ใช่คนเดียวที่คิดสูตรสำเร็จได้” คือหนึ่งในทักษะที่ผู้ประกอบการควรมีและนึกถึงในการทำธุรกิจ

 

เชื่อว่าปี 2023 ถือเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัวอีกครั้ง มีห้างสรรพสินค้าเปิดตัวหลายแห่ง ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของธุรกิจที่จะมีช่องทางในการขายมากขึ้น

และปี 2024 เองก็เป็นอีกหนึ่งปีที่ภาคธุรกิจจะต้องเดินหน้าต่อ เข้าใจตัวเองให้มากขึ้น เพื่อสร้างสินค้าที่ตอบโจทย์ตัวตนของแบรนด์และตอบโจทย์ลูกค้าไปในเวลาเดียวกัน 

เพราะสิ่งสำคัญของการทำธุรกิจ คือ การที่แบรนด์เป็นที่จดจำและนั่งอยู่ในใจของลูกค้าให้ได้

บนเวที ‘AP Thailand Presents CTC FORECAST 2024 รู้ก่อน เริ่มก่อน เปลี่ยนแปลงก่อน’ ในหัวข้อ Enterpernuer Forecast ‘รัส’ ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ CEO Karun Beverage Thailand (Karun Thai Tea) หรือ ชาการัน บอกว่า จุดที่จะทำให้แบรนด์แตกต่างจากคนอื่น คือ การเข้าใจตัวเอง และเข้าใจลูกค้า

นอกจากนี้ เธอยังพูดถึงสิ่งที่ผู้บริการต้องเตรียมพร้อมในปี 2024 ไว้ว่า เจ้าของแบรนด์จำเป็นต้องมี 5 ทักษะของผู้ประกอบการสำหรับพัฒนาคน พัฒนาแบรนด์ พัฒนาบริการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำเทรนด์ ไม่ใช่คนตามในปี 2024

1. เข้าใจว่าสูตรสำเร็จไม่ได้มีแค่เราคนเดียวที่คิดได้

รัสบอกว่า แม้ปัจจุบันหลายธุรกิจจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาสินค้าให้แข็งแกร่งและลดกำลังคนได้ แต่เทคโนโลยีเหล่านั้นอาจไม่เท่ากับการที่แบรนด์เข้าใจพฤติกรรมและความเป็นมนุษย์ของลูกค้าคนหนึ่ง

“พวกสูตรสำเร็จอาจจะไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่คิดได้ แต่จุดที่ทำให้เราแตกต่างคือ ศิลปะและความเข้าใจมนุษย์

“แบรนด์ต้องคิดให้ครบ แต่จะคิดครบได้ เราต้องทำอะไรเป็น loop จนเราเข้าใจทุกอย่าง เพราะทุกวันนี้คนเก่งขึ้นทุกวัน การแข่งขันสูงมาก นายทุนใหญ่พร้อมแตกตัวเองเป็นแบรนด์เล็ก ๆ”

 

2. รู้จักตัวเองให้ดีที่สุด

ข้อที่สอง รัสพูดถึงการเข้าใจแบรนด์ตัวเองว่า ถนัดและเก่งอะไร เพื่อมองหาทีมและจุดยืนของแบรนด์ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรเห็นภาพเดียวกัน แล้วสร้างเอกลักษณ์แบรนด์ไปด้วยกัน

“สิ่งที่สำคัญ คือ เราเข้าใจตัวเอง เราถนัดอะไร เก่งอะไร สิ่งนี้ส่งผลต่อการสร้างองค์กรในอนาคต ถ้าเราเข้าใจตัวเอง เราจะรู้ว่าสิ่งที่เรามองหา เพื่อนร่วมทีม จุดยืนของตัวเองเป็นอย่างไร”

 

3. มีความเป็นผู้นำ

ไม่ใช่แค่แบรนด์ที่ต้องเข้าใจและมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ผู้บริหารเองก็ต้องมีความเป็นผู้นำ ชัดเจนในการทำงาน แนะแนวทางได้ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรช่วยเหลือกัน ค่อย ๆ ช่วยกันปูทางที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้ได้สำเร็จ

“ทักษะความเป็นผู้นำ ไม่จำเป็นต้องนำมาก แต่ทุกคนควรมีหัวใจความเป็นผู้นำ เพื่อทำให้องค์กรเดินได้สะดวกขึ้น นำทีมด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน”

4. หมดยุคขายตรง เพราะลูกค้ายุคนี้รู้ว่า เขาเดินมาหาเราด้วยเหตุผลอะไร

สมัยก่อน การตลาดแบบขายตรงอาจเป็นเรื่องสำคัญ ทุกแบรนด์พยายามจะเข้าถึงลูกค้าด้วยวิธีการที่หลากหลายผ่านทางออฟไลน์และออนไลน์ แต่ลูกค้ายุคปัจจุบัน พวกเขาจะจดจำแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ ชัดเจนในทางของตัวเอง

“หาจุดยืนให้ชัดเจน สุดท้ายเราไม่สามารถวิ่งไปตะโกนหาลูกค้า เพื่อขายของได้อีกต่อไปแล้ว เราต้องหาว่าจะใช้วิธีไหน ประสบการณ์ไหน เพื่อดึงดูดใจให้กับลูกค้า เพราะเขาเดินมาที่นี่ เพื่อสิ่งนี้ ฟังแล้วอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเดิม ๆ แต่อะไรเดิม ๆ ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ ไม่ใช่ตื่นมาแล้วทำได้เลย ต้องเก็บข้อมูลและทำความเข้าใจลูกค้า”

 

5. empathy ลูกค้า แล้วเราจะเป็นคนนำเทรนด์ ไม่ใช่คนตาม

สำหรับรัส การเข้าใจลูกค้า คือ สิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ

ย้อนกลับไป 5 ปีก่อน เธอทำความรู้จักตลาดด้วยการเข้าไปนั่งร้านกาแฟ และสังเกตลูกค้าที่สั่งชาไทยจากร้านกาแฟ ถามเหตุผลลูกค้าในการเลือกซื้อเครื่องดื่มแลกกับลูกอม 1 เม็ด

ตอนนี้เธอทำความรู้จักลูกค้าด้วยการดูไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่แท็กร้านของเธอผ่านโซเชียลมีเดียช่องทางต่าง ๆ 

“empathy ที่มีให้ผู้บริโภคสำคัญที่สุด พยายามทำความเข้าใจลูกค้า เขาไม่ได้มาซื้อชาแล้วกลับบ้าน เราไปดูว่าลูกค้าที่แท็กร้านเราในไอจีหรือติ๊กต็อก ติดตามใคร สิ่งเหล่านี้ข้อมูลที่ทำให้เรา forecast ตลาดได้ไกลขึ้น การดูลูกค้าเท่าที่เขาอยากให้เราดู ทำให้เราไม่ตามตลาด แต่เป็นผู้นำเทรนด์ เหมือนเข้าใจลูกค้าล่วงหน้า”

และสิ่งนี้ รวมถึงวันที่แบรนด์ต้องการขยายสินค้าไปต่างแดน การเข้าใจและ empathy ลูกค้าในแต่ละประเทศก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง เพื่อสรรหาผลิตภัณฑ์ การบริการ หรือสินค้าที่ตรงใจกับวิถีชีวิตของลูกค้าประเทศนั้น ๆ 

“ถ้าเราอยากออกไปต่างประเทศ ต้องเข้าใจคาแรกเตอร์และคุณค่าที่เขามองหา หรือถ้าจะนำสินค้าเข้าประเทศไทย ก็ต้องดูว่า คนไทยให้คุณค่ากับอะไร คนไทยอาจจะให้ presenting ลุค แต่บางประเทศไม่สนใจเพราะฉะนั้นการจะเอาอะไรเข้ามา ก้ต้องดูด้วยว่ามัน presentable”

นอกจาก 5 ทักษะนี้ อาจมีอีกหลากหลายทักษะที่เจ้าของแบรนด์ยุคใหม่ต้องเรียนรู้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แต่อย่างที่รัสบอก แบรนด์ต้องรู้จักตัวเอง รู้จักลูกค้า มีเป้าหมาย เพื่อให้เราเป็นคนสร้างเทรนด์ที่ลูกค้าแฮปปี้ แบรนด์เองก็แฮปปี้ 

 

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ภาพ : CTC FORECAST 2024