การหายตัวไปของ ‘เปา ฟาน’ ดีลเมกเกอร์คนสำคัญ ผู้ส่งสตาร์ทอัพเทคโนโลยีของจีนให้ถึงฝั่ง

การหายตัวไปของ ‘เปา ฟาน’ ดีลเมกเกอร์คนสำคัญ ผู้ส่งสตาร์ทอัพเทคโนโลยีของจีนให้ถึงฝั่ง

รู้จัก ‘เปา ฟาน’ นักธุรกิจ-ดีลเมกเกอร์คนสำคัญ ผู้อยู่เบื้องหลังการควบรวมกิจการและการระดมทุนให้สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในจีน ซึ่งมีรายงานว่าหายตัวไปเมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ. ก่อนที่ ‘ไชน่า เรเนสซองส์’ จะแจ้งว่า เขากำลังให้ความร่วมมือกับการสืบสวนคดีของทางการจีน

  • หลัง ‘เปา ฟาน’ หายตัวไป ‘ไชน่า เรเนสซองส์’ แจ้งว่าเขากำลังให้ความร่วมมือกับการสืบสวนคดีของทางการจีน แต่ไม่ได้ระบุว่าคดีอะไร และไม่บอกว่าตอนนี้เขาอยู่ที่ไหน
  • สาเหตุที่ ‘เปา ฟาน’ ให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี เพราะเขามองว่า “ผู้ประกอบการเหล่านี้จะเป็นอนาคตของประเทศจีน” 

การหายตัวไปของ ‘เปา ฟาน’ กลายเป็นข่าวดังเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อ ‘ไชน่า เรเนสซองส์’ (China Renaissance) วานิชธนกิจชื่อดังของจีน แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงว่าบริษัทไม่สามารถติดต่อกับเปาได้ 

ด้วยความที่ชายผู้นี้เป็นทั้งผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุม (controlling shareholder), ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (chief executive officer) และผู้ก่อตั้งไชน่า เรเนสซองส์
การหายตัวไปของเขาจึงเป็นสาเหตุให้หุ้นของ ไชน่า เรเนสซองส์ ดิ่งลงมากถึง 29% ภายในวันเดียว 

หลังหุ้นร่วงระนาว วันต่อมาคณะกรรมการบริหารไชน่า เรเนสซองส์ จึงพยายามสร้างความเชื่อมั่นด้วยการแจ้งต่อพนักงานผ่านข้อความที่ระบุว่า “เราเชื่อว่าทุกคนรู้สึกร้อนใจในช่วงคืนที่ผ่านมา ในเวลานี้เราหวังว่าพวกคุณจะไม่เชื่อข่าวลือที่กระจายไปทั่ว”  

ท่ามกลางความคลุมเครือในช่วงสิบวัน ในที่สุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ไชน่า เรเนสซองส์ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงถึงสาเหตุที่เปาหายตัวไปโดยระบุว่า เขากำลังให้ความร่วมมือกับการสืบสวนคดีของทางการจีน 

“ทางคณะกรรมการบริหารทราบแล้วว่า ขณะนี้เปากำลังให้ความร่วมมือกับการสืบสวนคดีกับเจ้าหน้าที่บางคนของสาธารณรัฐประชาชนจีน” พร้อมกับยืนยันว่าในช่วงที่ไม่สามารถติดต่อเปาได้นั้น ไชน่า เรเนสซองส์ ยังคงดำเนินกิจการตามปกติ 

อย่างไรก็ตาม ไชน่า เรสเนสซองส์ ไม่ได้ระบุว่าเปาอยู่ที่ไหน และไม่ได้ให้รายละเอียดด้วยว่าเขากำลังช่วยทางการจีนสืบสวนคดีอะไร

ก่อนหน้านั้น ‘ไคซิน’ (Caixin) สำนักข่าวด้านการเงินของจีน รายงานว่า การหายตัวไปของเปา เกิดขึ้นภายหลังการสอบสวน ‘คงหลิน’ ซึ่งเป็นผู้บริหารอีกคนของไชน่า เรเนสซองส์ ทั้งยังนั่งเก้าอี้ประธาน ‘หัวจิง ซีเคียวริตี้’ (Huajing Securities) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของไชน่า เรเนสซองส์ อีกด้วย 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์ในเซี่ยงไฮ้ ระบุเมื่อเดือนกันยายนว่า หัวจิงละเมิดข้อกฎหมายหลักทรัพย์เกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ และได้ขอให้คงหลินให้ความร่วมมือในการสอบสวน 

ที่น่าสังเกตคือ ในรายงานที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงทั้ง 2 ฉบับ ทาง ไชน่า เรเนสซองส์ ไม่ได้กล่าวถึงการสอบสวนคงหลิน และตัวแทนบริษัทก็ไม่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าว 

‘เปา ฟาน’ เป็นใคร? สำคัญต่อธุรกิจจีนอย่างไร?

เปา อายุ 52 ปี เกิดที่เซี่ยงไฮ้ ในยุค 1960 และ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนกำลังเปิดประเทศ แต่ความโชคดีของเขายังไม่หมดเพียงแค่นั้น เพราะพ่อแม่ของเขาทำงานเป็นนักการทูต เขาจึงมีโอกาสได้สัมผัสโลกภายนอกก่อนเด็กส่วนใหญ่ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน

แต่เขายืนยันว่าตัวเองไม่ได้ถูกเลี้ยงดูมาแบบเจ้าชาย ที่มีชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย 

เปาเรียนชั้นมัธยมที่สหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยฟูตันในเซี่ยงไฮ้ และบินไปคว้าปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ ที่สถาบันบริหารธุรกิจ BI Norwegian Business School ประเทศนอร์เวย์ 

ก่อนจะได้รับการขนานนามให้เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่มีชื่อเสียงที่สุดของจีน และบุคคลสำคัญที่มีส่วนต่อการเติบโตในภาคเทคโนโลยีของจีน เปาเริ่มทำงานที่วาณิชธนกิจชื่อดังอย่าง ‘มอร์แกน สแตนลีย์’ (Morgan Stanley) เมื่อช่วงปลายยุค 1990 ก่อนย้ายไปทำงานให้กับ ‘เครดิตสวิส’ (Credit Suisse) นานหลายปี 

 

 

ระหว่างนั้น แม้เขาจะอยู่เบื้องหลังการควบรวมกิจการที่สำคัญหลายครั้ง แต่ความสนใจของเขากลับไปอยู่ที่ “ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีรุ่นแรก” มากกว่า เพราะเขาเล็งเห็นแล้วว่า “คนเหล่านี้จะเป็นอนาคตของประเทศจีน” 

ปี 2000 เขาจึงย้ายมาทำงานในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ที่ 'เอเชียอินโฟ โฮลดิงส์' (AsiaInfo Holdings) ซึ่งเป็นบริษัทไอทีและผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน

อีก 5 ปีต่อมา เขาจึงก่อตั้ง ‘ไชน่า เรเนสซองส์ โฮลดิงส์’ ร่วมกับเพื่อนอีกหนึ่งคน เป้าหมายเพื่อจับคู่สตาร์ทอัพที่ต้องการเงินทุนกับเหล่านักลงทุน โดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตที่กำลังเบ่งบานในจีน 

ต่อมาบริษัทของเขาจึงได้ขยายไปสู่บริการต่าง ๆ เช่น วาณิชธนกิจ, การจัดการด้านการลงทุน และการบริหารความมั่งคั่ง 

ท้ายที่สุด ไชน่า เรเนสซองส์ กลายเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ให้คำแนะนำและลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของจีนหลายแห่ง 

ปีทองของไชน่า เรเนสซองส์ อยู่ระหว่างปี 2015-2017 ซึ่งเป็นช่วงที่สตาร์ทอัพชื่อดังของจีน สามารถระดมทุนได้มากพอ ๆ กับบริษัทในซิลิคอนแวลลีย์

บลูมเบิร์กรายงานว่า ชายวัย 52 ปีผู้นี้เป็นที่เลื่องลือในฐานะดีลเมกเกอร์ที่นำไปสู่การควบรวมกิจการและซื้อขายกิจการที่สำคัญหลายเคส เช่น เว็บไซต์โฆษณา 58.com กับ ‘กันจิ’ (Ganji) รวมถึงบริษัทให้บริการยานพาหนะ ‘ตีตี’ (Didi) กับคู่แข่งสำคัญอย่าง ‘ไคว่ตี ต่าเชอ’ (Kuaidi Dache) ตลอดจนบริการจัดส่งอาหารชั้นนำของจีนสองราย ได้แก่ ‘เหม่ยถวน’ (Meituan) และ ‘เตี่ยนผิง’ (Dianping) เมื่อปี 2015

ที่สำคัญเขายังเป็นคนแรก ๆ ที่มีส่วนช่วยในการเจรจาของบริษัทด้านอินเทอร์เน็ตในจีน เช่น ‘อาลีบาบา’ (Alibaba) และ ‘เทนเซนต์’ (Tencent) ซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศเปิดกว้างยิ่งขึ้น 

บริษัทของเขายังเคยทำการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) ให้กับอีคอมเมิร์ซดังอย่าง ‘เจดีดอตคอม’ (JD.com) และ ‘ไคว่โส่ว’ (Kuashou) อีกทั้งยังช่วยตีตีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก และช่วย ‘ไป่ตู้’ (Baidu) ยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตของจีน เข้าจดทะเบียนตลาดรองในฮ่องกงด้วย

เปายังลงทุนในบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของจีนทั้ง ‘นีโอ’ (Nio) และ ‘ลี่ ออโต้’ (Li Auto) อีกต่างหาก

จากความมุ่งมั่นที่จะส่งสตาร์ทอัพในจีนให้ถึงฝั่งฝัน ปี 2015  เปาจึงได้รับการประกาศให้เป็น 1 ใน 50 บุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของ ‘บลูมเบิร์ก มาร์เก็ตส์’ (Bloomberg Markets) และในปี 2018 บริษัทของเขาก็ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง

ในปีนั้นเอง เขาให้สัมภาษณ์ว่า ความฝันทั้งหมดของเขาคือการสร้างสถาบันการเงินระดับโลก เพราะเขามองว่าจีนควรมีสถาบันการเงินลักษณะนี้สักหนึ่งแห่งเพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ 

แต่ความฝันของเขาดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยาวไกล หากวัดจากสิ่งที่ผู้คนตั้งข้อสงสัยว่าสถาบันการเงินของจีนจะสามารถเทียบเท่าสถาบันการเงินชั้นสูงอย่าง ‘โกลด์แมน แซคส์’ (Goldman Sachs), ‘แบล็คสโตน’ (Blackstone), ‘แบล็คร็อค’ (BlackRock) ได้หรือไม่ 

นอกจากงานในด้านการเงิน เขายังเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินที่ ‘ปักกิ่ง กรีน แอนด์ ไชน์ ฟาวน์เดชั่น’ (Beijing Green & Shine Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่มุ่งทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ชนบทของจีน 

นักวิเคราะห์มองว่า การหายตัวไปของเปาได้ลดทอนความน่าเชื่อถือของทางการจีนที่ต้องการฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางธุรกิจ หลังประกาศยุตินโยบายซีโร่โควิด  

 

ภาพ: ไชน่า เรเนสซองส์ 

อ้างอิง:

cnbc

firstpost

theguardian

nytimes

casvi

theorg

straitstimes