14 พ.ย. 2566 | 20:59 น.
คลื่น Disruption ทำให้บางธุรกิจต้องปิดตัวลงอย่างน่าใจหาย แต่หลายธุรกิจกลับมองเห็นหนทางไปสู่การสร้างนวัตกรรม จึงโต้คลื่นคว้าโอกาส พาธุรกิจไปพบความสำเร็จครั้งใหม่
The People พูดคุยกับ ‘อัศวิน พละพงศ์พานิช’ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DeeMoney FinTech สตาร์ทอัพที่ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ ที่แจ้งเกิดจากการใช้เทคโนโลยีในการแก้ pain point ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ใช้งาน
ปัจจุบันธุรกิจของเขายืนหนึ่งในฐานะผู้ให้บริการที่เก็บค่าธรรมเนียมถูกที่สุดในตลาด แถมยังโอนไวภายใน 1 วันทำการ เขาทำได้อย่างไร? เคล็ดลับความสำเร็จคืออะไร? เทคโนโลยีเบื้องหลัง DeeMoney เป็นอย่างไร? ติดตามได้ในบทสัมภาษณ์นี้
เริ่มต้นจากบัตรโทรศัพท์
ก่อนหน้านี้ อัศวินโลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในฐานะ first mover ก่อนจะถูกความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปธุรกิจเสียเอง แต่วันนี้ DeeMoney ทำให้เขาได้กลับมาเกิดใหม่อีกครั้งในฐานะนักธุรกิจที่กระแสดิสรัปไม่สามารถทำอะไรเขาได้ กลับกันยังทำให้เขากลับมาแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม
ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน หลังจบปริญญาโทในสาขาธุรกิจ e-commerce จาก Bentley University สหรัฐอเมริกา อัศวินก็เริ่มต้นชีวิตนักธุรกิจในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมสื่อสาร โดยเปิด บริษัท สวัสดีช้อป จำกัด เป็นผู้บุกเบิกรายแรกที่นำผลิตภัณฑ์ ‘บัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ’ มาสู่กลุ่มลูกค้าคนไทย ช่วงนั้นเองที่ความนิยมในการไปเรียนต่อและทำงานต่างประเทศกำลังบูม ธุรกิจของเขาจึงรุ่งเรืองสุด ๆ
“บัตรโทรศัพท์ของเราขายดีมาก ยอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ราว ๆ 7 ล้านใบต่อปี หลังจากนั้นก็ขยับขยายมาสู่อีกบริการหนึ่งคือ roaming sim ที่ก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน เพราะค่าบริการของเราถูกกว่าการเปิด roaming กับเครือข่ายโทรศัพท์”
เตรียมพร้อมรับมือ Disruption
จนกระทั่งในวันที่การสื่อสารผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตมีประสิทธิภาพมากๆ รวมถึงการเกิดขึ้นของสมาร์ตโฟน ทำให้ธุรกิจบัตรโทรศัพท์รวมถึง roaming sim ต้องถูกดิสรัปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง จากรายได้หลายสิบล้านต่อเดือน หดหายกลายร่างเป็นศูนย์ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
“คลื่นความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีรุนแรงมาก ๆ หลาย ๆ ธุรกิจต้องล้มหายไป เราเองก็ถูกกระทบอย่างหนัก แต่ที่ยังกลับมาได้เพราะตลอดเวลาที่ทำธุรกิจ สิ่งที่ทำอยู่ตลอดคือจับตาดูความเปลี่ยนแปลง เราเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกจะต้องดิสรัปธุรกิจอยู่ตลอดเวลา เราจะคิดอยู่เสมอว่า ท่ามกลางคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงที่กำลังดำเนินไปอีก 3 - 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจของเราจะถูกกระทบอย่างไรบ้าง แล้วก็เตรียมพร้อมตัวเอง ทั้งมองหาโอกาสใหม่ ๆ พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อทำให้ธุรกิจของเรายั่งยืนและเติบโตต่อไปได้”
โอกาสใหม่ในโลก FinTech
การเกิดขึ้นของ DeeMoney บริการโอนเงินระหว่างประเทศ ที่เป็นการเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมสื่อสารมาสู่โลกของ FinTech ก็เกิดขึ้นจากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงจนมองเห็นโอกาส
“เมื่อพูดถึงการโอนเงินข้ามประเทศ ในบรรดาคนไทยที่อยู่ประมาณ 70 ล้านคน จะมีราว ๆ 5 ล้านคนที่ใช้บริการนี้ จริงอยู่ที่ไม่ใช่ตลาดใหญ่ แต่ถือเป็นสิ่งที่ 5 ล้านคนนี้จำเป็นต้องใช้ และถ้าเราสามารถทำให้แตกต่างจากผู้ให้บริการที่มีอยู่เดิม สะดวกกว่าเดิม ง่ายกว่าเดิม และประหยัดกว่าเดิมได้ ผมเชื่อว่าปรากฏการณ์ network effect เกิดขึ้นแน่นอน และนี่คือโอกาสของเรา”
4 ปีกว่าหลังจากเปิดให้บริการแอปพลิเคชัน DeeMoney ยอดผู้ใช้งานเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ถึงวันนี้แอปฯ สามารถโอนได้ตั้งแต่ 1,000 - 800,000 บาทต่อวัน มีผู้ใช้งานมากกว่า 7 ล้านรายการ คิดเป็นยอดเงินราว ๆ 1 แสน 3 หมื่นล้านบาท นับว่าเป็นเบอร์ 1 ของบริการโอนเงินในรูปแบบ non-bank ในประเทศไทย
สร้างแบรนด์ด้วย Good Feeling
“การทำให้ชีวิตของผู้ใช้งานดีขึ้นด้วยการช่วยให้เขา ‘ประหยัด’ ได้มากขึ้น คือจุดแข็งที่ทำให้ DeeMoney เติบโตนำผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ผมเชื่อว่าบริการใด ๆ ก็ตามที่ช่วยให้คนประหยัดเงิน คนจะเกิด good feeling และนั่นคือคีย์สำคัญที่ทำให้แบรนด์ของเราประสบความสำเร็จในการเข้าไปนั่งอยู่ในใจผู้บริโภค”
อัศวินเผยถึงเบื้องหลังชื่อแบรนด์ DeeMoney ที่มาจากความตั้งใจในการทำให้ผู้ใช้งานแอปฯ เกิด ‘good feeling’ ผ่านหลักคิด 3 ดี ได้แก่
เรทดี : ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่า พร้อมค่าธรรมเนียมคงที่ 125 บาท โดยไม่มีค่าธรรมเนียมแฝง
ไวดี : สมัครด้วยตัวเองผ่าน DeeMoney ไม่ต้องใช้เอกสาร ไม่ต้องไปที่สาขา
ง่ายดี : สมัคร โอน จ่าย จบในที่เดียว ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดแอปฯ DeeMoney สมัครใช้งานง่าย ๆ ด้วยรูปถ่าย แล้วเริ่มโอนเงินได้เลย และสามารถติดตามข่าวสารได้ผ่านทุกช่องทางของ DeeMoney โดยอัศวินเผยว่า ปีนี้มีรางวัลพิเศษสำหรับผู้ใช้งาน DeeMoney กับแคมเปญลุ้นรางวัล รับรถ Tesla และของรางวัลอื่น ๆ รวมมูลค่ากว่า 3.5 ล้านบาท ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.deemoney.com/th-TH/promotions/deemoney-owndee-win-tesla
กลยุทธ์ยืนหนึ่งเหนือคู่แข่ง
แน่นอนว่า ธุรกิจใดก็ตามที่กำลังมาแรง ย่อมต้องเผชิญกับการเข้ามาแข่งขันของผู้เล่นรายใหม่ แต่สำหรับอัศวิน เขามองว่าการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี ตลอดจนการวางโครงสร้างพื้นฐานของระบบที่เขาทำไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม จะทำให้ DeeMoney ยังคงยืนหนึ่งในฐานะผู้ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศที่เป็น non-bank ต่อไปได้อีกนาน
“เบื้องหลังความประหยัดของ DeeMoney มาจากการลงทุนมหาศาล ทั้งการลงทุนในระบบเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและความปลอดภัยในระดับเดียวกับธนาคาร การขอใบอนุญาตประกอบกิจการจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงการสร้างเครือข่ายกับพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ โดยปัจจุบันเราเชื่อมต่อระบบกับพันธมิตร FinTech กว่า 60 รายทั่วโลก การลงทุนกับการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ทำให้ DeeMoney แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ และแน่นอนว่า ผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาก๊อบปี้เราก็จะทำได้ยากขึ้นด้วย”
ความท้าทายคือโอกาส
ถามถึงความท้าทายของ DeeMoney ในทุกวันนี้ อัศวินมองว่าคือการขยายฐานลูกค้าให้เติบโตขึ้น โดยเขากำลังมุ่งไปสู่กลุ่มผู้ใช้งานใหม่ ๆ จากผู้ใช้งานที่เป็นบุคคล ไปสู่ลูกค้ากลุ่มธุรกิจ
“ก่อนหน้านี้ผู้ใช้งานที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของเราคือลูกค้ารายบุคคล แต่เราก็มองเห็นว่า DeeMoney ยังเติบโตต่อไปได้อีกไกลหากเราสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มธุรกิจ ทั้งในระดับองค์กร หรือกลุ่มคนทำธุรกิจ SMEs ที่มีอยู่มากมายในประเทศไทย”
หลังจากเริ่มทำการตลาดกับลูกค้ากลุ่มธุรกิจมาได้ปีกว่า ๆ ปัจจุบันมีบริษัทราว ๆ 400 แห่งที่ลงทะเบียนใช้งานกับ DeeMoney หากเทียบกับจำนวนของผู้ประกอบการเฉพาะกลุ่ม SMEs ในประเทศไทยที่มีมากกว่า 2 ล้านรายแล้ว ต้องบอกว่ายังมีโอกาสสำหรับ DeeMoney อยู่อีกมากมายเลยทีเดียว
บทเรียนจากการฝ่าคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง
เมื่อสิ่งที่เคยทำแล้วสำเร็จในวันนี้ไม่ได้การันตีถึงความสำเร็จในอนาคต สิ่งที่นักธุรกิจที่อยากจะเป็น first mover จะต้องทำเสมอ ๆ คือการสังเกต weak signal หรือคลื่นเล็ก ๆ ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
“ผมมองว่าการทำธุรกิจเป็นอะไรที่เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ทั้งการติดตามข่าวสารความเป็นไปของโลก ความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม สิ่งที่ผมมักจะใช้เป็นจุดตั้งต้นในการพัฒนาธุรกิจก็คือ การสังเกตว่าอะไรที่กำลังมาในตลาดยุโรปหรืออเมริกา เพราะหากสิ่งใดกำลังบูมที่นั่น แปลว่าอีกไม่นานจะเกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับกระแส cashless ที่ได้เปลี่ยนสังคมไทยไปอย่างมหาศาลเมื่อ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา
“แต่เพียงแค่การสังเกตสัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลงยังไม่พอ การทำธุรกิจของผมจะต้องตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า ธุรกิจของเราจะต้องช่วยให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วย”
และนี่ก็คือบทเรียนจากการฝ่าคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงตลอด 20 ปี จนพาธุรกิจกลับมายืนหนึ่งอีกครั้งในตลาด FinTech ที่เต็มไปด้วยโอกาสมากมายในอนาคต