อมฤต เจริญพันธ์ ผู้ร่วมปลุกปั้น HUBBA โคเวิร์กกิ้ง สเปซ ยุคบุกเบิกของเมืองไทย

อมฤต เจริญพันธ์ ผู้ร่วมปลุกปั้น HUBBA โคเวิร์กกิ้ง สเปซ ยุคบุกเบิกของเมืองไทย

ผู้ร่วมปลุกปั้น HUBBA โคเวิร์กกิ้ง สเปซ ยุคบุกเบิกของเมืองไทย

“ธุรกิจที่ดีที่สุดที่ควรจะเริ่มคือการหาสิ่งที่อยากใช้และยังไม่มีใครทำ หมายความว่าเราสามารถเป็นลูกค้าของเราได้ เพราะเราจะคิดและวิเคราะห์เหมือนเราเป็นลูกค้า” ยุคนี้ "โคเวิร์กกิ้ง สเปซ" ดูจะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ถ้าย้อนไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน แนวคิดแบ่งพื้นที่ให้คนไม่รู้จักกันมานั่งทำงานด้วยกัน อาจเป็นเรื่องแปลกและแทบไม่มีใครคิดว่าจะไปรอด แต่ อมฤต เจริญพันธ์ เจ้าของประโยคข้างต้น เลือกจะเดินหน้าไปให้สุดท่ามกลางสายตากังขาของหลายคนรอบข้าง แต่เขาก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า “รอด” แถมยังโตได้ดีอีกต่างหาก ทุกวันนี้ HUBBA ที่เขาและพี่ชายคือ ชาล เจริญพันธ์ ร่วมกันปลุกปั้น ขยายตัวจนมีหลายสาขา กลายเป็นโคเวิร์กกิ้ง สเปซ สายเลือดไทยที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของบ้านเราไปแล้ว ไม่เพียงเท่านั้นยังมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพเมืองไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นอีกด้วย   “ริชาร์ด แบรนสัน” คือไอดอล อมฤตเป็นคนชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ เมื่อการเรียนปริญญาตรีในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ตอบโจทย์ความอยากรู้ อมฤตจึงค้นหาว่าตัวเองชอบอะไรด้วยการไปเข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่สนใจ และขอฝึกงานในบริษัท 4-5 แห่ง ก่อนจะกลับมาเรียนจนจบโดยใช้เวลา 4 ปีครึ่ง ช่วงนั้น เขาอ่านหนังสือชีวประวัติของ ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) นักธุรกิจชาวอังกฤษเจ้าของกลุ่มเวอร์จิน ซึ่งมีทั้งธุรกิจสายการบิน โรงแรม สุขภาพ ฯลฯ ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจสักอย่างตั้งแต่วัยเด็ก กระทั่งตัดสินใจออกจากห้องเรียนตอนวัยรุ่นเพื่อมาทำฝันให้เป็นจริง และประสบความสำเร็จในระดับโลก ชีวประวัติของแบรนสันโดนใจอมฤตอย่างแรง โดยเฉพาะเรื่องความกล้าที่จะคิดและลองทำสิ่งใหม่ที่อาจกลายเป็นธุรกิจใหญ่ได้ อมฤตจึงมองหาสิ่งที่เขาสามารถอยู่กับมันได้นานและมีความสุข แต่ก็ยังไม่เจอจริงจัง ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่เคยหยุดฝันถึงการสร้างอะไรใหม่ๆ   พลิกวิกฤต “น้ำท่วม” ให้เป็นโอกาส ปี 2554 เป็นปีที่กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมใหญ่ จนหลายคนตัดสินใจย้ายไปใช้ชีวิตต่างจังหวัดชั่วคราว รอให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วค่อยกลับมา ชาลและอมฤตก็เช่นกัน ทั้งคู่ย้ายไปอยู่ จ.ชลบุรี และมีความคิดร่วมกันว่าอยากสร้างอะไรใหม่ๆ ยิ่งถ้าสิ่งนั้นสามารถช่วยคนอื่นได้ก็ยิ่งดี โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งยังไม่มี “ชุมชน” ที่จะมารวมตัวกันเพื่อระดมความคิดในสถานที่ที่แวดล้อมไปด้วยคนดีเอ็นเอเดียวกัน อีกทั้งไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ไม่จำกัดตัวเองแค่ในสำนักงานแบบเดิมๆ แต่เป็นที่ไหนก็ได้ ก็ยิ่งได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ หลังจากคุยแนวคิดกันได้ราว 30 นาที สองพี่น้องที่อยู่ในวัย 20 กว่าปี ก็ตัดสินใจเดิมพันอนาคตกับธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า “โคเวิร์กกิ้ง สเปซ” และลุยสร้างฝันกันแบบเต็มสูบในปลายปี 2554 แม้ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย แต่ทรัพย์สินมีเท่าไหร่ ชาลและอมฤตก็เอามาเป็นทุนตั้งต้นเกือบทั้งหมด เมื่อพ่อและแม่เห็นความตั้งใจจริงของลูกชาย จึงแบ่งเงินเกษียณอายุและขายที่ดินผืนหนึ่งใน จ.นครราชสีมา เอามาให้ลูกๆ ใช้เป็นทุน   สร้างโคเวิร์กกิ้ง สเปซ ด้วยแนวคิด “ซิลิคอน วัลเลย์” โจทย์ในการหาทำเลของ HUBBA สาขาแรก คือต้องเดินทางสะดวก แต่ต้องไม่เข้าไปใจกลางเมือง ไม่ใช่เพราะค่าใช้จ่ายสูงกว่าพื้นที่อื่น แต่เพราะอมฤตให้เหตุผลว่า... “สังคมที่มีความคิดสร้างสรรค์จะหนีจากกลางเมืองออกไปเรื่อยๆ อย่างซิลิคอน วัลเลย์ ก็ตั้งอยู่นอกเมืองซานฟรานซิสโก” หลังจากหาสถานที่ที่เหมาะจะเป็นบ้านหลังแรกของ HUBBA อยู่พักใหญ่ ท้ายสุดก็ได้บ้านหลังหนึ่งย่านเอกมัยที่ตรงกับสเป็กทุกอย่าง สองพี่น้องปรับปรุงบ้านให้กลายเป็นโคเวิร์กกิ้ง สเปซ เน้นกลุ่มลูกค้าสตาร์ทอัพอย่างที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น ขาดไม่ได้คือการสร้าง “บรรยากาศ” ความเป็นชุมชนให้เกิดขึ้น ที่นี่จึงมีทั้งการจัดเวิร์กช็อป งานเสวนาเล็กๆ เพิ่มความรู้ในสายสตาร์ทอัพ เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักกันและต่อยอดสายสัมพันธ์ในวงการไปในตัว แม้จะไม่ใช่ธุรกิจเดียวกันก็ตาม   ดาวรุ่งพุ่งแรง ผลลัพธ์ของการทำงานหนักคุ้มค่าเสมอ เพราะเมื่อสร้างความรับรู้ให้คนทั่วไปเข้าใจว่าโคเวิร์กกิ้ง สเปซ คืออะไร ประกอบกับกระแสการทำงานนอกสำนักงานมาแรงมากขึ้น กลายเป็นตัวหนุนธุรกิจของสองพี่น้องให้เติบโต HUBBA ได้ผลตอบรับที่ดี ทั้งยังได้เงินทุนสนับสนุนจาก Venture Capital (VC) ชื่อดังอย่าง 500 Startups, Golden Gate Ventures ชาลและอมฤตจึงมองหา “ก้าวต่อไป” ที่จะทำให้ธุรกิจของพวกเขาเติบโตมากขึ้น ทั้งการขยับไปเป็นผู้ร่วมลงทุนใน PUNSPACE โคเวิร์กกิ้ง สเปซ ใน จ.เชียงใหม่ และยังก่อตั้งเว็บไซต์ Techsauce ให้ข้อมูลข่าวสารด้านเทคโนโลยี เป็นต้น จากธุรกิจโคเวิร์กกิ้ง สเปซ ยุคแรกๆ ที่มีทั้งรุ่งและร่วง แต่ HUBBA ก็สร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเอง ทั้งการเปิดสาขาเอง และเป็นพาร์ทเนอร์กับเจ้าอื่น จนปัจจุบันมี 4 สาขา ซึ่งแต่ละที่ก็มีคาแรกเตอร์แตกต่างกัน เอกมัยออกแบบให้มีความรู้สึกอบอุ่นเหมือนทำงานที่บ้าน สยามดิสคัฟเวอรีเป็นพื้นที่สำหรับคนที่สนใจแฟชัน การตลาด ส่วน HUBBA TO สุขุทวิท 77 (อ่อนนุช) เป็นโค-ครีเอชั่น สเปซ มีพาร์ทเนอร์คือ “แสนสิริ” บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของไทย จึงต้องออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับความเป็นครอบครัวมากขึ้น และสาขาที่สี่คือสีลม ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ stock2morrow แพลตฟอร์มด้านการลงทุน จึงเน้นบรรยากาศความเป็นโคเวิร์กกิ้ง สเปซ ด้านการเงิน การลงทุน “คุณต้องคิดว่าอาจล้มเหลวได้ แต่ต้องมีไหวพริบปฏิภาณพอที่จะคิดแก้ปัญหาก่อนคุณจะล้ม พอก้าวข้ามความกลัวแล้วก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง ถ้ายังไม่ดีพอต้องแก้ไขให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อาจต้องเจอแรงเสียดทานทั้งจากตัวเรา ครอบครัว หรือเพื่อน ผมคิดว่าถ้าล้มเหลว มันไม่ใช่แค่เรา แต่ยังมีคนข้างหลัง เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ดี...ห้ามล้มเหลว” อมฤตบอก   ภาพ : อมฤต เจริญพันธ์   ที่มา นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับสิงหาคม ปี 2558 https://www.hubbathailand.com/co-working-space