จับตาก้าวใหม่ ‘ทรูXดีแทค’ หลังรวมเป็น ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’

จับตาก้าวใหม่ ‘ทรูXดีแทค’ หลังรวมเป็น ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’

จับตาก้าวใหม่ของ ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดรวม 2.94 แสนล้านบาท ซึ่งเกิดจากการควบรวมระหว่าง ‘ทรู’ และ ‘ดีแทค’ ที่หลายคนจับตาถึงทิศทางต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร

  • การควบรวมกิจการของ ‘ทรู’และ ‘ดีแทค’ ได้เสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2566
  • หลังจากนี้การดำเนินการของทั้งสองบริษัทจะอยู่ภายใต้บริษัทใหม่ นั่นคือ ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’
  • เป้าหมายของบริษัทใหม่นี้ ก็คือ การเป็น Telecom tech company ชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลังจากวันที่ 1 มีนาคม 2566 การควบรวมกิจการของ ‘ทรู’ และ ‘ดีแทค’ ได้เสร็จเรียบร้อย พร้อมกับมีการจดชื่อบริษัทใหม่ ‘บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’ วันนี้ทางสองผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวอย่าง ‘มนัสส์ มานะวุฒิเวช’ ประธานคณะผู้บริหาร และ ‘ชารัด เมห์โรทรา’ รองประธานคณะผู้บริหาร ได้ออกมาเปิดเผยถึง ‘พลัง’ ที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงทิศทางของบริษัทใหม่แห่งนี้

เป้าหมายของการรวมกันครั้งนี้ จะเป็นการนำจุดแข็งของสองพาร์ทเนอร์มาใช้ เพื่อจะทำให้ทาง ทรู คอร์ปอเรชั่น ก้าวสู่การเป็น Telecom tech company ชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย ณ ปัจจุบันบริษัทใหม่แห่งนี้มีจำนวนผู้ใช้ระบบมือถือประกอบด้วย ทรูมูฟ เอช  33.8 ล้านและดีแทค 21.2 ล้านเลขหมาย, ผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทรูออนไลน์  5 ล้านราย และผู้ใช้งานโทรทัศน์ทรูวิชั่นส์ 3.2 ล้านราย  

ส่วนเหตุผลที่เลือกใช้ชื่อบริษัทใหม่ว่า ทรู คอร์ปอเรชั่น นั่นเพราะเป็นแบรนด์ที่มีคุณค่าสะท้อนถึงความเป็นดิจิทัล นวัตกรรม และครอบคุลมบริการที่หลากหลายมากกว่ามือถือ ซึ่งจะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนทางธุรกิจและสอดคล้องกับทิศทางที่จะเดินต่อไปในอนาคต

สำหรับการไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ จะเดินภายใต้ 7 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย ม

1. เป็นผู้นำด้านโครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

2. เติบโตเป็นผู้นำนอกเหนือจากบริการหลัก เน้นพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัล โซลูชัน และระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจร 

3. สร้างมาตรฐานประสบการณ์ใหม่เพื่อลูกค้าในประเทศไทย

4. เติมเต็มชีวิตอัจฉริยะยิ่งขึ้นเพื่อทุกสไตล์ลูกค้าชาวไทย

5. ยกระดับมาตรฐานสำหรับลูกค้าองค์กร อาทิ IoT, Robotics, AI Analytics และ Blockchain 

6. พัฒนาสู่สุดยอดองค์กรที่น่าทำงาน โดยพยายามดึงดูดคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถจากทั่วโลกเข้ามาร่วมงาน

7. ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้ ESG Best in class: Sustainable organization to Create Long Term Value

นอกจากนี้ทางทรู คอร์ปอเรชั่น จะร่วมกับพันธมิตรระดมทุนจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.3 พันล้านบาท จัดตั้งกองทุน Venture Capital (VC) และจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่สนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัล เพื่อวางรากฐานสำหรับผลักดันสู่สตาร์ทอัพไทยในระดับยูนิคอร์น

รวมถึงวางแผน จะขยายโครงข่าย 5G ครอบคลุม 98% ของประชากร ในปี 2569

สำหรับประเด็นคำถามที่หลายคนสงสัยว่า การรวมกันครั้งนี้ จะเป็นการผู้ขาดหรือไม่ มีผลต่อการกำหนดราคาและสภาพการแข่งขันอย่างไร 

ทั้งมนัสส์ และชารัด ตอบว่า การรวมกันครั้งนี้คำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคในหลายมิติ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โดยยืนยันจะมีการขยายและลงทุนเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาทั้งด้านโครงข่ายและบริการ รวมถึงจะไม่มีการเลย์ออฟพนักงานด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทใหม่อย่างทรู คอร์ปอเรชั่น เพิ่งจะเริ่มต้นเดินทางไม่นาน ส่วนก้าวต่อไปจะเป็นอย่างไร ก็ต้องคอยจับตาดูกันต่อไป