14 ก.พ. 2566 | 16:35 น.
- เมื่อเราได้รับซองเพื่อเชิญไปร่วมงานใดๆ ก็ตาม คำถามที่มักจะตามมาเสมอ ก็คือ ‘ต้องใส่ซองเท่าไร’ ถึงจะเหมาะสม
- ปัญหานี้สะดุดใจ TypeThai ให้พัฒนา ‘ระบบคำนวณเงินใส่ซอง’ ขึ้นมา
- สูตรการคำนวณจะยึด 2 ปัจจัยหลัก ‘รายได้แต่ละเดือน-ความใกล้ชิด’ และ 1 ปัจจัยรอง ‘ความสำคัญของงาน’
‘ต้องใส่ซองเท่าไร ?’ เป็นคำถามที่มักจะเกิดขึ้นกับหลาย ๆ คนเมื่อได้รับซองเชิญไปร่วมงานต่าง ๆ และปัญหานี้ดูเหมือน (น่า) จะหมดไป ด้วยโปรแกรม ‘คำนวณเงินใส่ซอง’ ที่ TypeThai ได้พัฒนาขึ้นมาแก้ Pain Point ที่เกิดขึ้น
ย้อนไปในปี 2562 ทางทีม TypeThai ผู้ผลิตคอนเทนต์ที่หยิบเรื่องราวไทย ๆ หรือประเด็นที่อยู่ในกระแสความสนใจของผู้คนมานำเสนอ เกิดสะดุดกับคำถามที่ว่า ‘ต้องใส่ซองเท่าไร’ ซึ่งเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จึงสนใจแล้วนำมาเป็นโจทย์สำหรับหาทางออกของปัญหา
จากนั้นเพื่อจะให้ได้ข้อมูลมากำหนดสูตรในการคำนวณ ทางทีมได้ทำรีเสิร์ช ด้วยการไปพูดคุยกับคนใกล้ชิดว่า หากต้องใส่ซองงานใดงานหนึ่ง เหตุผลหรือหลักในการตัดสินใจจะคำนึงถึงปัจจัยอะไรบ้าง
สิ่งที่ได้ คือ การตัดสินใจแต่ละครั้งจะมาจาก 2 ปัจจัยหลัก และ 1 ปัจจัยรอง โดย 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ‘รายได้ของตัวเองในแต่ละเดือน’ และ ‘ความสนิทสนมของคนที่เราจะใส่ซองให้’ ถ้าสนิทมาก จำนวนเงินในการใส่ซองอาจเพิ่มขึ้น หากสนิทน้อย จำนวนเงินก็จะลดหลั่นกันไป
ส่วนปัจจัยรองอยู่ที่ ‘ความสำคัญของงาน’ ว่างานนั้นเป็นงานอะไร ถ้าเป็นงานที่จัดครั้งเดียวในชีวิต ยกตัวอย่าง งานบวช จะใส่ซองเยอะหน่อย เป็นต้น
“ตอนแรกเรากังวลอาจจะมีหลายคนตั้งคำถามว่า ค่ามาตรฐานกลางในการคำนวณคืออะไร เราเลยไปสอบถามกับกูรูด้านการเงินด้วยว่า จริง ๆ แต่ละเดือนควรใส่ซอง ซึ่งเป็นเหมือน ‘ภาษีสังคม’ เท่าไร และค่าเฉลี่ยเหมาะสมที่ได้ คือ 2% ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน เราก็นำมาใช้ในการทำสูตรคำนวณด้วยเพื่อความน่าเชื่อถือ” ทีม TypeThai เล่าให้ฟัง
เมื่อได้สูตรในการคำนวณแล้ว ขั้นตอนต่อมา ‘ทำอย่างไรให้ใช้งานได้ง่าย’ จึงเป็นที่มาของการให้กรอกข้อมูลอย่างที่เห็น เริ่มจาก ‘ความสำคัญของงาน’ เช่น ซองงานบวช งานแต่ง งานศพ งานทำบุญเลี้ยงพระ ให้อั่งเปาช่วงตรุษจีน ซองกฐิน ซองผ้าป่า มูลนิธิด้านการกุศล
ถัดมา ‘ความใกล้ชิด’ ของคนใส่ซองกับคนที่จะต้องใส่ซองได้ ซึ่งจะไล่ระดับความสัมพันธ์ตั้งแต่ขั้นสนิทมากไปจนถึงคนรู้จักและญาติที่ไม่รู้จัก, ตามด้วย ‘รายได้ต่อเดือน’ และ ‘ไปร่วมงานหรือไม่’ จากนั้นจะได้ผลลัพธ์ของจำนวนเงินในการใส่ซองออกมา
ทางทีม TypeThai บอกว่า ระบบคำนวณนี้เปิดตัวไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจและเสิร์ชหาเป็นช่วง ๆ เพราะเป็นประเด็นที่มักจะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในสังคมไทย รวมถึงมีคนเรียกร้องให้อัปเดตระบบให้เข้ากับยุคปัจจุบัน เพราะหลายคนที่ได้ทดลองใช้ได้ฟีดแบ็กกลับมาว่ามีประโยชน์ เนื่องจากนำไปใช้ได้จริง ใช้งานง่าย และน่าเชื่อถือ เพราะมีที่มาที่ไปของการคำนวณ
นอกจากระบบคำนวณเงินใส่ซองแล้ว ทางทีม TypeThai ยังมีการโปรเจกต์น่าสนใจอีกหลายโปรเจกต์ อาทิ การคำนวณว่า หากต้องการได้เงินล้านต้องใช้เวลาเก็บเงินเท่าไร ฯลฯ โดยโปรเจกต์ที่จะนำมาพัฒนานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องไทย ๆ ที่อยู่รอบตัวของเรานั่นเอง